
สรุปวิธียื่นภาษีเงินได้ประจำปี 2567 แบบละเอียด (อย่าลืม! ยื่นภายในวันที่ 8 เมษายน 2568)
28 มกราคม 2568
กลับมาพบกันในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงยื่นภาษีประจำปีเหมือนเช่นเคย ผมเชื่อว่าคนทำงานทุกคนก็กำลังเตรียมตัวยื่นและจัดการภาษีอยู่ใช่ไหม บทความประจำเดือนนี้ก็เหมือนทุกๆ ปีที่ผมทำ นั่นก็คือ การสรุปวิธียื่นภาษีเงินได้ประจำปี 2567 แต่ที่พิเศษ คือ ปีนี้จะเป็นการสรุปภาพรวมอย่างละเอียดของการยื่นภาษีประจำปี
สิ่งที่ต้องรู้อันดับแรก คือ สำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกคน (ที่มีรายได้เงินเดือนทางเดียว) เมื่อรายได้รวมของเรามากกว่า 120,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) และ 220,000 บาทต่อปี (กรณีมีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้) ถือว่ามีหน้าที่ยื่นภาษีตามกฎหมาย
ในขณะที่คนมีรายได้ประเภทอื่น เพียงแค่มากกว่า 60,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) และ 120,000 บาทต่อปี (กรณีมีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้) ก็มีหน้าที่ยื่นภาษีตามกฎหมายเช่นเดียวกัน
ประเด็นแรกนี้ เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรู้ไว้ จะได้เข้าใจและยื่นภาษีเป็นตั้งแต่แรกๆ แม้ว่าจะไม่ต้องเสียภาษีก็ตาม
เมื่อรู้หน้าที่แล้ว สิ่งที่ต้องรู้ต่อมาก็คือ ข้อมูล คือรายได้ทั้งปีที่เกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายที่หักตามกฎหมาย และค่าลดหย่อนที่เราได้สะสมไว้ตลอดทั้งปี ข้อมูลในส่วนของรายได้และค่าลดหย่อนที่สำคัญนั้น เราสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
เอาล่ะ มาเริ่มทีละขั้นตอนกันเลย

ในการตรวจสอบเบื้องต้น ถ้าเราทราบข้อมูลทั้งหมดและตรงกับข้อเท็จจริง เราสามารถเลือก “ยื่นแบบโดยใช้ข้อมูล” เพื่อนำข้อมูลไปยื่นภาษี หรือถ้าหากมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากระบบของสรรพากร ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้ตามข้อเท็จจริง
เพิ่มเติมสำหรับมนุษย์เงินเดือน ในกรณีที่ยื่นภาษีครั้งแรก มักจะมีข้อมูลที่ต้องการอยู่ 3 ส่วน นั่นก็คือ 1) รายได้ที่เราได้รับทั้งปี 2) ประกันสังคมที่สะสมเข้ากองทุน และ 3) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ในกรณีที่นายจ้างมีให้) ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
• เงินได้ทั้งปี คือ ยอดรายได้ที่เราต้องเอามายื่นภาษี ตัวนี้จะบอกว่ารายได้ทั้งหมดที่เราได้รับทั้งปีเป็นเท่าไร ถ้าหากเราทำงานเพียงที่เดียวในปีนี้ สามารถใช้ยอดนี้มากรอกได้เลย
• ประกันสังคม (ถ้ามี) คือ ยอดที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ โดยเราจะเอามายื่นในรายการลดหย่อนที่ชื่อว่า กองทุนประกันสังคม โดยในปี 2567 เรามีประกันสังคมสูงสุด คือ 9,000 บาท
• กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) คือ ยอดที่เราสะสมนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปี โดยเราสามารถเอามาลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกัน ตามจำนวนที่เราสะสมเข้ากองทุนในระหว่างปี (ไม่รวมส่วนที่นายจ้างสมทบให้)
หากตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็ยื่นภาษีกันได้เลย โดยกรอกข้อมูลในส่วนสำคัญเบื้องต้นของข้อมูลส่วนบุคคลกันก่อน ดังนี้

หลังจากนั้น กรอกข้อมูลส่วนของรายได้และค่าลดหย่อน โดยรายละเอียดการกรอกข้อมูลผมทำตัวอย่างของมนุษย์เงินเดือนไว้แล้วบางส่วน

เมื่อกรอกรายการทั้งหมดเสร็จ อย่าลืมตรวจสอบหน้าสุดท้าย นั่นก็คือ ข้อมูลการคำนวณภาษีก่อนที่จะไปยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อที่จะได้เช็กทุกอย่างอย่างเรียบร้อย และยื่นภาษีได้อย่างสบายใจ
หากใครสงสัยหรือยังทำไม่เป็น สามารถดูคลิปสอนยื่นภาษีประจำปีได้ที่ลิงก์นี้ >>> bit.ly/4jdhWUv
สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านที่กำลังเตรียมตัวยื่นภาษีอยู่ แล้วพบกันอีกทีในฉบับหน้า สวัสดีครับ
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ