กำลังโหลด...

×



Accounting มุมมองการควบคุมภายในกับรายการสำคัญทางบัญชี (ตอนที่...

magazine image
Accounting

มุมมองการควบคุมภายในกับรายการสำคัญทางบัญชี (ตอนที่ 1)

Mr.Knowing

31 มกราคม 2565

        สวัสดีปีใหม่ 2564 ขออำนวยพรให้เพื่อนนักบัญชีทุกท่าน ประสบแต่ความสุข ความเจริญ ไร้โรคภัยพบพานกับเรื่องดีๆ ตลอดปี 2564  ครับ เริ่มต้นปี 2564 หวังว่าเพื่อนนักบัญชีคงได้พักผ่อนกันเต็มที่ เพราะภารกิจสำคัญตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะเข้าสู่ฤดูการปิดบัญชีประจำปีกันแล้ว งานบัญชีคงยุ่งมากยิ่งขึ้น ต้องวางแผนให้ดี ทำให้เสร็จเร็วๆ เป็นไปตามกรอบของเวลาที่กำหนดของการปิดบัญชี การประชุมผู้ถือหุ้น การยื่นข้อมูลเอกสารต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร ( ถ้าผิดพลาดย่อมมีความผิด... เสียค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม)

        สำหรับบทความในเดือนมกราคม 2564  เราจะมาคุยกันในเรื่องมุมมองการควบคุมภายในกับรายการสำคัญทางบัญชี (เป็นความรู้ที่สำคัญที่นักบัญชีควรให้ความสนใจ)

        สำหรับความหมายของการควบคุมภายในพอจะสรุปได้ว่าการควบคุมภายใน ก็คือกระบวนการที่ถูกออกแบบ(สิ่งที่ควรปฏิบัติ) ให้มีขึ้นอย่างเพียงพอและเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่บริษัท  

        ลักษณะพื้นฐานที่สำคัญของการควบคุมภายใน ประกอบด้วย

  1. การจัดโครงสร้างองค์กรอย่างเหมาะสม
  2. การกำหนดบทบาท การแบ่งแยกหน้าที่
  3. การกำหนด การมอบหมาย อำนาจในการอนุมัติ
  4. การกำหนดเอกสารหลักฐานประกอบการทำรายการ
  5. การกำหนดวิธีการตรวจสอบ การสอบยัน การกระทบยอด
  6. การกำกับติดตามผล

       เมื่อเราทำความเข้าใจเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว เราลองดูว่าการควบคุมภายในกับรายการทางบัญชีที่สำคัญนั้น มีประเด็นที่ใดที่ควรพิจารณาบ้าง

       รายการทางบัญชีที่สำคัญได้แก่

1. รายการบัญชีเงินสด (เงินสดในมือ - เงินสดย่อย)

การควบคุมภายในที่สำคัญ ควรพิจารณาดังนี้

  • เงินสด ควรพิจารณาถึงความเหมาะสม ไม่ควรให้ผู้รับผิดชอบถือเงินสดมากเกินความจำเป็น
  • ควรกำหนดวงเงินที่แน่นอน (Imprest System) เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม
  • ควรกำหนดประเภทรายจ่ายที่อนุญาตให้เบิกจ่ายจากเงินสด (ไม่ควรอนุญาตให้จ่ายเกี่ยวกับการซื้อสินค้า การซื้อสินทรัพย์ถาวร) และควรกำหนดจำนวนเงินที่สามารถเบิกจ่ายจากเงินสดต้องไม่มากเกินไป เช่น รายจ่ายที่กำหนดไม่เกิน 2,000.- บาท เป็นต้น
  • ควรกำหนดผู้ขอเบิก ผู้ตรวจสอบ ผู้อำนาจอนุมัติรายจ่ายจากเงินสด 
  • ควรกำหนดเอกสารหลักฐานที่เหมาะสม ประกอบการจ่ายเงินสด 
  • ควรกำหนดให้ผู้รักษาเงินสด จัดทำรายงานกระทบยอดเงินสด และตรวจนับเงินสดเป็นประจำวัน
  • ควรกำหนดระยะเวลาในการเบิกชดเชยเงินสด
  • ควรกำหนดให้บัญชี หรือบุคคลอื่น ทำหน้าที่ในสอบทาน ตรวจนับเงินสดร่วมกับผู้รักษาเงินสด โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • บัญชีควรตรวจสอบวงเงินสดเป็นระยะๆ ที่ใช้หมุนเวียน หากปรากฏว่าจำนวนเงินสดที่ถืออยู่มากเกินกว่าจำเป็น ควรนำเสนอผู้บริหารปรับลดวงเงินสด

2. รายการบัญชีเงินฝากธนาคาร

การควบคุมภายในที่สำคัญ ควรพิจารณาดังนี้ 

การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารควรกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน

  • บัญชีเงินฝากธนาคารอาจจะกำหนดให้มีบัญชีเพื่อกิจกรรมการรับเงินหลายบัญชี แต่กิจกรรมการจ่ายควรจ่ายจากบัญชีเดียว
  • กรณีมีการรับเช็คจากลูกค้าควรมีการจัดทำทะเบียนคุมเช็ครับ และต้องนำฝากตามเวลาที่กำหนด
  • กรณีเช็คจ่ายควรมีการจัดทำทะเบียนคุมเช็คจ่าย (รวมถึงทะเบียนคุมเช็คที่ยังไม่ได้นำไปใช้)
  • กรณีเช็คจ่ายผู้มีอำนาจต้องลงนามในเช็คล่วงหน้า
  • การจ่ายเช็คต้องระบุชื่อผู้รับเงิน และขีดฆ่าผู้ถือเสมอ
  • เช็ครับจากลูกค้า / และเล่มเช็คจ่าย ควรจัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัย
  • ควรตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากธนาคาร และควรจัดทำงบพิสูจน์เงินฝากธนาคารเป็นประจำวัน

3. รายการบัญชีลูกหนี้การค้า

การควบคุมภายในที่สำคัญ ควรพิจารณาดังนี้

  • ควรกำหนดแนวทางในการพิจารณาลูกค้ารายใหม่ (พิจารณาคุณภาพของลูกค้า) เพื่อเชื่อมั่นได้ว่า ขายหรือให้บริการเป็นเงินเชื่อสามารถเก็บเงินได้
  • ควรกำหนดแนวทางในการพิจารณาลูกค้าปัจจุบัน (ลูกหนี้การค้า) ว่ามีพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะมีข้อบ่งชี้ว่าอาจจะมีปัญหาในการเก็บเงินไม่ได้
  • ควรกำหนดแนวทางในการติดตามลูกหนี้การค้า กรณีลูกหนี้การค้าส่งสัญญาณว่าอาจจะเก็บเงินไม่ได้ หรือเก็บเงินช้าลง ต้องรีบจัดทำรายงานเสนอผู้บริหารทันที
  • ควรสอบยันบัญชีลูกหนี้การค้ารายตัวรวมกันกับบัญชีคุมลูกหนี้การค้าอย่างสม่ำเสมอ
  • ควรจัดส่งหนังสือยืนยันยอด เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีลูกหนี้การค้า
  • ควรศึกษาการปฏิบัติในการตัดหนี้สูญตามแนวทางที่กรมสรรพากรกำหนด และจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางภาษี

4. รายการบัญชีสินค้าคงเหลือ 

การควบคุมภายในที่สำคัญ ควรพิจารณาดังนี้

  • ควรมีการกำหนดแผนการตรวจรับสินค้าล่วงหน้า (ตามใบสั่งซื้อ)
  • ควรกำหนดวิธีการปฏิบัติในการตรวจรับสินค้าและวิธีการตรวจรับ  เช่น กรณีของขาด / ของเกิน / ของแถม ต้องทำอย่างไร
  • ควรกำหนดให้มีผู้ร่วมในการตรวจรับสินค้า กรณีผู้ตรวจรับสินค้ามีผู้ทำหน้าที่เพียงคนเดียวควรมีการกำหนดตรวจสอบซ้ำจากเจ้าหน้าที่ท่านอื่น
  • ควรกำหนดแผนภาพแสดงพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้า กรณีที่พื้นที่ในการจัดเก็บไม่เพียงพอ ต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติว่าจะปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวอย่างไร
  • สินค้าที่รับ-จ่ายประจำวัน ต้องมีการสรุปกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและกำหนดเอกสารหลักฐาน รวมถึงต้องบันทึกบัญชีคุมสินค้า (Stock) ให้เสร็จสิ้นภายในวัน และควรสรุปยอดสินค้าคงเหลือ เพื่อนำไปตรวจนับกับสินค้าว่าตรงกันหรือไม่ หากไม่ตรงต้องรีบหาสาเหตุทันที
  • ควรกำหนดแผนการตรวจนับสินค้า  ซึ่งควรมีแผนเป็นประจำวัน ประจำเดือน ประจำไตรมาส และประจำปี
  • ทางบัญชีควรมีการตรวจสอบการเคลื่อนไหวสินค้า หากมีสิ่งผิดปกติควรรีบแจ้งผู้บริหารให้รับทราบ เช่น สินค้าบางรายการมีการรับเข้า ไม่มีการจ่าย  (สินค้ามากเกินไป) / หรือสินค้าบางรายการมีแต่การจ่าย ไม่มีการรับเข้า (สินค้าน้อยไม่พอขาย)  / สินค้าค้างนานไม่เคลื่อนไหว  เป็นต้น

       เสียดายพื้นที่ไม่เพียงพอต้องขออนุญาต คุยกันต่อตอนที่ 2 ในฉบับหน้า ... ติดตามกันนะครับ สวัสดี

 

*******************************

 

Top 5 Contents