ภาระภาษีของคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศต่าง ๆ
13 มีนาคม 2565
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล (Digital Financial Asset) หรือที่พวกเรารู้จักกันดีในนามของคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือโทเคนดิจิทัล (Digital Token)[1] อันเป็นสินทรัพย์ที่อยู่บนฐานของเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT)[2] หรือวิทยาการเข้ารหัสลับ (Cryptography) ได้กลายเป็นประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง ด้วยการที่สินทรัพย์ดังกล่าวได้กลายเป็นที่นิยม และมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากนั่นเอง[3] อย่างไรก็ดี แม้เรื่องสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลจะไม่ใช่เรื่องใหม่ ด้วยเป็นเรื่องที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2552 และตลาดได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (ซึ่งก็รวมระยะเวลาร่วมทศวรรษแล้ว) แต่เนื่องจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลมีลักษณะพิเศษ เป็นการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized System) ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งที่ควบคุมระบบเป็นเด็ดขาด การวัดมูลค่าก็ทำได้ยาก ประกอบกับระบบเทคโนโลยีที่รองรับก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการที่รัฐจะควบคุมสินทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ในปี 2561 กลุ่มประเทศ G20 จึงได้ขอให้องค์การระหว่างประเทศต่างๆ ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล เช่น ความเสี่ยงในการหนีภาษี เป็นต้น เมื่อตุลาคมปีที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) จึงได้นำเสนอรายงานว่าด้วยการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลขึ้น โดยรายงานนี้เป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลของประเทศสมาชิก OECD พร้อมกับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นทางภาษีสำคัญๆ ที่แต่ละประเทศควรคำนึงถึง เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล
ในบทความนี้ จะกล่าวถึงการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลในประเทศต่างๆ ว่าเป็นไปในแนวทางใด โดยอ้างอิงจากรายงานของ OECD[4]
ทำความรู้จักกับสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล
เพื่อที่จะเข้าใจถึงหลักในการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล พวกเราคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า สินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลนั้นคืออะไร
สินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล มีอยู่ในหลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งสินทรัพย์ดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. โทเคนดิจิทัลที่สามารถใช้ในการชำระราคาได้ (Payment Token) เช่น Bitcoin หรือ Ethereum และยังหมายรวมถึงโทเคนที่สามารถใช้ชำระราคาได้แต่อิงกับทรัพย์สินบางอย่าง เช่น อิงกับหลักทรัพย์หรือเงินตราสกุลต่างๆ โทเคนลักษณะนี้ จะเรียกว่า “Stablecoins” เช่น USDT เป็นต้น และรวมถึง Payment Token ที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศหนึ่งๆ ด้วย (Central Bank Digital Currency : CBDC) เช่น e-Krona ของธนาคารกลางสวีเดน[5] เป็นต้น
2. โทเคนดิจิทัลที่ใช้สำหรับบริการหรือสินค้าเฉพาะอย่างเท่านั้น (Utility Token) โดยทั่วไปแล้ว โทเคนประเภทนี้ จะเป็นโทเคนดิจิทัลที่ผู้ประกอบการพัฒนาขึ้นและขายโทเคนเหล่านี้ผ่านการระดมทุน ICO ซึ่งโทเคนดังกล่าว จะสามารถใช้แลกกับบริการหรือสินค้าบนแพลตฟอร์มของผู้ประกอบการรายนั้นเท่านั้น เช่น Filecoin ซึ่งเป็นโทเคนที่ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Data Storage) พัฒนาขึ้น และขายในช่วงที่ทำการะดมทุน ICO โดยผู้ถือโทเคน Filecoin จะได้รับสิทธิในการเข้าถึงแพลตฟอร์ม Decentralized Cloud Storage ของ Filecoin นั่นเอง[6]
3. โทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการแปลงหลักทรัพย์เป็นโทเคนดิจิทัล (Security Token) โทเคนประเภทนี้ มีลักษณะคล้ายกับการลงทุนในหลักทรัพย์ กล่าวคือ ผู้ที่ระดมทุนผ่านช่องทาง Security Token Offering (STO) จะขาย Security Token ให้กับผู้ลงทุน โดยสัญญาว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนนั้น[7] ยกตัวอย่างเช่น Siafunds ซึ่งเป็นโทเคนที่สัญญาจะให้ส่วนแบ่งกำไรที่เกิดขึ้นจาก Sia Network แก่ผู้ถือโทเคน Siafunds[8]
โทเคนดิจิทัลเหล่านี้ จะอยู่บนระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology : DLT) ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 2 ระบบหลักๆ บนปัจจัยของระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
1. ระบบ Proof of Work (PoW) เป็นระบบที่อยู่บนฐานของสมการทางคณิตศาสตร์ การปฏิบัติการของระบบนี้ เกิดจากการที่บุคคลที่เรียกว่า “Miner” ทำการแก้สมการทางคณิตศาสตร์ดังกล่าว เพื่อรับรองธุรกรรมหนึ่ง ๆ (Validate) ที่เกิดขึ้นบนระบบ โดย Miner ซึ่งเป็นคนแก้สมการได้เป็นคนแรกจะได้รับผลตอบแทนจากระบบ เช่น การขุด Bitcoin ผ่านระบบ Bitcoin Blockchain เป็นต้น
2. ระบบ Proof of Stake (PoS) เป็นระบบที่ใช้การสุ่มผู้ที่จะได้รับสิทธิในการรับรองธุรกรรมบนระบบ (เรียกว่า “Staker” หรือ “Forger”) โดย Staker ที่ได้ทำการรับรองธุรกรรมจะได้รับผลตอบแทนจากระบบ เช่น การ Stake โทเคนบนระบบ Peercoin Blockchain[9]เป็นต้น
ประเด็นภาษีเกี่ยวกับสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล
เมื่อเรารู้จักประเภทของสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลและการทำงานของระบบ DLT ต่อไปเราก็จะมาดูกันว่า ในช่วงวงจรชีวิตของสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลนั้น จะมีช่วงใดบ้างที่ความรับผิดทางภาษีอาจเกิดขึ้นได้
ช่วงที่ 1 การเริ่มมีสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล (Creation) (โดยไม่ได้มาจากการแลกเปลี่ยน)
นักลงทุนอาจได้มาซึ่งโทเคนดิจิทัลโดยไม่เสียค่าตอบแทน ผ่านหลายวิธีด้วยกัน เช่น
1. การได้รับโทเคนดิจิทัลเป็นค่าตอบแทนการแก้สมการคณิตศาสตร์บนระบบ DLT ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบ Proof of Work (Mining)
2. การได้รับโทเคนดิจิทัลเป็นค่าตอบแทนการ Stake บนระบบ DLT ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบ Proof of Stake (Staking)
3. การได้โทเคนดิจิทัลโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน (Airdrops) เช่น การ Airdrop เหรียญ Donnie Finance (DON) ให้กับผู้ที่ถือเหรียญ IOST เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้ว วิธีการ Airdrop นี้ ผู้พัฒนาโทเคนจะทำเมื่อมีการออกเหรียญนั้นๆ มาในระยะแรกเพื่อให้เหรียญเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
จะเห็นว่า การได้มาซึ่งโทเคนดิจิทัลข้างต้น เป็นการที่นักลงทุนไม่ว่าจะเป็น Miner หรือ Staker หรือผู้ที่ได้รับ Airdrop ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้รับมาซึ่งโทเคน โดยในกรณีของ Miner และ Staker การได้มานั้น เป็นการได้มาในรูปของค่าตอบแทนการรับรองธุรกรรมบนระบบบ ส่วนผู้ที่ได้รับผ่าน Airdrop เป็นการได้มาโดยการให้เปล่า ซึ่งผู้ที่ได้รับนั้น ไม่ต้องทำการใดเพื่อตอบแทน จึงมีประเด็นพิจารณาว่า การได้รับโทเคนในรูปแบบเหล่านี้นั้น นักลงทุนจะต้องเสียภาษีอย่างไร และเมื่อไร
ประเทศส่วนใหญ่จะมุ่งการจัดเก็บไปที่การได้มาซึ่งโทเคนดิจิทัลโดยการ Mining ซึ่งแต่ละประเทศก็จัดเก็บภาษีในช่วงเวลาที่ต่างกัน กล่าวคือ บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา[10] จะจัดเก็บภาษีตอนที่ Miner ได้รับโทเคนดิจิทัลเป็นค่าตอบแทนจากการแก้สมการทางคณิตศาสตร์ บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปแลนด์ และเอสโตเนีย จัดเก็บภาษีตอนที่ Miner จำหน่ายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับมานั้น
นอกจากนี้ จะมีบางประเทศที่จุดความรับผิดในการเสียภาษีแตกต่างไป ขึ้นอยู่กับลักษณะการได้มา เช่น แคนาดาจัดเก็บภาษีเงินได้จากโทเคนดิจิทัลที่ได้รับจากการ Mining เป็น 2 กรณี กรณีแรกคือ หาก Miner ทำการ Mining เป็นปกติธุรกิจ Miner จะต้องนำมูลค่าของโทเคนดิจิทัลนั้นไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี และโทเคนดิจิทัลนั้นถือว่าเป็นสินค้าของกิจการ อย่างไรก็ดี หาก Miner ไม่ได้ทำการ Mining เป็นในทางธุรกิจ Miner จะเสียภาษีจากโทเคนดังกล่าวก็ต่อเมื่อ ได้มีการจำหน่ายโทเคนนั้น (เสียจาก Capital Gain) โดยให้สามารถนำรายจ่ายจากการ Mining มาเป็นต้นทุนของโทเคนนั้นได้
ช่วงที่ 2 การถือและโอนสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล (Storage and Transfer)
ในการถือครองโทเคนดิจิทัลต่างๆ ผู้ลงทุนจะต้องเก็บโทเคนของตนไว้ในกระเป๋าเงิน (Wallet) ซึ่งในหนึ่งกระเป๋าจะประกอบไปด้วยที่อยู่ของกระเป๋าเงินดิจิทัลนั้น ซึ่งอาจมีที่อยู่เดียวหรือมีหลายที่อยู่ก็ได้ กระเป๋าเงินดิจิทัลนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภทหลัก ได้แก่
1. Hot Custodial Wallet เป็นกระเป๋าเงินที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และมีบุคคลที่ 3 ที่จะมี Private Key ของกระเป๋าเงินนั้น เช่น เวลานักลงทุนจะซื้อ Doge Coin บนแพลตฟอร์ม โดยใช้ Bitcoin ที่ตนเองมีอยู่ในกระเป๋าเงินในการซื้อ (แลก Bitcoin เป็น Doge Coin) แพลตฟอร์มผู้ซึ่งมี Private Key ที่จะเข้าถึงกระเป๋าเงินของนักลงทุนได้ ก็จะดำเนินการปรับลดจำนวน Bitcoin ในกระเป๋าเงินของนักลงทุน และปรับเพิ่ม Doge Coin ในกระเป๋าเงินของนักลงทุนตามคำสั่งซื้อดังกล่าว
2. Hot Non-Custodial Wallet เป็นกระเป๋าเงินที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่จะไม่มีบุคคลที่ 3 ที่จะเข้ามาควบคุมดูแลกระเป๋านั้น โดยเจ้าของกระเป๋าจะดาวน์โหลดซอฟต์แวร์กระเป๋าเงินเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของตนเอง ดังนั้น เจ้าของกระเป๋าจะเป็นผู้เดียวที่มีทั้ง Private Key และ Public Key เช่น Electrum[11]เป็นต้น
3. Cold Hardware Wallet เป็นกระเป๋าเงินที่จะอยู่ในรูปของอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ลักษณะคล้ายคลึงกับ Flash Drive จะเป็นการเก็บโทเคนแบบ Offline แต่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ได้ เช่น Ledger และ Trezor เป็นต้น[12]
4. Cold Paper Wallet คือ การเก็บที่อยู่ดิจิทัลของกระเป๋าเงินและ Private Key ไว้บนแผ่นกระดาษ ซึ่งพิมพ์ออกมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น การสร้างกระเป๋าเงิน Ethereum บนเว็บไซต์ MyEtherWallet[13] เป็นต้น
ในการครอบครองโทเคนดิจิทัลไม่ว่าจะโดยวิธีใดนั้น อาจจะมีประเด็นภาษีที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน เช่น ภาษีความมั่งคั่ง หรือ Wealth Tax เป็นต้น ในบางประเทศ เช่น ลักเซมเบิร์กกำหนดให้ผู้ที่ถือครองโทเคนดิจิทัล เช่น Bitcoin ต้องนำมูลค่า Fair Market Value ของ Bitcoin นั้น มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5% ต่อปี ส่วนในเรื่องของการโอนโทเคนจากกระเป๋าเงินดิจิทัลของตนเองไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้อื่น ก็มีประเด็นว่า การรับให้นี้มีภาระภาษีอย่างไร โดยในบางประเทศก็จะมีการจัดเก็บภาษีการให้ (Gift Tax) จากการโอนดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่าหากประเทศนั้นๆ กำหนดให้โทเคนดิจิทัลเป็นสินค้า การโอนโทเคนดิจิทัลต่างๆ แม้จะไม่มีค่าตอบแทน จะต้องถือเป็นการจำหน่ายซึ่งต้องอยู่ภายใต้ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เช่น ประเทศไทย เป็นต้น
ช่วงที่ 3 การแลกเปลี่ยน
การแลกเปลี่ยนโทเคนดิจิทัลอาจกระทำผ่านแพลตฟอร์ม (Exchange Platform) เช่น การแลกเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์ม Binance หรือ Bitkub เป็นต้น หรือแลกเปลี่ยนโดยไม่ผ่านแพลตฟอร์ม (Over the Counter : OTC ) กรณีการแลกเปลี่ยนแบบ OTC นี้ อาจเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง (Peer-to-Peer) หรือการแลกเปลี่ยนแบบผ่านตัวแทน (Broker) ก็ได้
อย่างไรก็ดี กรอบในการพิจารณาการจัดเก็บภาษีจากการแลกเปลี่ยนโทเคนดิจิทัลนั้น จะพิจารณาจากรูปแบบในการแลกเปลี่ยน คือ เป็นการนำโทเคนดิจิทัลประเภท Payment Token ไปแลกเปลี่ยนกับสินทรัพย์อะไร (แลกโทเคนดิจิทัลประเภท Payment Token กับเงิน แลกโทเคนดิจิทัลประเภท Payment Token กับโทเคนดิจิทัลประเภท Payment Token หรือสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลอื่นๆ หรือแลกโทเคนดิจิทัลประเภท Payment Token กับสินค้า บริการ หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ) ทั้งนี้ ในแต่ละประเทศก็จะจัดเก็บภาษีจากการแลกเปลี่ยนคนละรูปแบบกัน เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา จัดเก็บภาษีจากการแลกเปลี่ยนไม่ว่าสินทรัพย์ที่จะนำโทเคนดิจิทัลประเภท Payment Token ไปแลกเปลี่ยนนั้นเป็นอะไร ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศส โปแลนด์ และชิลี จะจัดเก็บภาษีจากการแลกเปลี่ยนโทเคนดิจิทัลเฉพาะกรณีที่นำโทเคนดิจิทัลประเภท Payment Token ไปแลกกับเงิน สินค้า หรือบริการเท่านั้น
อนึ่ง มีบางประเทศ เช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ไม่จัดเก็บภาษีจากการแลกเปลี่ยนดังกล่าว ไม่ว่าในรูปแบบใด เว้นแต่เข้าเงื่อนไขที่กำหนด เช่น มีการแลกเปลี่ยนเป็นปกติธุรกิจ เป็นต้น[14]
ช่วงที่ 4 การแปลงสภาพของโทเคนดิจิทัล (Evolution of Token)
เนื่องจากโทเคนดิจิทัลหนึ่งๆ จะถูกออกแบบระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งระบบปฏิบัติการจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ Protocol ของโทเคนแต่ละตัว ดังนั้นหากผู้พัฒนาต้องการปรับเปลี่ยนระบบปฏิบัติการของโทเคนหนึ่งๆ เช่น ปรับให้สามารถรับรองข้อมูลธุรกรรมบนระบบให้ได้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยน Protocol ของโทเคนนั้นไปด้วย การปรับปรุงแก้ไข Protocol ดังกล่าว เรียกว่า “Fork” โดยการเปลี่ยนแปลง Protocol นี้ จะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
1. Hard Fork คือ การเปลี่ยน Protocol โดยการสร้างโทเคนขึ้นมาใหม่ แต่โทเคนที่อยู่ในระบบปฏิบัติการเดิมภายใต้ Protocol เดิม ก็ยังคงไม่ถูกยกเลิก เช่น Bitcoin ที่เมื่อมีการปรับเปลี่ยน Protocol ก็ได้มีการสร้างโทเคนใหม่ขึ้นมา ได้แก่ Bitcoin Cash และ Bitcoin Gold เป็นต้น[15]
2. Soft Fork คือ การเปลี่ยน Protocol โดยไม่มีการสร้างโทเคนขึ้นมาใหม่ แต่โทเคนที่อยู่ในระบบปฏิบัติการเดิมจะถูกอัปเกรดขึ้นทั้งหมด เช่น การอัปเกรด Bitcoin ให้สามารถรับรองธุรกรรมได้รวดเร็วขึ้น[16]
การแปลงสภาพของโทเคนดิจิทัลข้างต้น มีประเด็นในทางภาษีที่ว่า การอัปเกรดโทเคนหนึ่งถือเป็นการได้ประโยชน์เพิ่มจากการอัปเกรดโทเคนนั้นหรือไม่ เนื่องจากในกรณีของ Soft Fork ผู้ถือโทเคนทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการอัปเกรดนี้ อย่างไรก็ดี ประเทศต่างๆ ไม่มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนในการจัดเก็บภาษีจากกรณีดังกล่าว แต่อย่างใด
ข้อเสนอแนะจาก OECD ในการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล
จากการรวบรวมข้อมูลของ OECD พบว่า ประเทศส่วนใหญ่ไม่มีแนวทางการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลที่ชัดเจน ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากลักษณะของสินทรัพย์ที่มีความซับซ้อนและพัฒนาการอย่างรวดเร็วของสินทรัพย์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี OECD มองว่า ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องหาคำตอบให้ได้ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ได้แก่
1. เก็บภาษีอะไรบ้าง? : เงินได้ที่เกิดขึ้นจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลจะต้องเสียภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อมอย่างไร
2. สินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล เป็นทรัพย์สินหรือไม่? : หากพิจารณาว่าสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลเป็นทรัพย์สิน รัฐบาลจะเก็บภาษีอะไรบ้างจากทรัพย์สินนั้น และจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการวัดมูลค่าเพื่อเสียภาษี เช่น ในบางประเทศที่จัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) ซึ่งจัดเก็บจากการถือครองทรัพย์สินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงิน ที่ดิน ตราสารทางการเงินต่างๆ จะนำมูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีความมั่งคั่งหรือไม่ ถ้านำมารวม จะนำมูลค่าใดมาคำนวณ
3. จุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point) อยู่ตรงไหน? : การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจะเก็บหรือไม่ หากเก็บ จะเก็บอย่างไร กล่าวคือ เก็บเมื่อมีการสร้างสินทรัพย์นั้นขึ้นมา เช่น ตอนที่มีการระดมทุนผ่านช่องทาง Initial Coin Offering (ICO) หรือเก็บเมื่อมีการซื้อขายสินทรัพย์นั้น เช่น เก็บภาษีตอนที่นักลงทุนทำการซื้อขาย Ethereum ระหว่างกันบนแพลตฟอร์ม หรือเก็บเมื่อมีการโอนสินทรัพย์นั้น เช่น นักลงทุนโอนเหรียญ XRP ของตนเอง จากกระเป๋าที่มีอยู่กับแพลตฟอร์ม A ไปยังกระเป๋าส่วนตัว (Private Wallet) เป็นต้น
4. การตรวจสอบทำอย่างไร? : การตรวจสอบการหนีภาษีที่เกิดจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัลจะทำได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องมือใดในการตรวจสอบ เพื่อให้การตรวจสอบนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จะใช้ระบบใดในการ Run ข้อมูล เพื่อตรวจสอบว่า นักลงทุนมีกำไรจากการเทรดคริปโทเคอร์เรนซีเป็นจำนวนเท่าใดในปีภาษี เป็นต้น
จากบทความนี้ เราก็ได้เห็นมุมมองของ OECD และประเทศต่างๆ ในการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล ที่เป็นประเด็นฮอตฮิตในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละประเทศก็มีแนวทางในการจัดเก็บของตัวเอง โดยประเทศไทยก็ได้มีการออกกฎหมายมากำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เป็นเงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ ประกอบกับกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวข้างต้น มีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งให้กรมสรรพากรด้วย[17]
อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรยังไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนออกมาอธิบายวิธีการเสียภาษีข้างต้นว่า ในทางปฏิบัติผู้เสียภาษีจะต้องคำนวณหามูลค่ากำไรที่ได้จากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลอย่างไร ต้องใช้หลัก First-in-First-out หรือไม่ และการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องทำอย่างไร เป็นต้น สำหรับนักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลคงต้องหาความชัดเจนในประเด็นนี้กันต่อไป
[1] ทั้งนี้ หมายรวมถึงสินทรัพย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัลอื่นๆ ด้วย (ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์)
[2] เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งเอื้อให้สมาชิกในเครือข่ายสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสานงาน และทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ เช่น Blockchain เป็นต้น (ที่มา : เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย)
[3] ในปี 2563 เงินเสมือน (Virtual Currency) อันเป็นหนึ่งในประเภทของสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล มีมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมถึง 346 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา : https://coinmarketcap.com/all/views/all/)
[4] OECD (2020), Taxing Virtual Currencies: An Overview of Tax Treatments and Emerging Tax Policy Issues, OECD, Paris. www.oecd.org/tax/tax-policy/taxing-virtual-currencies-an-overview-of-tax-treatments-and-emergingtax-policy issues.htm
[5] https://www.riksbank.se/en-gb/payments--cash/e-krona/technical-solution-for-the-e-krona-pilot/
[6] https://blog.bcas.io/utility-tokens-security-tokens-difference
[7] Security Token สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน บนหลักการว่า โทเคนนั้นๆ เป็นตัวแทนของอะไร เช่น ถ้าโทเคนนั้นแทนการเป็นเจ้าของบริษัทในทำนองเดียวกับหุ้น โทเคนนั้นจะเรียกว่า Equity Token แต่ถ้าโทเคนนั้น เป็นสิ่งแทนสิทธิเรียกร้องในหนี้ โทเคนนั้นจะเรียกว่า Debt Token หรือถ้าโทเคนนั้นแทนการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหนึ่งๆ เช่น ที่ดิน น้ำมัน ทองคำ เป็นต้น โทเคนนั้นจะเรียกว่า Asset-backed Token
[8] https://support.sia.tech/siafunds/what-are-siafunds
[9] https://www.peercoin.net/
[10] ในสหรัฐอเมริกา Miner ต้องนำมูลค่า Fair Market Value ในวันที่ได้รับโทเคน มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
[11] https://electrum.org
[12] https://www.investopedia.com/best-bitcoin-wallets-5070283
[13] https://www.myetherwallet.com/#generate-wallet
[14] ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปและประเทศส่วนใหญ่ จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล ก็เพียงเฉพาะจากค่าบริการในการใช้บริการแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน (Trading Fee) เท่านั้น (ที่มา: OECD)
[15] https://www.investopedia.com/tech/history-bitcoin-hard-forks/
[16] https://thenextweb.com/news/fork-segwit-everything-need-know-bitcoin-scaling
[17] พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ