ภาษีจากการซื้อขายหุ้นในการลงทุนระหว่างประเทศ
14 มีนาคม 2565
Case Study
“บุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศขายหุ้นของตนเองที่มีอยู่ในบริษัทจำกัดที่อยู่ในประเทศไทย”
“บริษัท A จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ขายหุ้นบริษัท ก. ให้แก่บริษัท ข. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย”
ภายใต้กฎหมายไทยและอนุสัญญาภาษีซ้อน เมื่อนักลงทุนได้รับเงินได้จากการซื้อขายหุ้นในการลงทุนระหว่างประเทศจะมีภาระภาษีอย่างไร
บทความนี้กล่าวถึงภาระภาษีเงินได้ของนักลงทุนที่ได้รับจากการซื้อขายหุ้นในการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเงินได้ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีเป็นเงินได้ประเภท “ผลได้จากทุน” (Capital Gains) ซึ่งหมายถึง กำไรที่เกิดขึ้นจากผลต่างของราคาขายทรัพย์สินที่สูงกว่าราคาต้นทุนที่ผู้ขายต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ กำไรจากการซื้อขายหุ้นถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้ตามข้อ 13 (ผลได้จากทุน) ของอนุสัญญาภาษีซ้อน
- ผลได้จากทุนภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อน
ผลได้จากทุนตามข้อ 13 ของอนุสัญญาภาษีซ้อนเป็นเงินได้ที่เกิดจากธุรกรรมการขาย (Alienation) ซึ่งต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ และทรัพย์สินที่ขายต้องไม่ใช่สินค้า (Goods) ที่ผู้ขายได้ขายอยู่แล้วเป็นปกติในธุรกิจการค้า แต่เป็นการขายทรัพย์สินประเภททุน ทั้งนี้ หากเป็นการขายสินค้าที่เป็นธุรกิจหลักของกิจการ เงินได้ที่ได้รับจากธุรกรรมดังกล่าวถือเป็นเงินได้ประเภทกำไรจากธุรกิจซึ่งอยู่ภายใต้ข้อ 7 (กำไรจากธุรกิจ) ของอนุสัญญาภาษีซ้อน
- การขายทรัพย์สินตามข้อ 13 ได้แก่
- การขายอสังหาริมทรัพย์[1] (ข้อ 13 วรรค 1) เช่น การขายอาคารสำนักงานเก่า
- การขายสังหาริมทรัพย์ของสถานประกอบการถาวรหรือฐานประกอบการประจำ (ข้อ 13 วรรค 2) เช่น การขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของบริษัท
- ยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศรวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการขนส่งระหว่างประเทศ (ข้อ 13 วรรค 3) เช่น การขายเรือ เครื่องบิน ตู้สินค้า ที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศ
- การขายทรัพย์สินอื่น นอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น เช่น การขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ เครื่องใช้ส่วนตัว
- สิทธิในการจัดเก็บภาษีสำหรับผลได้จากทุนกรณีประเทศไทยเป็นประเทศแหล่งเงินได้[2]
- กรณีขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือขายสังหาริมทรัพย์ของสถานประกอบการถาวรหรือฐานประกอบการประจำที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยผู้ขายเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศคู่สัญญาของไทย ให้ทั้ง 2 ประเทศมีสิทธิเก็บภาษีได้ตามกฎหมายภายในของตน และให้ประเทศคู่สัญญาของไทย (ประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้ขาย) ขจัดภาษีซ้อน
- กรณีขายเรือหรือเครื่องบินรวมทั้งอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศ โดยผู้ขายเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศคู่สัญญาของไทย และผู้ซื้อเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ให้ประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้ขายเก็บภาษีจากเงินได้ดังกล่าวได้เพียงฝ่ายเดียว ในกรณีนี้ประเทศไทยยกเว้นการเก็บภาษีจึงไม่มีภาษีซ้อนเกิดขึ้น
- กรณีขายสังหาริมทรัพย์อื่น อนุสัญญาภาษีซ้อนแต่ละฉบับอาจกำหนดไว้แตกต่างกันดังนี้
- ประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้ขายมีสิทธิเก็บภาษีได้เพียงฝ่ายเดียว ประเทศไทยยกเว้นการเก็บภาษี กรณีนี้ไม่มีการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เช่น อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยทำไว้กับเดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น
- ประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้ขายมีสิทธิเก็บภาษีได้เพียงฝ่ายเดียว เว้นแต่กำไรจากการขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ ประเทศไทยในฐานะประเทศแหล่งเงินได้ยังคงมีสิทธิเก็บภาษีได้ตามกฎหมายภายใน โดยมีเงื่อนไข เช่น
- หุ้นที่จำหน่ายเป็นหุ้นของบริษัทที่มีทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือมีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยที่มีมูลค่าหรือราคาเกินกว่าร้อยละที่กำหนด (ส่วนใหญ่กำหนดไว้ 50%) ของทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท ได้แก่ อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยทำไว้กับแคนาดา สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น
- ผู้ขายถือหุ้นในบริษัทในประเทศไทยมากกว่าจำนวนร้อยละที่กำหนด (เช่น 25%) ได้แก่ อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยทำไว้กับเกาหลีใต้ เมียนมา สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น
- ผู้ขายเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาที่กำหนดก่อนการขายหุ้น (เช่น 5 ปี) หรือได้ถือครองหุ้นไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดนับแต่ได้หุ้นมาจนขายหุ้นนั้นไป (เช่น 1 ปี) ได้แก่ อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยทำไว้กับนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ อังกฤษ และไอร์แลนด์เหนือ เป็นต้น
- ทั้ง 2 ประเทศยังมีสิทธิจัดเก็บภาษีได้ตามกฎหมายภายในของตน ได้แก่ อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยทำไว้กับจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เป็นต้น
- หลักเกณฑ์การพิจารณาว่ากำไรจากการขายหุ้นหรือหลักทรัพย์เป็นกำไรจากธุรกิจหรือผลได้จากทุน
ในกรณี (ข) และ (ค) ที่ทั้งประเทศถิ่นที่อยู่และประเทศแหล่งเงินได้สามารถเก็บภาษีได้นั้น จะมีภาระภาษีซ้อนเกิดขึ้น และประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้ขายจะเป็นผู้ขจัดภาระภาษีซ้อนดังกล่าว
กำไรจากการขายหุ้นหรือหลักทรัพย์จะถือเป็นผลได้จากทุนตามข้อ 13 ของอนุสัญญาภาษีซ้อน เมื่อผู้ขายไม่ได้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นปกติในธุรกิจการค้า โดยสามารถพิจารณาตามแนวทางที่กรมสรรพากรได้วางไว้[3] สรุปได้ดังนี้
- บริษัทผู้ขายไม่มีใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ (Security Dealings License) และ
- ไม่มีกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับธุรกิจการเงินโดยเฉพาะ (Specific Financial Law) ที่ระบุอย่างชัดแจ้งให้ผู้ขาย
มีอำนาจทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นกิจการหลักของบริษัทได้ โดยไม่มีใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์
กรณีที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น ผู้ขายทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นปกติในธุรกิจการค้า กำไรที่เกิดขึ้นถือเป็นกำไรจากธุรกิจ หากผู้ขายเป็นบริษัทต่างประเทศไม่ประกอบกิจการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 7 (กำไรจากธุรกิจ) ของอนุสัญญาภาษีซ้อน และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ผู้ซื้อในประเทศไทยไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากผู้ขายทำการซื้อขายผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยจะมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 66 วรรคสอง และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 ของอนุสัญญาภาษีซ้อน และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
- การจัดเก็บภาษีสำหรับผลได้จากทุนที่เกิดจากการซื้อขายหุ้น
ตารางต่อไปนี้สรุปภาระภาษีเงินได้สำหรับผลได้จากทุนตามประมวลรัษฎากรและอนุสัญญาภาษีซ้อนกรณีขายหุ้นบริษัทไทย โดยผู้ขายไม่ได้ประกอบกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งนี้ การขายหุ้นไม่ถือว่าเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการในทางภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีซื้อขายหุ้นบริษัทไทย | บุคคลธรรมดาอยู่ในไทย/บริษัทไทย | บุคคลธรรมดาอยู่ในต่างประเทศ/ บริษัทต่างประเทศ (มี DTA/ไม่มี DTA) |
---|---|---|
บุคคลธรรมดาอยู่ ในไทย[4] | ผู้ขาย - มีหน้าที่เสีย PIT ตาม ม.41 [ยกเว้น PIT กรณีขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (กฎกระทรวง 126 ข้อ 2 (23))] ผู้ซื้อ - นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย อัตราก้าวหน้า ภ.ง.ด.2 (ม.50 (2)) [ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ] | ผู้ขาย - มีหน้าที่เสีย PIT ตาม ม.41 [ยกเว้น PIT กรณีขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (กฎกระทรวง 126 ข้อ 2 (23))] ผู้ซื้อ - ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย |
บุคคลธรรมดาอยู่ในต่างประเทศ/ ไม่มี DTA | ผู้ขาย - มีหน้าที่เสีย PIT ตาม ม.41 [ยกเว้น PIT กรณีขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (กฎกระทรวง 126 ข้อ 2 (23))] ผู้ซื้อ - นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ภ.ง.ด.2 (ม.50 (2) (ก)) [ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ] | ผู้ขาย - มีหน้าที่เสีย PIT ตาม ม.41 [ยกเว้น PIT กรณีขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (กฎกระทรวง 126 ข้อ 2 (23))] ผู้ซื้อ - ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย |
บุคคลธรรมดาอยู่ในต่างประเทศ/ มี DTA | ผู้ขาย - มีหน้าที่เสีย PIT ตาม ม.41 แต่อาจได้รับยกเว้นภาษีตามข้อ 13 ของ DTA [ยกเว้น PIT กรณีขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (กฎกระทรวง 126 ข้อ 2 (23))] ผู้ซื้อ - กรณีไม่ได้รับยกเว้นภาษีตาม DTA นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ภ.ง.ด.2 (ม.50 (2) (ก)) [ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ] | ผู้ขาย - มีหน้าที่เสีย PIT ตาม ม.41 แต่อาจได้รับยกเว้นภาษีตามข้อ 13 ของ DTA [ยกเว้น PIT กรณีขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (กฎกระทรวง 126 ข้อ 2 (23))] ผู้ซื้อ - ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย |
บริษัทไทย | ผู้ขาย - มีหน้าที่เสีย CIT ตาม ม.66 ผู้ซื้อ - ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย | ผู้ขาย - มีหน้าที่เสีย CIT ตาม ม.66 ผู้ซื้อ - ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย |
บริษัทต่างประเทศ/ ไม่มี DTA | ผู้ขาย - เสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% ตาม ม.70 ผู้ซื้อ - นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ภ.ง.ด.54 (ม.70) | ผู้ขาย – ไม่มีหน้าที่เสียภาษีในไทย ผู้ซื้อ - ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย |
บริษัทต่างประเทศ/ มี DTA | ผู้ขาย – เสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% ตาม ม. 70 แต่อาจได้รับยกเว้นภาษีตามข้อ 13 ของ DTA ผู้ซื้อ - กรณีไม่ได้รับยกเว้นภาษีตาม DTA นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ภ.ง.ด. 54 (ม.70) | ผู้ขาย - ไม่มีหน้าที่เสียภาษีในไทย ผู้ซื้อ - ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย |
หมายเหตุ : PIT – ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา; CIT – ภาษีเงินได้นิติบุคคล; DTA – อนุสัญญาภาษีซ้อน
สิทธิในการจัดเก็บภาษีสำหรับผลได้จากทุนภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยทำไว้กับต่างประเทศ
กรณีขายหุ้นของบริษัทไทย (ประเทศไทยเป็นประเทศแหล่งเงินได้) และผู้ขายเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศคู่สัญญาของไทย
สิทธิในการจัดเก็บภาษี | ประเทศคู่สัญญา |
---|---|
(ก) ประเทศไทยยกเว้นภาษีสำหรับผลได้จากทุน (13 ฉบับ) | คูเวต (ข้อ 13 วรรค 4) เดนมาร์ก (ข้อ 13 วรรค 5) ไต้หวัน (ข้อ 13 วรรค 4) บังกลาเทศ (ข้อ 13 วรรค 4) เบลเยี่ยม (ข้อ 13 วรรค 3) ปากีสถาน (ข้อ 13 วรรค 4) ฝรั่งเศส (ข้อ 13 วรรค 3) มอริเชียส (ข้อ 13 วรรค 4) เยอรมนี (ข้อ 13 วรรค 3) ลาว (ข้อ 13 วรรค 4) อิตาลี (ข้อ 13 วรรค 3) เอมิเรตส์ (ข้อ 13 วรรค 4) โอมาน (ข้อ 13 วรรค 5) |
(ข) ประเทศไทยเก็บภาษีสำหรับผลได้จากทุนโดยมีเงื่อนไข (19 ฉบับ) เช่น บริษัทไทยมีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าหรือราคาเกินกว่า 50% ของทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท เป็นต้น | เกาหลีใต้ (ข้อ 13 วรรค 4 และวรรค 5) แคนาดา (ข้อ 13 วรรค 4 และวรรค 6) ไซปรัส (ข้อ 13 วรรค 5) ตุรกี (ข้อ 13 วรรค 4) ทาจิกิสถาน (ข้อ 13 วรรค 4) นอร์เวย์ (ข้อ 13 วรรค 4) เนเธอร์แลนด์ (ข้อ 13 วรรค 5) ฟิลิปปินส์ (ข้อ 13 วรรค 4) เมียนมา (ข้อ 13 วรรค 4 และวรรค 5) สเปน (ข้อ 13 วรรค 2) สวิสเซอร์แลนด์ (ข้อ 13 วรรค 4 และวรรค 5) สิงคโปร์ (ข้อ 13 วรรค 2) สโลเวเนีย (ข้อ 13 วรรค 4) อังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ (ข้อ 14 วรรค 5) อิสราเอล (ข้อ 13 วรรค 2) อุซเบกิสถาน (ข้อ 13 วรรค 4) เอสโตเนีย (ข้อ 13 วรรค 2) ไอร์แลนด์ (ข้อ 13 วรรค 2 และวรรค 6) ฮ่องกง (ข้อ 13 วรรค 4) |
(ค) ประเทศไทยเก็บภาษีสำหรับผลได้จากทุน (29 ฉบับ)
| กัมพูชา (ข้อ 14 วรรค 4) จีน (ข้อ 13 วรรค 4) ชิลี (ข้อ 13 วรรค 4) เชค (ข้อ 13 วรรค 4) เซเซลส์ (ข้อ 13 วรรค 4) ญี่ปุ่น (ข้อ 13 วรรค 4) นิวซีแลนด์ (ข้อ 13 วรรค 4) เนปาล (ข้อ 13 วรรค 4) บาเรนห์ (ข้อ 13 วรรค 4) บัลแกเรีย (ข้อ 13 วรรค 4) เบลารุส (ข้อ 13 วรรค 4) โปแลนด์ (ข้อ 13 ไม่จำกัดสิทธิจัดเก็บภาษีตามกฎหมายภายใน) ฟินแลนด์ (ข้อ 13 วรรค 2 และวรรค 6) มาเลเซีย (ข้อ 13 วรรค 3) ยูเครน (ข้อ 13 วรรค 2 และวรรค 5) รัสเซีย (ข้อ 13 วรรค 3) โรมาเนีย (ข้อ 13 วรรค 4) ลักเซมเบิร์ก (ข้อ 13 วรรค 4) เวียดนาม (ข้อ 13 วรรค 4) ศรีลังกา (ข้อ 13 วรรค 4) สวีเดน (ข้อ 13 วรรค 5) สหรัฐอเมริกา (ข้อ 13 วรรค 1) ออสเตรเลีย (ข้อ 13 วรรค 4 และวรรค 5) ออสเตรีย (ข้อ 13 วรรค 4) อาร์เมเนีย (ข้อ 13 วรรค 4) อินเดีย (ข้อ 13 วรรค 4 และวรรค 5) อินโดนีเซีย (ข้อ 13 วรรค 4) แอฟริกาใต้ (ข้อ 13 วรรค 4) ฮังการี (ข้อ 13 วรรค 4) |
[1] อสังหาริมทรัพย์ในข้อนี้มีความหมายตามที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ 6 (เงินได้จากอสังหาริมทรัพย์) ของอนุสัญญาภาษีซ้อน ซึ่งกำหนดให้มีความหมายตามกฎหมายภายในของประเทศคู่สัญญาที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ ปศุสัตว์ และเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรและป่าไม้ สิทธิที่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติของกฎหมายทั่วไปว่าด้วยทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน สิทธิเก็บกินในอสังหาริมทรัพย์ และสิทธิต่างๆ ที่จะได้รับชำระตามจำนวนที่เปลี่ยนแปลงได้หรือจำนวนตายตัวเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน หรือสิทธิในการทำงานในขุมแร่ แหล่งแร่ และทรัพยากรธรรมชาติอย่างอื่น (เรือเดินทะเล เรือ และอากาศยาน ไม่ถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์)
[2] กรณีประเทศไทยเป็นประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้ขาย สามารถนำคำอธิบายมาปรับใช้โดยแทนที่คำว่า “ประเทศไทย” ด้วย “ประเทศคู่สัญญาของไทย” และแทนที่คำว่า “ประเทศคู่สัญญาของไทย” ด้วย “ประเทศไทย”
[3] หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/5527 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2550
[4] บุคคลธรรมดาอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึง 180 วันในปีภาษี (มาตรา 41 วรรค 3)
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ