บริจาคหรือต้องการทำลายสินค้าที่ชำรุดหรือหมดอายุ ถือเป็นการขายและต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่?
14 มีนาคม 2565
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีสินค้าที่ชำรุดหรือหมดอายุ และต้องการบริจาคให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการใช้ประโยชน์จากสินค้าชำรุดหรือหมดอายุดังกล่าว หรือผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องการทำลายสินค้าที่ชำรุดหรือหมดอายุ ต้องระวังประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร?
1. ข้อเท็จจริง
บริษัท ป. จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน บริษัทฯ มีสินค้าที่ชำรุดและสินค้าที่หมดอายุ ซึ่งบริษัทฯ ต้องการดำเนินการดังนี้
- บริจาคให้แก่หน่วยงานราชการหรือองค์กรที่ต้องการใช้ประโยชน์
- ต้องการทำลายทิ้ง
2. ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.1 บริจาคให้แก่หน่วยงานราชการหรือองค์กรที่ต้องการใช้ประโยชน์
2.1.1 การบริจาคถือเป็นขายและต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่?
การบริจาคสินค้าอยู่ในความหมายของคำว่า “ขาย” ในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (8) ให้คำจำกัดความคำว่า “ขาย” ว่า คือ การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนั้นการบริจาคซึ่งเป็นการโอนสินค้าโดยไม่มีค่าตอบแทน จึงถือเป็นการขายที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.1.2 ข้อยกเว้นการบริจาคสินค้าที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
1) พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 (4) สำหรับการบริจาคสินค้า ให้แก่
(ก) สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ
(ข) องค์การหรือแก่สถานสาธารณกุศล หรือแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่น นอกจากที่กล่าวใน (ก) ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 2 (19) และ (20)
(ก) การบริจาคสินค้าให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ
(ข) การบริจาคสินค้าให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการให้แก่สถานศึกษาของราชการและเอกชน
(ศึกษาเพิ่มเติมหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรที่ กค0706/6729 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 กรณีบริจาคทรัพย์สินให้แก่โรงเรียนนานาชาติได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดูอ้างอิงท้ายบทความ
ผู้ประกอบการที่บริจาคสินค้าให้แก่หน่วยงานตามหลักเกณฑ์ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 (4) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าที่บริจาคมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี ดังนั้นถ้านอกเหนือจากหน่วยงานตามระบุไว้ข้างต้น ก็ต้องถือว่าการบริจาคสินค้าถือเป็นการ “ขาย” เมื่อผู้บริจาคไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากหน่วยงานที่รับบริจาค จึงไม่ต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ข้อ 2 (10) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542) แต่ยังคงต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีขายจากมูลค่าของสินค้าที่ซื้อมา ซึ่งจะเท่ากับภาษีซื้อที่ใช้สิทธิเครดิต เช่น ซื้อสินค้ามาราคา 100 บาท มีภาษีซื้อ 7 บาท บริจาคสินค้าราคา 100 บาท มีภาษีขาย 7 บาท จึงหักกลบกันไป ผลเท่ากับผู้บริจาคยินยอมเป็นผู้ออกภาษีมูลค่าเพิ่ม
ส่วนกรณีสินค้าที่บริจาคไม่ได้อยู่ในเดือนภาษีเดียวกับที่ซื้อ ก็เท่ากับผู้บริจาคซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ใช้สิทธิเครดิตภาษีซื้อไปล่วงหน้าในเดือนภาษีที่ซื้อแล้ว เมื่อบริจาคจึงต้องถือว่ามีภาษีขายเกิดขึ้นในเดือนที่บริจาค แต่ผลก็จะเท่ากับผู้บริจาคยินยอมออกภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้รับบริจาค
อนึ่ง ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point) จากการบริจาคสินค้าเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าก่อนให้ความรับผิดเกิดขึ้นก่อน ทั้งนี้ ตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 การทำลายสินค้า
การทำลายสินค้าที่เสื่อมสภาพ ถ้าบริษัทปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/2541 บริษัทสามารถตัดต้นทุนของสินค้าดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีที่ทำลายได้ และไม่ถือเป็นการขายสินค้าในทางภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
วิธีการทำลายสินค้าเสื่อมสภาพต้องปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/2541 ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
- เป็นการทำลายของเสีย สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก
คำนิยามคำว่า “ของเสีย” และ “เศษซาก” ได้แก่
- ของเสียตามปกติ หมายถึง ของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรรมวิธีการผลิต ซึ่งได้มีการกำหนดอัตราของเสียที่ถือว่าเป็นอัตราปกติของกรรมวิธีการผลิต
- ของเสียเกินปกติ หมายถึง ของเสียที่เกิดขึ้นมากกว่าอัตราปกติที่ได้กำหนดไว้ในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
- เศษซาก หมายถึง เศษวัตถุที่เกิดจากกระบวนการผลิตบางประเภท ซึ่งมีมูลค่ากลับคืนที่อาจวัดได้แต่มีจำนวนน้อย
2. ต้องมีการตรวจสอบสภาพสินค้าดังกล่าวว่าเสียหายตามเงื่อนไขที่แต่ละกิจการได้กำหนดไว้หรือไม่ และต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าเสียหายตามเงื่อนไขที่กำหนดดังกล่าว
3. เมื่อได้รับอนุมัติให้ทำลายของเสีย หรือสินค้า หรือเศษซากจากผู้มีอำนาจอนุมัติให้ทำลายแล้ว ให้มีบุคคลอย่างน้อยประกอบด้วย ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย หรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) ร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี พร้อมทั้งให้เชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้
4. ถ้าเป็นการทำลายของเสียหรือสินค้าหรือเศษซากที่โดยสภาพสามารถเก็บรักษาและรอการทำลายพร้อมกันได้เมื่อมีปริมาณที่เหมาะสม บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อ 3 และให้แจ้งการทำลายให้สรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ที่รับผิดชอบทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน ก่อนวันทำลาย ซึ่งสรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) อาจส่งเจ้าหน้าที่ไปดูการทำลายด้วยก็ได้ตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณี
(ศึกษาเพิ่มเติมหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรที่ กค 0706/308 ลงวันที่ 15 มกราคม 2551) ดูอ้างอิงท้ายบทความ
3.สรุป
การบริจาคสินค้าให้แก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ องค์การหรือแก่สถานสาธารณกุศล หรือแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 (4) ส่วนการบริจาคให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติในลักษณะทำนองเดียวกัน หรือการบริจาคให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ไม่ต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้ามารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ข้อ 2 (19) และ (20) และไม่ต้องออกใบกำกับภาษีตามข้อ 2 (10) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542
การทำลายสินค้าที่เป็นของเสีย สินค้าเสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถตัดต้นทุนของสินค้าดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีที่ทำลายได้ และไม่ถือเป็นการขายสินค้าในทางภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/254 โดยต้องมีการตรวจสอบสภาพสินค้าดังกล่าวว่าเสียหายตามเงื่อนไขที่แต่ละกิจการได้กำหนดไว้หรือไม่ และต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าเสียหาย และในการทำลายให้มีบุคคลอย่างน้อยประกอบด้วย ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย หรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) ร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี พร้อมทั้งให้เชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้
แต่ถ้าเป็นการทำลายของเสีย หรือสินค้า หรือเศษซากที่โดยสภาพสามารถเก็บรักษาและรอการทำลายพร้อมกันได้เมื่อมีปริมาณที่เหมาะสม ให้แจ้งการทำลายให้สรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ที่รับผิดชอบทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน ก่อนวันทำลาย ซึ่งสรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) อาจส่งเจ้าหน้าที่ไปดูการทำลายด้วยก็ได้ตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณี
หมายเหตุ การบริจาคเพื่อให้ได้สิทธิหักรายจ่ายได้เพิ่มมากขึ้น ขอให้ศึกษาจากบทความนักบริหารกับการบริหารจัดการภาษี (Tax Management for Executives) : “เทคนิคการบริหารภาษีด้วยการใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น” ของผศ.ดุลยลักษณ์ ตราชูธรรม ลงพิมพ์ในวารสารธรรมนิติ
อ้างอิง
เลขที่หนังสือ | : กค 0706/6729 |
วันที่ | : 22 กรกฎาคม 2546 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริจาคเงิน ทรัพย์สิน และสินค้าให้โรงเรียนนานาชาติ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 47 (7) (ข), พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 239)ฯ พ.ศ. 2534 |
ข้อหารือ | : โรงเรียนนานาชาติได้จัดตั้งขึ้นและบริหารงานโดยมูลนิธิการศึกษานานาชาติที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 เป็นสถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ประเภทโรงเรียนเฉพาะกาลระดับอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องจากใบเสร็จรับเงินของโรงเรียนฯ ได้หมายเหตุว่า "* โรงเรียนนานาชาติ เป็นสถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ผู้บริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีได้ ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) ข้อ 2 ทวิ" และ "* พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา มาตรา 58 (2)" โรงเรียนฯ ขอหารือว่า 1. กรณีบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าให้แก่โรงเรียนฯ บุคคลธรรมดาสามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิประจำปีเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ 2. กรณีบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้บริจาคสินค้าหรือทรัพย์สินให้แก่โรงเรียนฯ จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ 3. ใบเสร็จรับเงินของโรงเรียนฯ ที่หมายเหตุดังกล่าว มีข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญสมบูรณ์ครบถ้วนเพียงพอที่จะใช้เป็นหลักฐานนำไปหักลดหย่อน หรือถือเป็นรายจ่ายและยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ หากยังไม่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ขอให้แนะนำเพื่อปรับปรุงและปฏิบัติให้ถูกต้องด้วย |
แนววินิจฉัย | : กรณีโรงเรียนนานาชาติเป็นโรงเรียนเอกชนจัดตั้งขึ้นโดยมูลนิธิการศึกษานานาชาติ เข้าลักษณะเป็นสถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ตามข้อ 2 ทวิ แห่งประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดองค์การสถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ดังนั้น 1. กรณีบุคคลธรรมดาบริจาคเงินให้แก่โรงเรียนฯ บุคคลธรรมดามีสิทธินำเงินบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่โรงเรียนฯ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริจาคสินค้าให้โรงเรียนฯ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535 |
เลขตู้ | : 66/32569 |
เลขที่หนังสือ | : กค 0706/308 |
วันที่ | : 15 มกราคม 2551 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการทำลายสินค้า |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ตรี และมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัท ค. ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารธัญพืช โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้ 1. บริษัทฯ ได้ตรวจนับสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2549 พบว่า มีสินค้าเน่าเสียจำนวนหนึ่ง และไม่สามารถนำออกขายได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ได้ตรวจนับสินค้าคงเหลือ จึงพิจารณารายการสินค้าคงเหลือที่ชำรุดเสียหาย 2. บริษัทฯ ได้ย้ายสถานประกอบการเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 บริษัทฯ ตรวจพบว่ามีสินค้าที่อยู่ในสภาพที่ชำรุด เสียหาย และเน่าเสียอีกจำนวนหนึ่ง ฝ่ายโรงงานจึงเสนอให้มีการทำลายสินค้าที่ชำรุด เสียหาย และเน่าเสีย ซึ่งไม่สามารถจำหน่ายได้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ ทำลายสินค้าที่ชำรุด เสียหาย และเน่าเสียดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และบริษัทฯ จะนำมาถือเป็นรายจ่ายได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | กรณีสินค้าเน่าเสีย เสื่อมชำรุด เสื่อมคุณภาพ หรือล้าสมัย ที่โดยสภาพไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ หากบริษัทฯ ได้ทำลายสินค้าซึ่งชำรุดบกพร่องนั้นตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดแล้ว ไม่ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าที่ได้ทำลาย และบริษัทฯ มีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้รับอนุมัติให้ทำลายของเสีย หรือสินค้า หรือเศษซากจากผู้มีอำนาจอนุมัติให้ทำลายสินค้าแล้ว ให้มีบุคคลอย่างน้อยประกอบด้วย ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย หรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) ร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลายเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี พร้อมทั้งเชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้ |
เลขตู้ | : 71/35565 |
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ