ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา...เรื่องควรรู้ก่อนยื่นแบบ
14 มีนาคม 2565
ช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ประจำปี หากยื่นแบบฯ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th จะได้รับการขยายเวลาการยื่นแบบออกไปอีก 8 วัน ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี เมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด โดยกฎหมายให้เราสามารถหักค่าใช้จ่าย หักรายการลดหย่อน และหักเงินบริจาคก่อนคำนวณภาษี
ประเด็นอะไรบ้างที่ควรรู้ก่อนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2564
1. วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
(1) วิธีที่ 1 เงินได้สุทธิที่คำนวณจากเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท ตามมาตรา 40 (1) ถึง (8) หักค่าใช้จ่ายตามประเภทของเงินได้ หักค่าลดหย่อน และหักเงินบริจาค เป็นยอดเงินได้สุทธิแล้วนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
(2) วิธีที่ 2 กรณีมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ถึง (8) ไม่รวมเงินได้ตามมาตรา 40 (1) รวมทั้งสิ้นตั้งแต่120,000 บาทขึ้นไป ให้เสียภาษีร้อยละ 0.5 ของเงินได้
ซึ่งหากคำนวณแล้วมีภาษีที่ต้องเสียตามวิธีที่ 2 ไม่เกิน 5,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษีตามวิธีที่ 2 แต่ยังคงมีหน้าที่เสียภาษีตามจำนวนที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 1 ถ้ามีภาษีที่ต้องเสียตามวิธีที่ 1 แม้จำนวนจะน้อยกว่าวิธีที่ 2 ทั้งนี้ หากคำนวณวิธีที่ 2 แล้วเกิน 5,000 บาท ต้องเปรียบเทียบภาษีวิธีที่ 1 กับวิธีที่ 2 แล้วให้ชำระภาษีตามวิธีที่มีจำนวนภาษีที่ต้องชำระมากกว่า
โดยผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี เท่ากับว่าคนที่มีเงินเดือนเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) อย่างเดียว ไม่เกิน 25,833 บาท จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเมื่อรวมรายได้ทั้งปีจะไม่เกิน 310,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท นั่นเอง
2. เกณฑ์เงินได้ที่กฎหมายกำหนดให้ยื่นแบบ
1. เงินได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด บุคคลทุกคนเมื่อมีเงินได้พึงประเมินตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคน ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
ให้บุคคลทุกคน เว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้งข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง ถ้าบุคคลนั้น
(1) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน60,000 บาท
(2) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเฉพาะตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเกิน 120,000 บาท
(3) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน120,000 บาท หรือ
(4) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเฉพาะตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเกิน 220,000 บาท
มาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
มาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้น จะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
ข้อสังเกต
1. หากได้รับเงินได้ตามมาตรา 40 (2) จากนายจ้างเดียวกับนายจ้างที่จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ทั้งหมด
2. หากมีเงินได้ตามมาตรา 40 (2) - (8)เกิดจากการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ตามมาตรา 77/1 (5) " ผู้ประกอบการ " หมายความว่า บุคคลซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ หรือได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ และไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่ เมื่อหักเงินได้ประเภทที่ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมกันแล้วเงินได้หรือรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รายรับเกิน (ตามมาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร)
มาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(1) สำหรับผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ และมีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 81/1 ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่ (ก) วันที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม สำหรับกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมไว้แล้ว
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 มาตรา 4 มูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
3. การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท
ค่าใช้จ่ายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณภาษี ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับหักเป็นต้นทุนในการทำงาน เพื่อให้ได้เงินได้หรือรายได้สุทธินั้นมาคิดภาษีตามบัญชีอัตราภาษี โดยมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยตามแต่ละประเภทของเงินได้ สรุปได้ดังนี้
ประเภทเงินได้ | หักค่าใช้จ่าย |
1. เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยเลี้ยง | 50% ไม่เกิน 100,000 บาท หากมีเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภท รวมกันแต่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท |
2. เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ฯลฯ | |
3. ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น | 50% ไม่เกิน 100,000 บาท หรือตามจริง |
4. ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร ฯลฯ | หักค่าใช้จ่ายไม่ได้ |
5. รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อ การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน - บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ - ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร - ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร - ยานพาหนะ - ทรัพย์สินอื่น | ตามจริงหรืออัตราเหมา 30% 20% 15% 30% 10% |
6. วิชาชีพอิสระ - ประกอบโรคศิลปะ - กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม | ตามจริงหรืออัตราเหมา 60% 30% |
7. รับเหมาก่อสร้าง | ตามจริงหรืออัตราเหมา 60% |
8. รายได้อื่น นอกเหนือจาก 1-7 * | ตามจริงหรืออัตราเหมา 40% และ 60% |
* ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560
ข้อสังเกต
การหักค่าใช้จ่ายสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- หักเป็นการเหมาตามอัตราที่กฎหมายกำหนดได้อย่างเดียว ได้แก่ ประเภทที่ 1 ที่ 2
- ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ได้แก่ ประเภทที่ 3 (ไม่รวมที่เป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น) และประเภทที่ 4
- สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี ได้แก่ เงินได้ประเภทที่ 3 เฉพาะที่เป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น เงินได้ประเภทที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8
วิธีที่ 1 เป็นการเหมาตามอัตราที่กฎหมายกำหนด (ไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาแสดง) หรือ
วิธีที่ 2 ตามความจำเป็นและสมควร (ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาแสดง)
4. หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้อย่างเดียว ได้แก่ เงินได้ประเภทที่ 8 สำหรับกิจการที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ไม่ได้กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาไว้ ให้นำหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ดังนั้นการเลือกขอหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร สำหรับเงินได้ประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 รายจ่ายที่จะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายต้องมีลักษณะดังนี้
(1) เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติ มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจแต่ละประเภทหรือต่อเงินได้แต่ละประเภท
(2) เป็นจำนวนที่สมควรและเหมาะสมแก่กิจการ
(3) ไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย
(4) ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการหักใช้จ่ายพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจสอบได้
การเลือกขอหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรนี้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกปฏิบัติได้ว่าปีใดจะหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา หรือปีใดจะหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้
นอกจากนี้ในปีภาษีเดียวกันเองผู้มีเงินได้ยังอาจหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาสำหรับเงินได้ประเภทหนึ่ง และหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรสำหรับเงินได้อีกประเภทหนึ่งได้ด้วย แต่เงินได้ประเภทและชนิดเดียวกัน หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดแล้วจะต้องใช้วิธีเดียวกันสำหรับเงินได้ประเภทนั้นทั้งประเภท
หลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควรตามประมวลรัษฎากร สามารถใช้ตัวอย่างการจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายตามท้ายประกาศ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161)
หากผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 เช่น นาย ก. มีเงินได้จากกิจการซื้อมาขายไปสินค้าอุปโภคบริโภคในปีภาษี 2564 จำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) มาตรา 8 (25) การขายนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาไว้ในอัตราร้อยละ 60 ของเงินได้ เท่ากับ 600,000 บาท หากนาย ก. เลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ซึ่งได้จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161) จะสามารถนำหลักฐานทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายที่จัดทำไว้ ทั้งต้นทุนค่าซื้อสินค้า ค่าน้ำมัน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเช่า อันก่อให้เกิดเงินได้จากการประกอบกิจการนั้น มาใช้เป็นหลักฐานซึ่งอาจจะสามารถหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ถึงอัตราร้อยละ 90 เท่ากับ 900,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานที่เป็นไปตามเงื่อนไข เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติ มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจแต่ละประเภทหรือต่อเงินได้แต่ละประเภท เป็นจำนวนที่สมควรและเหมาะสมแก่กิจการ ไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย และผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการหักใช้จ่ายพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจสอบได้
สำหรับข้อดีของการจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161) ได้แก่ เป็นหลักฐานประกอบการหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรตามประมวลรัษฎากร, สามารถรู้รายรับ – รายจ่ายประจำได้ทุกเดือน, ไม่สับสนเรื่องที่มาที่ไปของเงิน, รู้รายจ่ายที่ไม่จำเป็นและจัดการได้, วางแผนอนาคตทางการเงินโดยไม่พลาด, มีวินัยทางการเงินและมีเงินเก็บ
ทั้ง 3 ประเด็นนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ก่อนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี เพื่อความถูกต้อง และลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ