กำลังโหลด...

×



Tax เงินอุดหนุนสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอ...

magazine image
Tax

เงินอุดหนุนสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ตอนที่ 1

ประพันธ์ คงเอียด

1 พฤศจิกายน 2565

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ยานยนต์ไฟฟ้า” กำลังอยู่ในกระแสของโลก และเริ่มเข้ามาอยู่ในความสนใจของสังคมไทย เห็นได้จากงาน Motor Show 2022 ที่มีการเปิดตัวรถยนต์และรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าหลากรุ่นจากหลายค่ายหลายสัญชาติ มีราคาตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน ซึ่งแต่ละแบรนด์ต่างโชว์ศักยภาพพร้อมออกโปรโมชั่นต้อนรับการเปิดตัวในงานกันอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นกระแสพูดถึงกันอย่างมากบนโลกโซเชียล เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ “เงินอุดหนุน” สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการโดยกรมสรรพสามิต

ลักษณะและประเภทของยานยนต์ไฟฟ้า

ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) คือ ยานยนต์ ซึ่งได้แก่ “รถยนต์” หรือ “รถจักรยานยนต์” ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ น้ำมัน หรือพลังงานอื่น ๆ ที่มีการเผาไหม้ โดยอาจเป็นการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวหรือทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่หรืออุปกรณ์เก็บพลังงานไฟฟ้า แปลงพลังงานมาใช้ในการขับเคลื่อนการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้ไม่มีเสียงดังและไม่มีไอเสียจากการเผาไหม้พลังงาน 

ยานยนต์ไฟฟ้าเป็น “นวัตกรรมยานยนต์ยุคใหม่” ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดปัญหาโลกร้อนและมลภาวะทางอากาศ เพราะในทุกวันนี้โลกของเราได้รับผลกระทบจากยานยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงแล้วเกิดกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ทั้งควันพิษ ฝุ่น PM 2.5 และอีกมากมายที่ส่งผลต่อสุขภาพ ปัจจุบันจึงไม่มีใครปฏิเสธว่ายานยนต์ไฟฟ้าคืออนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก จากการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มขยายตัว และมีข้อดีชนะยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) ขึ้นไปเรื่อย ๆ ความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ทำให้ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่สูงขึ้น วัสดุมีน้ำหนักเบาขึ้น ต้นทุนลดลง ส่งผลให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงถึง 89% และผลจากข้อตกลงในสนธิสัญญาปารีส (COP-21) ที่กำหนดเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระดับที่ปล่อยในปี 2005/2548 ลง 20 - 25% ภายในปี 2030/2573 ส่งผลให้ทั่วโลกตระหนักในปัญหานี้มากขึ้น จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าในปี ค.ศ. 2025 ยานยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาเทียบเคียงกับยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ในสมรรถนะที่เท่ากัน ทั้งนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. HEV ย่อมาจาก Hybrid Electric Vehicle คือ ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมหรือไฮบริด เป็นยานยนต์ที่มีการใช้เครื่องยนต์สันดาป คือ เครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันเบนซินหรือดีเซลมาทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อน แบตเตอรี่จึงมีขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถเปลี่ยนพลังงานที่เสียจากการเบรกกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บในแบตเตอรี่และสามารถนำพลังงานออกมาใช้ได้ ทำให้ประหยัดน้ำมัน ส่งผลให้อัตราสิ้นเปลืองต่ำกว่าการใช้เครื่องยนต์สันดาปอย่างเดียว และในบางรุ่นยังช่วยเสริมแรงบิดให้กับเครื่องยนต์ ยานยนต์ HEV แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ Micro Hybrid (Start & Stop) Mild Hybrid (MHEV) และ Full Hybrid (FHEV)

2. PHEV ย่อมาจาก Plug-in Hybrid Electric Vehicle คือ ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมแบบเสียบปลั๊กหรือปลั๊กอินไฮบริด เป็นยานยนต์ที่พัฒนาต่อยอดมาจากยานยนต์ไฟฟ้าชนิด HEV ลักษณะการทำงานและชิ้นส่วนคล้ายไฮบริด แต่มีระบบประจุไฟฟ้าจากภายนอก มีระบบชาร์จไฟจากภายนอกเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อให้สามารถขับขี่ได้ในระยะทางที่ไกลกว่า เรียกง่าย ๆ คือ เป็นยานยนต์ไฮบริดที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ รถสามารถใช้มอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน ทำให้วิ่งได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น รวมทั้งมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ต่ำกว่า HEV เสริมแรงบิดเครื่องยนต์ได้ดีกว่า แต่อาจมีราคาสูงเนื่องจากใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่

3. BEV ย่อมาจาก Battery Electric Vehicle คือ ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว โดยผู้ผลิตรถยนต์บางรายอาจติดตั้งเครื่องยนต์เพื่อทำหน้าที่ปั่นไฟเพื่อเพิ่มระยะทางในการใช้งาน เรียกว่า Range Extended Battery Electric Vehicle (REEV)

4. FCEV ย่อมาจาก Fuel Cell Vehicle คือ ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว และใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ที่ใช้เชื้อเพลิงจากภายนอก โดยพลังงานไฟฟ้าผลิตจากก๊าซไฮโดรเจนภายในยานยนต์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ และปล่อยน้ำออกสู่อากาศโดยไม่มีการปลดปล่อยมลพิษและ CO2 จากยานยนต์โดยตรง มีเพียงการปล่อยน้ำเท่านั้น แต่ยานยนต์ชนิดนี้ยังไม่ถูกพัฒนาออกมาทำตลาดอย่างจริงจัง

ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ : BEV

จากประเภทของยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว จะเห็นได้ว่า “ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่” หรือ “Battery Electric Vehicle” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “BEV” นั้น เป็นยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะเป็นนวัตกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว 100% ในการขับเคลื่อน บางครั้งจึงอาจเห็นตัวย่อยานยนต์ไฟฟ้านี้ว่า “PEV” หรือ “Pure Electric Vehicle” เพราะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว (ไม่มีเครื่องยนต์) และใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ในแบตเตอรี่ซึ่งมาจากการอัดประจุไฟฟ้าจากภายนอกเท่านั้น โดยไม่มีการปลดปล่อยมลพิษและ CO2 โดยตรง ทั้งยังสามารถชาร์จไฟได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อแบตเตอรี่หมด โดยยานยนต์ไฟฟ้านี้จะมีองค์ประกอบหลักสำหรับการขับเคลื่อนคือ แบตเตอรี่ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า

ขั้นตอนการทำงานของยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ มีจุดเริ่มต้นจากแบตเตอรี่ที่เป็นแหล่งเก็บพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง ต่อมาอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าจะดึงพลังงานจากแบตเตอรี่ไปเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสสลับและส่งต่อไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน และด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนอันนุ่มนวลและเงียบสงบ จึงเรียกได้ว่า เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สมบูรณ์แบบ 100% ทั้งยังไม่มีการปล่อยไอเสีย จึงไม่สร้างมลภาวะให้แก่โลกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้จึงเป็นเป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก เนื่องจากเป็นยานยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษเลย หรือเรียกว่าเป็น “Zero Emission”

เงินอุดหนุน

แม้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่จะเป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจของโลก แต่โดยเหตุที่ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ยังคงมีราคาที่สูงเกินกว่าคนทั่วไปจะเอื้อมถึง จึงทำให้เกิดอุปสรรคสำคัญของการเติบโต คือ ยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ[1] โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 จึงได้ออก “มาตรการการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์” เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือ BEV มากขึ้น เพื่อให้มีราคาลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งส่งผลในอันที่จะทำให้เกิดความต้องการซื้อและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือ BEV เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งเครื่องมือที่นำมาใช้ในการดำเนินมาตรการ นอกจากมาตรการทางภาษี (Tax Incentive) โดยการ “ลดอัตราหรือยกเว้นอากรขาเข้า”[2] และการ “ลดอัตราภาษีสรรพสามิต”[3] แล้ว เครื่องมือสำคัญอีกประการหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของมาตรการนี้ คือ การให้ “เงินอุดหนุน” (Subsidy)[4]

ในการให้เงินอุดหนุนนั้น คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตมีอำนาจอนุมัติให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ขอรับสิทธิตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด ต่อมากรมสรรพสามิตได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยกำหนดรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน และจำนวนเงินอุดหนุนที่มีสิทธิได้รับ ดังนี้

ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน

ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จะต้องเป็นสินค้า “รถยนต์” หรือ “รถจักรยานยนต์” ตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ตอนที่ 6 หรือตอนที่ 7 และกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ออกตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยจำแนกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 รถยนต์นั่ง ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต หมายความว่า “รถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบสำหรับเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวร ด้านข้างและหรือด้านหลังคนขับมีประตูหรือหน้าต่างและมีที่นั่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด” รถยนต์นั่งจึงอาจเป็นประเภทรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Sub-Compact) รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) รถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ (Full-Size Car) รถยนต์นั่งแบบ Hot Hatch รถยนต์สปอร์ตซีดาน สปอร์ตคูเป้ ซูเปอร์คาร์ รถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูง (Sport Utility Vehicle : SUV) หรือรถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle : PPV) แล้วแต่ประเภทและลักษณะของรถยนต์นั้น ๆ แต่ไม่ว่าจะแบ่งประเภทอย่างไร รถยนต์ที่มีลักษณะดังกล่าวก็ถือเป็นรถยนต์นั่งตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ข้อสำคัญคือ รถยนต์นั่งดังที่กล่าวมานี้ ต้องเป็นรถยนต์นั่งแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือรถ BEV เท่านั้น โดยต้องเป็นรถยนต์นั่งที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือมีราคาขายปลีกแนะนำเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ทั้งนี้ จะต้องเป็นรถยนต์นั่งที่ผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 หรือนำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2566 เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการนี้

ประเภทที่ 2 รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต “รถยนต์โดยสาร” หมายความว่า “รถตู้หรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้ขนส่งคนโดยสารจำนวนมาก รวมทั้งรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน” รถยนต์โดยสารในกรณีนี้จึงจำกัดเฉพาะรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนเท่านั้น และข้อสำคัญคือ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือเป็นรถ BEV เท่านั้น โดยต้องมีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือมีราคาขายปลีกแนะนำเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ทั้งนี้ รถยนต์ดังกล่าวต้องผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 หรือนำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2566 เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการนี้

ประเภทที่ 3 รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต “รถยนต์กระบะ” หมายความว่า “รถยนต์ที่มีตอนหลังเป็นกระบะบรรทุกซึ่งเปิดโล่งจนถึงท้ายรถโดยไม่มีหลังคา” ซึ่งได้แก่ รถยนต์กระบะทั้งประเภทไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ (No Cab) มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ (Space Cab) และรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ข้อสำคัญคือ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือเป็นรถ BEV เท่านั้น โดยต้องมีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ทั้งนี้ เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการนี้ หากเกินกำหนดดังกล่าวหรือเป็นรถยนต์กระบะนำเข้า ก็จะไม่ได้รับสิทธิ

ประเภทที่ 4 รถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต หมายความว่า “รถที่มีล้อไม่เกิน 2 ล้อ ถ้ามีพ่วงข้างมีล้อเพิ่มอีกไม่เกิน 1 ล้อ เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์หรือกำลังไฟฟ้า และให้หมายความรวมถึงรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์” ข้อสำคัญคือ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือเป็นรถจักรยานยนต์ BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท ซึ่งผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 หรือนำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2566 เท่านั้น ทั้งนี้ รถจักรยานยนต์ดังกล่าวต้องมีคุณลักษณะและคุณสมบัติดังนี้

1. ใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนที่มีขนาดแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป โดยต้องยื่นเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐหรือจากสถาบันที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ (เช่น สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) หรือหน่วยงานอื่นที่รัฐรับรอง

2. ใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ระยะทางตั้งแต่ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ซึ่งผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน WMTC (Worldwide Harmonized Motorcycle Emission Certification/Test Procedure) ตั้งแต่ Class 1 ขึ้นไป โดยต้องยื่นเอกสารรายงานผลการทดสอบจากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ (เช่น สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) หรือหน่วยงานอื่นที่รัฐรับรอง

3. ใช้ยางล้อที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720 - 2560 หรือที่สูงกว่า หรือเป็นไปตามข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ ข้อกำหนดที่ 75 (UN Regulation No. 75) 00 Series หรือ Series ที่สูงกว่า

4. ผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยานยนต์ประเภท L: คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า มาตรฐานเลขที่ มอก. 2952 - 2561 หรือได้รับหนังสือรับรองแบบ (Certificate) ตามข้อกำหนดทางเทคนิคของสหประชาชาติ ข้อกำหนดที่ 136 (UN Regulation No. 136) 00 Series หรือ Series ที่สูงกว่า หรือได้รับหนังสือรับรองแบบเครื่องกำเนิดพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก

จำนวนเงินอุดหนุนที่มีสิทธิได้รับ

เงินอุดหนุนที่มีสิทธิได้รับตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข โดยแยกเป็น 3 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท 

  • หากมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน “70,000 บาทต่อคัน”
  • หากมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน “150,000 บาทต่อคัน”

กรณีที่ 2 รถยนต์กระบะ ที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน “150,000 บาทต่อคัน”

กรณีที่ 3 รถจักรยานยนต์ มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน “18,000 บาทต่อคัน”

อันที่จริงแล้ว การให้เงินอุดหนุนตามมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เดียวกันกับโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาลเมื่อปี 2555 ที่ให้สิทธิคืนเงินไม่เกิน 100,000 บาท แก่ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์และเพิ่มอุปทานในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่จุดที่ต่างกันคือ โครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นการคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ใหม่โดยตรง แต่การให้เงินอุดหนุนตามมาตรการนี้มิได้เป็นการให้สิทธิแก่ผู้บริโภค แต่เป็นการให้สิทธิแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ดังกล่าว แล้วแต่กรณี เพื่อให้สามารถตั้งราคาขายปลีกในจำนวนที่หักเงินอุดหนุนแล้ว เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคต้องการซื้อมากขึ้น ผู้บริโภคจึงได้รับประโยชน์โดยอ้อมในเรื่องราคาที่ลดลง ส่วนผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าก็จะได้รับประโยชน์สำคัญในเรื่องการเพิ่มกำลังซื้อ ดังนั้นผู้เข้าร่วมโครงการที่จะได้รับสิทธิโดยตรงตามมาตรการนี้จึงจำกัดเฉพาะผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าเท่านั้น โดยจะต้องขายรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ดังกล่าวให้ได้ และต้องจดทะเบียนให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะมายื่นขอรับเงินอุดหนุนได้ในภายหลัง 

ข้อสำคัญคือ มาตรการนี้มิได้เป็นมาตรการของรัฐที่ให้เปล่าแก่เอกชนเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังหวังผลในระยะยาว โดยได้กำหนดข้อผูกพันบางประการให้ผู้ได้รับสิทธิที่นำเข้าจะต้องผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้นด้วย ทั้งยังมีข้อกำหนดผูกพันว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ผู้ได้รับสิทธิจะต้องใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเป็นส่วนประกอบในการผลิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือรถยนต์ BEV ทุกคัน เพื่อส่งผลในระยะยาวให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ทั้งนี้ หากผู้ได้รับสิทธิฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้น ก็จะส่งผลให้ต้องถูกเรียกคืนเงินอุดหนุน ต้องเสียดอกเบี้ย และเสียค่าปรับ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศกรมสรรพสามิตกำหนด ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอรายละเอียดดังกล่าวนี้ในครั้งต่อไป

 


 


               [1] เป็นคณะกรรมการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 38/2563 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 372/2563 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

               [2] คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยกเว้นหรือลดอัตราอากรขาเข้าสูงสุดถึง 40% ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อยกเว้นหรือลดอัตราอากร

[3] คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ลดอัตราภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกกฎกระทรวงเพื่อลดอัตราภาษี

               [4] “เงินอุดหนุน” หรือ “Subsidy” ในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงเงินที่รัฐบาลจ่ายให้กับหน่วยธุรกิจ กลุ่มบุคคล หรือบุคคล เพื่อเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือทางการเงินตามวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐ เช่น ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ต่ำ การให้เงินอุดหนุนแก่กิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น

Top 5 Contents