กำลังโหลด...

×



Tax ภาษีสินค้าแบรนด์เนม หิ้วกลับระวังค่าปรับ!

magazine image
Tax

ภาษีสินค้าแบรนด์เนม หิ้วกลับระวังค่าปรับ!

รติรัตน์ คงเอียด

1 พฤศจิกายน 2565

บ่อยครั้งที่ได้ยินข่าวคนถือกระเป๋าแบรนด์เนม รองเท้า นาฬิกา ฯลฯ เดินทางเข้ามาในประเทศไทย แล้วถูกพนักงานศุลกากรเรียกเก็บภาษีอากรในจำนวนที่สูง แม้จะเป็นของใช้ส่วนตัวก็ตาม เป็นข่าวกันมาหลายครั้งสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ซื้อสินค้าแบรนด์เนมนำกลับมาแล้วถูกปรับ ถูกริบของ ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า ของแบบไหนที่หิ้วเข้ามาจากต่างประเทศแล้วต้องเสียหรือไม่ต้องเสียภาษี มีวิธีคิดภาษีอย่างไร และหากไม่เสียภาษีอากรให้ถูกต้องจะมีโทษอย่างไร

โดยหลักการทั่วไปแล้ว “ของ” หรือ “สินค้า” ทุกอย่างที่นำเข้ามาในประเทศ ล้วนมีภาระค่าภาษีอากรทั้งสิ้น ไม่ว่า จะเกิดจากการซื้อขายขนส่งเข้ามาในทางการค้าระหว่างประเทศหรือเป็นของที่นำติดตัวผู้โดยสารเข้ามา หากไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นภาษีอากรไว้เป็นการเฉพาะ ก็จะต้องเสียภาษีอากรจากฐานและอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคก็จะต้องรับภาระค่าภาษีอากรที่ถูกนำไปรวมอยู่ในราคาที่ซื้อขายนั้น

ยิ่งหากว่าของหรือสินค้าที่นำเข้ามาเป็น “สินค้าแบรนด์เนม” ที่นำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร ก็ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พนักงานศุลกากรจะต้องดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นของแบรนด์แนมที่ต้องเสียภาษีอากรหรือไม่ เนื่องจากหากพนักงานศุลกากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้มีการนำสินค้าแบรนด์เนมติดตัวเข้ามาโดยไม่มีการควบคุมตรวจสอบใด ๆ หรือกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมิได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการใด ๆ เพื่อควบคุมไว้ ก็จะส่งผลให้มีการนำของแบรนด์เนมติดตัวเข้ามาในประเทศได้อย่างอิสรเสรี ทำให้เกิดช่องทางการหลีกเลี่ยงภาษีอากรมากขึ้น แทนที่จะนำเข้ามาในลักษณะปกติทั่วไป ก็ใช้วิธีการนำเข้ามาในลักษณะหิ้วของแบรนด์เนมติดตัวผู้โดยสารเข้ามาในประเทศแทน เพราะคิดว่าไม่ต้องเสียภาษีอากร ส่งผลให้เกิดช่องทางการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายคือ “ธุรกิจหิ้วและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนม-พรีออเดอร์” หรือ “แอบหิ้ว” เข้ามา โดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรที่ถูกต้อง ซึ่งเข้าข่ายเป็นพฤติกรรม “หนีภาษี” (Tax Evasion) นั่นเอง

ดังนั้นหากปล่อยให้มีสภาพเช่นนี้โดยปราศจากการควบคุม ผู้ประกอบการขายสินค้าแบรนด์เนมที่สุจริตที่นำสินค้าเข้ามาโดยชำระภาษีอากรอย่างถูกต้องก็จะได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ย่อมจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในทางภาษีอากร กฎหมายศุลกากรจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน

 

1. สินค้าแบรนด์เนมที่ได้รับการยกเว้นอากร

หากผู้โดยสารขาเข้านำสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้าที่มีมูลค่าสูงเข้ามาในประเทศไทย กฎหมายให้สิทธิยกเว้นภาษีอากรให้กับของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน จะได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 ประเภทที่ 5 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้ของที่จะได้รับการยกเว้นอากรจะต้องเป็น “ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ” โดยของที่มีลักษณะเป็นของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง เช่น เสื้อผ้าที่นำติดตัวเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้เอง เป็นต้น ส่วนของที่นำเข้ามาใช้ในวิชาชีพ เช่น อุปกรณ์หรือเครื่องมือช่างที่ใช้ในการซ่อมของช่างต่าง ๆ ที่มีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นอากรก็ต่อเมื่อของนั้น “มีจำนวนพอสมควร” ด้วย ปัญหาคือ จำนวน “เท่าไร” จึงจะเรียกว่าพอสมควร ในเรื่องนี้กฎหมายว่าด้วยศุลกากรได้มีบทบัญญัติเพื่อรองรับไว้ตามความในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร “หากเป็นของติดตัวผู้โดยสารและมีมูลค่าไม่เกินจำนวนที่อธิบดีประกาศกำหนด” ผู้นำของเข้า “ไม่ต้องยื่นใบขนสินค้าสำหรับของนั้น” ในการนี้ อธิบดีกรมศุลกากรได้ออกข้อกำหนดยกเว้นอากรไว้ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 โดยกำหนดให้ของที่มีราคารวมกัน “ไม่เกิน 20,000 บาท”  ให้ได้รับยกเว้นอากร ดังนั้นสินค้าแบรนด์แนมที่นำติดตัวเข้ามาดังกล่าว หากมีราคารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ย่อมเป็นของที่ได้รับยกเว้นอากร ในการตรวจสัมภาระผู้โดยสารขาเข้าสามารถผ่านพิธีการศุลกากรโดยการตรวจ ณ ช่อง “ไม่มีสิ่งของต้องสำแดง” หรือ “ช่องเขียว” ซึ่งจะมีป้ายสีเขียวและมีตัวอักษรภาษาอังกฤษระบุว่า “Nothing to Declare” ภาษาไทยระบุว่า “ไม่มีของต้องสำแดง”

2. สินค้าแบรนด์เนมที่ต้องชำระอากร

กรณีผู้โดยสารขาเข้านำสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้าที่มีมูลค่าสูงนำติดตัวเข้ามาพร้อมกับตนทางท่าอากาศยานเข้ามาในประเทศไทย หากเป็นของที่มีมูลค่าเกิน 20,000 บาท ก็จะต้องเสียภาษีนำเข้าด้วย อย่างไรก็ตาม บางกรณีแม้จะมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท แต่หากปรากฏพฤติการณ์ว่าเป็นของที่มีลักษณะในเชิงพาณิชย์ ของนั้นก็ต้องเสียภาษีอากรด้วยเช่นกัน เนื่องจากกฎหมายยกเว้นอากรให้เฉพาะของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนเท่านั้น มิใช่การนำเข้ามาในลักษณะเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ ผู้นำเข้าจะต้องตรวจสัมภาระผู้โดยสารขาเข้า ณ ช่อง “มีสิ่งของต้องสำแดง” ซึ่งผู้โดยสารสามารถสำแดงของเพื่อเสียภาษีอากรที่ช่องตรวจมีของต้องสำแดง คือ ต้องผ่านพิธีการศุลกากรโดยการตรวจที่ “ช่องแดง” ที่มีป้ายสีแดงและมีตัวอักษรภาษาอังกฤษระบุว่า “Goods to Declare” ภาษาไทยระบุว่า “มีของต้องสำแดง” ทั้งนี้ การจัดเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่พนักงานศุลกากรจัดเก็บดังกล่าวนั้น เรียกว่า “อากรปากระวาง” 

กล่าวโดยสรุป ของติดตัวผู้โดยสารที่ได้รับการยกเว้นอากร คือ ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณสมควรสำหรับใช้ส่วนตนและมีมูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 20,000 บาท ถ้าผู้โดยสารแน่ใจว่าไม่ได้ชอปปิงสินค้ามาเกิน 20,000 บาท ก็สามารถเดินผ่านช่องเขียว (Nothing to Declare) ผ่านเลยออกไปได้ แต่ถ้าช็อปปิ้งมาเกิน ก็จะต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยการเข้าช่องแดง (Goods to Declare) เพื่อให้พนักงานศุลกากรพิจารณาเก็บภาษีอากร หากช้อปปิ้งมาเกินแล้วยังเดินเข้าช่องเขียว ถ้าถูกสุ่มตรวจเจอจะมีความผิดตามกฎหมายและของที่หลีกเลี่ยงการชำระอากรต้องถูกริบเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายศุลกากร

นอกจากนี้ ในบางกรณีมักจะปรากฏในสื่อโซเชียลบ่อยครั้งว่า บางคนหิ้วแบรนด์เนมหรือกล้องดี ๆ แพงๆ ออกไป แต่ขากลับเข้าประเทศกลับจะโดนพนักงานศุลกากรเรียกเก็บภาษี กรณีเช่นนี้ผู้โดยสารที่ต้องการนำของใช้ส่วนตัวติดตัวออกไประหว่างการเดินทาง เช่น นาฬิกา สร้อยคอ แหวน กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป วิทยุเทป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ฯลฯ แล้วประสงค์จะนำกลับเข้ามาภายในประเทศโดยได้รับการยกเว้นอากร ผู้โดยสารสามารถนำของดังกล่าวพร้อมบัตรที่นั่งบนเครื่องบิน (Boarding Pass) หนังสือเดินทาง และตั๋วโดยสาร มาแสดงแก่พนักงานศุลกากร ณ ที่ทำการขาออก เพื่อบันทึกรายละเอียดและรับสำเนาเอกสารไว้สำหรับแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำช่องตรวจสีแดงในวันเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไข คือ เป็นของเก่าใช้แล้วและมีจำนวนหรือปริมาณพอสมควรแก่ฐานะ และมีเครื่องหมายเลขหมาย (Serial Number) ที่สามารถตรวจสอบได้ง่าย

3. อัตราภาษีอากรสำหรับสินค้าแบรนด์แนม

อัตราภาษีศุลกากรแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

ส่วนที่ 1 “พิกัดศุลกากร” คือ การจำแนกประเภทสินค้าออกเป็นประเภทต่าง ๆ หรือการจัดหมวดหมู่ของให้เป็นระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการจัดเก็บภาษี การค้าระหว่างประเทศหรือรวบรวมข้อมูลทางสถิติ 

ส่วนที่ 2 อัตราศุลกากร (อัตราอากร) คือ ส่วนที่กำหนดว่าของประเภทหนึ่งประเภทใดจะต้องชำระอากรในอัตราจำนวนเท่าใด ในส่วนของสินค้าแบรนด์เนมจะมีการกำหนดอัตราอากรขาเข้าที่ระบุไว้ในประเภทพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งจะมีอัตราแตกต่างกันตามชนิดและประเภทสินค้าตามตัวอย่างดังต่อไปนี้

(1) นาฬิกาข้อมือ แว่นตา แว่นกันแดด                 คิดอัตราภาษีศุลกากร 5%

(2) กระเป๋าแบรนด์เนม                                        คิดอัตราภาษีศุลกากร 20%

(3) เสื้อผ้า หมวก เข็มขัด                                     คิดอัตราภาษีศุลกากร 30%

(4) รองเท้า                                                          คิดอัตราภาษีศุลกากร 30%

ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรกำหนดว่า ผู้นำของเข้ามีภาระหน้าที่ในการชำระค่าภาษีอากรตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรแล้ว ยังต้องชำระค่าภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้ครบถ้วนอีกด้วย ซึ่งในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT) เป็นภาษีประเภทหนึ่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีที่มีการนำเข้า กรมศุลกากรจะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับอากรศุลกากรด้วยในอัตรา 7%

 

4. การคำนวณภาษีอากร

การคำนวณภาษีอากรจะต้องเสียภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้ามาจำนวนเท่าใด มีวิธีคำนวณภาษีอากรได้ ดังนี้ 

(1) อากรขาเข้า      = ราคาสินค้า x อัตราภาษีขาเข้า

(2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% 

(3) ภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ = อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ยกตัวอย่าง

นางสาว A ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมราคา 150,000 บาท จากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในประเทศไทย โดยนำกระเป๋าแบรนด์เนมดังกล่าวถือติดตัวเดินทางมากับท่าอากาศยานเพื่อเข้ามาในประเทศไทย นางสาว A แจ้งว่ากระเป๋าดังกล่าวเป็นของใช้ส่วนตัวของตนนำกลับมาจากประเทศฝรั่งเศส นางสาว A จะต้องเสียภาษีอากรหรือไม่

เมื่อนางสาว A ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมจากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในประเทศไทย กรณีนี้เป็นการนำเข้าสินค้าแล้ว เนื่องจากเป็นการนำของหรือสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ส่วนการจะเสียภาษีอากรหรือไม่ ต้องพิจารณาว่ากระเป๋าแบรนด์เนมดังกล่าวมีมูลค่าหรือราคาเท่าใด และราคาดังกล่าวนั้นเกินกว่า 20,000 บาทหรือไม่ 

จากข้อเท็จจริงคือ กระเป๋าแบรนด์เนมมีราคา 150,000 บาท ดังนั้นเมื่อของมีราคาเกินกว่า 20,000 บาท จึงต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จะอ้างว่าเป็นของใช้ส่วนตัวไม่ได้ โดยกรณีนี้นางสาว A จะต้องเสียภาษีอากรในจำนวนดังนี้

(1) อากรขาเข้า      = ราคาสินค้า (150,000) x อัตราภาษีขาเข้ากระเป๋า (20%)              = 30,000 บาท

(2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (7%)

                              = (150,000 + 30,000) x 7%                                                            = 12,600 บาท

(3) รวมภาษีอากรทั้งหมดที่ต้องชำระ = 30,000 + 12,600                                              = 42,600 บาท

5. ความผิดและโทษตามกฎหมายศุลกากร

การหิ้วสินค้าแบรนด์เนมหนีภาษีอากรเข้ามาในประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า “ธุรกิจหิ้วและจำหน่ายแบรนด์เนม-พรีออเดอร์” โดยการ “แอบหิ้ว” เข้ามา โดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หลักกฎหมายมีใจความว่า 

“ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร .... ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่”

ความผิดในลักษณะดังกล่าวเรียกว่า “ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร” กฎหมายมุ่งเอาผิดกับผู้ที่ลักลอบหนีศุลกากร ซึ่งของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรให้ถูกต้อง และความผิดฐานนี้สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้แม้กระทำโดยไม่มีเจตนา เนื่องจากตามมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ที่กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา ดังนั้นแม้ว่าผู้กระทำจะไม่รู้ว่าสินค้าแบรนด์เนมที่ตนนำเข้ามาต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ก็มีความผิดตามกฎหมายแล้ว

ส่วนผู้รับซื้อของหนีภาษีโดยรู้อยู่แล้วว่าเกิดจากการลักลอบหนีศุลกากรนั้น ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ” เรียกการกระทำความผิดฐานนี้ว่า “ความผิดฐานรับของลักลอบหนีศุลกากร” ความผิดฐานนี้มุ่งเอาผิดกับผู้ที่รู้หรือทราบข้อเท็จจริงว่า ของที่ตนได้รับซื้อเป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร หรือพูดง่าย ๆ ว่า รู้ว่าเป็นของที่แอบหิ้วเข้ามาแล้วตนรับซื้อของนั้นไว้ ดังนั้นผู้รับซื้อของลักลอบหนีศุลกากรจึงต้องมีเจตนากระทำความผิดด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรตามมาตรา 242 และความผิดฐานรับของลักลอบหนีศุลกากร ตามมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ผู้กระทำความผิดสามารถทำความตกลงระงับคดี โดยการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องต่อกรมศุลกากรได้ โดยผู้กระทำความผิดสามารถจ่ายค่าปรับตามเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนด ซึ่งอัตราโทษจะน้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมาย และจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ หากยินยอมจ่ายค่าปรับก็จะส่งผลให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

6. ลักษณะและรูปแบบการกระทำความผิดที่มักพบในประเทศไทย

จากสถิติการจับกุมและวิธีการลักลอบที่ผ่านมาพบว่า[1] สินค้าแบรนด์เนมส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีลักษณะเป็นของใช้ส่วนตัว เช่น กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา และเครื่องประดับ ได้แก่ ต่างหู กำไลข้อมือ เป็นต้น ซึ่งจะมีขนาดเล็กแต่มีราคาสูงตั้งแต่หลักพันบาทจนถึงหลักล้านบาท ฉะนั้น การลักลอบนำสินค้าเหล่านี้เข้ามาโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรของผู้ลักลอบจึงมักกระทำในลักษณะของติดตัวผู้โดยสารทางท่าอากาศยาน ดังจะเห็นได้จากสถิติการจับกุมสินค้าลักลอบหนีภาษี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเภทของสินค้าลักลอบหนีภาษีที่จับกุมได้มากที่สุดคือ สินค้าแบรนด์เนม สามารถจับกุมได้ถึง 605 คดี คิดเป็นร้อยละ 42 ของคดีลักลอบหนีศุลกากรที่เกิดขึ้น ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมด การจับกุมคดีลักลอบสินค้าแบรนด์เนมหนีภาษีศุลกากรทางท่าอากาศยานในช่วงอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการจับกุมผู้ลักลอบและสินค้าลักลอบได้ที่ช่องตรวจศุลกากรไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (ช่องเขียว) แต่ในช่วงระยะเวลา 2 - 3 ปีนี้พบว่าขบวนการลักลอบหนีศุลกากรประเภทสินค้าแบรนด์เนมได้เปลี่ยนรูปแบบและวิธีการลักลอบที่มีความแยบยลสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยหลังจากที่ผู้ลักลอบซื้อสินค้าจากประเทศต้นทางแล้ว ก็จะแยกกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ออกจากตัวสินค้า โดยจะส่งกล่องหรือบรรจุภัณฑ์เข้ามาทางไปรษณีย์ส่วนตัว สินค้าก็จะลักลอบนำเข้าประเทศทางท่าอากาศยานด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ 

         (1) การใช้ช่องทางในการขออำนวยความสะดวกสำหรับการผ่านช่องตรวจศุลกากรไม่มีสิ่งของต้องสำแดง โดยได้รับการยกเว้นการตรวจค้นหรือการเรียก X-Ray กระเป๋าสัมภาระเดินทางจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร

         (2) การร่วมมือกับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบัตรรักษาความปลอดภัยสำหรับผ่านเข้า - ออกพื้นที่ท่าอากาศยาน โดยการใช้ช่องทางเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่ ช่วยนำสินค้าลักลอบออกจากท่าอากาศยานผ่านช่องทางดังกล่าว โดยไม่ผ่านการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ศุลกากร

         (3) ผู้ลักลอบนำสิ่งของที่มีภาระค่าภาษีเข้าสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ช่องตรวจศุลกากรมีสิ่งของต้องสำแดง (ช่องแดง) เพียงบางส่วน และเก็บ/ซุกซ่อนสินค้าที่มีราคาสูงไว้ในเสื้อผ้า รองเท้า ที่สวมใส่อยู่ ตลอดจนเก็บสิ่งของไว้บริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ของประเภทนาฬิกาข้อมือราคาสูง หรือเครื่องประดับขนาดเล็ก หรือบางครั้งแบ่งสิ่งของบางส่วนไว้ในกระเป๋าขนาดเล็กอำพรางให้เป็นเสมือนของใช้ส่วนตัว เป็นต้น

         (4) กลุ่มผู้ลักลอบที่เคยถูกจับกุมจะใช้วิธีการต่อเที่ยวบินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติตามภูมิภาคอื่น ๆ ภายในประเทศ (Check Through) เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากเกรงว่าจะโดนตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่เพราะเคยมีประวัติการกระทำความผิดและถูกจับกุมแล้ว

 

 

               [1] “ความท้าทายของศุลกากรไทยในยุคสินค้าแบรนด์เนมแพร่หลายใน Social Network” บทความโดยนายธนิต วัฒน์ธนนันท์

Top 5 Contents