กำลังโหลด...

×



Tax ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ตอนที่ 35) การยกเว้นภา...

magazine image
Tax

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ตอนที่ 35) การยกเว้นภาษีฯ ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานหรือฌาปนสถานสาธารณะ

บทความตอนนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 8 ที่บัญญัติว่า “ให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ กล่าวคือ (6) ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน คำว่า สุสาน (Cemetery หรือ Graveyard) หมายถึง พื้นที่ตั้งหรือกันไว้โดยเฉพาะสำหรับการฝังผู้ตาย อาจจะเป็นบริเวณที่มีกำแพงล้อมรอบ

ในต่างประเทศที่เก็บศพมีหลายแบบ เช่น ที่เก็บศพมอโซเลียม (Mausoleum) หมายถึง ที่เก็บศพเหนือดินภายในสิ่งก่อสร้าง ซึ่งอาจจะใหญ่หรือเล็กตามกำลังทรัพย์หรืออำนาจของผู้สร้าง ที่เก็บศพ (Tomb) เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ๆ ใช้ได้หลายอย่าง เช่น ที่เก็บศพของผู้ตายหรือที่เก็บศพคล้ายมอโซเลียมแต่ขนาดมักจะเล็กกว่า หรือที่เก็บศพภายในวัดซึ่งอาจจะมีอนุสรณ์ผู้ตายประกอบที่แตกต่างคือจะมีร่างของผู้ตาย สุสานทหาร (Military Cemetery) หมายถึง สุสานของทหารผู้เสียชีวิตในสงคราม บางครั้งอาจจะสร้างในบริเวณสนามรบโดยตรงหลังสงครามเลิกแล้วเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ตายโดยเฉพาะทหารนิรนาม เช่น สุสานทหารของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางทางตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส หรืออาจจะกลับมาสร้างในประเทศบ้านเกิดของผู้เสียชีวิต เช่น สุสานทหารอาร์ลิงตันในสหรัฐอเมริกา สุสานทหารนิรนาม (Tomb of the Unknown Soldier) หรืออนุสาวรีย์ทหารนิรนาม หมายถึง สุสานของทหารผู้เสียชีวิตในสงครามสำหรับทหารผู้เสียชีวิตผู้ไม่ทราบชื่อ ซึ่งอาจจะทำเป็นเพียงอนุสาวรีย์หรือแผ่นป้ายชื่อตั้งอยู่ตามจัตุรัสในเมือง หรือหมู่บ้าน หรือภายในวัด เช่นที่ทำกันในประเทศในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 สุสานหมู่ (Mass Grave) อาจจะหมายถึง หลุมศพของผู้ยากจนเกินกว่าที่จะมีที่ฝังเป็นของตนเอง เมื่อเสียชีวิตร่างก็จะถูกนำไปฝังรวม ๆ กันในหลุมใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในยุโรปในสมัยโบราณ หรืออาจจะหมายถึงการฆ่าคนเป็นหมู่โดยเฉพาะพลเรือนในระหว่างในสงคราม เช่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วฝังไว้ด้วยกันในหลุมใหญ่ หรือการสังหารที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือศาสนาที่ฆาตกรจะไม่อยากให้ผู้อื่นหรือสื่อมวลชนทราบ เช่น สุสานหมู่ในประเทศกัมพูชา ที่เก็บศพรังผึ้งหรือสุสานรังผึ้ง (Catacombs)หมายถึง ที่เก็บศพที่อยู่ใต้ดินจัดเป็นช่อง ๆ สำหรับวางศพ นิยมกันมากในสมัยจักรวรรดิโรมัน ซึ่งอาจจะอยู่ภายในถ้ำหรือสถานที่ใต้ดินที่สร้างขึ้น เนินเก็บศพ (Necropolis)หมายถึง ที่เก็บศพเหนือดินซึ่งมักจะอยู่บนเนินสูงและอาจจะเป็นสิ่งก็สร้างที่ขุดลงไปในดินบางส่วน ภายในเป็นแท่นที่ตั้งศพคล้ายการเก็บศพในมอโซเลียม ศพเก็บไว้ภายในตัวสิ่งก่อสร้าง เช่น เนินเก็บศพเซอร์เวเทริ (Cerveteri) ของอิทรัสคัน (Etruscan) ที่ประเทศอิตาลี คริพท์ (Crypt) หมายถึง ห้องใต้ดินภายในมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ หรือปราสาท ที่อาจจะสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นชาเปลหรือที่เก็บโลงหิน หรือวัตถุมงคลในคริสต์ศาสนา หรือร่างของบุคคลสำคัญทางศาสนา เช่น นักบุญ[1] เป็นต้น 

ในมลรัฐวอชิงตันมีกฎหมายที่เกี่ยวกับที่ฝังศพสาธารณะหรือสุสานว่า มีการยกเว้นภาษีทรัพย์สินสำหรับพื้นที่ฝังศพหรือสุสานสาธารณะ การยกเว้นภาษีทรัพย์สิน “ที่ฝังศพสาธารณะ" หมายถึง สถานที่ที่ใช้จริงและอุทิศให้กับการฝังศพหรือการฝังศพมนุษย์ และยังรวมถึง "สุสานร้าง" หรือ “สุสานประวัติศาสตร์" เช่น ที่ฝังศพของชนพื้นเมืองอินเดีย หลุมฝังศพประวัติศาสตร์ที่ได้รับการคุ้มครอง รวมถึงมีการยกเว้นภาษีให้สุสานไม่แสวงหากำไร ที่เป็นเจ้าของหรือดำเนินการโดยนิกายทางศาสนาที่เป็นที่ยอมรับหรือคริสตจักรใด ๆ ที่มีคุณสมบัติได้รับการยกเว้นภาษีทรัพย์สินในฐานะคริสตจักร และการยกเว้นให้กับสุสานที่ไม่แสวงหากำไร ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ สีผิว ถิ่นกำเนิด หรือบรรพบุรุษ 

สำหรับพื้นที่ดินที่จะได้รับยกเว้นภาษี คือ ที่ดินทั้งหมดที่ใช้จริงหรือเท่าที่ใช้จริง เฉพาะสำหรับพื้นที่ฝังศพสาธารณะ หรือสุสาน อาคารและทรัพย์สินส่วนบุคคลทั้งหมดที่จำเป็นและใช้จริงหรือตามขอบเขตที่ใช้จริง โดยเฉพาะสำหรับการบริหารและบำรุงรักษาพื้นที่ฝังศพหรือสุสานสาธารณะที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ อาคารบริหารหรือสำนักงาน สิ่งปลูกสร้างที่เป็นงานศิลปะและรูปปั้นในสถานที่ซึ่งตกแต่งหรือเสริมความงามของที่ฝังศพสาธารณะหรือสุสาน ที่ฝังศพ โคลอมบาเรียม (หมายถึง สถานที่สำหรับการฝังศพในอาคาร ในห้อง หรือพื้นที่อื่น) อาคารรักษาดินหรือบำรุงรักษาที่เก็บสิ่งของที่ใช้เฉพาะสำหรับการบำรุงรักษาทั่วไปและการดำเนินงานของที่ฝังศพหรือสุสานสาธารณะ เช่น เครื่องตัดหญ้า อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ไม่มีใบอนุญาต เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์สำนักงาน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการขุดหลุมศพ อาคารที่พักของผู้ดูแลที่มีหน้าที่สอดส่องดูแลทรัพย์สินเป็นประจำโดยขนาดของที่อยู่อาศัยต้องมีความสมเหตุสมผลและเหมาะสม โดยคำนึงถึงหน้าที่ของผู้ดูแลและขนาดของทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้น อาคารนั้นต้องมีผู้ดูแลหรือคนแทนผู้ดูแลอยู่ในสถานที่ตลอดเวลาที่สุสานปิด หรืออย่างน้อยในช่วงเวลาที่การก่อกวนหรือความเสียหายอื่น ๆ มักจะเกิดขึ้น และผู้ดูแลที่ได้อยู่อาศัยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค และไม่ถือเป็นค่าเช่า แต่เป็นส่วนหนึ่งของค่าตอบแทนของผู้ดูแลสำหรับพื้นดินนั้น รวมถึงพื้นที่สวนกระจัดกระจายในสุสานก็จะได้รับการยกเว้นด้วย[2]

สำหรับในเมืองไทยนั้น ในสมัยอยุธยา มร. เดอะ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสผู้เข้ามาเมืองไทยช่วงปลายแผ่นดินพระนารายณ์ได้บันทึกถึงเรื่อง “การปลงศพของชาวสยาม” ไว้ในจดหมายเหตุของตนว่า “เมื่อบุคคลถึงแก่ความตายลง เขาก็เก็บศพผู้ตายลงไว้ในโลงไม้ ซึ่งเขาทายางรักทางด้านนอกและลางทีก็ปิดทองด้วย แต่โดยที่น้ำยางรักของสยามไม่ค่อยดีเท่าของประเทศจีน และไม่อาจป้องกันกลิ่นเหม็นของศพมิให้รั่วระเหยออกมาตามแนวโลงที่ครากไว้เสมอไป เจ้าศพจึงพยายามอย่างน้อยที่สุดก็ทำลายไส้ของผู้ตายเสียด้วยปรอทซึ่งเขากรอกเข้าไปในปากศพ และกล่าวกันว่ากลับไหลออกมาได้ทางทวารหนัก”

ลาลูแบร์ยังบันทึกไว้อีกว่า ชาวสยามที่เขาได้พบเห็นจะเก็บศพไว้ในบ้านเรือนตน แต่ละคืนจะมีพระมาสวดศพในลักษณะที่ “ท่านนั่งเรียงกันไปตามแนวฝาห้อง เจ้าศพก็จะรับรองเลี้ยงดูและถวายปัจจัยบ้าง มนตร์ที่ท่านสวดนั้นเป็นธรรมะว่าด้วยความตายพร้อมกับบอกทางสวรรค์” สำหรับการเผาศพนั้น ลาลูแบร์เล่าว่า ชาวบ้านอยุธยาจะจัดการด้วยวิธี “ในระหว่างที่ตั้งศพไว้นั้น ญาติเจ้าของศพก็เลือกสถานที่แห่งหนึ่งในท้องนาสำหรับจะชักศพไปเผาที่นั่น สถานที่นั้นตามปกติมักจะเป็นที่ใกล้วัด... เมื่อถึงเวลาที่จะชักศพไปสู่เมรุ (ซึ่งธรรมดาจะกระทำกันในตอนเช้า) ญาติพี่น้องและมิตรสหายเป็นผู้ยก (หีบ) ศพ มีประโคมด้วยเครื่องดนตรีนานาชนิด หีบศพนั้นหามออกนำหน้า ถัดจากนั้นก็ถึงบุคคลในครอบครัวของผู้ตายทั้งชายและหญิงล้วนแต่งขาว ศีรษะของคนตามศพคลุมด้วยผ้าสีขาว และร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ต่อจากนั้นก็ถึงขบวนมิตรสหายและญาติของผู้ตาย ถ้าขบวนแห่นั้นสามารถกระทำโดยทางน้ำได้จนถึงที่เผา เขาก็กระทำกัน...เขาไม่เผาโลงด้วย แต่เขานำเอาศพออกวางบนกองฟืน และพระภิกษุในวัดที่อยู่ใกล้ที่ทำเมรุเผาศพก็มาสวดมนต์อยู่ราวสักเสี้ยวชั่วโมง ครั้นแล้วก็ถอยจากไปไม่กลับมาอีก บัดนั้นก็เริ่มการมหรสพมีโขนและระบำ ซึ่งเขาจัดให้แสดงพร้อม ๆ กันตลอดทั้งวัน แต่ต่างโรงกัน หาใช่บนเวทีเดียวกันไม่ พระภิกษุสงฆ์เห็นไม่สมควรที่จะอยู่ที่นั่นด้วยเกรงได้บาปเป็นอาบัติ...พอได้เวลาเที่ยงวัน ตาปะขาวหรือคนรับใช้ของพระภิกษุสงฆ์ก็จุดเพลิงที่กองฟืน ซึ่งตามปกติมักจะเผาลุกอยู่ราว 2 ชั่วโมง ไฟไม่เคยเผาศพให้มอดไหม้หมดไปเลย ชั่วแต่ย่างเท่านั้น และมักจะไม่ค่อยเกรียมเสียด้วย แต่ถือกันว่าเพื่อเกียรติของผู้ตาย ศพนั้นจะต้องได้รับการเผาให้มอดไหม้ไปหมดสิ้นบนเนินสูงจนที่สุดเหลือแต่อังคารเท่านั้น... ธรรมเนียมในงานปลงศพของชาวสยามมีที่จะกล่าวแถมก็คือ เขาทำให้งานศพสวยงามขึ้นด้วยการจุดดอกไม้ไฟเป็นอันมาก และถ้าเป็นงานปลงศพบุคคลที่มีวาสนาบารมีมากแล้วก็จะมีการจุดดอกไม้ไฟติดต่อกันไปตลอดทั้ง 3 วัน 3 คืน.. เมื่อศพของชาวสยามได้รับการเผาดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมานี้แล้ว งานมหรสพทั้งปวงก็เป็นอันยุติ เจ้าของศพเก็บส่วนที่เหลือของร่างกายคืออัฐิกับอังคารเข้าไว้ในโลงโดยไม่มีพิธีรีตองอะไรทั้งนั้น และนำสิ่งเหล่านี้ไปฝังไว้ใต้พีรามิดองค์หนึ่งซึ่งมีอยู่รายรอบพระอุโบสถ ลางทีก็ฝังอัญมณีและสิ่งมีค่าอื่น ๆ ลงไปไว้ปนกับอัฐิด้วย เพราะถือกันว่าได้ฝังไว้ในสถานที่ซึ่งพระศาสนาช่วยป้องกันไว้มิให้ผู้ใดละเมิดได้”

พีรามิดใช้บรรจุกระดูกผู้ตายและของมีค่าต่าง ๆ ที่ลาลูแบร์กล่าวถึงไว้ตั้งแต่ 300 กว่าปีก่อนนี้ ก็คือ เจดีย์เรียงรายอยู่รอบพระอุโบสถที่กระทั่งปัจจุบันขุนนาง ข้าราชการ ชาวบ้านไทยทุกระดับชนชั้นยังคงใช้ “บรรจุกระดูก” ผู้ตายสืบต่อกันตลอดมา[3]

ในปัจจุบัน การจัดการศพมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2528 มาตรา 44 ให้คำนิยามคำว่า “สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ” หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้สำหรับเก็บ ฝัง หรือเผาศพ สำหรับประชาชนทั่วไป แต่ไม่รวมถึงสถานที่ที่ใช้สำหรับเก็บศพชั่วคราวในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล “สุสานและฌาปนสถานเอกชน” หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้สำหรับเก็บ ฝัง หรือเผาศพสำหรับตระกูลหรือครอบครัว หรือมิตรของตระกูลหรือครอบครัว แต่ไม่รวมถึงสถานที่ที่ใช้สำหรับเก็บศพชั่วคราวในเคหสถาน แสดงว่าสุสานหรือฌาปนสถาน มี 2 ประเภท คือ สุสานหรือฌาปนสถานที่เป็นสาธารณะหรือเป็นของเอกชน ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 8 (6) ให้เฉพาะทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทนเท่านั้นที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คำว่า สุสาน หมายถึง สถานที่เก็บศพหรือฝังศพของผู้นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ หรือศาสนาอิสลาม ส่วนคำว่าฌาปนสถานนั้น หมายถึง ที่เผาศพของทุก ๆ ศาสนาเช่นเดียวกัน สุสานหรือฌาปนสถานที่จะได้รับยกเว้นภาษีนั้น จะหมายความเฉพาะสุสานและฌาปนสถานที่เป็นสาธารณะกล่าวคือ เป็นการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการกระทำในทางการกุศลสาธารณะ แตกต่างจากสุสานหรือฌาปนสถานของเอกชน การที่จะเข้าไปใช้บริการได้จะต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายปีหรือรายเดือน ตามพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2528 มาตรา 10 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใด เก็บ ฝัง หรือเผาศพในสถานที่อื่น นอกจากในสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน หรือเก็บศพในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลหรือเคหสถานเป็นการชั่วคราว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ในกรณีสถานที่อยู่นอกเขตเทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือกำนันแห่งท้องที่เป็นผู้อนุญาตแทนได้ จะเห็นได้ว่าการที่จะเก็บศพตามปกติจะต้องเก็บในสุสาน หากเป็นการเก็บที่บ้านเป็นการชั่วคราวก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น สำหรับการจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานนั้น พระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2528 มาตรา 6 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งก็คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี ประธานกรรมการสุขาภิบาล และปลัดเมืองพัทยา เป็นต้น สำหรับการขออนุญาตและการอนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น เทศบาลเมืองสุพรรณบุรีออกเทศบัญญัติ เรื่อง สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2544  โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขมาตรา 5 พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2510 ประกอบด้วยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2528 เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี โดยความเห็นชอบจากสภาเทศบาลเมืองสุพรรณบุรีและโดยอนุมัติของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี จึงตราเทศบัญญัติไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 10 ห้ามมิให้จัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานหรือฌาปนสถานเอกชนในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น 

ข้อ 11 ห้ามมิให้จัดตั้งสุสานและฌาปนสถานเอกชน สำหรับเก็บหรือฝังศพเป็นการถาวรในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี 

ข้อ 12 ห้ามมิให้จะตั้งสุสานหรือฌาปนสถานสาธารณะ หรือสุสานหรือฌาปนสถานเอกชนในเขตหรือสถานที่ดังนี้

(1) พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร 

(2) เขตพื้นที่อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือเขตพื้นที่อันจัดสรรเป็นพื้นที่เพื่อนันทนาการ หรือเขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

(3) บริเวณที่เป็นเอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของท้องถิ่น หรือมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี

ข้อ 13 สถานที่ตั้งสุสานหรือฌาปนสถานสาธารณะสำหรับเก็บหรือฝังศพเป็นการถาวรต้องอยู่ห่างจาก 

  1. ถนนทุกสายภายในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรีอย่างน้อย 100 เมตร 
  2. ทางน้ำซึ่งประชาชนใช้ในการจราจรสาธารณะ ห้วย แม่น้ำ คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์อย่างอื่น 400 เมตร เว้นแต่ในกรณีที่มีการป้องกันมิให้กลิ่นหรือสิ่งปฏิกูลรั่วไหล สถานที่ตั้งนั้นจะต้องอยู่ห่างจากทางน้ำไม่น้อยกว่า 100 เมตร ดังนี้ 

                             ก แม่น้ำท่าจีน 

                             ข คลองส่งน้ำชลประทานโพธิ์พระยา - สองพี่น้อง 

                             ค คลองส่งน้ำ 1 อาร์ 

                             ง คูเมือง 

                   ข้อ 14 สถานที่ตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 1 ไร่ 

                   ข้อ 15 สถานที่สำหรับเก็บฝังหรือเผาศพต้องมีลักษณะดังนี้

                                   (1) บริเวณสถานที่เก็บหรือฝังศพต้องมีกำแพงสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตรโดยรอบ และทางเข้าออกต้องมีประตูปิดกั้น

                                   (2) ที่เก็บศพหรือฝังศพต้องห่างจากกำแพงตาม (1) ไม่น้อยกว่า 5 เมตร 

                                   (3) พื้นที่เก็บศพหรือฝังศพต้องน้ำท่วมไม่ถึง หรือมีวิธีป้องกันไม่ให้น้ำท่วมถึง

                                   (4) ที่เก็บศพต้องทำด้วยคอนกรีตหรือก่ออิฐถือปูน มีลักษณะเป็นซองสูงจากระดับพื้นดินภายในบริเวณสถานที่เก็บศพไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

                                   (5) ซองเก็บศพต้องมีขนาดกว้างพอที่จะเก็บเคลื่อนย้ายหีบศพได้โดยสะดวก และมีฝาทำด้วยโลหะหรือคอนกรีตซึ่งสามารถป้องกันกลิ่นหรือสิ่งปฏิกูลรั่วไหล

                                   (6) ภายในซองเก็บศพต้องมีฐานรองรับหีบศพสูงจากพื้นซองไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร

                         ข้อ 16 ผู้ดำเนินการสุสานและฌาปนสถานสาธารณะต้องดำเนินการฝังศพ ดังนี้

                                   (1) ให้หลุมฝังศพแต่ละหลุมอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

                                   (2) ให้หีบศพหรือสิ่งบรรจุศพหรือห่อศพอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

                                   (3) ห้ามฝังศพเกินกว่าหลุมละ 1 ศพ เว้นแต่ผู้ตายจะเป็นญาติกันและด้วยความยินยอมของเจ้าของศพทุกฝ่าย

                                   (4) ให้มีป้ายเขียนชื่อ นามสกุล เพศ วัน เดือน ปีเกิด - ตาย และที่ฝังศพไว้ให้ชัดเจนอยู่เสมอ และติดตั้งไว้อย่างเรียบร้อย การเก็บ ฝัง หรือเผาศพของผู้ตายที่ตายด้วยโรคติดต่ออันตราย ห้ามมิให้ผู้ใดถ่ายศพออกจากหีบศพหรือที่บรรจุเดิม และห้ามมิให้เอาสิ่งที่ติดไปกับศพนั้นออกจากหีบศพหรือที่บรรจุ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและกระทำในการควบคุมของเจ้าพนักงานสาธารณสุข

                                   (5) ถ้าศพที่จะฝังเป็นศพของผู้ตายด้วยโรคติดต่ออันตรายต้องทำการทำลายเชื้อโรคที่ศพนั้นด้วยวิธีที่เจ้าพนักงานสาธารณสุขกำหนด

                         ข้อ 17 ผู้ดำเนินการสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน ต้องดำเนินการเผาศพ ดังนี้

                                   (1) ต้องเผาศพด้วยเตาเผาศพที่ใช้น้ำมันดีเซล ก๊าซ ไฟฟ้า และเตาเผาศพนั้นต้องมีค่ามาตรฐานความทึบแสงของเขม่าควันจากปล่องเตาเผาศพ เป็นไปตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

                                   (2) หลังจากการเผาศพแต่ละครั้ง ให้จัดการทำความสะอาดเตาเผาศพเพื่อรวบรวมกระดูกและเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาศพเพื่อเก็บไว้ในที่จัดเก็บโดยเฉพาะ มิให้เถ้าถ่านฟุ้งกระจาย

                         ข้อ 18 ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานหรือฌาปนสถานเอกชน ต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินที่จะใช้เป็นที่ตั้งสุสานหรือฌาปนสถาน

                         ข้อ 19 การเก็บ ฝัง หรือเผาศพของผู้ตายด้วยโรคติดต่ออันตราย ห้ามมิให้ผู้ใดถ่ายศพออกจากหีบศพหรือที่บรรจุเดิม และห้ามเอาสิ่งที่ติดมากับศพนั้นออกจากหีบศพที่บรรจุ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและกระทำในการควบคุมของเจ้าพนักงานสาธารณสุข

                         ข้อ 20 ผู้ดำเนินการสุสานหรือฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน ต้องดำเนินการเก็บศพ ดังนี้

                                   (1) บรรจุศพไว้ในหีบศพที่มั่นคงมิดชิด และโดยวิธีซึ่งป้องกันไม่ให้มีกลิ่นหรือสิ่งปฏิกูลรั่วไหล

                                   (2) ต้องรักษาและป้องกันให้หีบศพคงอยู่ในสภาพตามข้อ (1)

                                   (3) ต้องวางหีบศพไว้บนที่รองรับซึ่งต้องสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร และถ้าจะวางซ้อนทับกันต้องเว้นระยะห่างระหว่างหีบศพล่างกับหีบศพบนให้ห่างกันไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

                                   (4) ให้เขียนชื่อ นามสกุล เพศ วัน เดือน ปีเกิด ตายและรับฝากศพไว้ที่หีบศพให้ชัดเจนอยู่เสมอ

                   นอกจากนี้ เทศบาลเมืองสระบุรีได้มีการออกเทศบัญญัติ เรื่อง สุสานและฌาปนสถาน พุทธศักราช 2548  เกี่ยวกับเรื่องการขุดย้ายศพ ดังต่อไปนี้

                         ข้อ 18 ผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานหรือผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการต้องปฏิบัติการขุดย้ายศพ ดังต่อไปนี้ 

                                   (1) ต้องขออนุญาตขุดศพที่ฝังและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนจึงขุดศพขึ้นมาได้ และการย้ายศพจากที่เก็บศพไปที่อื่นนอกจากสุสานที่เก็บไว้เดิมต้องขออนุญาตเช่นเดียวกัน

                                   (2) จัดให้มีที่รองรับศพซึ่งมั่นคงมิดชิดและกันน้ำซึมสำหรับศพที่ขุดหรือย้าย

                                   (3) ยานพาหนะที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายศพจะต้องมั่นคงแข็งแรงและปกปิดมิดชิด

                         ข้อ 20 ผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานและอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการ ให้มีอายุ 3 ปี นับแต่ปีที่ขออนุญาต ถ้าผู้ขออนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุจะต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำร้องพร้อมทั้งค่าธรรมเนียมแล้ว ให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้จัดตั้งหรือผู้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีคำสั่งเป็นหนังสือไม่อนุญาตให้ดำเนินการต่อไป

                         ข้อ 21 ในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่อนุญาตให้ดำเนินการจัดตั้งสุสานหรือฌาปนสถาน หรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการต่อ ผู้ขอมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งไม่อนุญาตให้จัดตั้งหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการต่อของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

                         คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

                         ข้อ 22 ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงหรือต่อเติมสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานหรือฌาปนสถานเอกชน เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้งสุสานหรือฌาปนสถานจะเป็นผู้ขอ โดยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น

                         ข้อ 24 เมื่อปรากฏว่าสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน มีสภาพหรือมีการใช้เป็นหรืออาจเป็นอันตรายต่อประชาชน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับอนุญาตแก้ไขเปลี่ยนแปลงสุสานและฌาปนสถานภายในเวลาที่กำหนด

                         ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้งสุสานหรือฌาปนสถานไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสุสานหรือฌาปนสถานนั้นภายในกำหนด ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชนนั้น โดยเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ได้รับอนุญาต หรือสั่งให้พักดำเนินการ 

                         ข้อ 25 เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสุสานหรือฌาปนสถานไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานตามเทศบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้หยุดดำเนินการเป็นการชั่วคราวตามเวลาที่เห็นสมควร หรือสั่งให้เลิกดำเนินการก็ได้ ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

                         คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

                         ข้อ 29 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนเทศบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษตามบทกำหนดโทษแห่งพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2528 

                   เดิมการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 จะมีการยกเว้นภาษีกรณีที่ดินที่ไม่ต่อเนื่องกับโรงเรือนไว้ในในมาตรา 17 ที่บัญญัติว่า ที่ดินดังต่อไปนี้ ท่านให้ยกเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ (4) สุสานสาธารณะ แสดงว่าโรงเรือนของสุสานสาธารณะหากมีการนำไปหาผลประโยชน์ยังคงต้องเสียภาษีโรงเรือน ส่วนโรงเรือนและที่ดินของสุสานเอกชนจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด ต่อมามีการยกเลิกมาตรา 17 สำหรับที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้ต่อเนื่องกับโรงเรือน โดยให้ไปบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ตามมาตรา 8 (6) บัญญัติว่า เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีบํารุงท้องที่สําหรับที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นสุสานเอกชนยังคงมีการหาผลประโยชน์ก็จะไม่ได้รับยกเว้นทั้งภาษีโรงเรือนที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง เช่น อาคารที่ใช้ประกอบพิธี โรงจอดรถ ห้องสุขา โรงอาหาร หรือแม้กระทั่งบ้านพักคนงาน และยังจะต้องเสียภาษีสำหรับที่ดินที่ต่อเนื่องกับโรงเรือนตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางเดิน สระน้ำ บ่อน้ำ ส่วนที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ต่อเนื่องกับโรงเรือนก็จะเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 

                   สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 8 (6) บัญญัติให้ยกเว้นภาษีทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน แต่ถ้ามีการนำเอาไปหาผลประโยชน์ก็จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนกรณีสุสานหรือฌาปนสถานของเอกชน แม้จะมิได้มีการนำไปหาผลประโยชน์ก็จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่อย่างใด

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 


 


[1]https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B8%A8%E0%B8%9E

[2] https://app.leg.wa.gov/wac/default.aspx?cite=458-16-180

[3]

Top 5 Contents