ภาษีกับการจัดซื้อจัดจ้าง
1 พฤศจิกายน 2565
โดยทั่วไปในองค์กรส่วนใหญ่ ผู้มีหน้าที่ในการปฏิบัติให้ถูกต้องทางภาษี รวมถึงการวางแผนภาษี มักจะอยู่ที่ฝ่ายบัญชีภาษี ดังนั้นเจ้าหน้าที่บัญชีภาษีจึงเป็นผู้ที่ใฝ่หาความรู้เรื่องภาษีต่าง ๆ เพื่อที่จะนำไปปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ในองค์กรยังมีฝ่ายอื่น ๆ ที่สามารถเป็นตัวช่วยหนึ่งของฝ่ายบัญชีภาษีได้เช่นกัน
Tax Vision ฉบับนี้จะกล่าวถึง “ฝ่ายจัดซื้อ” ที่มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการช่วยทำให้การปฏิบัติทางภาษีถูกต้อง รวมถึงช่วยวางแผนภาษีได้ โดยให้ฝ่ายจัดซื้อทราบประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและประสานงานกับฝ่ายบัญชีภาษีตั้งแต่เริ่มกระบวนการจัดซื้อ
เหตุใดจึงควรทราบประเด็นภาษีก่อนทำการจัดซื้อ
การจัดซื้อหรือจัดจ้างจะมีคู่สัญญาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็มีภาระภาษีของตนเองแตกต่างกันไปในแต่ละวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง การมีความรู้ด้านภาษีจะทำให้ทราบภาระภาษีที่จะเกิดขึ้นในแต่ละกรณี รวมถึงทำให้ทราบต้นทุนที่ชัดเจนและอาจเลือกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีภาระภาษีต่ำได้ จึงควรต้องระบุเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับการตีความด้านภาษี รวมถึงการระบุในสัญญาถึงภาระภาษีที่คู่สัญญาฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบอีกด้วย
หากไม่มีความรู้ด้านภาษี การจัดทำสัญญาอาจเป็นความเสี่ยงในการตีความภาระภาษี รวมถึงไม่มีการวางแผนภาษีที่ดี เช่น ทำสัญญาที่มีชื่อว่า “สัญญาเช่าสถานที่เก็บสินค้า” แต่ในสัญญาไม่มีการส่งมอบการครอบครองสถานที่ อีกทั้งยังมีการให้บริการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้อีกด้วย ซึ่งเนื้อหาในสัญญาเข้าข่ายเป็นการบริการ แต่ผู้จัดซื้อจัดจ้างเข้าใจผิดว่าเป็นสัญญาเช่าตามชื่อสัญญาส่งผลทำให้เกิดการปฏิบัติด้านภาษีที่ผิดพลาดได้ เพราะการเช่าอสังหาริมทรัพย์จะไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่บริการมีภาษีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็แตกต่างกัน ดังนั้นหากฝ่ายจัดซื้อที่มีความรู้ภาษีในเบื้องต้นจะช่วยนักบัญชีภาษีที่เป็นผู้ปฏิบัติการชำระภาษี ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเด็นภาษีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ด้านรายได้ : การจัดซื้อบางกรณี ถ้ามีการจ่ายเงินมัดจำหรือเงินก้อนล่วงหน้าค่าสินค้าหรือบริการที่จะได้รับ หากการจ่ายเงินล่วงหน้าดังกล่าว มีจำนวนมากเกินปกติผิดวิสัยที่ธุรกิจการค้ากระทำกัน กรมสรรพากรอาจถือว่าเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้คิดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงประเมินดอกเบี้ยรับเป็นรายได้ของผู้จัดซื้อเพิ่มตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้มีภาษีต้องจ่ายเพิ่มเติม
วิธีป้องกัน กรณีนี้ควรให้ความระมัดระวังโดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทหรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน เงื่อนไขข้อตกลงควรทำเหมือนที่ธุรกิจการค้าทั่วไปทำกัน
ด้านรายจ่าย : การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือราคาสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควร รวมทั้งกรณีไม่มีหลักฐานว่าได้รับบริการที่จัดจ้างจริง อาจถูกสรรพากรถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษีได้
วิธีป้องกัน ในเบื้องต้นต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องในการพิสูจน์ราคาซื้อว่าเหมาะสมแล้ว เช่น การเสนอราคาจากหลาย ๆ แห่งหรือราคาที่ขายทั่วไปขณะนั้น หลักฐานการรับบริการจริง เช่น รายงานการให้บริการและบริการนั้นเกี่ยวข้องจำเป็นกับบริษัท เป็นต้น การจัดเก็บหลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้ควรกระทำขณะทำการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับการจัดซื้อที่มีมูลค่าสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต เมื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้ามาตรวจสอบ การจัดเตรียมภายหลังจะไม่สามารถกระทำได้ดี เพราะเวลาผ่านไปจะหาหลักฐานได้ยาก
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
มีประเด็นมากมายในทางภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงประเด็นใบกำกับภาษีถูกออกโดยผู้ไม่มีสิทธิ ดังต่อไปนี้
ใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิจะออก : การจัดซื้อจัดจ้างจะได้รับใบกำกับภาษีจากผู้ขายซึ่งผู้ซื้อจะนำมาใช้เป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากใบกำกับภาษีนั้นถูกออกโดยผู้ไม่มีสิทธิจะออก ผลคือจะทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถนำใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นมาใช้เป็นภาษีซื้อได้ แม้ว่าผู้ซื้อจะตรวจสอบแล้วว่าผู้ออกใบกำกับภาษีมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ซื้อซื้อสินค้าจาก A แต่ A นำใบกำกับภาษีของ B มาให้ หรือกรณีซื้อสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้ขายออกใบกำกับภาษีให้โดยเข้าใจผิด
วิธีป้องกัน กรณีสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีความรู้ ส่วนกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ออกไม่ใช่ผู้ที่เราซื้อสินค้านั้นควรหลีกเลี่ยง อีกทั้งการจ่ายเงินซื้อสินค้าควรจ่ายเข้าบัญชีผู้ขาย ไม่ควรจ่ายเงินสดเพื่อพิสูจน์ว่ามีการซื้อสินค้าผู้นั้นจริง
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
มีประเด็นมากมายที่ต้องพิจารณาว่า เงินที่จ่ายจากการจัดซื้อสินค้าหรือบริการนั้นเข้าข่ายต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ และจ่ายในอัตราใด
ตัวอย่างเช่น การจ่ายเงินค่าขอใช้รูปภาพการ์ตูน (โดยส่งรูปภาพผ่านทางอินเทอร์เน็ต) ให้กับบริษัทต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยที่รูปภาพนั้นยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทต่างประเทศ ถือเป็นการจ่ายค่าสิทธิ เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้จ่ายเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร หากไม่เข้าใจก็อาจปฏิบัติไม่ถูกต้องได้
วิธีป้องกัน ควรพิจารณาเนื้อหารูปแบบของการจัดซื้อหรือจัดจ้างว่าเป็นค่าสินค้าหรือค่าบริการที่เข้าข่ายเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด และจ่ายให้แก่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เข้าข่ายต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราใด ซึ่งต้องมีความรู้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย พอสมควร เมื่อพิจารณาแล้วหากได้หารือกับคู่สัญญาที่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ถ้าความเห็นตรงกันถึงอัตราที่จะหัก ณ ที่จ่าย ก็จะเป็นการดี เนื่องจากในบางกรณีความเห็นของคู่สัญญาไม่ตรงกันก็จะต้องหาหลักฐานอ้างอิง เช่น ข้อกฎหมาย แนวปฏิบัติของกรมสรรพากรหรือข้อหารือกรมสรรพากร ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกันมาใช้
จะเห็นได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างมีความเกี่ยวข้องกับภาระภาษีที่ต้องพิจารณาและนำมาเป็นเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาให้ชัดเจน อาทิ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาระของผู้ขายหรือผู้ซื้อจะออกให้ หรือกรณีเงื่อนไขที่จะตีความว่าเป็นการเช่าหรือให้บริการ ส่งผลให้สามารถเขียนในสัญญาให้ถูกต้องได้
แม้ว่านักบัญชีภาษีอากรจะมีความรู้ด้านภาษี แต่ก็มักเป็นผู้ปฏิบัติที่จะทราบข้อมูลเมื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จไปแล้ว ดังนั้นการที่จะบริหารจัดการภาษีได้ดี ควรให้ฝ่ายจัดซื้อที่เป็นหน้างานได้มีความรู้ภาษี โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อก็จะทำให้การบริการจัดการและวางแผนภาษีทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะได้นำแนวทางนี้ไปใช้ในองค์กรให้เกิดประโยชน์ต่อไป
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ