การนำของเข้าและส่งของออกโดยใช้เอกสารค้ำประกัน : A.T.A. Carnet
1 พฤศจิกายน 2565
การทำธุรกรรมเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ในบางกรณีอาจมีความจำเป็นต้องนำของจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ หรือในบางกรณีอาจมีความจำเป็นต้องส่งของออกไปยังต่างประเทศเป็นการชั่วคราวเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ แล้วจึงนำของนั้นกลับเข้ามาในประเทศ เช่น ในการจัดแสดงงานนิทรรศการระหว่างประเทศที่จัดขึ้นในประเทศไทย ผู้จัดงานอาจมีความจำเป็นต้องนำเข้าของหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการจัดงานในประเทศเป็นการชั่วคราว กรณีหนึ่ง หรืออีกกรณีหนึ่ง ในการจัดงานนิทรรศการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อาจมีความจำเป็นต้องส่งของหรืออุปกรณ์ที่อยู่ในประเทศนั้นออกไปยังต่างประเทศเป็นการชั่วคราว เมื่อจัดงานแล้วเสร็จจึงจะนำของนั้นกลับเข้ามา ซึ่งของที่นำเข้าหรือส่งออกชั่วคราวเหล่านี้ โดยหลักแล้วย่อมเป็นของที่ได้รับการยกเว้นอากรศุลกากร ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 3 แล้วแต่กรณี
อย่างไรก็ตาม ของดังกล่าวอาจมีมูลค่าค่อนข้างสูง หากในขั้นตอนการนำเข้าหรือขั้นตอนการส่งออกไม่มีการทำเอกสารเพื่อปฏิบัติพิธีการอย่างถูกต้อง ในขั้นตอนการนำของเข้ามาใช้ในประเทศ หรือในขั้นตอนการนำของกลับเข้ามาหลังจากใช้ในต่างประเทศเสร็จแล้วนั้น ก็อาจจะต้องจ่ายอากรศุลกากรแบบไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการยกเว้นอากรสำหรับของดังกล่าวไว้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นของชนิดและประเภทต่าง ๆ ตามที่อนุสัญญาแต่ละฉบับกำหนดไว้ และจะต้องนำกลับออกไปหรือนำกลับเข้ามาแล้วแต่กรณี เมื่อได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้แล้ว เช่น หากประสงค์จะนำอัญมณีและเครื่องประดับมาจัดแสดงในงานแสดงสินค้า ก็สามารถใช้พิธีการศุลกากรว่าด้วยการนำเข้าหรือส่งออกชั่วคราวดังกล่าวได้โดยไม่ต้องมีภาระภาษี เมื่อได้จัดแสดงไม่ว่าในหรือต่างประเทศเสร็จแล้วจึงส่งกลับออกไปหรือนำกลับเข้ามา แล้วแต่กรณี ซึ่งการปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อให้ไม่ต้องเสียอากรดังกล่าวจะต้องใช้เอกสารค้ำประกันเรียกว่า “เอ.ที.เอ. คาร์เนท์ : A.T.A. Carnet”
ที่มาของ A.T.A. Carnet
ดังที่กล่าวแล้วว่าของที่จะนำเข้าหรือส่งออกเป็นการชั่วคราวนั้น ต้องเป็นของชนิดและประเภทต่าง ๆ ตามที่อนุสัญญาแต่ละฉบับกำหนดไว้ การอนุญาตให้นำเข้าหรือส่งออกเป็นการชั่วคราว (Temporary Admission) จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของพิธีการศุลกากรที่มาจากหลักการสำคัญในอนุสัญญา (Convention) ฉบับต่าง ๆ หลายฉบับ ซึ่งอนุสัญญาที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีมีหลายฉบับ[1] ได้แก่
- อนุสัญญาว่าด้วยการค้ำประกันเอกสารค้ำประกัน พ.ศ. 2504 (A.T.A. Convention) อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการนำเข้าชั่วคราวซึ่งเครื่องมือเครื่องใช้ในวิชาชีพ พ.ศ. 2504 (Customs Convention on the Temporary Importation of Professional Equipment)
- อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการอำนวยความสะดวกสำหรับการนำเข้าชั่วคราวเพื่อนำออกแสดงหรือใช้ในงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า งานประชุม หรือเหตุการณ์อื่นที่คล้ายคลึงกัน พ.ศ. 2504 (Customs Convention Concerning Facilities for the Importation of goods for Display or use at Exhibitions, Fairs, Meeting, or Similar Events)
- อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการนำเข้าตัวอย่างสินค้าและวัตถุในการโฆษณา พ.ศ. 2495 (The International Convention to Facilitate the Importation of Commercial Samples and Advertising Material)
- อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการนำเข้าชั่วคราวซึ่งบริภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2511 (Customs Convention on the Temporary Importation of Scientific Equipment)
ต่อมาองค์กรศุลกากรโลก (World Customs Organization) ได้จัดทำอนุสัญญาอิสตันบูล (Istanbul Convention) ขึ้นมา จึงทำให้อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องซึ่งกระจัดกระจายอยู่ดังกล่าว มารวมไว้ในอนุสัญญาอิสตันบูลเพียงฉบับเดียว โดยประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาอิสตันบูล (Istanbul Convention) เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ ประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานพิธีการศุลกากรของไทยในเรื่องการนำเข้าชั่วคราว และระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์ เข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าชั่วคราวให้สามารถใช้ระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์ ได้โดยสะดวก ตลอดจนทำให้การบริหารพิธีการศุลกากรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น[2]
ซึ่งในปัจจุบัน ผลจากการที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา ทำให้ประเทศไทยได้มีภาคยานุวัติตรากฎหมายบังคับใช้ภายในประเทศ ซึ่งปรากฏอยู่ในประกาศกรมศุลกากรที่ 145/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้าและส่งของออกโดยใช้เอกสารค้ำประกัน (เอ.ที.เอ. คาร์เนท์) ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2561[3]
ความหมายของ A.T.A. Carnet
“A.T.A.” ย่อมาจากการรวมคำระหว่างคำในภาษาฝรั่งเศสว่า “Admission Temporarie” และคำในภาษาอังกฤษว่า “Temporary Admission” หมายถึง การอนุญาตชั่วคราว ส่วนคำว่า “Carnet” เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า สมุดตั๋ว
“A.T.A. Carnet” จึงหมายถึง เอกสารค้ำประกัน โดยมักจะเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หนังสือเดินทางสำหรับสินค้า” (A.T.A. Carnet Passport of Your Goods) เมื่อพิจารณาในทางศุลกากรย่อมหมายถึง เอกสารศุลกากรระหว่างประเทศที่ใช้ในการปฏิบัติพิธีการแทนใบขนสินค้าขาเข้า ใบขนสินค้าขาออก ใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามา เอกสารผ่านแดนควบคุมการส่งของจากด่านศุลกากรแห่งหนึ่งไปยังด่านศุลกากรอีกแห่งหนึ่ง หรือใช้แทนเอกสารค้ำประกันค่าภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้ามาชั่วคราวโดยได้รับการยกเว้นอากรภายใต้อนุสัญญา A.T.A. Carnet โดยเอกสารค้ำประกันฯ จะมีอายุไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ออกเอกสาร ซึ่งผู้ออกเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet และผู้ค้ำประกันค่าภาษีอากรจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมศุลกากร และต้องเป็นสมาชิกของระบบการออกเอกสารค้ำประกันระหว่างประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย กรมศุลกากรได้พิจารณาเห็นชอบให้ “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” ทำหน้าที่ออกเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ให้แก่ผู้ส่งออกของประเทศไทย และเป็นผู้ค้ำประกันค่าภาษีอากรในกรณีที่ผู้นำเข้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการนำเข้าชั่วคราว[4]
ของที่ได้รับการยกเว้นอากรโดยใช้ A.T.A. Carnet
ของที่ได้รับการยกเว้นอากรโดยใช้ A.T.A. Carnet แบ่งเป็น 2 กรณีคือ
กรณีที่ 1 หมายถึง “ของที่นำเข้ามาเป็นการชั่วคราว” โดยจะส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่นำเข้ามา ซึ่งในกรณีนี้มีสิทธิได้รับการยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 3
กรณีที่ 2 หมายถึง “ของที่ส่งออกเป็นการชั่วคราว” และภายหลังนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายใน 1 ปี โดยไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะหรือรูปแต่อย่างใด และในเวลาที่ส่งออกนั้นได้รับใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาแล้ว ซึ่งในกรณีนี้มีสิทธิได้รับการยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 1 ทั้งนี้ ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อยกเว้นอากรสามารถใช้เอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ได้ โดยจะต้องไม่เกินอายุของเอกสารค้ำประกันดังกล่าว
นอกจากนี้ ของที่ได้รับการยกเว้นอากรดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญา ดังนี้
(1) อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการนำเข้าตัวอย่างสินค้าทางการค้าและวัตถุในการโฆษณา พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) ซึ่งมักพบว่าใช้กับการนำเข้าตัวอย่างสินค้าเป็นหลัก
(2) อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการนำเครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพเข้าชั่วคราว พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) โดยมีอุปกรณ์วิชาชีพต่าง ๆ ยกตัวอย่างได้ ดังนี้
(2.1) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพการสร้างภาพยนตร์ ได้แก่ กล้องถ่ายภาพยนตร์ กล้องถ่ายภาพ
(2.2) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพด้านความบันเทิง ได้แก่ วงดนตรีออร์เคสตรา รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการแสดงดนตรีนั้น
(2.3) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพด้านการสำรวจภูมิประเทศหรืองานสำรวจทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ
(2.4) เครื่องมือและเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับแพทย์ ศัลยแพทย์ สัตวแพทย์ หรือการผดุงครรภ์
(2.5) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพอื่น ๆ ที่จำเป็นแก่วิชาชีพ เช่น เครื่องมือในการควบคุม บำรุงรักษา การซ่อมแซม หรือเครื่องมือที่จำเป็นในทางธุรกิจ
(3) อนุสัญญาศุลกากรเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกสำหรับการนำของเข้าเพื่อนำออกแสดงหรือใช้ในงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า งานประชุม หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) คือ การนำของมาใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้าหรือการจัดประชุม ได้แก่
(3.1) ของที่นำเข้ามาเพื่อนำออกแสดงหรือสาธิตในงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า หรืองานประชุม
(3.2) ของที่นำเข้ามาเพื่อใช้เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าต่างประเทศออกแสดงในงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า หรืองานประชุม
(3.3) เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์การแปล เครื่องมือสำหรับการบันทึกเสียงและภาพยนตร์เกี่ยวกับการศึกษา วิทยาศาสตร์ หรือวัฒนธรรม สำหรับใช้ในการประชุมระหว่างประเทศ
(3.4) ฟิล์มภาพยนตร์โฆษณาโพสิทีฟ ขนาดไม่เกิน 16 มม. ที่มีภาพแสดงให้เห็นถึงลักษณะหรือการทำงานของผลิตภัณฑ์หรือเครื่องมืออุปกรณ์ที่ไม่สามารถสาธิตได้โดยเพียงการดูจากตัวอย่างสินค้าหรือแค็ตตาล็อก
(4) อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการนำเข้าชั่วคราว ซึ่งบริภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ได้แก่
(4.1) เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการวิจัยหรือการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และเครื่องอะไหล่ของเครื่องมือดังกล่าว
(4.2) เครื่องมือทางช่างที่ใช้บำรุงรักษา ทดสอบ วัด หรือซ่อมแซม เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการวิจัย หรือการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ ของหรือสินค้าตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ต้องเป็นไปตามคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามที่อนุสัญญาฯ ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ด้วย
การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับของที่นำเข้าชั่วคราว
(1) ขั้นตอนการนำของเข้ามาเป็นการชั่วคราว
ในขั้นตอนนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ค้ำประกันค่าภาษีอากรและค่าภาระติดพัน โดยผู้นำเข้าต้องยื่นเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ซึ่งออกให้โดยสมาคมผู้ออกเอกสารที่ได้รับความเห็นชอบจากพนักงานศุลกากรในประเทศของภาคีคู่สัญญานั้น และยื่นเอกสารหลักฐานประกอบ เช่น ใบตราส่งสินค้า แบบธุรกิจต่างประเทศ (ธ.ต.2) ใบอนุญาตนำเข้า (ถ้ามี) ใบสั่งปล่อย พร้อมกับแจ้งชื่อด่านศุลกากรและวันที่ที่จะส่งของกลับออกไปต่อด่านศุลกากรที่นำของเข้า
หลังจากผ่านพิธีการศุลกากรแบบนำเข้า (สีขาว) และพนักงานศุลกากรได้ตรวจสอบว่าถูกต้องตรงตามที่ได้สำแดงแล้ว พนักงานศุลกากรจะฉีกแบบนำเข้า (สีขาว) ส่วนของใบสำคัญคู่ต้นขั้ว (Importation Voucher) และเอกสารประกอบเก็บไว้ และคืนเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้นำเข้าต่อไป
(2) ขั้นตอนการส่งของกลับออกไป
เมื่อผู้นำของเข้าจะส่งของกลับออกไป ต้องยื่นเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ชุดที่ได้ยื่นผ่านพิธีการศุลกากรในขณะนำเข้า พร้อมด้วยแบบส่งกลับออกไป (สีขาว) และเอกสารประกอบ เช่น แบบธุรกิจต่างประเทศ (ธ.ต.1) (ถ้ามี) ใบอนุญาตนำเข้า (ถ้ามี) ต่อด่านศุลกากรนั้น
หลังจากผ่านพิธีการศุลกากรแบบส่งกลับออกไป (สีขาว) และพนักงานศุลกากรได้ตรวจสอบว่าถูกต้องตรงตามสำแดงและสลักรายการบรรทุกแล้ว พนักงานศุลกากรจะฉีกแบบส่งกลับออกไป (สีขาว) ส่วนของใบสำคัญคู่ต้นขั้ว (Re-Exportation Voucher) และเอกสารประกอบเก็บไว้ แล้วคืนเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้นำของเข้าต่อไป
การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับของที่ส่งออกชั่วคราว
(1) ขั้นตอนการส่งของออกไปเป็นการชั่วคราว
ผู้ส่งของออกต้องยื่นเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ที่ออกโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบ เช่น แบบธุรกิจต่างประเทศ (ธ.ต.1) (ถ้ามี) ใบอนุญาตส่งออก (ถ้ามี) พร้อมกับแจ้งชื่อด่านศุลกากรและวันที่ที่จะนำของกลับเข้ามา และขอใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาต่อด่านศุลกากรที่ส่งของออก
หลังจากผ่านพิธีการศุลกากรแบบส่งออก (สีเหลือง) ชำระอากรขาออก (กรณีเป็นของต้องชำระอากรขาออก) และสลักรายการบรรทุกแล้ว พนักงานศุลกากรจะฉีกแบบส่งออก (สีเหลือง) ส่วนของใบสำคัญคู่ต้นขั้ว (Exportation Voucher) และเอกสารประกอบเก็บไว้ และคืนเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ส่วนที่เหลือ รวมทั้งแบบส่งออก (สีเหลือง) ส่วนของต้นขั้ว (Exportation Counterfoil) ที่เป็นใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาให้แก่ผู้ส่งของออก ทั้งนี้ ในกระบวนการตรวจปล่อยของ พนักงานศุลกากรอาจให้ยื่นหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจปล่อยได้ เช่น รูปถ่าย แค็ตตาล็อก หรือเอกสารแสดงรายละเอียดของของ เป็นต้น
(2) ขั้นตอนการนำกลับเข้ามา
เมื่อผู้ส่งของออกนำของกลับเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ยื่นเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ชุดที่ได้ยื่นผ่านพิธีการศุลกากรขณะส่งออก พร้อมด้วยแบบนำกลับเข้ามา (สีเหลือง) ใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาและเอกสารประกอบ เช่น ใบตราส่งสินค้า แบบธุรกิจต่างประเทศ (ธ.ต.2) (ถ้ามี) ใบอนุญาตนำเข้า (ถ้ามี) ใบสั่งปล่อย ต่อด่านศุลกากรนั้น ในส่วนของการสำแดงประเภทพิกัด ให้สำแดงตามพิกัดประเภท 1 ภาค 4 และสำแดงรหัสสถิติ/หน่วย ต่อท้ายรายการสินค้า
หลังจากผ่านพิธีการศุลกากรแบบนำกลับเข้ามา (สีเหลือง) และพนักงานศุลกากรจะตรวจสอบว่าของถูกต้องตรงตามสำแดง และของดังกล่าวมิได้เปลี่ยนแปลงลักษณะหรือรูปแต่ประการใด พนักงานศุลกากรจะฉีกแบบนำกลับเข้ามา (สีเหลือง) ส่วนของใบสำคัญคู่ต้นขั้ว (Re-Importation Voucher) และเอกสารประกอบเก็บไว้ และคืนเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ส่งของออกต่อไป
ประโยชน์ของ A.T.A. Carnet[5]
(1) ลดขั้นตอนและระยะเวลาการจัดทำเอกสาร เพราะเอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet เพียงชุดเดียวจะสามารถใช้แทนได้ทั้งใบขนสินค้าขาเข้า ใบขนสินค้าขาออก และใบขนผ่านแดน รวมทั้งได้รับการยกเว้นการยื่นหลักประกันเมื่อนำสินค้าเข้า และการขอคืนหลักประกันเมื่อนำสินค้ากลับ ซึ่งทำให้ผู้ถือเอกสารได้รับความสะดวกมากขึ้น
(2) ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะจะได้รับการยกเว้นค่าภาษีอากรในการนำเข้าชั่วคราว และประหยัดค่าใช้จ่ายทางธนาคารที่ไม่ต้องวางเงินหลักประกันสินค้าขาเข้าในแต่ละประเทศ
(3) เพิ่มความปลอดภัยในทรัพย์สิน เพราะไม่ต้องถือเงินสดไปวางหลักประกันสินค้าขาเข้าในแต่ละประเทศ และลดปัญหาความเสี่ยงจากการขาดทุนเนื่องจากอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
(4) ส่งเสริมการส่งออกของประเทศไทย เพราะผู้ส่งออกของไทยสามารถนำสินค้าไปเป็นตัวอย่างหรือไปแสดงในงานแสดงสินค้าในประเทศคู่ภาคีได้ โดยได้รับการยกเว้นค่าภาษีอากร ยกเว้นข้อห้ามข้อจำกัดในการนำเข้าได้ด้วย
[1] กฤติกา ปั้นประเสริฐ, บทบาทศุลกากรกับการค้าระหว่างประเทศ, วารสารกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ,หน้า 305 - 306.
[2] มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2541 อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอิสตันบูล (Istanbul Convention)
[3] โปรดดูประกาศกรมศุลกากรที่ 145/2561 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ข้อ 2.2 ข้อ 2.3 ข้อ 2.4 ข้อ 3 และข้อ 4
[4] เว็บไซต์สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง หัวข้อ “การนำเข้า - ส่งออกสินค้าชั่วคราว (A.T.A. Carnet)
[5] ที่มาเว็บไซต์สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หัวข้อ “มารู้จัก ATA Carnet กันเถอะ”
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ