กำลังโหลด...

×



Tax ข้อควรรู้ การนำเข้ากัญชา-กัญชง

magazine image
Tax

ข้อควรรู้ การนำเข้ากัญชา-กัญชง

รติรัตน์ คงเอียด

1 พฤศจิกายน 2565

นโยบาย “ปลดล็อกกัญชา-กัญชง” ให้พ้นจากยาเสพติดให้โทษ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎหมายให้มีผลใช้บังคับแล้วนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชา-กัญชงได้อย่างเหมาะสม ทั้งการใช้ในครัวเรือน การแพทย์ ดูแลผู้ป่วย หรือเชิงพาณิชย์ โดยไม่มีการสนับสนุนให้ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม กัญชา-กัญชงมีทั้งที่ปลูกในประเทศและการนำเข้า 
ในส่วนที่เป็นการนำเข้านั้น ในปัจจุบันมักเกิดความเข้าใจผิด จนมีประเด็นคำถามที่ตามมามากมายว่ากัญชา-กัญชงสามารถนำเข้ามาได้หรือไม่ ต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานใดหรือไม่ และหากจะนำเข้ากัญชา-กัญชงต้องดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรหรือไม่ อย่างไร ตลอดจนปัญหาว่าหากไม่มีการขออนุญาตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร หรือไม่ผ่านพิธีการศุลกากร จะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือไม่ 
ผู้เขียนจึงขอหยิบยกขึ้นอธิบาย โดยสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อควรรู้ในการนำเข้ากัญชา-กัญชงดังนี้

1. กัญชาและกัญชงแตกต่างกันอย่างไร
“กัญชา” (Marijuana) และกัญชง (Hemp) พืชทั้ง 2 ชนิด เป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดเดียวกันในวงศ์ Cannabaceae ที่อยู่ในตระกูล Cannabis เหมือนกัน ต่างกันที่สายพันธุ์ย่อย (กัญชา : Cannabis sativa L.subsp. Indica / กัญชง : Cannabis sativa L.subsp. Sativa) จึงทำให้กัญชาและกัญชงมีลักษณะที่คล้ายกัน โดยจะแตกต่างกันในด้านลักษณะทางกายภาพและปริมาณสารสำคัญ 
กัญชา จะมีใบสีเขียวเข้ม ใบหนากว้าง เรียงตัวชิดกัน มีแฉกประมาณ 5 - 7 แฉก ลำต้นเตี้ยเป็นพุ่มสูงไม่เกิน 2 เมตร แตกกิ่งก้านมาก เมล็ดมีขนาดเล็กกว่ากัญชง ผิวมีลักษณะมันวาว 
กัญชง จะมีใบสีเขียวอ่อน ใบเรียว เรียงตัวห่างกว่าใบกัญชา มีแฉกประมาณ 7 - 11 แฉก ลำต้นสูงเรียวมากกว่า 2 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย เส้นใยให้ปริมาณมากกว่ากัญชาและมีคุณภาพสูง เมล็ดกัญชงมีขนาดใหญ่ ผิวเมล็ดเรียบ มีลายบ้าง 
องค์การเภสัชกรรมได้ให้ข้อมูลว่า กัญชาและกัญชงต่างก็มีสารสำคัญ คือ สาร “THC” (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ส่งผลต่ออารมณ์ ความจำ ความรู้สึก ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม อยากอาหาร และลดอาการคลื่นไส้ และสาร “CBD” (Cannabidiol) ซึ่งเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีฤทธิ์ระงับอาการปวด ลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และลดความกังวล แต่กัญชาและกัญชงมีสัดส่วนปริมาณสารสำคัญแตกต่างกัน 
สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับกัญชงโดยเฉพาะ และกำหนดว่าต้องเป็นกัญชงสายพันธุ์ที่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือเรียกสั้น ๆ ว่า สาร THC ต่ำกว่า 1% และต้องปลูกในพื้นที่ที่กำหนด แต่ส่วนกัญชาจะมีสาร THC สูงกว่า ดังนั้นปริมาณสาร THC จึงใช้แยกระหว่างกัญชาและกัญชงนั่นเอง

2. กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดอนุญาตให้นำเข้ากัญชา-กัญชงได้หรือไม่ 
พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 23 กำหนดเงื่อนไขว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับ (9 พฤศจิกายน 2564) การอนุญาตนำเข้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วย ให้นำเข้าได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นสำหรับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนบางกรณีที่สามารถนำเข้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นกัญชาได้ ดังต่อไปนี้ 
2.1 ผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชกรรม หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย
2.2 ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นกัญชาติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว 
2.3 ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดตามมาตรา 35 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้นำเข้าเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัย หรือประโยชน์อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อพิจารณามาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด พ.ศ. 2564 แล้ว แม้ว่าจะมิได้กำหนดให้กัญชงเป็นยาเสพติดให้โทษ แต่เนื่องจากทั้งกัญชาและกัญชงต่างก็มีสาร “THC” (Tetrahydrocannabinol) เป็นสารเสพติด ดังนั้นกัญชงจึงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษด้วยเช่นกัน


3. นำเข้าสารสกัดจากพืชกัญชา-กัญชงได้หรือไม่ 
คำว่า “สารสกัด” หมายถึง สารสกัดหยาบหรือสารสกัดบริสุทธิ์ที่ได้จากกระบวนการสกัดแยกสารที่ต้องการออกจากพืชกัญชา-กัญชง โดยใช้ตัวทำละลายชนิดต่าง ๆ
การนำเข้าสารสกัดจากพืชกัญชา-กัญชง ตามข้อ 4 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2565 กำหนดว่าห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นพืชกัญชาหรือกัญชง หรือที่มีส่วนประกอบของพืชกัญชาหรือกัญชง หรือที่มีสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ แต่กฎหมายดังกล่าวมิได้ห้ามเด็ดขาด มีข้อยกเว้นว่าหากนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้กับหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจด้านป้องกันหรือบำบัดโรค ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ หรือสภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเพื่อการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ ด้านการแพทย์แผนไทย หรือด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหากผู้ที่ประสงค์จะนำเข้าเพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิก ก็สามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ ทั้งนี้ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดและต้องขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
แต่อย่างไรก็ตาม หากสารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชงที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ จะได้รับการยกเว้น ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ต้องการปลูกสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องดำเนินการจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

4. ขอบเขตในการนำเข้าเมล็ดและส่วนอื่น ๆ ของพืชกัญชา-กัญชง และต้องขออนุญาตตามกฎหมายใด 
พืชกัญชา-กัญชงซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ผู้นำเข้าต้องวิเคราะห์ประเภทของสินค้าที่ตนต้องการจะนำเข้าเสียก่อนว่าเป็นสินค้าประเภทใด นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร และศึกษาถึงหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตนำเข้าว่าต้องดำเนินการขออนุญาตต่อหน่วยงานใดก่อนการนำเข้า แยกพิจารณาได้ดังนี้
4.1 การนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา-กัญชง เช่น ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ราก ลำต้น หรือเมล็ดกัญชา-กัญชง เป็นไปตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ประกอบกับประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2565 ดังนั้นการจะนำเข้าได้หรือไม่ จึงต้องครบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งการนำเข้าต้องขออนุญาตต่อกรมวิชาการเกษตร
4.2 การนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา-กัญชง เป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้เมล็ดพันธุ์กัญชา-กัญชงเป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม และผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการรวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านเมล็ดพันธุ์ควบคุมต้องขออนุญาตให้ถูกต้องก่อนการประกอบกิจการ ซึ่งในส่วนของการนำเมล็ดพันธุ์เข้ามาต้องนำมาเพื่อการเพาะปลูกเท่านั้น มิใช่เพื่อการบริโภคหรือเพื่อเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรม โดยผู้ที่มีความประสงค์จะนำเข้าต้องต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา-กัญชง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ซึ่งผู้นำเข้าต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องดังนี้ 
(1) ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าเพื่อการค้า (แบบ พ.ก.2 - 1) ซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร
(2) ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชที่ระบุข้อความรับรองการปลอดเชื้อโรคศัตรูพืชมาจากประเทศต้นทาง และมีหนังสือรับรองว่ากัญชา-กัญชงไม่เป็นพืชที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
(3) ต้องแจ้งการนำเข้า (แบบ พ.ก.5) ที่ด่านตรวจพืช
(4) พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจพืชจะตรวจสอบเอกสารและสินค้าก่อนออกหนังสืออนุญาตให้นำสิ่งต้องห้ามออกไปจากด่านตรวจพืช (แบบ พ.ก.6) โดยระบุสถานที่เก็บรักษาและเพาะปลูก สำหรับการติดตามตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อไป 
นอกจากนี้ เมล็ดพันธุ์กัญชา-กัญชงจัดเป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตาม 3 ขั้นตอน ดังนี้ 
ขั้นตอนที่ 1 ขอใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า ผู้นำเข้ายื่นคำขอผ่านทางระบบออนไลน์ของกรมวิชาการเกษตร โดยมีค่าธรรมเนียมฉบับละ 400 บาท สามารถรับใบอนุญาตได้ในวันถัดไปหลังยื่นคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน
ขั้นตอนที่ 2 แจ้งรายการนำเข้า ผู้นำเข้าแจ้งรายการนำเข้าผ่านระบบออนไลน์ของกรมวิชาการเกษตร พร้อมทั้งต้องแนบเอกสาร ได้แก่ ใบกำกับสินค้า เช่น Invoice, Performa Invoice, Packing List รายละเอียดพันธุ์กัญชงที่นำเข้า (Variety Profile) ใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) หนังสือรับรองจากผู้ผลิตว่าเป็นพืชที่ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรม (Non GMOs) ผลวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ (ระบุเปอร์เซ็นต์ Germination และเปอร์เซ็นต์ Physical Purity) ซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ประเทศต้นทางนำเข้าให้การรับรอง หรือเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองด้านการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่องค์กรระหว่างประเทศยอมรับ 
ขั้นตอนที่ 3 รับสินค้า ณ ด่านฯ ที่แจ้งนำเข้า เมื่อดำเนินพิธีการศุลกากรเรียบร้อยแล้ว ผู้นำเข้าสามารถติดต่อรับสินค้าได้ทันที ณ ด่านที่นำเข้า โดยต้องนำเอกสารต้นฉบับตามที่ได้แจ้งไว้ในขั้นตอนแจ้งรายการนำเข้า มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย กรมวิชาการเกษตรจะติดตามผล ณ สถานที่เก็บรักษาหรือปลูกที่ผู้นำเข้าได้แจ้งไว้ เพื่อความมั่นใจว่าได้คุณภาพตรงตามมาตรฐานของพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4.3 เมื่อได้รับอนุญาตตามข้อ 4.1 และ 4.2 แล้ว หากประสงค์จะนำเข้าพืชกัญชา-กัญชงเพื่อมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดจากกัญชา-กัญชง ต้องแยกพิจารณาตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้  ดังนี้
(1) กรณีนำเข้าพืชกัญชา-กัญชงมาผลิตเป็นอาหาร ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากกัญชา-กัญชงจัดเป็นอาหารที่ห้ามนำเข้า ตามข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 
(2) กรณีนำเข้าพืชกัญชา-กัญชงมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง ไม่อนุญาตให้ใช้วัตถุดิบกัญชาและกัญชงที่นำเข้ามาใช้ผลิตเครื่องสำอาง เนื่องจากวัตถุดิบกัญชาและกัญชงที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางจะต้องเป็นวัตถุดิบที่ได้จากในประเทศเท่านั้น ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการใช้กัญชาและกัญชงในเครื่องสำอาง 
(3) กรณีนำเข้าพืชกัญชา-กัญชงมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตามข้อ 4 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565 กำหนดห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นพืชกัญชาหรือกัญชง หรือที่มีส่วนประกอบของพืชกัญชาหรือกัญชง หรือที่มีสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ ยกเว้นว่าหากเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีภารกิจด้านป้องกันหรือบำบัดโรค และสภากาชาดไทย สถาบันอุดมศึกษาของรัฐเพื่อการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ ด้านการแพทย์แผนไทย หรือด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประสงค์จะนำเข้าเพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิก สามารถนำเข้าได้

5. การนำเข้าผลิตภัณฑ์ (Finished Product) ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชา-กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของกัญชา-กัญชง ต้องดำเนินการอย่างไร 
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ (Finished Product) ได้แก่ อาหาร เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา-กัญชง ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดนั้น ผลิตภัณฑ์ (Finished Product) ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จึงไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 
แต่อย่างไรก็ตาม การนำเข้าก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้งานบนฉลากผลิตภัณฑ์หรือความมุ่งหมายของผู้ผลิต ดังนี้
5.1 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร การนำเข้าอาหารเป็นไปตามข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 กำหนดให้พืชกัญชาเป็นอาหารที่ห้ามนำเข้า โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคและไม่ควรนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ดังนั้นจึงห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 20,000 บาท
5.2 การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ไม่อนุญาตให้จดแจ้งนำเข้าเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชง เนื่องจากเครื่องสำอางนั้นห้ามนำเข้าตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
5.3 การนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
จะเห็นได้ว่า การนำเข้ากัญชา-กัญชงต้องมีการขออนุญาต และในบางกรณีก็มีการจำกัดให้นำเข้าได้เฉพาะบางหน่วยงาน หรือจำกัดให้นำเข้าเพื่อไปใช้ในวัตถุประสงค์เฉพาะที่กำหนดไว้เท่านั้น การควบคุมการนำเข้ากัญชา-กัญชงจึงมีความเคร่งครัดพอสมควร โดยมีหน่วยงานที่ต้องร่วมกันพิจารณาอนุญาตหลายหน่วยงาน ทั้งยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตหลายฉบับ แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วรัฐมิได้มีความประสงค์ที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมให้นำเข้ากัญชา-กัญชง แต่สนับสนุนให้มีการปลูกกัญชา-กัญชงในประเทศเพื่อการต่อยอดหรือสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจ 
บทความฉบับหน้า ผู้เขียนจะอธิบายในส่วนของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำกัญชา-กัญชงติดตัวเข้ามาในการนำเข้า ภาระภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้า ฐานความผิดและบทลงโทษจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้ากัญชา-กัญชง 
 

อ่านต่อฉบับหน้า
 

 

Top 5 Contents