สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองและภาระภาษี
1 พฤศจิกายน 2565
บทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอเกี่ยวกับสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองและภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ตลอดจนภาระภาษีที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินการทางภาษีได้อย่างถูกต้องต่อไป
อย่างไรก็ดี บทความนี้จะไม่รวมถึงสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองชนิดหนึ่ง เนื่องจากสัญญากู้ยืมเงิน ผู้เขียนได้เคยเขียนไปก่อนหน้านี้แล้ว
ความหมายของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง
สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม โดยผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น และสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองย่อมบริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม[1]
จากความหมายของสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองดังกล่าว จึงสามารถกล่าวได้ว่าสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองคือการยืมทรัพย์สินในลักษณะใช้ไปสิ้นไป หรือทรัพย์สินที่เมื่อใช้ไปแล้วจะไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้อีก ส่งผลให้ผู้ยืมไม่ต้องคืนทรัพย์สินเดิมที่ยืมมา แต่ต้องคืนทรัพย์สินใหม่ที่เป็นประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันคืนให้แก่ผู้ให้ยืม และเนื่องจากทรัพย์สินที่ยืมจะถูกใช้ไปสิ้นไป จึงทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองโอนไปยังผู้ยืมด้วย ซึ่งแตกต่างจากสัญญายืมใช้คงรูป ที่ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินเดิมที่ยืมไปคืนให้แก่ผู้ให้ยืม กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมตามสัญญายืมใช้คงรูปจึงไม่โอนไปยังผู้ยืม
ลักษณะของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง
สามารถแบ่งได้ดังนี้
1. เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ ผู้ให้ยืม และอีกฝ่ายหนึ่งคือ ผู้ยืม
2. เป็นสัญญาที่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม
3. ผู้ให้ยืมใช้สิ้นเปลืองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้ยืม เพราะหากผู้ให้ยืมไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแล้ว ก็จะไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืมได้
4. เป็นสัญญาที่ไม่ต่างตอบแทน แต่อาจมีค่าตอบแทนได้ เช่น ดอกเบี้ย
5. เป็นสัญญาที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นทรัพย์ชนิดใช้ไปสิ้นไป ได้แก่ ทรัพย์ที่เมื่อใช้ไปแล้วสิ้นสภาพหรือเปลี่ยนสภาพไปภายหลังการใช้งาน และไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เช่น ยืมน้ำมันมาเติมรถ ยืมน้ำมาใช้
6. เป็นสัญญาที่บริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม[2] ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม สัญญาไม่เป็นโมฆะ เพียงแต่คู่สัญญาจะยังไม่เกิดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามที่ระบุในสัญญายืม
หน้าที่ของผู้ยืมใช้สิ้นเปลือง
1. มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม[3]
2. มีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินแก่ผู้ให้ยืม ทรัพย์สินที่คืนนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินชิ้นเดียวกับที่ยืมมา แต่ต้องเป็นทรัพย์สินประเภทเดียวกัน ในปริมาณเดียวกันกับที่ยืมมา เช่น ยืมน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 จำนวน 20 ลิตร มาใช้ ถ้าไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เวลาคืนก็ต้องคืนน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 จำนวน 20 ลิตร (ไม่ต้องเป็นทรัพย์สินเดียวกับที่ยืมมา แต่ต้องเป็นทรัพย์สินประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับที่ยืมมา)
กำหนดเวลาคืนทรัพย์สินที่ยืม
1. กรณีสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองมีกำหนดเวลาใช้คืน ผู้ยืมต้องชำระหนี้ (คืนทรัพย์สิน) ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกัน ถ้าผู้ยืมไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาก็จะตกเป็นผู้ผิดนัด ผู้ให้ยืมมีสิทธิฟ้องคดีทันที[4]
2. กรณีสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองไม่มีกำหนดเวลาใช้คืน ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้คืนทรัพย์สินภายในเวลาอันสมควรก็ได้[5] ทำให้เมื่อไม่มีกำหนดเวลาใช้คืน ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวให้คืนทรัพย์สินก่อนก็ได้ หรือจะฟ้องคดีเลยโดยไม่บอกกล่าวก่อนก็ได้[6]
ความรับผิดของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง
ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ยืม หรือทรัพย์สินที่ยืมสูญหาย ความเสียหายนั้นย่อมตกแก่ผู้ยืม เนื่องจากสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมได้โอนมายังผู้ยืมแล้ว ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินนั้น ผู้ยืมย่อมต้องเป็นคนรับผลในความเสียหายที่เกิดขึ้น เมื่อถึงกำหนดเวลาคืนทรัพย์สินที่ยืม ผู้ยืมจึงมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินตามประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับที่ยืมมา[7]
ภาระภาษีของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาที่ผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินที่ให้ยืม สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองจึงเข้าลักษณะเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เงินได้ประเภทที่ 8” โดยสามารถแบ่งภาระภาษีที่เกี่ยวข้องกับสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองได้ดังนี้
1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax)
การโอนทรัพย์สินตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 ผู้ให้ยืมที่โอนทรัพย์สินจะไม่ได้รับค่าตอบแทนจากผู้ยืมก็ตาม แต่เนื่องจากประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินค่าตอบแทนให้เป็นไปตามราคาตลาดได้ หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโอนทรัพย์สินแบบไม่มีค่าตอบแทนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ส่งผลให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ให้ยืมต้องรับรู้รายได้จากการให้ยืมทรัพย์สิน (แม้จะไม่ได้รับค่าตอบแทนก็ตาม) ตามราคาตลาด เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
รายได้ในลักษณะนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นรายได้ที่กฎหมายหรือรายได้ที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด และรายได้ในลักษณะนี้ยังใช้ในกรณีการโอนทรัพย์สินที่มีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรด้วย ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทำให้กิจการเสียภาษีผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ดี รายได้ที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) เจ้าพนักงานประเมินจะมีอำนาจประเมินหรือกำหนดรายได้ให้เป็นไปตามราคาตลาดได้ ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ไม่คิดค่าตอบแทนหรือคิดค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรเท่านั้น หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีเหตุอันสมควรเพียงพอและรับฟังได้ตามกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินก็ไม่มีอำนาจกำหนดค่าตอบแทนให้เป็นไปตามราคาตลาดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ได้
ในกรณีที่คู่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ วรรคสอง คือ เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่ 2 นิติบุคคลขึ้นไปที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด หรือ
(2) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด หรือ
(3) นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่ง ตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง (ปัจจุบัน (3) ยังไม่ใช้ในการพิจารณา)
ได้ทำสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองกันในลักษณะที่เชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไรระหว่างกัน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันดังกล่าว อาจถูกเจ้าพนักงานประเมินปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายได้ ตามมาตรา 71 ทวิ ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 369 (พ.ศ. 2563)
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax)
สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองเป็นสัญญาที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืม และโดยทั่วไปการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะเกิด 2 ครั้ง กล่าวคือ
- ครั้งที่ 1 เมื่อผู้ให้ยืมโอนทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปให้ผู้ยืม
- ครั้งที่ 2 เมื่อผู้ยืมโอนทรัพย์สินประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับทรัพย์สินที่ยืมคืนแก่ผู้ให้ยืม
จึงสามารถแยกอธิบายภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองได้ดังนี้
1. เมื่อผู้ให้ยืมโอนทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปให้ผู้ยืม การโอนทรัพย์สินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (9) ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) เว้นแต่เป็นการโอนทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 หรือมาตรา 81/1
โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการโอนทรัพย์สิน (ขายสินค้า) ให้ผู้ยืมตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน ได้แก่
(ก) ได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
(ข) ได้รับชำระราคาสินค้า
(ค) ได้ออกใบกำกับภาษี
ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 78
ดังนั้นเมื่อผู้ให้ยืมโอนทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปให้ผู้ยืม ผู้ให้ยืมจึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ยืมให้แก่กรมสรรพากร ในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 82 (1) มาตรา 82/4 มาตรา 80 และผู้ให้ยืมมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น (เมื่อส่งมอบทรัพย์สิน) ตามมาตรา 78 และมาตรา 86[1]
2. เมื่อผู้ยืมโอนทรัพย์สินประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับทรัพย์สินที่ยืมคืนแก่ผู้ให้ยืม การโอนทรัพย์สินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (9) ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) เว้นแต่เป็นการโอนทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 หรือมาตรา 81/1
โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการโอนทรัพย์สินคืน (ขายสินค้า) ให้แก่ผู้ให้ยืมตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง เกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน ได้แก่
(ก) ได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
(ข) ได้รับชำระราคาสินค้า
(ค) ได้ออกใบกำกับภาษี
ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 78
ดังนั้นเมื่อผู้ยืมโอนทรัพย์สินประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ให้ยืม ผู้ยืมจึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้ยืมให้แก่กรมสรรพากร ในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 82 (1) มาตรา 82/4 มาตรา 80 และผู้ยืมมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น (เมื่อส่งมอบทรัพย์สิน) ตามมาตรา 78 และมาตรา 86
3.อากรแสตมป์
สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองไม่ต้องติดอากรแสตมป์ เพราะไม่ใช่ตราสาร 1 ใน 28 ลักษณะตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร
สรุปภาระภาษีสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง | |
ประเภทเงินได้ | เงินได้ประเภทที่ 8 ( ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) ) |
ภาษีเงินได้นิติบุคคล | ผู้ให้ยืมที่โอนทรัพย์สินแม้จะไม่ได้รับค่าตอบแทนจากผู้ยืม แต่หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้โอนทรัพย์สินแบบไม่มีค่าตอบแทนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ให้ยืมต้องรับรู้รายได้จากการให้ยืมทรัพย์สิน (แม้จะไม่ได้รับค่าตอบแทน) ตามราคาตลาด เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม | 1. เมื่อผู้ให้ยืมโอนทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปให้ผู้ยืม การโอนทรัพย์สินดังกล่าวจะเข้าลักษณะเป็นการ “ขายสินค้า” ผู้ให้ยืมจึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ยืมให้แก่กรมสรรพากร ในอัตราร้อยละ 7 อีกทั้งยังมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นด้วย เว้นแต่จะเป็นการโอนทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2. เมื่อผู้ยืมโอนทรัพย์สินประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับทรัพย์สินที่ยืมคืนแก่ผู้ให้ยืม การโอนทรัพย์สินดังกล่าวจะเข้าลักษณะเป็นการ “ขายสินค้า” ผู้ยืมจึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้ยืมให้แก่กรมสรรพากร ในอัตราร้อยละ 7 อีกทั้งยังมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เว้นแต่จะเป็นการโอนทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม |
อากรแสตมป์ | ไม่เสียอากรแสตมป์ |
และนี่คือภาระภาษีตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการและนักบัญชีควรจะต้องศึกษาและเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลัง
[1] เทียบเคียงหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่ กค 0706/1154 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550
[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650
[2] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสอง
[3] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 651
[4] เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2538
[5] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 652
[6] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2535
[7] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ