กำลังโหลด...

×



Accounting ภาระภาษีจากการให้ของขวัญปีใหม่

magazine image
Accounting

ภาระภาษีจากการให้ของขวัญปีใหม่

        ในช่วงปีใหม่ขนบธรรมเนียมประเพณีหนึ่งของคนไทยก็คือ วันขึ้นปีใหม่ มักจะมีการเฉลิมฉลองอีกทั้งให้ของขวัญแก่กัน ไม่ว่าจะเป็นให้เพราะรัก ให้เพราะอยากให้มีความสุข ให้เพราะต้องการกระจายความสุขให้กับคนรอบข้าง แล้วแต่แนวทางของแต่ละคน การให้ของขวัญปีใหม่มักจะเริ่มให้กันตั้งแต่เดือนธันวาคมปลายปีข้ามระยะเวลาไปต้นปีเดือนมกราคม อาจเลยไปถึงเดือนกุมภาพันธ์

        คำว่า “ของขวัญ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

        “ของขวัญ (gift / present)” หมายถึง สิ่งของที่ให้กันในเวลาอื่น เป็นการถนอมขวัญหรือเพื่ออัธยาศัยไมตรี เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด

        บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็เช่นกันที่นิยมให้ของขวัญปีใหม่กับลูกค้า พนักงาน หรือผู้ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ การที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะซื้อของขวัญปีใหม่ไปให้กับบุคคลต่างๆ นั้น จะต้องคำถึงภาระภาษีอากรที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
  2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีเงินได้นิติบุคคล
        ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นภาษีอากรประเมิน โดยการนำรายได้มาหักรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีด้วยเกณฑ์สิทธิเพื่อคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิ

        ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีผลกระทบต่อการให้ของขวัญปีใหม่หรือรายจ่าย นั่นหมายความว่า หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ของขวัญปีใหม่กับผู้รับ จะต้องพิจารณาว่าถือเป็นรายจ่ายของกิจการได้หรือไม่ และถือเป็นเงินได้ของผู้รับของขวัญปีใหม่หรือไม่

        ในแง่ของภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ กฎหมายภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับรายจ่ายต้องห้ามมาตรา 65 ตรี เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้ของขวัญมีดังนี้

        “(3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เว้นแต่
          (ก) รายจ่ายซึ่งเป็นเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้หักได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
          (ข) รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ”

         หากพิจารณาจากการให้ของขวัญปีใหม่ว่าเป็นรายจ่ายส่วนตัว การให้โดยเสน่หาหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจความหมายของรายจ่ายส่วนตัว การให้โดยเสน่หา ซึ่งหมายถึง รายจ่ายที่กิจการจ่ายไปเป็นการเฉพาะเจาะจง        ไม่มีระเบียบกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง  สิ่งสำคัญหากการให้ของขวัญปีใหม่เป็นการให้เนื่องในขนบธรรมเนียมประเพณีถือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร

         “(4) ค่ารับรองหรือค่าบริการส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง”

          การให้ของขวัญปีใหม่จะถือเป็นการให้สิ่งของเพื่อการรับรองลูกค้าหรือค่ารับรองนั่นเอง ซึ่งพิจารณาจากมาตรา 65 ตรี (4) ค่ารับรองหรือค่าบริการถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิ เว้นแต่ค่ารับรองนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎกระทรวงฉบับที่ 143 ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

        1. ค่ารับรองหรือค่าบริการที่จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5

        2. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และบุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการต้องมิใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เว้นแต่ลูกจ้างดังกล่าวจะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย

        3. ค่ารับรองหรือค่าบริการ ต้อง

          (1) เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น หรือ

          (2) เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ

        4. จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนที่ต้องจ่าย แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใด ในรอบระยะเวลาบัญชีหรือของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า ทั้งนี้รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท

        5. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นต้องมีกรรมการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว เป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นด้วย และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือเป็นค่าบริการ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร
สิ่งที่กิจการจะต้องพิจารณาในการให้ของขวัญปีใหม่ก็คือ การให้เป็นสิ่งของต้องไม่เกินคนละ 2,000 บาทในแต่ละคราว มิฉะนั้นจะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิ

“(13) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ”
รายจ่ายที่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามประเภทหนึ่งก็คือ รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ การให้ของขวัญปีใหม่เป็นการให้ตามขนบธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไปและมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร ย่อมถือเป็นรายจ่ายเกี่ยวข้องกับกิจการ ถือเป็นรายจ่ายได้ 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม
หากกิจการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อของขวัญปีใหม่ขอคืนหรือเครดิตภาษีขายได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากภาษีซื้อในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้แบ่งภาษีซื้อออกเป็น

  1. ภาษีซื้อขอคืนได้หรือเครดิตภาษีขายได้
  2. ภาษีซื้อต้องห้าม

           2.1 ภาษีซื้อห้ามขอคืน  แต่ถือเป็นค่าใช้จ่ายได้
          2.2 ภาษีซื้อห้ามขอคืน และห้ามถือเป็นค่าใช้จ่าย

ภาษีซื้อขอคืนได้หรือเครดิตภาษีขายได้ จะพิจารณาได้จาก

         1. ใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 ซึ่งต้องมีข้อความครบถ้วน

        2. ต้องเป็น "ฉบับแรก" หรือมีคำว่า "เอกสารออกเป็นชุด"

        3. คำว่า "ใบกำกับภาษี" ต้องพิมพ์มาจากโรงพิมพ์ หรือหากพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์จะต้องพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

        4. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขายหรือผู้ให้บริการ ต้องพิมพ์มาจากโรงพิมพ์ หรือหากพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์จะต้องพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

        5. ใบกำกับภาษีออกโดยปั๊มน้ำมันต้องมีเลขทะเบียนรถ

        6. ใบกำกับภาษีต้องไม่มีขีด ฆ่า แก้ไข เปลี่ยนแปลง

ส่วนภาษีซื้อต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรที่กำหนดไว้ในมาตรา 85/2 ภาษีซื้อในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 ดังต่อไปนี้
    (1) กรณีไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เว้นแต่จะเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
    (2) กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
    (3) ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
    (4) ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
    (5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีตามส่วน 10
    (6) ภาษีซื้อตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

        หากพิจารณาเรื่องของขวัญปีใหม่ที่กิจการให้กับลูกค้า เมื่อกิจการได้ซื้อมามีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีซื้อติดมาด้วย ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีสิทธิขอคืนได้หรือไม่  
การให้ของขวัญปีใหม่ถือเป็นค่ารับรองที่ให้กับลูกค้า เป็นสิ่งของซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ 2,000 บาทในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ อันเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5(4) แต่ภาษีซื้อดังกล่าวถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เช่น กิจการซื้อของขวัญให้กับลูกค้ามูลค่า 100 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 บาท จะถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน 107 บาท กิจการไม่มีสิทธิขอคืนแต่ถือเป็นค่าใช้จ่ายได้

        ประเด็นภาษีอากรจากการให้ของขวัญปีใหม่ยังมีอีกหลายประเด็น สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากประมวลรัษฎากรที่มีผลกระทบต่อการให้ของขวัญปีใหม่ เช่น มาตรา 65 ตรี (3) (4) (9) (13) (18)  มาตรา 77/1 (8) (9) (10) และมาตรา 82/5 เป็นต้น

 

****************************************

 

Top 5 Contents