
Crypto-Asset Reporting Framework กรอบความร่วมมือใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
29 พฤศจิกายน 2565
ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในการลงทุนในตลาดโลก และกลายเป็นเครื่องมือทางการเงินอีกตัวหนึ่งที่ได้รับความแพร่หลายอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ด้วยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลนี้มีความหลากหลายและแตกต่างจากการลงทุนแบบดั้งเดิม กล่าวคือ สามารถโอนและถือครองได้โดยไม่ต้องมีการแทรกแซงจากตัวกลางทางการเงิน เช่น ธนาคาร แต่จะมีตัวกลางและผู้ให้บริการในรูปแบบใหม่ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) และผู้ให้บริการกระเป๋าเงินต่าง ๆ (Wallet) ซึ่งปัจจุบันในหลายประเทศยังไม่มีมาตรการควบคุมตัวกลางหรือผู้ให้บริการกลุ่มนี้ หรือหากมีมาตรการควบคุม แต่ก็อาจยังไม่ทั่วถึง ประกอบกับระบบดังกล่าวไม่มีผู้กำกับดูแลระบบส่วนกลางที่สามารถมองเห็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นหรือการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างเต็มที่
ยิ่งไปกว่านั้น สินทรัพย์ดิจิทัลนี้ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติตามมาตรฐาน Common Reporting Standard (มาตรฐาน CRS) ที่ประเทศทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ[1] ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินระหว่างกันตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ (ความตกลง MCAA CRS) นั่นหมายความว่า สินทรัพย์ดิจิทัล อันรวมไปถึงธุรกรรมที่กระทำโดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลาง อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงภาษีได้ ยกตัวอย่างเช่น
Mr. M เป็นนักธุรกิจในประเทศ A เข้ามาให้บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่สถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับเงินจากการให้บริการเป็นจำนวน 100 ล้านบาท Mr. M นำเงินดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคาร S ในประเทศไทย และได้ดอกเบี้ยเงินฝากเป็นรายปี กรณีนี้ ข้อมูลยอดเงินฝากและดอกเบี้ยที่ Mr. M ได้รับในธนาคาร S จะถูกส่งไปยังสรรพากรประเทศ A สรรพากรประเทศ A ก็จะทราบว่า Mr. M มีสินทรัพย์ที่อยู่ในประเทศไทย ได้แก่ เงินฝากและดอกเบี้ย ส่งผลให้สรรพากรประเทศ A สามารถนำข้อมูลนี้ไปต่อยอดเพื่อตรวจสอบว่า Mr. M ได้เสียภาษีในประเทศ A ได้ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
ในทางกลับกัน หาก Mr. M ลงทุนเทรดคริปโทเคอร์เรนซีในแพลตฟอร์มของประเทศไทย เช่น Bitkub ได้กำไรเป็นจำนวน 100 ล้านบาท แต่เงินได้และกำไรที่ได้จากการลงทุน Mr. M ไม่ได้แลกเปลี่ยนออกมาเป็นเงินสด แต่เก็บไว้ในรูปของเหรียญ USDT ในกระเป๋าที่เปิดไว้กับ Bitkub ในกรณีเช่นนี้ เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซีไม่ได้อยู่ในขอบข่ายข้อมูลบัญชีที่ต้องถูกรายงานตามมาตรฐาน CRS สรรพากรประเทศ A ก็จะไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญ USDT ของ Mr. M แต่อย่างใด
จะเห็นว่าแม้ปัจจุบันจะมีประเทศคู่สัญญากว่า 100 ประเทศ ที่ตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินระหว่างกันตามมาตรฐาน CRS[2] แต่ข้อมูลทางการเงินที่แลกเปลี่ยนกันนั้น ครอบคลุมเพียงบัญชีรับฝากเงิน บัญชีรับฝากสินทรัพย์ บัญชีเพื่อการลงทุน หรือกรมธรรม์ประกันบางประเภทเท่านั้น มิได้ครอบคลุมบัญชีสินทรัพย์คริปโตเคอร์เรนซีด้วย
ดังนั้นเพื่ออุดช่องโหว่ไม่ให้ผู้เสียภาษีใช้คริปโตเคอเรนซีหรือสินทรัพย์ดิจิทัลในทำนองเดียวกันในการหลบหลีกภาษี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) จึงได้เผยแพร่กรอบความร่วมมือเพื่อความโปร่งใสทางภาษีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่เป็นจำพวกคริปโทเคอร์เรนซีหรือที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน (Crypto-Assets) ที่เรียกสั้น ๆ ว่า “CARF” (Crypto-Asset Reporting Framework) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศ G20 และ OECD เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติเกี่ยวกับ Crypto-Assets ระหว่างประเทศในทำนองเดียวกับมาตรฐาน CRS ดังนี้ CARF จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสสำหรับธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้สามารถตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการหลบหลีกภาษีอีกด้วย
ขอบเขตของการแลกเปลี่ยนข้อมูลตาม CARF
องค์ประกอบของ CARF อาจแบ่งได้ออกเป็น 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1. ขอบเขตของสินทรัพย์ที่ต้องถูกรายงาน (Relevant Crypto-Assets)
กรอบความร่วมมือ CARF มุ่งเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ ที่มีการใช้เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยของบัญชีโดยการเข้ารหัส ไม่ว่าจะในขั้นตอนการสร้าง การถือครอง หรือการโอนสินทรัพย์โดยไม่มีตัวกลาง เช่น เทคโนโลยี Blockchain เป็นต้น (จะขอเรียกกลุ่มสินทรัพย์นี้ว่า “สินทรัพย์คริปโทฯ”) ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่ที่เทคโนโลยีการเข้ารหัสเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ให้รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันด้วย เพื่อป้องกันกรณีที่มีการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคต ที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหลีกหนีภาษีได้เช่นเดียวกับสินทรัพย์คริปโทฯ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสินทรัพย์คริปโทฯ ที่จะถูกรายงานข้อมูลตาม CARF นี้ จะครอบคลุมถึงสินทรัพย์ที่สามารถถือครองหรือโอนในลักษณะที่ไม่มีศูนย์กลางหรือการแทรกแซงของตัวกลางทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น Stable Coin อนุพันธ์ที่ออกในรูปแบบสินทรัพย์คริปโทฯ หรือ NFTs (Non-fungible Tokens) บางประเภท เนื่องจากสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ที่ใช้เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยของบัญชีโดยการเข้ารหัส และมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหลีกหนีภาษีได้[3]
อนึ่ง สินทรัพย์คริปโทฯ บางประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการหลบหลีกภาษี จะเข้าข่ายได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกรายงานตาม CARF
สินทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. สินทรัพย์คริปโทฯ ที่ผู้มีหน้าที่รายงาน (Reporting Crypto-Asset Service Provider) ระบุว่าสินทรัพย์คริปโทฯ นั้น ไม่สามารถนำมาใช้ชำระราคาหรือลงทุนได้[4]
2. เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ (Central Bank Digital Currencies : CBDC) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับเงินที่ถืออยู่ในบัญชีธนาคารแบบดั้งเดิม
3. ผลิตภัณฑ์เงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนด (Specified Electronic Money Products)
มีข้อสังเกตว่า แม้สินทรัพย์ในกลุ่มที่ 2 และ 3 จะไม่อยู่ในขอบเขตที่ต้องถูกรายงานตาม CARF แต่จะถูกรายงานโดยสถาบันการเงินภายใต้มาตรฐาน CRS แทน
2 ผู้มีหน้าที่รายงาน (Reporting Crypto-Asset Service Providers)
เนื่องด้วยตัวกลางและผู้ให้บริการที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์คริปโทฯ หรือระหว่างสินทรัพย์คริปโทฯ กับเงิน Fiat (Exchange Transactions) เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกรรมที่มีสินทรัพย์คริปโทฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความเป็นได้มากที่สุดที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลมูลค่าสินทรัพย์คริปโทฯ และธุรกรรมแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นของลูกค้าได้ ดังนั้น CARF จึงกำหนดให้ตัวกลางและผู้ให้บริการที่ประกอบธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนสินทรัพย์คริปโทฯ เพื่อ/หรือในนามของลูกค้า เช่น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์คริปโทฯ (Exchange) นายหน้า (Broker) ตัวแทนจำหน่าย (Dealer) เป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมและรีวิวเอกสารของลูกค้าตามหลักเกณฑ์ AML/KYC และรายงานข้อมูลของลูกค้าตนเองตามที่ CARF กำหนด[1]
ทั้งนี้ ผู้มีหน้าที่รายงานหนึ่ง ๆ จะต้องรายงานข้อมูลให้แก่สรรพากรของประเทศใด ให้พิจารณาจากจุดเกาะเกี่ยว (Nexus) ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
กรณีผู้มีหน้าที่รายงานเป็นบุคคลธรรมดา (Individual)
1. ให้พิจารณาว่าตนเองมีถิ่นที่อยู่ทางภาษีที่ใด ก็ให้รายงานข้อมูลต่อสรรพากรในประเทศนั้น แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ตาม 1.
2. ให้พิจารณาว่าตนเองมีสถานธุรกิจประจำตั้งอยู่ในประเทศใด ก็ให้รายงานข้อมูลต่อสรรพากรในประเทศนั้น
กรณีผู้มีหน้าที่รายงานไม่ใช่บุคคลธรรมดา (Entity)
1. ให้พิจารณาว่าตนเองมีถิ่นที่อยู่ทางภาษีที่ใด ก็ให้รายงานข้อมูลต่อสรรพากรในประเทศนั้น แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ตาม 1.
2. ให้พิจารณาว่ากิจการจดทะเบียนจัดตั้งหรือก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศใด ซึ่งกิจการมีสถานภาพเป็นบุคคลตามกฎหมาย หรืออยู่ภายใต้ข้อบังคับที่ต้องยื่นแบบหรือรายงานข้อมูลทางภาษีสำหรับเงินได้ของกิจการให้กับสรรพากรในประเทศนั้น ก็ให้รายงานข้อมูลต่อสรรพากรในประเทศนั้น แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ตาม 2.
3. ให้พิจารณาว่ากิจการมีสถานจัดการอยู่ในประเทศไหน ก็ให้รายงานข้อมูลต่อสรรพากรในประเทศนั้น แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ตาม 3.
4. ให้พิจารณาว่ากิจการมีสถานธุรกิจประจำ (เช่น สาขา) ตั้งอยู่ในประเทศใด ก็ให้รายงานข้อมูลต่อสรรพากรในประเทศนั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่กิจการมีสาขาที่มีการดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้สาขารายงานข้อมูลต่อสรรพากรในประเทศที่สาขานั้นตั้งอยู่ โดยสำนักงานใหญ่ไม่ต้องรายงานข้อมูลของการดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องของสาขานั้นต่อสรรพากรในประเทศที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่อีก
อนึ่ง ผู้มีหน้าที่รายงานจะรายงานข้อมูลให้สรรพากรประเทศใดตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ก็ต่อเมื่อประเทศนั้น ๆ มีกฎหมายกำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานรายงานข้อมูลตาม CARF และหากปรากฏว่าผู้มีหน้าที่รายงานเข้าข่ายต้องรายงานข้อมูลให้แก่สรรพากรหลายประเทศด้วยเหตุที่มีจุดเกาะเกี่ยวในลักษณะเดียวกัน ตัวอย่างเช่น
Mr. T เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มซึ่งให้บริการเป็นกระดานเทรดคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศ ก. Mr. T มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศ ก. และประเทศ ข. ทั้งประเทศ ก. และประเทศ ข. มีกฎหมายกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลตาม CARF
เช่นนี้ หาก Mr. T ได้รายงานข้อมูลให้กับสรรพากรในประเทศ ก. แล้ว Mr. T จะไม่ต้องรายงานข้อมูลให้กับสรรพากรในประเทศ ข. ซ้ำอีก
3 ผู้ที่ต้องถูกรายงานและข้อมูลที่ต้องถูกรายงาน
ผู้ที่ต้องถูกรายงานข้อมูลตาม CARF จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มผู้ที่เป็นลูกค้าของผู้มีหน้าที่รายงาน (Reportable User) และ
2. กลุ่มผู้ที่เป็นผู้ที่มีอำนาจควบคุมของลูกค้า (Controlling Person)
ทั้งนี้ ลูกค้าหรือผู้ที่มีอำนาจควบคุมนี้จะเข้าข่ายเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน (Reportable Person) ก็ต่อเมื่อเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศคู่สัญญาตามกรอบความร่วมมือ CARF หากลูกค้าหรือผู้ที่มีอำนาจควบคุมดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงานแล้ว ผู้มีหน้าที่รายงานก็จะต้องรายงานข้อมูลดังนี้ให้กับสรรพากร โดยข้อมูลที่ต้องถูกรายงานจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่ต้องถูกรายงาน
1.1 กรณีลูกค้าเป็นบุคคลธรรมดา : ชื่อ ที่อยู่ ถิ่นที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี วันเดือนปีเกิด และสถานที่เกิดของลูกค้า
1.2 กรณีลูกค้าไม่เป็นบุคคลธรรมดา : ชื่อ ที่อยู่ ถิ่นที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของลูกค้า และหากลูกค้ามีผู้ที่มีอำนาจควบคุม (Controlling Person) ที่เข้าข่ายต้องถูกรายงาน ให้รายงาน ชื่อ ที่อยู่ ถิ่นที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด และบทบาทที่บุคคลดังกล่าวมีในการควบคุมลูกค้านั้น เช่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เป็นต้น
2. ข้อมูลของผู้มีหน้าที่รายงาน (Reporting Crypto-Asset Service Provider) : ชื่อ ที่อยู่ และเลขระบุตัวตน (ถ้ามี) ของผู้มีหน้าที่รายงาน
3. ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมที่ต้องถูกรายงาน (Relevant Transactions) สำหรับข้อมูลในส่วนนี้ ผู้มีหน้าที่รายงานต้องรายงานข้อมูลหลัก ๆ อยู่ 2 ส่วน ได้แก่
3.1 ชื่อประเภทของสินทรัพย์คริปโทฯ ที่เกี่ยวข้อง
3.2 ข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยธุรกรรมแต่ละประเภทจะมีข้อมูลที่ต้องถูกรายงานแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ
(1) ธุรกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์คริปโทฯ กับเงิน Fiat : ข้อมูลที่ต้องรายงาน ได้แก่ จำนวนเงิน Fiat รวมที่ได้จ่ายหรือได้รับ จำนวนหน่วยและจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้น
(2) ธุรกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์คริปโทฯ ด้วยกันเอง : ข้อมูลที่ต้องรายงาน ได้แก่ มูลค่ารวมของสินทรัพย์คริปโทฯ (เมื่อได้มา) และรายรับรวม (เมื่อมีการจำหน่าย) เนื่องจากธุรกรรมประเภทนี้ มีสินทรัพย์คริปโทฯ 2 ตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง (สินทรัพย์คริปโทฯ ที่โอนให้กับผู้อื่น และสินทรัพย์คริปโทฯ ที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนนั้น) การรายงานข้อมูลสำหรับธุรกรรมรูปแบบนี้ จึงมีชุดข้อมูล 2 ชุดที่ต้องรายงาน ได้แก่ มูลค่าตลาด ณ เวลาที่มีการจำหน่าย สำหรับสินทรัพย์คริปโทฯ ที่โอนไปให้กับผู้อื่น และมูลค่าตลาด ณ เวลาที่ได้มา สำหรับสินทรัพย์คริปโทฯ ที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนนั้น ทั้งนี้ ให้รายงานจำนวนหน่วยและจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้นด้วย
(3) ธุรกรรมการชำระราคาด้วยสินทรัพย์คริปโทฯ (Reportable Retail Payment Transactions) : ข้อมูลที่ต้องรายงาน ได้แก่ มูลค่าตลาดรวม จำนวนหน่วยและจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้น
(4) การโอนหรือรับโอนสินทรัพย์คริปโทฯ : มูลค่าตลาดรวม จำนวนหน่วย และจำนวนธุรกรรมที่โอน หรือมูลค่าตลาดรวม จำนวนหน่วยและจำนวนธุรกรรมที่รับโอน แล้วแต่กรณี โดยให้รายงานแบ่งตามประเภทของการโอน (เท่าที่ผู้มีหน้าที่รายงานสามารถระบุได้) เช่น การโอนประเภท Airdrops หรือการโอนประเภท Stake เป็นต้น นอกจากนี้ ให้รายงานมูลค่าตลาดรวมและจำนวนหน่วยที่ลูกค้าโอนสินทรัพย์คริปโทฯ ไปยังกระเป๋าอื่นตามที่มาตรฐานกำหนดด้วย
การรายงานข้อมูลตาม CARF นี้เป็นการรายงานข้อมูลแบบรายปี โดยผู้มีหน้าที่รายงานมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลในปีหนึ่ง ๆ และนำส่งให้กับสรรพากรที่ตนมีจุดเกาะเกี่ยวในปีถัดไป อนึ่ง ข้อมูลบางรายการอาจมีการผ่อนผันให้ไม่ต้องรายงาน เช่น ข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของลูกค้าที่อยู่ในประเทศที่ไม่มีการออกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หรือข้อมูลสถานที่เกิด เป็นต้น
4 ขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า (Due Diligence)
การที่ผู้มีหน้าที่รายงานจะทราบว่าตนต้องรายงานข้อมูลของลูกค้าคนใดหรือไม่ ผู้มีหน้าที่รายงานจะต้องดำเนินการตามกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า (Due Diligence) เพื่อระบุตัวตนและถิ่นที่อยู่ทางภาษีของลูกค้า พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการรายงานข้อมูลเพื่อส่งให้กับสรรพากร กระบวนการตรวจสอบข้อมูลนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบตามลักษณะของลูกค้า คือ กระบวนการตรวจสอบข้อมูลสำหรับลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา (Individual Crypto-Asset Users) และกระบวนการตรวจสอบข้อมูลสำหรับลูกค้าที่ไม่เป็นบุคคลธรรมดา (Entity Crypto-Asset Users)
1. กระบวนการตรวจสอบข้อมูลสำหรับลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา (Individual Crypto-Asset Users)
ขั้นตอนที่ 1 จัดให้ลูกค้าทำการแจ้งข้อมูล (Self-certification) เพื่อทราบข้อมูลถิ่นที่อยู่ทางภาษีของลูกค้า[2]
ขั้นตอนที่ 2 สอบทานความสมเหตุสมผลของข้อมูลที่ลูกค้าแจ้งกับข้อมูลที่ทางผู้มีหน้าที่รายงานมีอยู่แล้ว เช่น เทียบข้อมูลที่ลูกค้าแจ้งกับข้อมูลบัตรประจำประชาชนที่ผู้มีหน้าที่รายงานได้เก็บรวบรวมไว้เมื่อลูกค้าเปิดบัญชีกับผู้หน้าที่รายงาน
ขั้นตอนที่ 3 หากต่อมาผู้มีหน้าที่รายงานทราบหรือมีเหตุอันควรจะทราบว่าข้อมูลที่ลูกค้าแจ้งไม่ถูกต้องหรือไม่น่าเชื่อถือ ให้ผู้มีหน้าที่รายงานจัดให้ลูกค้าทำการแจ้งข้อมูลอีกครั้ง หรืออธิบายเหตุผลต่อผู้มีหน้าที่รายงาน และหากเป็นการสมควรแก่กรณี ผู้มีหน้าที่รายงานอาจขอให้ลูกค้านำส่งเอกสารเพื่อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ลูกค้าเคยแจ้งไว้เดิมก็ได้
2. กระบวนการตรวจสอบข้อมูลสำหรับลูกค้าที่ไม่เป็นบุคคลธรรมดา (Entity Crypto-Asset Users)[3]
การตรวจสอบจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- การตรวจสอบข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าลูกค้าเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงานหรือไม่ (Reportable User) (ขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2)
- การตรวจสอบข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าลูกค้ามีผู้มีอำนาจควบคุมที่เป็นผู้ที่ต้องถูกรายงานหรือไม่ (Controlling Person) (ขั้นตอนที่ 3 และขั้นตอนที่ 4) กล่าวคือ
ขั้นตอนที่ 1 จัดให้ลูกค้าทำการแจ้งข้อมูล (Self-certification) เพื่อทราบข้อมูลถิ่นที่อยู่ทางภาษีของลูกค้า หากลูกค้าแจ้งว่าตนเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศคู่สัญญาตามกรอบความร่วมมือ CARF ก็ให้ผู้มีหน้าที่รายงานจัดให้ลูกค้านั้นเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงานข้อมูล เว้นแต่ผู้มีหน้าที่รายงานพบว่าลูกค้านั้นเป็นผู้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกรายงาน (Excluded Person) อนึ่ง หากลูกค้าแจ้งว่าตนไม่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษี ให้ผู้มีหน้าที่รายงานพิจารณาถิ่นที่อยู่ทางภาษีตามข้อมูลสถานจัดการหลัก (Place of Effective Management) หรือที่อยู่ของสำนักงานหลัก (Principal Office) ของลูกค้านั้น
ขั้นตอนที่ 2 สอบทานความสมเหตุสมผลของข้อมูลที่ลูกค้าแจ้งกับข้อมูลที่ทางผู้มีหน้าที่รายงานมีอยู่แล้ว
ขั้นตอนที่ 3 พิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้ที่มีอำนาจควบคุมของลูกค้า โดยอาศัยข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้ตามหลักเกณฑ์ AML/KYC ตามคำแนะนำของคณะทํางานเฉพาะกิจเพื่อดําเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force Recommendations : FATF Recommendations) หากผู้มีหน้าที่รายงานไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวตาม FATF Recommendations ในกรณีนี้ ผู้มีหน้าที่รายงานยังคงต้องดำเนินการในทำนองเดียวกันกับที่คำแนะนำของ FATF กำหนด เพื่อระบุตัวผู้ที่มีอำนาจควบคุมของลูกค้าให้ได้
ขั้นตอนที่ 4 พิจารณาว่าผู้ที่มีอำนาจควบคุมของลูกค้าที่ระบุตัวได้ตามขั้นตอนที่ 3 เป็นผู้ที่ต้องถูกรายงานหรือไม่ โดยยึดการพิจารณาตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากลูกค้าหรือที่ได้รับแจ้งจากผู้ที่มีอำนาจควบคุมนั้น
ขั้นตอนที่ 5 สอบทานความสมเหตุสมผลของข้อมูลที่ลูกค้าแจ้งกับข้อมูลที่ทางผู้มีหน้าที่รายงานมีอยู่แล้ว
ขั้นตอนที่ 6 หากต่อมาผู้มีหน้าที่รายงานทราบหรือมีเหตุอันควรจะทราบว่าข้อมูลที่ลูกค้าหรือที่ผู้มีอำนาจควบคุมแจ้งไม่ถูกต้องหรือไม่น่าเชื่อถือ ให้ผู้มีหน้าที่รายงานจัดให้ลูกค้าหรือผู้ที่มีอำนาจควบคุมทำการแจ้งข้อมูลอีกครั้ง หรืออธิบายเหตุผลต่อผู้มีหน้าที่รายงาน และหากเป็นการสมควรแก่กรณี ผู้มีหน้าที่รายงานอาจขอให้นำส่งเอกสารเพื่อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เคยแจ้งไว้เดิมก็ได้
การรายงานข้อมูลตาม CARF ซ้ำซ้อนกับการรายงานข้อมูลตาม CRS หรือไม่
เนื่องจาก CARF เป็นกรอบความร่วมมือที่แยกออกมาต่างหากจากกรอบความร่วมมือว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรฐาน CRS การรายงานข้อมูลตาม CARF จึงจะไม่ซ้ำซ้อนกับข้อมูลที่รายงานตามมาตรฐาน CRS โดยที่กลุ่มผู้มีหน้าที่รายงาน ผู้ที่ต้องถูกรายงาน รวมทั้งกระบวนการในการตรวจสอบข้อมูล ได้มีการกำหนดแยกออกมาต่างหากจากมาตรฐาน CRS
อย่างไรก็ดี อาจมีบางกรณีที่ผู้มีหน้าที่รายงานตาม CRS อาจต้องรายงานข้อมูลตาม CARF ด้วย เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลมีประสิทธิภาพสูงสุด OECD จึงมีแนวคิดที่จะแก้ไขการรายงานข้อมูลตามมาตรฐาน CRS เพื่อให้เท่าทันผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลและปรับปรุงข้อบกพร่องตามที่ได้รับข้อเสนอแนะจากนานาประเทศ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานดังกล่าวก็ต้องคำนึงถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลตาม CARF ที่จะต้องสอดคล้องและบังคับใช้ไปพร้อม ๆ กันด้วย
OECD ได้ออกต้นแบบการร่างกฎหมายสำหรับประเทศที่จะอนุวัติการตามกรอบความร่วมมือ CARF (CARF Model Rules) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สรรพากรแต่ละประเทศมีต้นแบบในการออกกฎหมายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในลำดับต่อไป OECD จะดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องมือในการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศตามกรอบความร่วมมือ CARF เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีทั่วโลกสูงสุด
อนึ่ง OECD ยังไม่ได้กำหนดเวลาที่จะเริ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลตาม CARF ว่าจะเป็นเมื่อใด แต่ในส่วนของผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะกิจการที่เข้าข่ายเป็นผู้มีหน้าที่รายงานตาม CARF อาจจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของกรอบความร่วมมือนี้เป็นพิเศษว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมกรอบความร่วมมือนี้หรือไม่ ถ้าเข้าร่วมหน้าที่ของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไร และเริ่มต้นเมื่อใด
[1] These Intermediaries and Other Service Providers also Fall within the Scope of Obliged Entities for FATF Purposes (i.e. Virtual Asset Service Providers)
[2] CARF ได้กำหนดรายละเอียดไว้ว่า ผู้มีหน้าที่รายงานต้องกำหนดรายละเอียดใดบ้างที่ต้องให้ลูกค้าแจ้ง
[3] ลูกค้าในกลุ่มนี้อาจเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วน ทรัสต์ มูลนิธิ หรือการตกลงกันทางกฎหมายในรูปแบบอื่นก็ได้
[1] คำว่า “ประเทศ” ในบทความนี้ หมายความถึง “Jurisdiction” ซึ่งจะหมายความถึง ประเทศ และเขตการปกครองที่ไม่เข้าลักษณะเป็นประเทศด้วย
[2] ข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2565
[3] สินทรัพย์คริปโทฯ ที่ต้องถูกรายงานตาม CARF ต้องอยู่ในขอบเขตนิยามคำว่า “Virtual Asset” ของคำแนะนำของคณะทํางานเฉพาะกิจเพื่อดําเนินมาตราการทางการเงิน (Financial Action Task Force Recommendations : FATF Recommendations) ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบ (Due Diligence) สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ AML/KYC ที่มีอยู่แล้วได้
[4] ข้อยกเว้นนี้สอดคล้องกับขอบเขตนิยามของคำว่า “Virtual Asset” ตาม FATF Recommendations ซึ่งยกเว้นสินทรัพย์คริปโทฯ ที่ไม่สามารถนำมาใช้ชำระราคาหรือลงทุนด้วยเช่นกัน
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ