
อัปเดตกฎหมายภาษีผลิตสุรา (ตอนที่ 1)
30 ธันวาคม 2565
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อนึกถึงกรมสรรพสามิต มโนทัศน์ที่ตามมาทันทีคือ “สุรา” เพราะเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่าสุราเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จัดเก็บภาษีสุราแช่ชนิดเบียร์ได้ 81,039.91 ล้านบาท และจัดเก็บภาษีสุราอื่น ๆ ได้ 59,602.79 ล้านบาท แม้ตามผลการจัดเก็บภาษีดังกล่าวสุราจะไม่ใช่สินค้าที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นสินค้าที่เป็นแบรนด์ของกรมสรรพสามิตเลยก็ว่าได้
แน่นอนว่ากรมสรรพสามิตเข้าไปเกี่ยวข้องกับสินค้าสุราในแง่มุมของการจัดเก็บภาษีอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 13 ท้ายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดให้สุราต้องเสียภาษีสรรพสามิต ทว่าในอีกแง่มุมหนึ่งที่กรมสรรพสามิตเข้าไปเกี่ยวข้องและกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่โดยตรง คือ “การอนุญาต” เนื่องจากสุรามีความแตกต่างไปจากสินค้าประเภทอื่นตรงที่เป็นสินค้าที่เมื่อบริโภคแล้วจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสามารถผลิตหรือทำให้มีขึ้นได้โดยง่าย หากรัฐปล่อยให้สามารถดำเนินกิจการเกี่ยวกับสุราได้โดยปราศจากกลไกการควบคุมและตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจส่งผลกระทบภายนอกทางลบ (Negative Externalities) จนทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายแก่กายหรือถึงแก่ชีวิตได้
ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงได้นำระบบใบอนุญาต (Licensing System) มาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นกรองผู้ที่จะเข้าสู่แวดวงธุรกิจเกี่ยวกับสุรา ตลอดจนควบคุมกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับธุรกิจสุราตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยนำกฎหมายภาษีสรรพสามิตมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมระบบใบอนุญาต เป็นกลไกสำคัญในการกำกับ ควบคุม และตรวจสอบการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าสุรา ประกอบด้วยการอนุญาตผลิตสุรา การอนุญาตนำเข้าสุรา และการอนุญาตขายสุรา ซึ่งหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับใบอนุญาตสำหรับสินค้าสุราบัญญัติไว้ตามความในมาตรา 152 ถึงมาตรา 158 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
ลำดับ | ประเภทโรงอุตสาหกรรม | จำนวน (โรง) |
---|---|---|
(1) | เบียร์โรงใหญ่ | 11 |
(2) | เบียร์โรงเล็ก (Brewpub) | 20 |
(3) | สุราแช่ (โรงใหญ่) | 26 |
(4) | สุราแช่ (ชุมชน) | 186 |
(5) | สุรากลั่น (โรงใหญ่) | 31 |
(6) | สุรากลั่น (ชุมชน) | 1,752 |
(7) | สุราสามทับในประเทศ (องค์การสุรา) | 1 |
(8) | สุราสามทับเพื่อส่งออก | 11 |
(9) | เอทานอล | 27 |
รวม | 2,065 |
ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต “ผลิตสุรา” นั้น ความในมาตรา 153 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด” และความในวรรคสองบัญญัติให้ “การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
ข้อกฎหมายดังกล่าวส่งผลให้การผลิตสุราในราชอาณาจักรเป็นกิจการที่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิต ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีโรงอุตสาหกรรมสุราที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตสุราตามกฎหมายจำนวนรวม 2,065 โรง
การอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุรานั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดใน “กฎกระทรวง” ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 153 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เดิมหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุรานั้น ได้กำหนดไว้ตามความใน “กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560” ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น ได้มีเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกลุ่มผู้ประกอบการผลิตสุราว่าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต และคุณสมบัติของโรงอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตสุราที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการผลิตสุราขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนในเรื่องทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตไม่สามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ ทำให้มีบางกรณีที่จำต้องไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศแล้วส่งกลับเข้ามาขายในประเทศ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ไม่สามารถส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าประเภทสุราจากชุมชนสู่การประกอบธุรกิจในระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ นอกจากนั้นยังพบว่าการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขออนุญาตผลิตสุราดังกล่าว ไม่มีผลโดยตรงต่อคุณภาพของสุราและไม่ส่งผลต่อระดับการบริโภคสุราของประชาชน จึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบการรายย่อย และเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของประชาชนมากเกินสมควร[1]
จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้มีข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตสุราที่สะท้อนออกมาโดยใช้กระบวนการทางการเมือง เมื่อฝ่ายบริหารไม่มีการแก้ไขเนื้อหาของกฎกระทรวงให้ตอบโจทย์ความต้องการในทางธุรกิจดังกล่าว จึงมีความพยายามของพรรคการเมืองที่จะใช้ช่องทางในกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการผลิตสุรา ที่รู้จักกันเป็นการทั่วไปว่า “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการห้ามมิให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการออกกฎที่เป็นการกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ผลิตสุรา เพื่อเปิดทางให้ประชาชนคนธรรมดาสามารถผลิตเหล้า-เบียร์ กินเองได้ ยกเว้นหากผลิตเพื่อจำหน่ายจะต้องขออนุญาต นอกจากนี้ ยังลดเกณฑ์กำลังการผลิตสำหรับการจำหน่ายด้วย เพื่อให้ประชาชนคนธรรมดาสามารถผลิตเพื่อขายได้โดยไม่จำกัดเฉพาะรายใหญ่ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว ได้มีการรับหลักการเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยได้ผ่านวาระรับหลักการและมีการแปรญัตติในวาระที่ 1 และ 2 แล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 เพียงวันเดียว คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการและกระทรวงการคลังได้ออกกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับกับการผลิตสุราฉบับใหม่ คือ “กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565” มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงฉบับเดิมทั้งฉบับ และผ่อนคลายความเคร่งครัดของหลักเกณฑ์ในการผลิตสุราให้ตอบโจทย์ความต้องการในทางธุรกิจปัจจุบันมากยิ่งขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรที่ในท้ายที่สุดก็ได้มีการลงมติไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า จึงเป็นการสมควรที่ผู้อ่านจะได้ทราบว่าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญและมีความเปลี่ยนแปลงไปจากหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงฉบับเดิมอย่างไร
หลักการสำคัญและภาพรวมของกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565
กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 มีเนื้อหาโดยภาพรวมเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในเชิงธุรกิจในปัจจุบัน อันจะส่งผลเป็นการลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุรารายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการผลิตสุราขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มีคุณสมบัติและเงื่อนไขของการได้รับใบอนุญาตผลิตสุราที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุราในปัจจุบัน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสุราเป็นสินค้าที่มีผลต่อสุขภาพและอนามัยของผู้บริโภค รัฐจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมสินค้าสุรามากกว่าสินค้าทั่วไป มิให้การผลิตสุราตลอดจนการเข้าถึงสุราสามารถกระทำได้ง่ายมากเกินไป ขณะเดียวกันหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุรานั้น จะต้องยังคงไว้ซึ่งหลักการสำคัญในเชิงประโยชน์ของรัฐที่มีเป้าประสงค์ให้การบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิต รวมทั้งกระบวนการผลิตสุราที่ยังคงต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินสมควร มีกระบวนการบำบัดของเสียที่เหมาะสม และสินค้าสุราที่ผลิตได้ต้องได้คุณภาพที่เป็นมาตรฐานและปลอดภัยต่อการบริโภค การดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในเชิงธุรกิจและประโยชน์ของรัฐในภาพรวมดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายโดยต้องดำเนินการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราทั้งระบบ โดยการยกเลิกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 แล้วกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราฉบับใหม่
การยกเลิกทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตสำหรับสุราแช่ชนิดเบียร์
การยกเลิกทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตเป็นกรณีที่เกี่ยวกับ “สุราแช่ชนิดเบียร์” โดยโรงงานผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- โรงเบียร์ขนาดใหญ่ (Major Brewery) เป็นโรงอุตสาหกรรมประเภทผลิตเบียร์ลงในภาชนะบรรจุุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย เป็นโรงเบียร์ที่มีขนาดกำลังการผลิตสูง ใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก
- โรงเบียร์ขนาดเล็ก ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงโรงเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตหรือบริวผับ (Brewpub) เป็นโรงเบียร์ประเภทที่มีโรงงานผลิตเบียร์อยู่ภายในร้าน สามารถจำหน่ายได้ในร้านเท่านั้น ห้ามบรรจุขวดขาย มักจะสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของภัตตาคาร โรงแรม หรือร้านอาหาร ผลิตเบียร์สดและจำหน่ายเบียร์ภายในสถานที่นั้น ๆ
ในส่วนที่เกี่ยวกับ “ทุนจดทะเบียน” นั้น เดิมกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์เกี่ยวกับทุนจดทะเบียน ทั้งกรณีที่เป็นโรงเบียร์ขนาดใหญ่และโรงเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตหรือบริวผับ (Brewpub) จะต้องเป็น “บริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท”
และในส่วนที่เกี่ยวกับ “กำลังการผลิต” นั้น เดิมกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ที่เป็นโรงเบียร์ขนาดใหญ่ต้องมีขนาดกําลังการผลิต “ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี” และโรงเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตหรือบริวผับ (Brewpub) จะต้องมีขนาดกำลังการผลิต “ไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี”
การที่กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ ไม่ว่าจะเป็นโรงเบียร์ขนาดใหญ่หรือโรงเบียร์ขนาดเล็กประเภทบริวผับ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่กลับมิได้กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสำหรับผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดอื่น การที่ผู้ขออนุญาตผลิตสุรารายย่อยสามารถขอผลิตสุราแช่ชุมชน เช่น ไวน์ สาโท กะแช่ได้ แต่ขอผลิตเบียร์ไม่ได้ และการที่มีการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของโรงเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตหรือบริวผับ (Brewpub) ว่าจะต้องมีขนาดกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี และมีการกำหนดเพดานการผลิตสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี ในขณะที่โรงเบียร์ขนาดใหญ่กลับกำหนดให้มีขนาดกําลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งถือเป็นการอนุญาตให้ผลิตเบียร์ที่เป็นสเกลขนาดใหญ่ที่เกินกำลังของผู้ผลิตแบบ Homebrew รายย่อยอยู่มาก
ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐต้องการ “ผูกขาดเบียร์” ให้แก่กลุ่มทุนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ จนมีคำกล่าวถึงขนาดว่าเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ “เอื้อเจ้าสัว”
ดังนั้นร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าจึงได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยให้กำหนดไว้ในกฎหมายเลยว่ากระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตจะต้อง “ไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตเกี่ยวกับขนาดกำลังผลิต กำลังแรงม้าเครื่องจักร จำนวนพนักงาน หรือประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต และต้องไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ เพราะสามารถแก้ไขกฎกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองได้ ด้วยเหตุนี้ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 จึงมีการปลดล็อกการผลิตเบียร์ให้มีเงื่อนไขที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ในส่วนที่เกี่ยวกับทุนจดทะเบียนของโรงเบียร์ขนาดใหญ่และโรงเบียร์ประเภทบริวผับนั้น ได้ยกเลิกคุณสมบัติในเรื่องทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาทดังกล่าวทั้งหมด โดยกำหนดคุณสมบัติไว้เพียง “ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและต้องมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด” และในขณะเดียวกันก็ได้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกำลังการผลิตของโรงเบียร์ทั้ง 2 ประเภท
การยกเลิกทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตสำหรับสุราแช่ชนิดเบียร์ดังกล่าว ส่งผลให้โรงเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตหรือบริวผับ (Brewpub) ได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะเดิมมีการกำหนดทุนจดทะเบียนไว้สูง ทั้งยังมีการกำหนดกำลังการผลิตขั้นสูงและขั้นต่ำไว้ แต่เมื่อมีการออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ก็ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวอีกต่อไป จึงมีแนวโน้มสูงที่ในอนาคตธุรกิจบริวผับจะเติบโตขึ้นมากกว่าปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตก็มิได้แก้ไขกฎกระทรวงให้สอดรับกับร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าไปเสียทั้งหมด เพราะร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าไม่ต้องการให้จำกัดประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต แต่กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 กำหนดให้ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ไว้เป็นการเฉพาะ กล่าวคือ หากเป็นโรงเบียร์ขนาดใหญ่ “ต้องเป็นโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และต้องมีเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต รวมทั้งมีสายการผลิตในกระบวนการบรรจุภาชนะที่สามารถติดตั้งระบบการพิมพ์เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ (Direct Coding) หรืออุปกรณ์หรือเครื่องมือใด ๆ ที่ติดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงอุตสาหกรรมสุราดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว”
และหากเป็นโรงเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตหรือบริวผับ (Brew Pub) “ต้องเป็นโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ตามมาตรฐานตามที่อธิบดีกำหนด และต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงอุตสาหกรรมสุรา”
ครั้งต่อไปผู้เขียนจะได้อธิบายหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับสุรากลั่น รวมถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า ซึ่งเป็นหลักการใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
อ่านต่อฉบับหน้า
[1] กลุ่มผู้ประกอบการผลิตสุราขนาดกลางและขนาดย่อมได้เสนอข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการผลิตสุราตามกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ต่อมาคณะกรรมการพัฒนากฎหมายพิจารณาแล้วมีมติให้กรมสรรพสามิตรับข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตสุราขนาดกลางและขนาดย่อม และรับคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุรา รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตสุราให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ