กำลังโหลด...

×



Tax เบี้ยปรับตามสัญญาและภาระภาษี

magazine image
Tax

เบี้ยปรับตามสัญญาและภาระภาษี

บทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเบี้ยปรับตามสัญญาและภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของเบี้ยปรับ ตลอดจนภาระภาษีที่น่าสนใจ และสามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินการทางภาษีได้อย่างถูกต้องต่อไป

 

ความหมายและลักษณะของเบี้ยปรับ

เบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[1] คือ ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้า โดยลูกหนี้ให้สัญญาว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ให้เจ้าหนี้เรียกเบี้ยปรับตามสัญญาได้

ลักษณะของเบี้ยปรับ สามารถแบ่งได้ ดังนี้

1. เบี้ยปรับ คือ ข้อตกลงเรื่องหนึ่งในสัญญา ซึ่งข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับกฎหมายไม่ได้บังคับว่าคู่สัญญาต้องตกลงกันไว้ ดังนั้นในการทำสัญญาใด ๆ ก็ตาม คู่สัญญาจะตกลงเรื่องเบี้ยปรับกันหรือไม่ก็ได้

2. ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับถือเป็นสัญญาอุปกรณ์ (สัญญารอง) ความสมบูรณ์ของข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับจึงขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสัญญาประธาน (สัญญาหลัก) ที่ทำ หากสัญญาประธานไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เบี้ยปรับซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ย่อมสิ้นผลไปด้วย[2]

3. ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับ คู่สัญญาจะตกลงกันในขณะทำสัญญาหรือภายหลังทำสัญญาก็ได้ ต่างจากมัดจำที่คู่สัญญาต้องตกลงกันขณะทำสัญญาเท่านั้น

4. เบี้ยปรับจะส่งมอบให้ไว้แก่กันในขณะทำสัญญาหรือไม่ก็ได้

5. เบี้ยปรับต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ตกลงจะชำระค่าเสียหายเมื่อผิดสัญญาเท่านั้น หากปรากฏว่าลูกหนี้ไม่เคยแสดงออกชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะชำระเบี้ยปรับเมื่อผิดสัญญา ย่อมไม่ใช่เบี้ยปรับ

6. เมื่อข้อตกลงใดเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับแล้ว แม้คู่สัญญาจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ค่าเสียหาย ก็ต้องถือเป็นเบี้ยปรับและต้องบังคับตามบทบัญญัติของเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ถึงมาตรา 385

ประเภทของเบี้ยปรับ

เบี้ยปรับสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. เบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงิน

เบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงิน คู่สัญญาต้องตกลงจำนวนเงินหรือวิธีการคำนวณเบี้ยปรับไว้ให้ชัดเจน โดยเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงินดังกล่าว คู่สัญญาไม่จำเป็นต้องส่งมอบกันไว้ในขณะทำสัญญา เพียงมีข้อตกลงว่าจะมีการให้เบี้ยปรับก็พอ ต่างจากเงินมัดจำที่คู่สัญญาต้องส่งมอบกันตั้งแต่ขณะทำสัญญาเท่านั้น

2. เบี้ยปรับที่กำหนดเป็นการชำระหนี้อย่างอื่น

เบี้ยปรับประเภทนี้ ได้แก่ เบี้ยปรับที่กำหนดให้เป็นการกระทำ การงดเว้นการกระทำ หรือการส่งมอบทรัพย์สิน เช่น สัญญาจ้างที่ระบุว่าเมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว งานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นทั้งหมด ผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นกรณีที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งไม่ใช่เงิน เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382[3]

ผลของเบี้ยปรับ

ผลของเบี้ยปรับสามารถแบ่งออกตามประเภทของเบี้ยปรับ ดังนี้

1. ผลของเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงิน[1]

ผลของเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงิน เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควร จะส่งผลให้เจ้าหนี้มีสิทธิตามกฎหมาย ดังนี้

1) กรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้[2] 

เมื่อผู้เป็นหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้อันเกิดจากความผิดของตัวลูกหนี้เอง เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ 

1. เลือกใช้สิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญา[3] 

2. เลือกใช้สิทธิริบหรือเรียกเบี้ยปรับจากลูกหนี้[4] 

หากเจ้าหนี้เลือกที่จะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว เจ้าหนี้จะไม่สามารถฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาได้อีกต่อไป (เลือกทั้ง 2 อย่างไม่ได้)

ในทางปฏิบัติ เจ้าหนี้มักจะประเมินว่าเบี้ยปรับตามสัญญาที่กำหนดไว้นั้นเพียงพอต่อค่าเสียหายที่ได้รับหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าการเรียกเบี้ยปรับคุ้มค่ากว่าการฟ้องบังคับชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็จะเลือกเอาเบี้ยปรับ แต่หากเห็นว่าฟ้องบังคับชำระหนี้คุ้มกว่า ก็จะเลือกฟ้องบังคับชำระหนี้ ไม่สามารถเลือกทั้ง 2 อย่างได้

ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม

  • สิทธิในการเลือกว่าจะเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาหรือฟ้องบังคับชำระหนี้ เป็นสิทธิของฝ่ายเจ้าหนี้เท่านั้น ไม่ใช่สิทธิของลูกหนี้ เมื่อเจ้าหนี้เลือกใช้สิทธิเอาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ลูกหนี้ย่อมต้องปฏิบัติเช่นนั้น จะปฏิเสธไม่ได้
  • แม้การเลือกเอาเบี้ยปรับจะตัดสิทธิเจ้าหนี้ที่จะฟ้องบังคับชำระหนี้ แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิเจ้าหนี้ที่จะเรียกเอาค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 เพราะถือเป็นการเรียกค่าเสียหายตามความจริงที่เจ้าหนี้ได้รับ ดังนั้นแม้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาแล้ว แต่หากการผิดสัญญานั้นทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายมากกว่าเบี้ยปรับที่ได้รับ เจ้าหนี้ก็ยังคงใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายได้
  • การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา แม้เจ้าหนี้จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไป ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับตามสัญญาระงับไปแต่อย่างใด เจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับได้

2) กรณีลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร[5]

การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร เช่น ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ตรงเวลาที่กำหนด ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ครบถ้วน หรือชำระหนี้ขาดงวดใดงวดหนึ่ง ซึ่งการที่ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกหรือริบเบี้ยปรับและฟ้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ทั้ง 2 ทาง ต่างจากกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เลย ที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้มีสิทธิเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม

  • ถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายด้วย นอกจากเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกหรือริบเบี้ยปรับตามสัญญาและฟ้องบังคับชำระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกด้วย[6]
  • แม้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควร จะทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกหรือริบเบี้ยปรับได้ก็ตาม แต่ต่อมาลูกหนี้ได้มาชำระหนี้ตามสัญญาจนถูกต้องครบถ้วนแล้ว และเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไว้ หากเจ้าหนี้ยังคงต้องการที่จะมีสิทธิเรียกหรือริบเบี้ยปรับ เจ้าหนี้จะต้องบอกสงวนสิทธิในขณะที่ลูกหนี้ชำระหนี้ว่าตนยังประสงค์จะเรียกหรือริบเบี้ยปรับตามสัญญา เจ้าหนี้จึงจะมีสิทธิเรียกหรือริบเบี้ยปรับตามสัญญาได้ หากเจ้าหนี้ไม่ได้สงวนสิทธิไว้เลย เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะริบหรือเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาอีกต่อไป[7]
  • หน้าที่ของเจ้าหนี้ที่ต้องแจ้งสงวนสิทธิตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นหน้าที่เฉพาะการชำระหนี้ครั้งสุดท้ายหรือการชำระหนี้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น หากเป็นหนี้ที่แบ่งชำระเป็นงวด ๆ และลูกหนี้ยังชำระไม่เสร็จ แม้เจ้าหนี้ไม่ได้บอกสงวนสิทธิไว้ ก็ไม่เสียสิทธิในการเรียกหรือริบเบี้ยปรับตามสัญญาแต่อย่างใด[8]

2. ผลของเบี้ยปรับที่กำหนดไว้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่น[9]

เบี้ยปรับที่กำหนดไว้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่น ได้แก่ เบี้ยปรับที่กำหนดให้ลูกหนี้ต้องกระทำการ หรืองดเว้นการกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สินนอกจากเงิน ผลของเบี้ยปรับกรณีนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้นำมาตรา 379 ถึงมาตรา 381 มาใช้บังคับ ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงิน ตามมาตรา 380 มาตรา 381 ที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่จะแตกต่างจากเบี้ยปรับที่เป็นเงิน คือ หากเจ้าหนี้เรียกหรือริบเอาเบี้ยปรับแล้ว เจ้าหนี้จะไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ อีก เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 กำหนดให้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นอันขาดไป โดยสามารถแยกได้ ดังนี้

1) กรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้

เจ้าหนี้มีสิทธิเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างเรียกหรือริบเบี้ยปรับกับฟ้องบังคับชำระหนี้ หากเลือกเบี้ยปรับเจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากลูกหนี้อีก ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 ประกอบมาตรา 380 

2) กรณีลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร

แม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกหรือริบเบี้ยปรับและฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญา แต่หากเจ้าหนี้เรียกหรือริบเบี้ยปรับแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายใด ๆ อีก ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 ประกอบมาตรา 380

การลดเบี้ยปรับ

เบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งคู่สัญญาอาจกำหนดไว้สูงกว่าหรือต่ำกว่าค่าเสียหายแท้จริงก็ได้ ซึ่งหากศาลเห็นว่าเห็นว่าเบี้ยปรับที่คู่สัญญากำหนดเอาไว้นั้นสูงกว่าค่าเสียหายที่แท้จริงเป็นจำนวนมาก หรือเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินควร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ได้ให้อำนาจศาลที่จะลดเบี้ยปรับที่สูงเกินควรลงเป็นจำนวนที่เหมาะสมได้

ภาระภาษีของเบี้ยปรับตามสัญญา

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเบี้ยปรับตามสัญญามีลักษณะเป็นสัญญาอุปกรณ์ (สัญญารอง) เป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกำหนดกันไว้ล่วงหน้า เบี้ยปรับตามสัญญาจึงมีประเด็นทางภาษีที่น่าสนใจดังนี้

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax)

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเจ้าหนี้ ที่ได้รับเบี้ยปรับตามสัญญาจากลูกหนี้ เบี้ยปรับนั้นถือเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปเสียภาษี ในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ[10] (รายได้ทางภาษี - รายจ่ายทางภาษี = กำไรสุทธิ) โดยใช้เกณฑ์สิทธิ[11] ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 (แบบ ภ.ง.ด.50, ภ.ง.ด.51 แล้วแต่กรณี)[12]

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลูกหนี้ที่ชำระเบี้ยปรับหรือถูกริบเบี้ยปรับตามสัญญา เบี้ยปรับที่ได้ชำระหรือถูกริบไปนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax)

เงินเบี้ยปรับตามสัญญาที่เจ้าหนี้ได้รับจากการที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร มีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่เจ้าหนี้ได้รับจากการที่ลูกหนี้ผิดสัญญา เบี้ยปรับดังกล่าวจึงมิใช่มูลค่าของฐานภาษีที่เจ้าหนี้ได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2 

เจ้าหนี้ที่ได้รับเบี้ยปรับตามสัญญาจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากเบี้ยปรับแต่อย่างใด[13]

 

และนี่คือเงินมัดจำและภาษีที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการและนักบัญชีควรจะต้องศึกษาและเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลัง


 


[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 มาตรา 381

[2] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380

[3] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 มาตรา 215

[4] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380

[5] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381

[6] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคสอง

[7] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคสาม

[8] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2496

[9] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382

[10] เว้นแต่กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็น SMEs จะได้สิทธิเสียภาษีในอัตราพิเศษสำหรับ SMEs

[11]เกณฑ์สิทธิ (Accrual Basis) คือ การนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น + คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528

[12] เทียบเคียงหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่ กค 0702/4895 วันที่ 22 มิถุนายน 2552

[13] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5706/2555, เทียบเคียงหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่ กค 0811/6772 วันที่ 10 กรกฎาคม 2544
 


[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379

[2] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 384

[3] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2541

Top 5 Contents