
Update กฎหมายใหม่ จดทะเบียนบริษัท 2 คน
27 มกราคม 2566
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนของกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท (บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท) และจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
โดยการแก้ไขกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัทครั้งนี้ มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ หรือจะเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ หรือการดำเนินธุรกิจอย่างไร ผู้เขียนจึงขอหยิบยกประเด็นสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ศึกษาไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้
และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผู้เขียนจะขอเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า “พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2565”
เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2565
ก่อนที่จะกล่าวถึงสาระสำคัญของ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2565 ฉบับนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อทำความเข้าใจกับเจตนารมณ์ของกฎหมายก่อน ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2565 ก็คือ
“โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท มีบทบัญญัติบางมาตราไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน และสร้างภาระโดยไม่จำเป็นแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อการและตั้งบริษัทจำกัดไว้ 3 คน และการไม่กำหนดระยะเวลาการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจำกัด สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อขจัดอุปสรรคดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจโดยเพิ่มหลักการควบรวมบริษัท จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้[1]”
จากเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว จะเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ในการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ล้าสมัย ไม่เหมาะสม หรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจการในปัจจุบัน ซึ่งบทบัญญัติที่กำหนดขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อการและตั้งบริษัทจำกัดจำนวนอย่างน้อย 3 คน (จากเดิมที่ต้องใช้จำนวนอย่างน้อย 7 คน และถูกแก้ไขให้เหลือ 3 คน ในปี 2551[2]) ก็ถือเป็นหนึ่งในบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจการในปัจจุบัน และถูกแก้ไขโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2565 ให้เหลือจำนวนผู้เริ่มก่อการและตั้งบริษัทจำกัดอย่างน้อยแค่ 2 คน ทำให้กฎหมายฉบับนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะทำให้การจดทะเบียนตั้งบริษัทจำกัดมีเงื่อนไขที่ง่ายกว่าเดิม (เดิมต้องมีอย่างน้อย 3 คน จึงจะตั้งบริษัทได้ ก็เหลือแค่อย่างน้อย 2 คนเท่านั้น)
อย่างไรก็ดี นอกจากการแก้ไขจำนวนขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทให้เหลือ 2 คนแล้ว พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2565 ก็ยังได้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัทอีกหลายมาตรา สามารถสรุปได้ดังนี้
สรุปสาระสำคัญของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ.2565
1. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1016 และมาตรา 1017[1]
“กำหนดให้การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว และการจดทะเบียนอย่างอื่นที่กฎหมายกำหนด ให้จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่หรือตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”
2. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1020/1[2]
“กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดลดหรือยกเลิกค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอคัดสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรองและค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด หรือกำหนดค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันตามรูปแบบการทำธุรกรรมก็ได้”
3. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1097[3]
“กำหนดให้บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ โดยการเข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณห์สนธิ และดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดตามกฎหมาย”
4. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1099[4]
“กำหนดให้หนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้สิ้นผลลง หากไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนบริษัทภายใน 3 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ”
5. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1108 (1)[5]
“กำหนดให้ที่ประชุมตั้งบริษัทอาจ (ควร) กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติหรือไม่สามารถลงมติระหว่างกรรมการหรือผู้ถือหุ้นไว้ในข้อบังคับของบริษัทด้วย”
6. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1128[6]
“กำหนดให้ใบหุ้นทุกใบ กรรมการอย่างน้อย 1 คนลงลายมือชื่อ และสำหรับบริษัทที่มีตราประทับต้องประทับตราบริษัทลงในใบหุ้นด้วย”
7. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1158 และมาตรา 1162/1[7]
“กำหนดให้การประชุมกรรมการ สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมได้ โดยกรรมการไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวในที่ประชุมก็ได้ เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัทจะกำหนดห้ามไว้ โดยการประชุมด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และให้ถือว่ากรรมการซึ่งใช้วิธีการประชุมติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีได้เข้าร่วมประชุมกรรมการ และให้นับเป็นองค์ประชุม และมีสิทธิออกเสียงในการประชุมด้วย”
8. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 วรรคหนึ่ง[8]
“กำหนดวิธีการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น โดยให้ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้น (ยกเลิกการโฆษณาเชิญประชุมในหนังสือพิมพ์) เว้นแต่บริษัทมีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ด้วย”
9. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1178[9]
“กำหนดให้การประชุมใหญ่ต้องมีผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 คน มาเข้าร่วมประชุม และมีจำนวนหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของทุนบริษัท จึงจะสามารถลงมติในเรื่องใด ๆ ได้”
10. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1201 วรรคสี่[10]
“กำหนดให้การจ่ายเงินปันผลต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี”
11. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237 (4) (5)[11]
“กำหนดให้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัด ด้วยเหตุว่าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือเพียงคนเดียวหรือมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทจำกัดนั้นไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้”
12. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่ 9 การควบรวมบริษัทจำกัด มาตรา 1238 ถึงมาตรา 1243[12]
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่ 9 นี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มในเรื่องของการควบรวมบริษัทจำกัด ซึ่งมีหลักเกณฑ์และรายละเอียดหลายมาตรา โดยมีหลักสำคัญ คือ การเพิ่มลักษณะการควบรวบบริษัท ที่จากเดิมมีเพียงการควบรวมลักษณะเดียว เพิ่มเป็นการควบรวมมีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง (2 ลักษณะ) ดังนี้
(1) ควบรวมกันโดยเป็นบริษัทขึ้นใหม่ และบริษัทที่มาควบรวมกันต่างหมดสภาพการเป็นนิติบุคคล (รูปแบบ A + B = C)
(2) ควบรวมกันโดยบริษัทหนึ่งบริษัทใดยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล และบริษัทอื่นที่ควบรวมกันหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล (รูปแบบ A + B = A หรือ B ก็ได้)
สำหรับหลักเกณฑ์และรายละเอียดกฎหมายเกี่ยวกับการควบรวมบริษัทตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2565 ฉบับใหม่นี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงในโอกาสต่อไป
13. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246/1[13]
“กำหนดให้การแปรสภาพห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัด สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีการกำหนดจำนวนผู้เป็นหุ้นส่วนขั้นต่ำอีกต่อไป (เดิม ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จะแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้ ต้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป) เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายเรื่องตั้งบริษัทจำกัดที่แก้ไขใหม่”
ความส่งท้าย
กล่าวโดยสรุปคือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสามารถดำเนินการได้โดยบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (จากเดิม 3 คนขึ้นไป) ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมการประกอบธุรกิจขนาดเล็กหรือสตาร์ตอัปเข้ามาประกอบธุรกิจในรูปบริษัทจำกัดมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกฎหมายบางมาตราที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจการในปัจจุบัน เช่น
- การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมกรรมการได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ
- การกำหนดให้หนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ หากไม่ดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทจำกัดภายใน 3 ปี สิ้นผลทันที จากเดิมไม่มีระยะเวลาสิ้นผล ทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถใช้ชื่อบริษัทในหนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนได้
- การกำหนดระยะเวลาจ่ายเงินปันผลให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับแต่วันลงมติ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อย
- ยกเลิกการโฆษณาเชิญประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในหนังสือพิมพ์ (เหลือไว้แต่กรณีที่จำเป็นเท่านั้น) เพื่อลดภาระที่ไม่จำเป็นลง
- การปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการควบรวมบริษัท ทำให้การประกอบธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
และนี่ก็คือสาระสำคัญของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2565 ที่ได้หยิบยกมาให้ผู้อ่านได้ศึกษาและทำความเข้าใจในเบื้องต้น สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน
[1] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 3 และมาตรา 4
[2] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 5
[3] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 6
[4] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 7
[5] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 8
[6] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 9
[7] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 10 และมาตรา 11
[8] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 12
[9] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 13
[10] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 14
[11] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 15 และมาตรา 16
[12] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 17
[13] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 18
[1] หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565
[2] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ