กำลังโหลด...

×



Tax กักของ ตามกฎหมายศุลกากร

magazine image
Tax

กักของ ตามกฎหมายศุลกากร

รติรัตน์ คงเอียด

28 กุมภาพันธ์ 2566

“กักของ” เป็นมาตรการบังคับตามกฎหมายศุลกากรในการบังคับค่าอากรค้างชำระตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยกฎหมายนี้ กำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก ให้ต้องชำระอากรที่ค้างชำระอากร โดยกำหนดให้มีอำนาจกักของได้โดยที่ยังไม่ต้องนำคดีไปฟ้องต่อศาล เพราะเมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่ชำระอากรหรือชำระอากรไว้ไม่ถูกต้อง หากการบังคับเอากับอากรค้างชำระนั้นทำได้แต่เพียงการฟ้องคดีต่อศาลก็อาจทำให้ไม่สามารถบังคับเอากับอากรค้างชำระนั้นได้อย่างทันท่วงที กรณีเช่นนี้อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในทางภาษีแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ชำระภาษีอากรอย่างถูกต้องได้

การกักของจึงเป็นอำนาจพิเศษในทางภาษีอากรที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกจึงควรให้ความสำคัญ

1. ความเป็นมาของกฎหมายที่เกี่ยวกับการกักของ

การกักของมีจุดเริ่มต้นมาจากมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 บัญญัติกฎเกณฑ์ในการกักของไว้ มีสาระสำคัญคือ “ให้อธิบดีมีอำนาจกักของใด ๆ ที่เป็นของลูกหนี้ และที่กำลังผ่านศุลกากร หรืออยู่ในความกำกับตรวจตราของศุลกากรด้วยประการใด ๆ จนกว่าจะได้ชำระเงินอากรโดยถูกต้อง” 

กฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อบังคับเอากับอากรที่ค้างชำระในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกค้างชำระอากร โดยให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ที่จะกักของใด ๆ ของผู้นั้นที่กำลังผ่านศุลกากร หรืออยู่ในความกำกับตรวจตราของศุลกากรได้จนกว่าจะได้รับชำระเงินอากรที่ค้างชำระให้ครบถ้วน ซึ่งแต่เดิมนั้นตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ให้อำนาจเพียงกักของไว้เฉย ๆ เท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจในการขายทอดตลาดของที่กักไว้แต่อย่างใด ประกอบกับระเบียบที่ปฏิบัติอยู่เดิมตามประมวลข้อบังคับศุลกากร ข้อ 982 กำหนดว่าถ้ามีการค้างชำระค่าอากร กองพิธีการนำเข้าและส่งออกจะขึ้นบัญชีเรียกว่า “ติดลิสต์” คือ ติดบัญชีเงินประกัน ต่อจากนั้นจะไม่รับปฏิบัติพิธีการแก่ของที่นำเข้าในครั้งต่อ ๆ ไปจนกว่าจะได้รับการชำระค่าภาษีอากรให้เสร็จสิ้นไป เมื่อติดลิสต์หรือขึ้นบัญชีไว้แล้ว กองพิธีการนำเข้าและส่งออกจะมีหนังสือเตือนผู้นำของเข้าให้มาปฏิบัติพิธีการอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเตือน 15 วันแล้ว ถ้าผู้นำของเข้าละเลยไม่ดำเนินการใด ๆ ก็ต้องเสนอเรื่องราวให้กรมศุลกากรสั่งการ ซึ่งการสั่งการของกรมศุลกากรมักจะออกไปในรูปแบบที่ต้องดำเนินคดี สุดท้ายจึงจบที่การดำเนินคดี หลักเกณฑ์การกักของที่มีอยู่เดิมจึงเสียเวลาโดยใช่เหตุ[1] เพราะในท้ายที่สุดก็จะต้องไปพึ่งศาลสถิตยุติธรรม เนื่องจากกฎหมายมิได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งให้กรมศุลกากรมีอำนาจในการบังคับขายทอดตลาดหรือดำเนินการใด ๆ กับของที่กักนั้นได้

ต่อมาบทบัญญัติมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ได้ถูกยกเลิกไป โดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 และในประกาศคณะปฏิวัติฉบับเดียวกันนี้เอง ได้มีการตรากฎหมายใหม่เพิ่มขึ้นมาแทน ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 112 เบญจ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 เป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้นตามประกาศคณะปฏิวัติ เพื่อขยายขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมายและอำนาจอธิบดีกรมศุลกากรให้กว้างขึ้นกว่าที่มีอยู่เดิม มีสาระสำคัญคือ “ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกค้างชำระค่าอากร อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจกักของใด ๆ ของผู้นั้นที่กำลังผ่านศุลกากรหรืออยู่ในความกำกับตรวจตราของศุลกากร ด้วยประการใด ๆ จนกว่าจะได้ชำระเงินอากรที่ค้างให้ครบถ้วน และถ้ามิได้ชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กักของเช่นว่านั้น ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้นำของนั้นออกขายทอดตลาด”

ในปัจจุบัน การกักของปรากฏอยู่ในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อบังคับอากรที่ค้างชำระ มีสาระสำคัญคือ “ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกค้างชำระค่าอากร ให้อธิบดีมีอำนาจกักของที่ผู้นั้นนำเข้าหรือส่งออกและกำลังผ่านพิธีการศุลกากร หรืออยู่ในความกำกับตรวจตราของศุลกากรได้จนกว่าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะเสียอากรที่ค้างให้ครบถ้วน และถ้าไม่เสียภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่กักของนั้น ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้นำของนั้นออกขายทอดตลาดได้” บทบัญญัติในมาตรา 23 เป็นกฎหมายที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมาตรา 112 เบญจ เพียงแต่ให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรเท่านั้นที่มีอำนาจในการกักของ แต่ทั้งมาตรา 23 และมาตรา 112 เบญจ ล้วนเป็นการก่อตั้งอำนาจในการกักของตามกฎหมายศุลกากรให้มีลักษณะเป็นอำนาจพิเศษที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ของการกักของตามกฎหมายศุลกากรในปัจจุบัน นอกจากกำหนดไว้ตามมาตรา 23 ดังกล่าวแล้ว ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ไว้ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 18/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งแบบแจ้งการประเมินอากร ลงวันที่ 23 มกราคม 2561 และระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระอากร พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 

2. มูลเหตุของการกักของ

การกักของจะต้องมีมูลเหตุตั้งต้นมาจากการค้างชำระค่าอากรโดยผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก แล้วแต่กรณี จะต้องมีอากรค้างชำระ อธิบดีจึงจะมีอำนาจในการกักของตามกฎหมายศุลกากรได้ ซึ่งการค้างชำระอากรนั้นอาจเกิดจากการไม่ชำระอากรหรือชำระอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น [1]  

(1) กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากร ซึ่งได้รับมอบหรือส่งของออกไปก่อนโดยใช้หลักประกันแทนการวางเงินประกันเพิ่มเติม หรือ 

(2) เงินประกันที่วางไว้ไม่คุ้มค่าอากรที่พึงต้องเสียเพิ่ม และผู้นั้นละเลยไม่มาชำระอากรที่ค้างอยู่นั้น หรือ 

(3) กรณีรับมอบของหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยมิได้ยื่นใบขนสินค้าและชำระอากร และผู้นั้นปล่อยปละละเลยให้ค่าอากรค้าง หรือ 

(4) ในกรณีอื่น ๆ ทุกกรณี ถ้ามีการค้างชำระอากร 

เมื่อมีกรณีเหล่านี้เกิดขึ้น พนักงานศุลกากรจะส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกเพื่อประเมิน “ค่าอากรที่ค้างชำระ” ซึ่งประกอบด้วยค่าอากร เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560  และส่งแบบแจ้งการประเมินอากรให้แก่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก หากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก แล้วแต่กรณี ไม่เสียอากรหรือเสียอากรไม่ครบถ้วนตามแบบแจ้งการประเมินภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากร ผู้นั้นย่อมตกเป็น “ผู้ค้างชำระอากร”

3. เงื่อนไขของการกักของ

การที่กรมศุลกากรจะใช้อำนาจในการ “กักของ” จะต้องปรากฏว่าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่มาชำระค่าอากรให้ครบถ้วนตามแบบแจ้งการประเมินอากรภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากร และผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่ได้อุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ อีกทั้งไม่ได้รับอนุมัติให้ทุเลาการชำระเงินอากรในระหว่างรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือคำพิพากษาของศาล แล้วแต่กรณี 

เมื่อครบเงื่อนไขของการใช้อำนาจกักของดังกล่าวแล้ว กรมศุลกากรโดยหน่วยงานที่ออกแบบแจ้งการประเมินอากรจะมอบหมายให้พนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบเสนอเรื่องต่อผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร หรือนายด่านศุลกากร สั่งกักของใด ๆ ของผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากรหรืออยู่ในความกำกับตรวจตราของศุลกากรด้วยประการใด ๆ จนกว่าจะได้ชำระอากรที่ค้างให้ครบถ้วน การกักของจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่การเรียกหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ โดยกำหนดหน้าที่ให้แก่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่ไม่เสียอากรหรือเสียอากรไว้ไม่ครบถ้วน ต้องมาชำระอากรที่ค้างให้แก่กรมศุลกากร

4. ของที่ตกอยู่ในข่ายของถูกกัก

คำว่า “ของ” ที่จะตกอยู่ในข่ายของการถูกกักของนั้น ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จะเกิดขึ้นเมื่อมีการค้างชำระอากร ซึ่งของที่ค้างชำระอากรนั้นอาจเป็นของที่ผ่านศุลกากรไปก่อนแล้ว แต่ไม่ได้เสียค่าอากรกรณีหนึ่ง หรือเสียอากรไว้แล้วแต่ไม่ครบถ้วนอีกกรณีหนึ่ง อันเป็นผลทำให้เกิดหนี้ค้างชำระอากร

กรณีจึงเห็นได้ว่าคำว่า “ของ” ในความหมายของบทบัญญัติมาตรา 23 นี้ คือ ของที่เป็นต้นเหตุให้มีการค้างชำระค่าอากร ต้องมิใช่ของรายเดียวกันกับของที่จะถูกกักนั่นเอง ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการบังคับกับผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่ค้างชำระอากร กรมศุลกากรจึงได้ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากรดำเนินการกับของดังกล่าวได้ แต่ต้องเป็นของที่ตกอยู่ในข่ายของการถูกกักเท่านั้น แยกพิจารณาได้ 2 กรณีดังนี้ 

(1) กักของใด ๆ ที่กำลังผ่านศุลกากร คือ การกักของที่ผู้นั้นนำเข้าหรือส่งออกและกำลังผ่านพิธีการศุลกากรซึ่งเป็นของที่ไม่ได้ยื่นใบขนสินค้า เช่น ปรากฏหลักฐานจากบัญชีสินค้าสำหรับเรือว่ามีของของผู้นั้นเก็บอยู่ในโรงพักสินค้า ถึงแม้ผู้นั้นจะไม่มาติดต่อยื่นใบขนสินค้าชำระอากรเพื่อนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรก็ตาม

(2) กักของใด ๆ ที่อยู่ในความกำกับตรวจตราของศุลกากร คือ ของที่ยื่นใบขนสินค้าเพื่อเสียอากร 

ดังนั้นการกักของใด ๆ ในข้อ (1) หรือ (2) ในกรณีที่ผู้นั้นนำเข้าหรือส่งออกและกำลังผ่านพิธีการศุลกากร หรือของใด ๆ ที่อยู่ในความกำกับตรวจตราของศุลกากรด้วยประการใด ๆ จนกว่าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะเสียอากรที่ค้างชำระให้ครบถ้วน เพราะหากไม่เสียอากรภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่กักของนั้น อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจสั่งให้นำของนั้นออกขายทอดตลาดได้

5. การแจ้งให้ชำระอากรที่ค้างก่อนการกักของ

เมื่อครบกำหนดเวลา 30 วัน ที่จะต้องชำระอากรตามการประเมินแล้ว หากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้ชำระอากรให้ครบถ้วนภายในกำหนด ในทางปฏิบัติกรมศุลกากรจะมีหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระอากรที่ค้างชำระดังกล่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่ต้องเสียอากรภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระอากรที่ค้างชำระตามมาตรา 20 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบข้อ 3 ของประกาศกรมศุลกากรที่ 18/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งแบบแจ้งการประเมินอากร ลงวันที่ 23 มกราคม 2561 เนื่องจากหากผู้ค้างชำระมิได้ชำระอากรให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด กรมศุลกากรจะดำเนินการออกคำสั่งกรมศุลกากร เพื่อกักของผู้ค้างชำระอากรที่นำเข้าหรือส่งออกและกำลังผ่านพิธีการศุลกากร หรืออยู่ในกำกับตรวจตราของศุลกากรจนกว่าผู้ค้างชำระอากรจะชำระค่าอากรที่ค้างชำระให้ครบถ้วนต่อไป

ตัวอย่าง

บริษัท ก. นำสินค้าโทรศัพท์มือถือเข้ามาในราชอาณาจักร ตามใบขนสินค้าจำนวน 1 ฉบับ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยสำแดงประเภทพิกัดและอัตราอากรคลาดเคลื่อนเป็นเหตุให้ค่าภาษีอากรขาด

ต่อมากรมศุลกากรได้ออกแบบแจ้งการประเมินอากร และแจ้งให้บริษัท ก. มาชำระภาษีอากรที่ขาดจำนวน 100,000 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 1,000 บาท ซึ่งบริษัท ก. ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากรแล้วก็เพิกเฉยมิได้ดำเนินการใด และมิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินอากรต่อกรมศุลกากร กรมศุลกากรจึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระอากรที่ค้างชำระ แต่ผู้ค้างชำระก็มิได้ติดต่อขอชำระอากรที่ขาดแต่อย่างใด เมื่อไม่มีทางอื่นใดในการบังคับหนี้ค่าอากรได้ กรมศุลกากรจึงได้ดำเนินการออกคำสั่งให้กักของผู้ค้างชำระอากรที่นำเข้าหรือส่งออกและกำลังผ่านพิธีการศุลกากร หรืออยู่ในกำกับตรวจตราของศุลกากร 

สมมติว่ากรมศุลกากรได้ออกคำสั่งกักของเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ผลของคำสั่งกักของดังกล่าวย่อมทำให้กรมศุลกากรมีอำนาจที่จะกักของของบริษัท ก. ที่นำเข้าหรือส่งออกและกำลังผ่านพิธีการศุลกากร หรืออยู่ในกำกับตรวจตราของศุลกากรภายหลังการออกคำสั่งนั้นได้ กล่าวคือ หากต่อมาปรากฏว่าในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัท ก. ได้นำของใด ๆ เข้ามาในราชอาณาจักร กรมศุลกากรย่อมมีอำนาจที่จะกักของที่นำเข้ามานั้นไว้จนกว่าบริษัท ก. ผู้ค้างชำระอากรจะชำระอากรสำหรับสินค้าโทรศัพท์มือถือที่ค้างชำระไว้นั้นได้

6. การดำเนินการกับของที่กักไว้ 

ในทางปฏิบัติ เมื่อกรมศุลกากรได้มีคำสั่งกักของผู้ค้างชำระอากรแล้ว จะดำเนินการกับของที่กักไว้ดังนี้

(1) กรณีผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมาชำระค่าอากร 

เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมาติดต่อขอชำระหนี้ค่าอากรที่ค้างชำระต่อกรมศุลกากรภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่กักของนั้น กรมศุลกากรโดยหน่วยงานที่ออกแบบแจ้งการประเมินอากร จะทำการมอบหมายให้พนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบเสนอเรื่องให้แก่ผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร หรือนายด่านศุลกากร แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการเพิกถอนคำสั่งกักของดังกล่าว พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งเวียนให้หน่วยงานภายในกรมศุลกากรทุกแห่งงดดำเนินการกักของของผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก

(2) กรณีผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่มาชำระค่าอากร 

หากพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่กักของผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่มาเสียอากรที่ค้างชำระให้ครบถ้วนต่อกรมศุลกากร ให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจสั่งอนุมัติให้นำของนั้นออกขายทอดตลาดได้

7. เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดของที่ถูกกักของ

เมื่ออธิบดีกรมศุลกากรมีคำสั่งอนุมัติให้นำของที่กักนั้นออกขายทอดตลาด เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดของที่ถูกกักให้ดำเนินการหักเป็นค่าต่าง ๆ ตามลำดับดังนี้[2]

(1) ค่าอากรที่ค้างชำระ คือ ค่าภาษีอากรสำหรับของของผู้นั้นที่ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว แต่ยังชำระภาษีอากรไม่ครบถ้วน

(2) ค่าอากรสำหรับของที่ขายทอดตลาด คือ ค่าภาษีอากรสำหรับของที่กักและได้นำออกขาย

(3) ค่าเก็บรักษา ค่าขนย้าย หรือค่าภาระติดพันอย่างอื่นที่ค้างชำระแก่กรมศุลกากร

(4) ค่าภาษีอากรตามกฎหมายอื่น

(5) ค่าภาระติดพันต่าง ๆ ของของที่กักอันสมควรจะได้แก่ผู้เก็บรักษา

(6) จ่ายแก่ผู้ขนส่งที่นำของที่ขายทอดตลาดนั้นเข้ามา

(7) เมื่อได้หักใช้เช่นนี้แล้วยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใด ให้คืนแก่เจ้าของ หากพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันขายทอดตลาดแล้ว เจ้าของไม่มาเรียกคืน ให้เงินที่เหลืออยู่นั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ดังนั้นเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดของกัก ต้องดำเนินการตามลำดับ ให้หักเป็นค่าภาษีอากรที่ค้างชำระก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงมาหักเป็นค่าภาษีอากรสำหรับของที่ขายทอดตลาดเป็นลำดับถัดมา และเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้ หากนำของที่กักออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระค่าภาษีอากรที่ค้างชำระอยู่ กรมศุลกากรมีอำนาจที่จะกักของของผู้นั้นสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรและนำออกขายทอดตลาดได้ตลอดไป จนกว่าจะได้รับค่าภาษีอากรที่ค้างชำระจนครบถ้วน และของที่ค้างค่าภาษีอากรนอกจากต้องเสียค่าอากรที่คำนวณได้แล้ว ยังต้องรวมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

 

บทความฉบับหน้าซึ่งเป็นตอนจบนั้น ผู้เขียนจะอธิบายการกักของในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายปกครอง ไม่ว่าจะกรณีการทำคำสั่งทางปกครอง การใช้อำนาจดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทางปกครองต่อไป 


 


[1] ล้วน ปางสุข, “คู่มือกฎหมายศุลกากร”, (กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.สัมพันธ์พาณิชย์, 2527), หน้า 335 – 336.

[2] มาโนช  รอดสม, “ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร”, (กรุงเทพฯ : บริษัท ธนอรุณการพิมพ์ จำกัด, 2564), หน้า 53 - 54.


 


[1] ประพันธ์ เนตรนพรัตน์, “คำบรรยายกฎหมายศุลกากร”, (กรุงเทพฯ : ศึกษาสัมพันธ์, 2517), หน้า 153 - 154. 

Top 5 Contents