
9 คำถาม การผลิตสุราเพื่อการค้า
30 พฤษภาคม 2566
หลังจากได้นำเสนอข้อมูลอัปเดตกฎหมายภาษีผลิตสุราเพื่อการค้ามาต่อเนื่องกันหลายฉบับ ปรากฏว่ามีผู้ประกอบธุรกิจ นิสิตนักศึกษา และผู้อ่านได้สอบถามและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตผลิตสุราบางประการมายังผู้เขียน ในครั้งนี้จึงขอนำเสนอประเด็นเก็บตก 9 คำถาม-คำตอบในการผลิตสุราเพื่อการค้า ดังต่อไปนี้
คำถาม 1 : เหตุใดจึงกำหนดคุณสมบัติให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราที่เป็นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราที่เป็นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ
การกำหนดคุณสมบัติไว้ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเจตนาที่จะขัดขวางหรือปิดกั้นการเติบโตของธุรกิจสุราชุมชน บางรายถึงกับวิจารณ์ว่ากฎหมายต้องการคุมกำเนิดโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง โดยเห็นว่าไม่ควรที่จะกำหนดคุณสมบัติเช่นนั้นไว้ เพราะหากผู้ประกอบการรายใดมีศักยภาพเพียงพอและมีความพร้อมที่จะเป็นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางได้ ก็ควรส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เกิดโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางได้ตั้งแต่ต้น
สำหรับการกำหนดคุณสมบัติว่า “จะเป็นโรงกลางได้ต้องเป็นโรงเล็กมาก่อนแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี” นั้น แท้จริงแล้วเกิดจากการที่กรมสรรพสามิตมีเจตนาที่ดีและมีความห่วงใยโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก โดยคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันเป็นสำคัญ เพราะในภาพรวมแล้วการผลิตสุราชุมชนในประเทศไทยยังคงเป็นธุรกิจขนาดย่อม หากไม่กำหนดให้โรงอุตสาหกรรมขนาดกลางต้องเป็นโรงอุตสาหกรรมขนาดเล็กมาก่อน ก็อาจส่งผลให้กลุ่มทุนจำนวนมากเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตสุราชุมชนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีกำลังเงินทุนในการประกอบกิจการที่สูง การผลิตต่อครั้งมีจำนวนมาก หากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลให้โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กซึ่งในปัจจุบันมีประมาณ 1,800 โรง ได้รับผลกระทบและอาจต้องออกจากธุรกิจไป ดังนั้นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน ปกป้อง และเปิดโอกาสในระยะแรก เพื่อให้ผู้ผลิตสุรารายเล็กที่มีอยู่เดิมสามารถพัฒนาธุรกิจต่อไปได้ตามศักยภาพจนสามารถขยายกิจการให้เติบโตขึ้นได้
คำถาม 2 : เหตุใดจึงกำหนดให้โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางต้องมีกำลังเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า แต่น้อยกว่า 50 แรงม้า หรือกำลังคนตั้งแต่ 7 คน แต่น้อยกว่า 50 คน และเหตุใดจึงต้องกำหนดเป็นตัวเลข “50” และตัวเลขนี้มีที่มาอย่างไร
ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้อธิบายในบทความครั้งก่อนไปแล้ว แต่จะขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า “น้อยกว่า 50 แรงม้า น้อยกว่า 50 แรงคน” ตัวเลข 50 มาจากการรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาจากสถานการณ์โดยภาพรวมในการผลิตสุราของโรงอุตสาหกรรมสุราชุมชนขนาดเล็ก การกำหนดที่ตัวเลข “50” ก็เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ผลิตที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กล่าวคือ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้โรงงานจะต้องมีเครื่องจักรที่มีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้า หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ซึ่งการผลิตสุรานั้นโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางจะขยายมาจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก (ตามที่อธิบายไว้ในคำตอบของคำถามที่ 1) ในขณะที่โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก กฎหมายกำหนดไว้เพียงต่ำกว่า 5 แรงม้า น้อยกว่า 7 แรงคนเท่านั้น โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กจึงสามารถตั้งอยู่ในชุมชนและอยู่ใกล้ชิดติดกับบริเวณที่อยู่อาศัยได้ เพราะไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
แต่เมื่อต่อมาได้มีการขยายโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กเป็นขนาดใหญ่โดยตั้งอยู่บนพื้นที่เดิม หากไม่กำหนดเพดานตัวเลข 50 ไว้ ก็จะส่งผลให้ไม่สามารถขยายโรงอุตสาหกรรมในพื้นที่เดิมเป็นขนาดกลางได้ เพราะบริเวณนั้นอาจตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่ไม่สามารถขออนุญาตจัดตั้งโรงงานได้ เนื่องจากมาตรฐานสิ่งปลูกสร้าง ความปลอดภัย ชีวอนามัย และระบบต่าง ๆ อาจยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานโรงงาน หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กย่ำอยู่กับที่ ไม่มีการเติบโต ดังนั้นการกำหนดกำลังเครื่องจักรและกำลังคนไว้ดังกล่าวจึงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและลักษณะกิจการของโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ทำให้ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและข้อกฎหมายตามมา
คำถาม 3 : เหตุใดคุณสมบัติของผู้ผลิตสุราชุมชนรายใหม่จึงกำหนดให้ต้องเป็นการรวมกลุ่มทางธุรกิจเท่านั้น เหตุใด “บุคคลธรรมดา” จึงไม่สามารถขออนุญาตได้ การกำหนดคุณสมบัติให้ต้องมีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มธุรกิจเท่านั้นอาจมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรค เพราะต้องลงทุนลงแรงร่วมกันเพื่อแสวงหาและแบ่งผลกำไร การกำหนดคุณสมบัตินี้ทำให้สุราชุมชนเกิดขึ้นได้ยาก
กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 กำหนดให้ผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุราชุมชนต้องเป็น “สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร” ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือเป็น “วิสาหกิจชุมชน” ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน หรือเป็น “องค์กรเกษตรกร” ที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือเป็น “นิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย เหตุผลที่กำหนดคุณสมบัติให้ต้องเป็นการรวมกลุ่มดังกล่าว เพราะเป็นนโยบายของรัฐที่จะสนับสนุนการผลิตสุรากลั่นชุมชนให้เป็นธุรกิจชุมชน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนโดยการให้ประชาชนในท้องถิ่นรวมตัวกันเป็นองค์กรที่เหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนดให้สามารถจัดตั้งได้ เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดีกว่าการดำเนินการโดยบุคคลธรรมดา ลดการแข่งขันกันเองในชุมชน และสามารถส่งเสริมให้เกิดอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นได้ จึงเป็นประโยชน์มากกว่าการให้บุคคลธรรมดาเป็นผู้ผลิตเอง
คำถาม 4 : เหตุใดจึงต้องมีการควบคุมคุณภาพสุราโดยต้องนำสุราไปตรวจคุณภาพให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนดก่อน จึงจะสามารถผลิตเพื่อการค้าได้
คุณภาพของน้ำสุราในกระบวนการผลิตสุรามีโอกาสที่จะเกิดสารบางชนิดที่มีปริมาณมาก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการบริโภคที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างเฉียบพลัน เช่น เมทิลแอลกอฮอล์จะเริ่มเป็นพิษประมาณ 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ผู้บริโภคอาจมีอาการของทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง และอาการที่ค่อนข้างจำเพาะ ได้แก่ พิษทางตา มีอาการตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพแสงจ้าสีขาว อาการทางระบบประสาท ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และสับสน ในบางรายที่เป็นมากอาจมีอาการโคม่าและชัก นอกจากนี้ ยังอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดสารพิษที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฟูเซลออย ไนโตรซามีน ไอโซเอมิลแอลกอฮอล์ และเอ็นโปรปิแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบควบคุมคุณภาพสุราให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่การบริโภค
คำถาม 5 การผลิตสุราของโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดใหญ่ กฎกระทรวงการผลิตสุรากำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างไร
โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดใหญ่ มิได้กำหนดเป็นถ้อยคำโดยตรงตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 แต่โดยนัยย่อมหมายถึงโรงอุตสาหกรรมสุราที่มิใช่โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กและขนาดกลาง มีหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ดังนี้
ประเภทโรงอุตสาหกรรม | คุณสมบัติของโรงอุตสาหกรรม | คุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาต |
---|---|---|
(1) สุราแช่ชนิดเบียร์ ขนาดใหญ่ |
|
(เว้นแต่กรณีนิติบุคคลที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตผลิตสุราโดยอาศัยสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี ให้ผู้ถือหุ้นเป็นไปตามบทบัญญัติและเงื่อนไขของสนธิสัญญานั้น) |
(2) สุราแช่ชนิดเบียร์ ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต |
|
|
(3) สุราแช่ที่ไม่ใช่เบียร์ ซึ่งเป็นโรงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ |
| |
(4) สุรากลั่นขนาดใหญ่ |
| |
(5) สุรากลั่นชนิดสุราพิเศษ ประเภทวิสกี้ บรั่นดี และยิน |
| |
(6) เอทานอล |
| นิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย |
(7) สุรากลั่นชนิดสุราสามทับที่ผลิตเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร |
| |
(8) สุรากลั่นชนิดสุราสามทับที่ผลิตเพื่อขายในราชอาณาจักร | รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (ปัจจุบันคือองค์การสุรา) |
คำถาม 6 : เหตุใดหลักเกณฑ์การผลิตสุรายังคงกำหนดให้โรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดใหญ่ ต้องมีขนาดกำลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ 28 ดีกรี ไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน (สำหรับสุรากลั่นชนิดสุราพิเศษ ประเภทวิสกี้ บรั่นดี และยิน) และไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตรต่อวัน (สำหรับสุราขาว สุราผสม สุราปรุงพิเศษ และสุราพิเศษอื่น ๆ)
การผลิตสุราดังกล่าวต้องมีมาตรฐานในการควบคุมการผลิต นอกจากต้องอยู่ภายใต้การควบคุมด้วยระบบใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาควบคุมกำกับดูแลด้วย หนึ่งในนั้นคือกระทรวงอุตสาหกรรม โดยขนาดกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน และ 90,000 ลิตรต่อวัน สำหรับสุรากลั่นดังกล่าวนั้น มิได้กำหนดไว้ตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 เท่านั้น แต่ยังมีการกำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การตั้งโรงงานผลิตและบรรจุสุราในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560 การกำหนดกำลังการผลิตไว้เช่นนี้จึงเป็นเรื่องในเชิงนโยบายของรัฐบาลที่ประสงค์ให้การผลิตสุรากลั่นดังกล่าวสามารถผลิตได้เฉพาะโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดใหญ่เท่านั้น เนื่องจากการผลิตสุรากลั่นจะมีของเสียจากกระบวนการผลิตที่จะต้องมีการกำจัดตามมาตรฐานในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตสุรา การกำหนดไว้เช่นนี้ก็เพื่อจำกัดมิให้มีโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรานี้ในจำนวนที่มากจนเกินไป ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมการผลิตสุราให้มีมาตรฐานและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนในภาพรวม
คำถาม 7 : เหตุใดจึงต้องกำหนดให้โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ขนาดใหญ่ ต้องติดตั้งระบบ Direct Coding
เดิมกรมสรรพสามิตใช้แสตมป์สรรพสามิตปิดที่ภาชนะบรรจุสุราแช่ชนิดเบียร์เช่นเดียวกับสุราขาวและสุราสีทั่วไป แต่แสตมป์สรรพสามิตมักจะหลุดลอกจากการนำไปแช่เย็นเพื่อรักษาคุณภาพ กาวหลุดลอกปนเปื้อนกับน้ำเบียร์ในขณะบริโภค กรมสรรพสามิตจึงได้เปลี่ยนไปใช้วิธีพิมพ์รหัสบนภาชนะแทนแสตมป์สรรพสามิต โดยใช้ระบบการพิมพ์เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการซึ่งเป็นระบบควบคุมการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าเบียร์ระบบใหม่ เรียกว่า “รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์” หรือ “Direct Coding” โดยระบบนี้ต้องพิมพ์ไปพร้อม ๆ กันกับการผลิตหลังจากบรรจุเบียร์ลงภาชนะเพื่อไม่ให้กระทบต่อกระบวนการผลิต จึงต้องมีสายการผลิตที่ติดตั้งระบบการพิมพ์นี้ได้ เพราะไม่สามารถพิมพ์รหัสในขั้นตอนอื่นหรือหลังจากผลิตเสร็จได้
คำถาม 8 : โรงอุตสาหกรรมสุราชุมชนต้องทำรายงาน EIA หรือไม่
EIA : Environmental Impact Assessment หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่กำหนดให้ต้องจัดทำตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ได้กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการซึ่งต้องจัดทำรายงาน EIA ไว้หลายรายการ หนึ่งในนั้นคือ “อุตสาหกรรมผลิตสุรา แอลกอฮอล์ รวมทั้งผลิตเบียร์และไวน์” ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าวได้กำหนดให้อุตสาหกรรมผลิตสุรา แอลกอฮอล์ รวมทั้งผลิตเบียร์และไวน์ ที่จะต้องจัดทำรายงาน EIA ได้แก่
(1) อุตสาหกรรมผลิตสุรา แอลกอฮอล์ที่มีกําลังการผลิตตั้งแต่ “40,000 ลิตรต่อเดือนขึ้นไป” (คิดเทียบที่ 28 ดีกรี)
(2) อุตสาหกรรมผลิตไวน์ที่มีกําลังการผลิตตั้งแต่ “600,000 ลิตรต่อเดือนขึ้นไป”
(3) อุตสาหกรรมผลิตเบียร์ที่มีกําลังการผลิตตั้งแต่ “600,000 ลิตรต่อเดือนขึ้นไป”
โดยในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตเบียร์นั้น การจัดทำรายงาน EIA เพื่อขออนุญาตผลิตสุราตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต นอกจากจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว ยังจะต้องพิจารณาตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ประกอบกันด้วย กล่าวคือ เมื่อเป็นโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ที่มีขนาดใหญ่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (ซึ่งโดยนัยย่อมหมายถึงโรงอุตสาหกรรมที่มีขนาด 50 แรงม้าหรือ 50 แรงคนขึ้นไป) ก็จะต้องจัดทำรายงาน EIA ทุก ๆ กรณี ไม่ว่าจะมีกําลังการผลิตตั้งแต่ 600,000 ลิตรต่อเดือนขึ้นไปหรือไม่ แม้ว่าประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จะกำหนดให้ทำรายงาน EIA เฉพาะกรณีที่มีกําลังการผลิตตั้งแต่ 600,000 ลิตรต่อเดือนขึ้นไปก็ตาม เพราะถือว่าเป็นกรณีที่กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้นอุตสาหกรรมผลิตเบียร์ขนาดใหญ่จึงต้องจัดทำรายงาน EIA เสมอ
จากข้อกฎหมายที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าเฉพาะโรงอุตสาหกรรมสุราที่ครบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกำลังการผลิตตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นที่จะต้องจัดทำรายงาน EIA แต่สำหรับโรงอุตสาหกรรมสุราชุมชน กฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตกำหนดให้ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงอุตสาหกรรมสุราเท่านั้น มิได้กำหนดในลักษณะบังคับว่าจะต้องจัดทำรายงาน EIA ด้วย ดังนั้นหากเป็นโรงอุตสาหกรรมสุราชุมชนขนาดเล็กและขนาดกลางทั่ว ๆ ไป ซึ่งโดยสภาพย่อมมีกำลังการผลิตต่อเดือนไม่ถึงเกณฑ์ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว (กล่าวคือ ไม่ถึง 40,000 ลิตรต่อเดือน สำหรับการผลิตสุรา และไม่ถึง 600,000 ลิตรต่อเดือน สำหรับการผลิตไวน์และเบียร์) ก็ไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA แต่อย่างใด
คำถาม 9 : โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต หรือบริวผับ จะต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือไม่ และจะต้องจัดทำรายงาน EIA ทุก ๆ กรณีหรือไม่
คำถามนี้เกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ในทำนองว่า แม้ว่ากฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ได้ยกเลิกทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตสำหรับบริวผับไปแล้ว แต่ก็ยังสร้างอุปสรรคหรือข้อจำกัดเพราะบริวผับยังต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และจะต้องจัดทำรายงาน EIA ทุก ๆ กรณี
ผู้เขียนขอเรียนว่า กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ข้อ 16 (1) (ก) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของบริวผับไว้ โดยอาจเป็นโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (มีขนาด 50 แรงม้า 50 แรงคนขึ้นไป) หรือหากไม่เป็นโรงงานตามกฎหมายดังกล่าว (น้อยกว่า 50 แรงม้า น้อยกว่า 50 แรงคน) แต่ได้ใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ตามมาตรฐานตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนดก็มีสิทธิที่จะได้รับใบอนุญาตผลิตสุราเช่นกัน ดังนั้นบริวผับที่จะต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานก่อนจึงจะขอใบอนุญาตผลิตสุราได้ จึงจำกัดเฉพาะบริวผับที่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (มีขนาด 50 แรงม้า 50 แรงคนขึ้นไป) เท่านั้น
ส่วนประเด็นว่าบริวผับจะต้องจัดทำรายงาน EIA ในทุก ๆ กรณีหรือไม่นั้น การจัดทำรายงาน EIA สำหรับบริวผับ กฎหมายบังคับให้ต้องจัดทำเฉพาะบริวผับที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 600,000 ลิตรต่อเดือนขึ้นไป หากไม่เป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือเป็นโรงงานตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่มีกำลังการผลิตไม่ถึง 600,000 ลิตรต่อเดือน ก็ไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA แต่ประการใด
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ