กำลังโหลด...

×



Tax ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของต้องห้าม

magazine image
Tax

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของต้องห้าม

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เป็นกระแสหลักของโลกในปัจจุบัน สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าได้ครั้งละจำนวนมากและยังลดต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่ง การผลิตจำนวนมากก็เป็นการเพิ่มขยะในสิ่งแวดล้อมทั้งจากกระบวนการผลิต การนำเข้า และการใช้สอยของผู้บริโภค เมื่อเกิดขยะหรือของเสียอันตรายจากกระบวนการผลิต ผู้ประกอบการย่อมต้องกำจัดหรือเคลื่อนย้ายของเสียเหล่านั้น ขยะหรือของเสียบางอย่างสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ อย่างเช่น เศษเหล็ก ทองแดง เซรามิก พลาสติก และกระดาษ แต่ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าขยะและของเสียอันตรายจำนวนมากจากกระบวนการผลิตในประเทศอุตสาหกรรมได้ถูกเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปทิ้งในประเทศกำลังพัฒนา

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีอนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำเข้าและส่งออกของเสียอันตรายให้เกิดความปลอดภัย และเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการของเสียอันตราย ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 187 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีแล้วก็ตาม แต่อนุสัญญาดังกล่าวก็ไม่อาจป้องกันการนำเข้าขยะหรือของเสียอันตรายได้อย่างเบ็ดเสร็จ ปัจจัยสำคัญย่อมขึ้นอยู่กับการควบคุม ระบบคัดแยก และการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตนำเข้าขยะและกากอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาด้วย

แม้ขยะของเสียที่นำเข้ามานั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ไปเสียทั้งหมด เช่น เศษโลหะบางอย่างสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมได้ แต่ปัญหาที่เกิดก็คือของเสียที่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ มักถูกส่งมาพร้อมกับขยะอันตรายหรือกากสารเคมีต่าง ๆ เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนู แคดเมียม เป็นต้น ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอาจไม่มีระบบตรวจสอบและวิธีการกำจัดขยะพิษเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุด ขยะเหล่านี้ก็จะรั่วไหลสู่ชุมชนและก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม[1]

ขยะอิเล็กทรอนิกส์

ปัญหาการนำเข้าขยะเหล่านี้ นอกจากประเภทที่เป็นขยะเทศบาลที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปในครั้งที่แล้ว ปัญหาขยะที่สำคัญอีกรูปแบบหนึ่งคือการนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก และทั่วโลกก็เริ่มตระหนักถึงผลกระทบนี้ ดังจะเห็นได้จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการนำโลหะมีค่าที่สกัดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ทองคำ ทองแดง มาผลิตเป็นเหรียญรางวัล ก็เพื่อเป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น

“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” (Electronic Waste : E-Waste) หรือ “ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์”(Waste from Electrical and Electronic Equipment’s : WEEE) เป็นปัญหาที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล เทียบได้กับปริมาณขยะในรถบรรทุกที่นำมาเรียงต่อกันเป็นความยาวถึงครึ่งรอบโลก[2]

ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Waste เป็นขยะที่เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุขัยการใช้งานและกลายมาเป็นขยะ หลายครั้งคนอาจคิดว่าต้องมาจากอุปกรณ์ทันสมัยอย่างสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือแท็บเล็ตเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วหมายรวมถึงอุปกรณ์ทุกชนิดที่ต้องใช้ไฟฟ้า เช่น ไมโครเวฟ แบตเตอรี่มือถือ อุปกรณ์พกพาอย่างหูฟัง แบตเตอรี่พกพาสำรอง (Power Bank) หรือเกมกดมือถือ (แบบ Tetris ในสมัยก่อน) ฯลฯ ก็สามารถจัดอยู่ในหมวดนี้ได้เช่นกัน

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นเพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ มีอัตราการผลิตและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเกิดความล้าสมัยได้ง่าย นอกจากนี้ สภาพการแข่งขันทางการตลาดที่สูงขึ้น ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกลง พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีแนวโน้มของการตัดสินใจเลือกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ฯ เพื่อให้ก้าวทันการพัฒนาของเทคโนโลยีในสังคม ส่งผลให้อายุการใช้งานสั้นลงกว่าอายุการใช้งานจริงของผลิตภัณฑ์นั้น นอกจากนี้ เมื่อผลิตภัณฑ์ฯ ชำรุดแนวโน้มของคนยุคปัจจุบันเลือกที่จะทิ้งผลิตภัณฑ์เก่าแล้วเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่แทนการซ่อมแซม

อาจกล่าวได้ว่า ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีทุกวันนี้มีส่วนเร่งให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในสภาพตกรุ่นเร็วยิ่งขึ้น จึงมีอัตราการเปลี่ยนเครื่องที่สูงขึ้นและบ่อยขึ้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ปัจจุบันมักจะใช้งานในช่วงระหว่าง 3 - 5 ปี ขณะที่โทรศัพท์มือถือมีอายุใช้งานเฉลี่ย 18 เดือน อายุการใช้งานบวกกับจำนวนผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือกำลังเป็นปัจจัยในการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อม ๆ กัน 

กล่าวโดยสรุป สาเหตุที่ปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1. ผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเติบโต คนมีรายได้ดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ ชุมชนเมืองและรสนิยมแบบสังคมเมืองกระจายตัว จำนวนผู้บริโภคที่เข้าถึงสื่อโฆษณาของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น

2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ประเภทอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมากขึ้น อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเกือบทั้งหมดเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและตลาดที่ขยายตัวทำให้ราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ถูกลง ผู้บริโภคจึงเข้าถึงง่ายขึ้น

3. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์สื่อสารกลายเป็นสิ่งจำเป็น ทุกคนต้องใช้ มีการออกสินค้ารุ่นใหม่สม่ำเสมอ ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนเครื่องใหม่ถี่ขึ้น แม้แต่โทรทัศน์ที่เปลี่ยนจากโทรทัศน์ธรรมดากลายเป็น Smart TV ที่ต่ออินเทอร์เน็ตหรือทำได้มากกว่าโทรทัศน์แบบเดิม ๆ ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนโทรทัศน์มากขึ้น

จากข้อมูลพบว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกมีมากถึง 53.6 ถึง 54 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีประมาณ 18% เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง โดยในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปริมาณรวมสูงถึง 414,000 ตัน (ไม่นับรวมขยะต่างประเทศที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมาย) แต่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 83,600 ตัน ส่วนที่เหลือตกค้างอยู่ในระบบนิเวศน์[3] จะเห็นได้ว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก

ปัจจุบันปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่าของขยะมูลฝอยในชุมชน โดยเฉพาะขยะที่มาจากผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงรุ่นและตกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีการเลิกใช้และถูกทิ้งเป็นขยะสะสม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของปลายทางขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก ซึ่งถูกแฝงมาในรูปของการนำเข้าสินค้าที่ใช้แล้วจากต่างประเทศ ซึ่งมีอายุการใช้งานสั้นและพร้อมจะเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์สร้างปัญหามลพิษต่อไป

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) เป็นประเด็นที่มองข้ามไม่ได้เลย มีหลายหน่วยงานออกมารณรงค์ให้คนไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับการทิ้งอย่างถูกที่และถูกวิธี เนื่องจากขยะประเภทนี้นอกจากจะไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติแล้ว ยังปล่อยสารพิษลงสู่สภาพแวดล้อม สุดท้ายก็จะย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์เรานี่เอง

แต่หากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็นับเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง เพราะเราสามารถสกัดเอาแร่มีค่าหายากเช่น ทอง เงิน หรือทองแดง จากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้ โดยปกติแล้วการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ สามารถแยกองค์ประกอบตามประเภทของวัสดุได้ 3 ส่วน คือ 

1. 58% เป็นวัสดุโลหะ (เหล็ก อะลูมิเนียม และโลหะอื่น ๆ) 

2. 40% เป็นวัสดุประเภทพลาสติก ซึ่งจะถูกอัดเป็นก้อนเพื่อพร้อมส่งจำหน่ายต่อไปยังโรงงานที่มีศักยภาพ เช่น โรงหลอมโลหะ หรือโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก 

3. 2% เป็นวัสดุชิ้นส่วนและแผงวงจรไฟฟ้า (PCBA) ทั้งชนิด High Grade จากทั้งอุปกรณ์ไอทีขนาดเล็ก โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก และ Low Grade คือ แผงวงจรอุปกรณ์อื่น ๆ พวก Power Pupply ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความร้อน หรือเครื่องซักผ้า หลังแยกเกรดแล้วจะส่งเข้าสู่กระบวนการบดย่อยเพื่อลดขนาดและเตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการหลอมและสกัดโลหะมีค่า ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะมีทั้งทองคำ เงิน ทองแดง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเดิมในโรงงานเพื่อเพิ่มมูลค่าต่อไป ส่วนประกอบในขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จึงมีแร่โลหะที่มีมูลค่าสูง หากมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมก็สามารถสร้างมูลค่าได้ โดยหลักการแล้ว การสกัดแร่หายากจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำแร่หายากเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยที่ไม่ต้องทำเหมืองแร่เพื่อสกัดแร่ธาตุเหล่านี้จากธรรมชาติ หากมีการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและเป็นระบบก็จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก

ผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายจะอ้างว่าเหตุผลของการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในไทยเพื่อนำมารีไซเคิล แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าส่วนมากได้รับการจัดการอย่างไม่เหมาะสมในโรงงานกำจัดที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น รีไซเคิลอย่างไม่ถูกวิธี หรือนำไปทิ้งในบ่อขยะผิดกฎหมาย การบริหารจัดการไม่เป็นระบบตลอดสาย ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่เหมาะสมส่งผลให้เกิดมลพิษร้ายแรงถึง 3 รูปแบบ ได้แก่

1. มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก หรือ PM2.5 ที่เกิดจากการเผากากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ยังปนเปื้อนด้วยสารโลหะหนักต่าง ๆ อีกด้วย ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในวงกว้าง

2. ไอระเหยจากการใช้กรดกัดในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไอระเหยเหล่านี้แม้จะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้างเท่าฝุ่น PM2.5 แต่ก็ส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของคนงานและประชาชนโดยรอบโรงงานเช่นกัน

(3) น้ำทิ้งจากโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในทางวิชาการแล้วถือว่าเป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย เพราะมีการปนเปื้อนกรดและสารโลหะหนักสูงมาก การตรวจสอบในหลายพื้นที่พบว่ามีโรงงานจำนวนไม่น้อยที่ปล่อยน้ำเสียเหล่านี้ออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่มีการบำบัด ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างรุนแรง

การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์

ในส่วนของการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกรมศุลกากรนั้น แม้จะมีอนุสัญญาบาเซลฯ เข้ามาทำหน้าที่กำกับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่โดยที่อนุสัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้การเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดนต้องได้รับความยินยอมอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐของประเทศต้นทางและปลายทาง ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดการตกลงกันเพื่อนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากรัฐบาล 2 ประเทศตกลงกันได้ ก็จะสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาฯ เข้าไปกำจัดในประเทศปลายทางได้ จึงไม่แปลกที่จะปรากฏข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า เฉพาะในปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการนำเข้าสูงถึงประมาณ 53,000 ตัน[4]

แม้ว่าที่ผ่านมาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถนำเข้ามาได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่การลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทยก็มีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ทั้งหมด 7 ตู้ ที่นำเข้ามาจากฮ่องกงและประเทศญี่ปุ่น พบขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งเครื่องเล่นเกมเก่า สายไฟ และแผงวงจร มีการสำแดงข้อมูลระบุไว้ว่าเป็นเพียงพลาสติก จึงได้มีการตั้ง 4 ข้อหา คือ สำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงการเสียภาษี นำเข้าสินค้าต้องห้าม และนำเข้าวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 โดยผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบในการกำจัดหรือส่งกลับประเทศต้นทางด้วย

นอกจากนี้ จากข้อมูลการดำเนินคดีศุลกากรเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์พบว่า มีการดำเนินคดีการลักลอบนำเข้ากากของเสียประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ 

  • เดือนธันวาคม ปี 2544 มีการลักลอบนำเข้าแบตเตอรี่รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จากสหราชอาณาจักรจำนวน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 23.4 ตัน 
  • เดือนกันยายน ปี 2545 มีการลักลอบนำเข้าจอคอมพิวเตอร์ใช้แล้วจากญี่ปุ่น 2 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 46.2 ตัน 
  • เดือนมกราคม ปี 2547 มีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายรายการจากญี่ปุ่น 7 ตู้คอนเทนเนอร์ หนัก 46.2 ตัน 
  • เดือนสิงหาคม ปี 2557 มีการลักลอบนำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น 8 ตู้คอนเทนเนอร์ หนัก 191.6 ตัน 

ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นเป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินคดีที่สามารถตรวจสอบพบได้เท่านั้น

เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาความหละหลวมในการบริหารจัดการควบคุมการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ การลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายเหล่านี้มีบางกรณีที่ทำเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ โดยมีกลุ่มทุนเอกชนเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทหรือซื้อต่อโรงงานจากคนไทยเพื่อดำเนินการ โดยยื่นขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินกิจการนี้ก่อนจะนำเข้าขยะดังกล่าวเข้ามา อย่างไรก็ดี บริษัทกลับไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะดำเนินการ จึงกระจายขยะต่อให้กับโรงงานในเครือข่ายทำการกำจัดทิ้งแทน มีการทุจริตกันเป็นทอด ๆ โดยการนำเข้าทั้งที่ไม่มีกระบวนการกำจัดที่มีประสิทธิภาพ ความเห็นแก่ตัวของคนบางกลุ่ม สุดท้ายก็ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศและปัญหาสุขภาพของประชาชน

ขยะอิเล็กทรอนิกส์นับเป็นสินค้าที่ต้องห้าม

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นปัญหาสำคัญของไทย จนถึงขั้นมีการครหาว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น “ถังขยะของโลก” หากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไป ปัญหาก็จะทับถมขึ้นเรื่อย ๆ ดังเช่นขยะกองมหึมา ส่งผลกระทบโดยรวมต่อประเทศมากขึ้น ในการนี้กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการพิจารณาเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ในที่สุดภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวโดยเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข การคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อให้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ออก “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นไป ส่งผลให้ตั้งแต่นั้นมาขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าต้องห้าม ไม่สามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญ 2 ประการคือ

ประการที่ 1 กำหนดความหมายของ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” หมายถึง ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่อื่น ๆ สวิตช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่น ๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล ซึ่งเป็นของเสียเคมีวัตถุ 

ประการที่ 2 ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายดังกล่าวที่ไม่สามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้นั้น ต้องเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 84 และตอนที่ 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899 ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ โดยเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมจำนวน 428 รายการ 

การออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ดังกล่าว เป็นผลมาจากการดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทิ้งในประเทศ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การห้ามนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศย่อมส่งผลเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ภายในประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังช่วยบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อย่างถูกวิธีมากขึ้น สนับสนุนแนวคิด Circular Economy และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียในประเทศ

ดังนั้นผู้นำเข้าจึงต้องตรวจสอบว่าสิ่งที่นำเข้ามานั้นเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 428 รายการนั้นหรือไม่ และยังจะต้องทราบและตระหนักว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็น “ของต้องห้าม” (Prohibited Goods) โดยห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หากฝ่าฝืนย่อมมีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายศุลกากรในความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตามมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดฐานนี้ยังรวมถึงผู้ใดที่พยายามจะกระทำความผิดฐานนี้ ก็ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน


[1] “ปัญหาการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ” รายการร้อยเรื่องเมืองไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา และสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

[2] “คู่มือการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและและอิเล็กทรอนิกส์” กรมควบคุมมลพิษ

[3] “การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชน : หลักการและแนวคิดภายใต้มาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศ”, นิกร ภิญโญ, รายงานการค้นคว้าอิสระหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

[4] “การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ : ถึงเวลาปฏิรูปกฎหมายการจัดการขยะพิษอุตสาหกรรมหรือยัง”, ประชาไท/บทความ

Top 5 Contents