
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสุรา
30 สิงหาคม 2566
“ระบบใบอนุญาตสำหรับสินค้าสุรา” (Licensing System) เป็นกลไกที่รัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับ ควบคุม และตรวจสอบการประกอบธุรกิจ การเสียภาษี และการดำเนินกิจการต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้าสุรา เนื่องจากแนวคิดที่ว่าสุราเป็นสินค้าที่มีความแตกต่างไปจากสินค้าที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคประเภทอื่น ตรงที่เป็นสินค้าที่เมื่อบริโภคแล้วจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสามารถผลิตหรือทำให้มีขึ้นได้โดยง่าย หากรัฐปล่อยให้สามารถดำเนินกิจการเกี่ยวกับสุราได้โดยปราศจากกลไกการควบคุมและตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจส่งผลกระทบภายนอกทางลบ (Negative Externalities) จนทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายแก่กายหรือถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงต้องกำหนดมาตรการควบคุมไว้เป็นพิเศษโดยนำระบบใบอนุญาตมาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นกรองผู้ที่จะเข้าสู่แวดวงธุรกิจเกี่ยวกับสุรา ตลอดจนควบคุมกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับธุรกิจสุราตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยนำกฎหมายภาษีสรรพสามิตมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมระบบใบอนุญาต
โดยเหตุที่การควบคุมการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุราโดยใช้ระบบใบอนุญาตดังกล่าว ถือเป็นการเรื่องที่สร้างภาระแก่ประชาชน จึงต้องมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จึงได้บัญญัติหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับใบอนุญาตสำหรับสินค้าสุราไว้ตามความในหมวด 2 มาตรา 152 ถึงมาตรา 168 ซึ่งในปัจจุบันการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุราที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมด้วยระบบใบอนุญาตตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต ประกอบด้วย
(1) การผลิตสุรา[1] (2) การนำเข้าสุรา[2] และ (3) การขายสุรา[3]
ดังนั้นผู้ที่จะผลิต นำเข้า หรือขายสุรา จึงต้องยื่นคำขออนุญาต โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ครบถ้วนทุกประการ เมื่อกรมสรรพสามิตออกใบอนุญาตให้แล้วจึงจะสามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวได้
การที่กรมสรรพสามิตออกใบอนุญาตให้นั้น ถือว่าเป็นการดำเนินการของรัฐในรูปแบบหนึ่ง กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องจ่าย “ค่าธรรมเนียม” (Fee) ให้แก่รัฐเพื่อตอบแทนการอนุญาตให้ดังกล่าวด้วย โดยค่าธรรมเนียมที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บจากการออกใบอนุญาตสำหรับสุราดังกล่าวถือเป็นรายได้ของรัฐที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บเพื่อนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน นอกเหนือจากภาษีสรรพสามิต
1. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุรา
อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตผลิตสุราท้ายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ในอัตราฉบับละ 300,000 บาท แต่อัตราดังกล่าวเป็นอัตราสูงสุดหรืออัตราเพดาน (Ceiling Rate) ตามกฎหมายที่กำหนดขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติให้อำนาจฝ่ายบริหารในการจัดเก็บได้ ส่วนอัตราที่จัดเก็บจริงนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุรา ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ได้แยกเป็นหมวดที่ว่าด้วยการผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้าและหมวดที่ว่าด้วยการผลิตสุราเพื่อการค้า โดยกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต กรมสรรพสามิตจึงต้องกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตผลิตสุราตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตให้สอดรับกับประเภทใบอนุญาตผลิตสุราดังกล่าว ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตผลิตสุราสำหรับใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า (สำหรับสุราแช่และสุรากลั่น) และใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า (สำหรับสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์และสุรากลั่นชนิดสุราขาวที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง) เพื่อให้สอดรับกับประเภทของการผลิตสุราดังกล่าว ดังนี้
ลำดับ | ประเภทใบอนุญาต | อัตราค่าธรรมเนียม | หมายเหตุ |
1.1 | ใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า |
|
|
| 1) ใบอนุญาตผลิตสุราแช่ | ฉบับละ 360 บาท |
|
| 2) ใบอนุญาตผลิตสุรากลั่น | ฉบับละ 1,500 บาท |
|
1.2 | ใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า |
|
|
| 1) ใบอนุญาตผลิตสุราแช่ |
|
|
| (ก) สุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ ที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก[4] | ฉบับละ 1,800 บาท | เป็นอัตราเดียวกับสุราแช่ชุมชนเดิม |
| (ข) สุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ ที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง[5] | ฉบับละ 3,600 บาท | เป็นอัตราที่กำหนดขึ้นใหม่ |
| (ค) สุราแช่ชนิดเบียร์และสุราแช่ชนิดอื่นนอกจาก (ก) และ (ข) | ฉบับละ 60,000 บาท | เป็นอัตราเดิม |
| 2) ใบอนุญาตผลิตสุรากลั่น |
|
|
| (ก) สุรากลั่นชนิดสุราขาวที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก | ฉบับละ 7,500 บาท | เป็นอัตราเดียวกับสุรากลั่นชุมชนเดิม |
| (ข) สุรากลั่นชนิดสุราขาวที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง | ฉบับละ 15,000 บาท | เป็นอัตราที่กำหนดขึ้นใหม่ |
| (ค) สุรากลั่นทุกชนิดนอกจากสุรากลั่นตาม (ก) และ (ข) | ฉบับละ 60,000 บาท | เป็นอัตราเดิม |
เมื่อกล่าวมาถึงส่วนนี้ ผู้อ่านอาจเกิดความสงสัยว่าใบอนุญาตผลิตสุราซึ่งเป็นอัตราที่กำหนดขึ้นใหม่นั้นมีหลักเกณฑ์ในการคิดหรือมีที่มาอย่างไร ผู้เขียนจึงขอนำเสนอหลักเกณฑ์อันเป็นที่มาที่ไปของอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุราตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เฉพาะกรณีที่กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขึ้นใหม่ ดังนี้
- อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุราที่ “มิใช่เพื่อการค้า” (ตามข้อ 1.1) ที่ได้กำหนดให้เสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุราแช่ฉบับละ 360 บาท และใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นฉบับละ 1,500 บาท กำหนดขึ้นโดยใช้วิธีเทียบเคียงกับอัตราค่าธรรมเนียมของกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กล่าวคือ “สุราที่มิใช่เพื่อการค้าซึ่งสามารถผลิตได้ปริมาณไม่เกิน 200 ลิตรต่อปีนั้น สามารถเทียบเท่าได้กับการผลิตสุราที่ใช้กำลังการผลิตเท่ากับ 1 แรงม้า” ประกอบกับโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่าต่ำกว่า 5 แรงม้า ซึ่งเป็นสุราแช่และสุรากลั่นชุมชนเดิม เสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุราในอัตราฉบับละ 1,800 บาท และฉบับละ 7,500 บาท ตามลำดับ ดังนั้นเมื่อพิจารณาสัดส่วน 1 แรงม้าและ 5 แรงม้าเทียบเคียงกันแล้ว จึงกำหนดให้ใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้ามีอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุราแช่และใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นฉบับละ 360 บาท และฉบับละ 1,500 บาท ตามลำดับนั่นเอง
ประเภท/ขนาดสุรา | กำลังการผลิต | อัตราค่าธรรมเนียม (บาท) | |
โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก | 5 แรงม้า | 1,800 (สุราแช่ชุมชนเดิม) | 7,500 (สุรากลั่นชุมชนเดิม) |
สุราที่มิใช่เพื่อการค้า | 200 ลิตร เทียบเท่า 1 แรงม้า | 1,800 ÷ 5 = 360 | 7,500 ÷ 5 = 1,500 |
- อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุรา “เพื่อการค้า” สำหรับสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์และสุรากลั่นชนิดสุราขาวที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง (ตามข้อ 1.2 1) (ข) และข้อ 1.2 2)(ข)) ที่ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมฉบับละ 3,600 บาท และฉบับละ 15,000 บาท ตามลำดับนั้น กำหนดขึ้นภายใต้หลักการว่า “โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางควรมีอัตราค่าธรรมเนียมการผลิตสุราเป็น 2 เท่าของโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก” เมื่อโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กที่ผลิตสุราแช่ที่มิใช่สุราแช่ชนิดเบียร์มีอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุราแช่ฉบับละ 1,800 บาท (สุราแช่ชุมชนเดิม) และโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กที่ผลิตสุรากลั่นชนิดสุราขาวมีอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นฉบับละ 7,500 บาท (สุรากลั่นชุมชนเดิม) จึงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางที่ผลิตสุราแช่ที่มิใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ให้มีอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุราแช่ฉบับละ 3,600 บาท และโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางที่ผลิตสุรากลั่นชนิดสุราขาวให้มีอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นฉบับละ 15,000 บาท
ประเภท/ขนาดสุรา | อัตราค่าธรรมเนียม (บาท) | |
โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก | 1,800 (สุราแช่ชุมชนเดิม) | 7,500 (สุรากลั่นชุมชนเดิม) |
โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง | 1,800 × 2 = 3,600 (สุราแช่ขนาดกลาง) | 7,500 × 2 = 15,000 (สุรากลั่นขนาดกลาง) |
2. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าสุรา
อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนำเข้าสุราท้ายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ในอัตราฉบับละ 25,000 บาท แต่ในการจัดเก็บจริง กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดให้เสียค่าธรรมเนียมโดยแบ่งใบอนุญาตนำเข้าสุราเป็น 3 ประเภท คือ
ลำดับ | ประเภทใบอนุญาต | ค่าธรรมเนียม |
2.1 | ใบอนุญาตนำเข้าสุราประเภทที่ 1 สำหรับการนำเข้ามาเพื่อขาย ซึ่งมิใช่การขายในคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร | ฉบับละ 1,200 บาท |
2.2 | ใบอนุญาตนำเข้าสุราประเภทที่ 2 สำหรับการนำเข้ามาเพื่อขายในคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร | ฉบับละ 1,200 บาท |
2.3 | ใบอนุญาตนำเข้าสุราประเภทอื่น ๆ | ฉบับละ 300 บาท |
3. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา
อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตขายสุราท้ายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดไว้สำหรับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 1 ปีละ 100,000 บาท และประเภทที่ 2 ปีละ 50,000 บาท แต่ในการจัดเก็บจริง กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดให้เสียค่าธรรมเนียมโดยแบ่งใบอนุญาตขายสุราเป็น 2 ประเภท คือ
ลำดับ | ประเภทใบอนุญาต | ค่าธรรมเนียม |
3.1 | ใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 1 สำหรับการขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งจำนวนตั้งแต่ 10 ลิตรขึ้นไป 1) สำหรับโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นชนิดสุราขาวขนาดเล็ก 2) สำหรับโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ที่มิใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ขนาดเล็ก ...... 3) สำหรับการขายสุรากรณีอื่น ๆ นอกจาก 1) และ 2) |
ปีละ 1,200 บาท ปีละ 600 บาท ปีละ 5,000 บาท |
3.2 | ใบอนุญาตขายสุราประเภทประเภทที่ 2 สำหรับการขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งต่ำกว่า 10 ลิตร ..... 1) สำหรับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ..... 2) สำหรับสถานที่ขายที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ..... 3) สำหรับสถานที่ขายที่ผู้ประกอบการมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม |
ปีละ 2,000 บาท ปีละ 2,000 บาท ปีละ 300 บาท |
[1] “การผลิตสุรา” ต้องได้รับใบอนุญาต เหตุผลเนื่องจากสุราเป็นสินค้าพิเศษที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค หากบริโภคมาก
ย่อมทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากปล่อยให้มีการผลิตสุรากันได้อย่างเสรี ย่อมจะเกิดผลกระทบต่อสังคม กฎหมายจึงกำหนดให้การผลิตสุรา
ต้องได้รับอนุญาต เพื่อให้การประกอบกิจการโรงอุตสาหกรรมผลิตสุราเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อที่รัฐจะได้ควบคุมและตรวจสอบการผลิตสุรา
ได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ
[2] “การนำเข้าสุรา” ต้องได้รับใบอนุญาต เหตุผลเนื่องจากเพื่อให้มีการควบคุมการนำสุราจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ การที่ต้องขออนุญาต มีวัตถุประสงค์สุดท้ายเพื่อเป็นการควบคุมการจำหน่ายสุรา
[3] “การขายสุรา” ต้องได้รับใบอนุญาต เหตุผลเนื่องจากเพื่อให้มีการควบคุมการจำหน่าย การครอบครองและการได้มาซึ่งสุราให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐ และเพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค โดยใบอนุญาตขายสุรานั้นจะต้องแสดงโดยเปิดเผย
ในสถานที่ขายสุรา เพื่อที่เจ้าพนักงานจะได้ทราบและตรวจตราได้สะดวก นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ในการที่ผู้บริโภคจะได้เข้าหาซื้อบริโภคสุราได้ เป็นที่น่าเชื่อถือแก่ผู้ที่จะบริโภคสุราที่มีความชอบด้วยกฎหมายและผ่านการเสียภาษีโดยถูกต้อง
[4] “โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก” เป็นโรงอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่าต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน หรือกรณีใช้ทั้งเครื่องจักรและคนงาน เครื่องจักรมีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่าต่ำกว่า 5 แรงม้า และคนงานมีจำนวนน้อยกว่า 7 คน
[5] “โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง” เป็นโรงอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 5 แรงม้า แต่น้อยกว่า 50 แรงม้า หรือใช้คนงานตั้งแต่ 7 คน แต่น้อยกว่า 50 คน หรือกรณีใช้ทั้งเครื่องจักรและคนงาน เครื่องจักรมีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 5 แรงม้า แต่น้อยกว่า 50 แรงม้าและคนงานมีจำนวนตั้งแต่ 7 คน แต่น้อยกว่า 50 คน
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ