
อัปเดตการนำเข้า “ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้”
27 กันยายน 2566
การนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น นอกจากจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 แล้ว ยังมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ “พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522” ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการนำเข้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะในปัจจุบันมีสินค้าหลายประเภทที่ต้องควบคุมและกำหนดมาตรการในการนำเข้าเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแล ส่งเสริม ปกป้องทรัพยากรและรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ กฎหมายฉบับนี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ และในบางกรณีก็ใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้า ข้อตกลงและพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย ดังนั้นในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำเข้านั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตรวจสอบด้วยว่าสินค้าที่นำเข้ามานั้นมีข้อห้ามหรือข้อจำกัดใด ๆ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่
“ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้” เป็นสินค้านำเข้าที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมการนำไม้เข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยในปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้อาศัยฐานอำนาจตามกฎหมายนี้ในการออก “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้ เป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องมีหนังสือรับรองในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 28 เมษายน 2566”[1] เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการนำไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรการนำเข้าเพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ความหมายและการจำแนกประเภทพิกัดศุลกากรของไม้แต่ละประเภท


เนื่องจากประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ได้กำหนดมาตรการในการนำเข้าไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้ไว้แตกต่างกัน บางกรณีกำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้าม คือ ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด ในขณะที่บางกรณีกำหนดให้ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือหลักฐานการอนุญาตให้ส่งออกจากประเทศผู้ผลิต ดังนั้นผู้นำเข้าจึงต้องจัดประเภทให้ได้ก่อนว่าไม้ที่ประสงค์จะนำเข้านั้นจัดอยู่ในประเภทใด จะนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร เนื่องจากมีผลต่อการกำหนดชนิดของการจัดเข้าประเภทพิกัดและอัตราอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 รหัสสถิติ ทั้งยังมีผลต่อการกำหนดมาตรการตามกฎหมายด้วย ซึ่งในตอนท้ายของประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ได้กำหนดบัญชีรายการสินค้า พิกัดอัตราศุลกากร และรหัสสถิติไว้เป็นการเฉพาะ ผู้เขียนขอนำเสนอโดยสังเขปดังนี้
1.1 ไม้ท่อน หมายความว่า ส่วนของต้นไม้ที่ตัดออกเป็นตอน ๆ หรือเป็นท่อน ๆ ได้แก่
(1) ไม้ฟืน ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4401.11.00 - 4401.12.00
(2) ไม้ที่ยังไม่แปรรูป จะถากเปลือกหรือกระพี้ออกแล้ว หรือทำเป็นสี่เหลี่ยมอย่างหยาบ ๆ หรือไม่ก็ได้ ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4403.11.10 - 4403.99.90
(3) ไม้เสาเข็ม ไม้เสารั้ว และไม้เสาหลักที่เสี้ยมปลาย แต่ไม่ได้เลื่อยตามยาวหรือไม่ได้ผ่าซีก ไม้ท่อนเล็กที่ตกแต่งอย่างหยาบ ๆ แต่ยังไม่กลึง ไม่ดัด หรือยังไม่ทำอย่างอื่น เหมาะสำหรับผลิตไม้เท้า ร่ม ด้ามเครื่องมือ หรือผลิตของที่คล้ายกัน ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4404.10.00 - 4404.20.90
1.2 ไม้แปรรูป หมายความว่า การนำเอาลำต้นของไม้หรือซุงมาเลื่อยแปรรูปเป็นแผ่นให้สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย โดยจะแบ่งตามความแข็งแรง เช่น ไม้เนื้อแกร่ง ไม้เนื้อแข็ง และไม้เนื้ออ่อน ได้แก่
(1) ไม้เป็นชิ้นหรือสะเก็ด ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4401.21.00 - 4401.22.00
(2) ไม้รัดถัง ไม้ซีก รวมทั้งไม้เสาเข็ม ไม้เสารั้ว และไม้เสาหลักที่ผ่าซีก ไม้สับหรือไม้ชิพ และของที่คล้ายกัน ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4404.10.00 - 4404.20.90
(3) ไม้หมอนรถไฟหรือรถราง ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4406.11.00 - 4406.92.00
(4) ไม้ที่เลื่อยหรือถางตามยาว ฝาน หรือลอก จะไส ขัด หรือต่อปลายหรือไม่ก็ตาม มีความหนาเกิน 6 มิลลิเมตร ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4407.11.10 - 4407.99.90
(5) แผ่นไม้สำหรับทำไม้วีเนียร์ แผ่นไม้สำหรับทำไม้อัดพลายวูด หรือแผ่นไม้สำหรับทำลามิเนเต็ดวูดที่คล้ายกันอื่น ๆ และไม้อื่น ๆ ที่เลื่อยตามยาว ฝาน หรือลอก จะไส ขัด ต่อริม หรือต่อปลายหรือไม่ก็ตาม มีความหนาเกิน 6 มิลลิเมตร ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4408.10.10 - 4408.90.90
(6) นอกจากนี้ รวมถึงไม้แปรรูปอื่น ๆ เช่น ไม้ประสาน ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4421.99.96 - 4421.99.99, ไม้ปาร์เกต์ ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4409.10.00 - 4409.29.00, ไม้ปูพื้นรางลิ้นรอบตัว ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4409.10.00 - 4409.29.00
1.3 สิ่งประดิษฐ์ของไม้ หมายความว่า ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ บานประตู บานหน้าต่าง ไม้วงกบ ไม้คิ้ว ไม้บัว และอาคารสำเร็จรูปที่ทำจากไม้ทุกชนิด แผ่นชิ้นไม้อัด (ปาร์ติเกิลบอร์ด) แผ่นชิ้นไม้อัดเรียงแถว (โอเอสบี) แผ่นไม้ที่คล้ายกัน ทำด้วยไม้หรือวัตถุอื่น ๆ จำพวกไม้ไฟเบอร์บอร์ด ไม้อัดพลายวูด ไม้อัดวีเนียร์และลามิเนเต็ดวูดที่คล้ายกัน เครื่องประกอบอาคารทำด้วยไม้เสาเหลากลม แผ่นไม้สำหรับทำไม้วีเนียร์ที่ได้จากการฝานลามิเนเต็ดวูดที่มีความหนาไม่เกิน 6 มิลลิเมตร และให้หมายความรวมถึงไม้ประสาน ไม้ปาร์เกต์ ไม้ปูพื้นรางลิ้น ไม้พื้นลิ้นรอบตัว และไม้โมเสก โดยต้องมีที่มีลักษณะและขนาดตรงตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ สิ่งประดิษฐ์ของไม้สามารถแยกได้ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย อาทิ 9403.30.00 - 9403.60.90, 9403.30.00 - 9506.40.10, 9403.50.00 - 9403.60.90, 9401.31.00 - 9402.10.30, 4418.21.00 - 4418.29.00, 4418.11.00 - 4418.19.00, 4418.11.00 - 4418.29.00 ฯลฯ
2. มาตรการควบคุมการนำเข้าโดยการกำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้าม
2.1 ไม้พะยูงท่อน ไม้พะยูงแปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้ที่ทำจากไม้พะยูง
หากเป็นการนำเข้าจากราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม้พะยูงท่อน ไม้พะยูงแปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้ที่ทำจากไม้พะยูง เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า กล่าวคือ ไม่สามารถนำเข้ามาได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้กำหนดห้ามไว้ แต่จากข้อมูลปรากฏว่ามีการลักลอบนำเข้าไม้พะยูงในลักษณะดังกล่าวจากกัมพูชาและลาวมากขึ้น จึงได้มีการกำหนดห้ามนำเข้าไว้เป็นการเฉพาะ
2.2 ไม้ท่อนและไม้แปรรูป
ไม้ท่อนและไม้แปรรูป (มิใช่ไม้พะยูงท่อนและไม้พะยูงแปรรูปตามข้อ 2.1) ที่จะถือเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้านั้น ต้องเป็นไม้ท่อนและไม้แปรรูปตามพิกัดศุลกากรและมีรหัสสถิติเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ เฉพาะที่มีชื่อหรือชนิดตรงกับไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้
นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ยังได้กำหนดข้อห้ามในการนำเข้าโดยนำด่านศุลการที่นำเข้ามาเป็นปัจจัยในการกำหนด โดยแต่เดิมกำหนดห้ามนำเข้าทางด่านศุลกากรในเขตจังหวัดตามแนวชายแดนจังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการกำหนดโดยแยกเป็น 2 กรณีคือ
(1) กรณีไม้ท่อน ห้ามนำเข้าเฉพาะไม้ท่อนที่นำเข้ามาทางด่านศุลกากรในเขตจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน
(2) กรณีไม้แปรรูป ห้ามนำเข้าเฉพาะไม้แปรรูปที่นำเข้ามาทางด่านศุลกากรในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
จะเห็นได้ว่ากลไกในการกำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้านั้น นอกจากจะกำหนดห้ามที่ตัวสินค้านั้นเป็นการเฉพาะแล้ว (เช่น ตัวอย่างการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ยังสามารถนำสถานที่นำเข้ามาเป็นปัจจัยในการควบคุมการนำเข้าได้ด้วย เนื่องจากกฎหมายมุ่งควบคุมการนำเข้าไม้ในลักษณะเป็นการจำกัดเพียงบางท้องที่บางจังหวัดเท่านั้น
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าแต่เดิมจังหวัดแม่ฮ่องสอนมิได้เป็นจังหวัดที่ห้ามนำเข้า แต่เนื่องด้วยมีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์และมีการบุกรุกตัดไม้ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก หากไม่กำหนดห้ามการนำเข้า ก็อาจมีการลักลอบตัดไม้แล้วนำมาสวมรอยในการนำเข้าได้ ดังนั้นประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ฉบับปัจจุบันจึงได้กำหนดเพิ่มเติมจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าไปอีกจังหวัดหนึ่ง ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาทรัพยากรของประเทศให้สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย
3. มาตรการควบคุมการนำเข้าโดยการกำหนดให้ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือหลักฐานการอนุญาตให้ส่งออก
สำหรับไม้ท่อน ไม้แปรรูป สิ่งประดิษฐ์ของไม้ ในกรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากที่เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่กล่าวมาในข้อ 2 นั้น ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ฉบับเดิมกำหนดให้ไม้และไม้แปรรูปทุกชนิด รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดที่ทำด้วยไม้ที่นำเข้ามาทางด่านศุลกากรที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยกำหนดให้ไม้ซุงต้องมีตราประทับของประเทศผู้ผลิตประทับที่ไม้ด้วย และสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดที่ทำด้วยไม้ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) หรือหลักฐานการอนุญาตให้ส่งออกแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบการนำเข้า เว้นแต่กรณีที่ได้นำเข้าโดยผู้ที่ได้รับจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและจดทะเบียนขออนุญาตตั้งโรงค้าสิ่งประดิษฐ์กับกรมป่าไม้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) หรือหลักฐานการอนุญาตให้ส่งออกประกอบการนำเข้า
แต่ในปัจจุบันได้มีกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ โดยยกเลิกการมีตราประทับ โดยกำหนดให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้ สามารถนำเข้าได้ภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O)[2] หรือหลักฐานการอนุญาตให้ส่งออกที่ออกโดยหน่วยงานที่มีอำนาจจากประเทศผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก และต้องนำมาแสดงต่อกรมศุลกากรเพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติพิธีการศุลกากรการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) หรือหลักฐานการอนุญาตให้ส่งออกที่ออกโดยหน่วยงานที่มีอำนาจจากประเทศผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกดังกล่าว ก็อาจนำเข้าได้หากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) การนำสินค้าติดตัวเข้ามาเพื่อใช้เฉพาะตัว กรณีนี้สอดคล้องกับตามภาค 4 ประเภทที่ 5 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ที่กฎหมายให้สิทธิยกเว้นภาษีอากรกับของส่วนตัวที่เจ้าของที่นำเข้ามาพร้อมกับตนทางท่าอากาศยานสำหรับของที่มีลักษณะเป็นของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง
(2) การนำเข้ามาเพื่อเป็นตัวอย่างหรือศึกษาวิจัย การนำเข้ามาในราชอาณาจักรสำหรับของที่่นำเข้ามาเพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาและการวิจัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการศึกษาและสร้างนวัตกรรมแก่งานวิจัยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงยกเว้นอากรให้กับไม้ที่นำเข้ามาเป็นตัวอย่างหรือการศึกษาวิจัย
(3) การนำเข้ามากับยานพาหนะเพื่อใช้ในยานพาหนะนั้น ๆ เท่าที่จำเป็น ในกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ให้ยกเว้นอากรได้ หากนำมาพร้อมกับยานพาหนะและใช้ในยานพาหนะตามความจำเป็น แล้วแต่กรณี
4. ความผิดและโทษตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
4.1 กรณีนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผ่านพิธีการศุลกากร กรณีไม้ท่อนและไม้แปรรูป เฉพาะที่มีชื่อหรือชนิดตรงกับไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือกรณีไม้พะยูงท่อน ไม้พะยูงแปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้ที่ทำจากไม้พะยูง ที่นำเข้าจากราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเป็น “ของต้องห้าม” (Prohibited Goods) ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หมายความว่า “ของที่มีกฎหมายกำหนดห้ามมิให้นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร”
ดังนั้น “ของต้องห้าม” คือ “ของที่ถูกกำหนดว่า ห้ามนำเข้าหรือนำออกนอกราชอาณาจักรแม้กระทั่งห้ามส่งผ่านโดยเด็ดขาด” ผู้ใดฝ่าฝืนนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรมีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายศุลกากร อันเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตามมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ใดพยายามกระทำความผิดฐานนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
4.2 กรณีนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ความผิดในลักษณะนี้เรียกว่า “ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร” ตามมาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หลักกฎหมายมีใจความว่า “ผู้ใดนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ... ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ”
คำว่า “ลักลอบหนีศุลกากร” หมายถึง การส่งของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีอากร หรือของที่มีกฎหมายห้าม หรือกฎหมายควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมีลักษณะการกระทำที่เป็นการส่งออกซึ่งของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร หรือจะให้เข้าใจโดยง่าย ๆ คือ ของที่มิได้ส่งออกไปตามท่า ที่ หรือสนามบินศุลกากร หรือตามช่องทางที่กฎหมายกำหนดนั่นเอง เจตนารมณ์ของกฎหมายจึงมุ่งเอาผิดกับผู้ที่ลักลอบหนีศุลกากร ซึ่งของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรให้ถูกต้อง และความผิดฐานนี้สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้แม้กระทำโดยไม่มีเจตนา เนื่องจากตามนัยมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า “การกระทำความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 242 หรือมาตรา 244 ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา” ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า ผู้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรจะกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำหรือไม่ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นหรือไม่ ก็มีความผิดตามมาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เนื่องจากกำหนดให้ผู้ที่กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
ดังนั้นในส่วนของการกระทำความผิดและโทษตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรจึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแยกพิจารณาเป็นรายกรณีไป
[1] ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 92) พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำไม้และไม้แปรรูป รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดที่ทำด้วยไม้เข้ามาในราชอาณาจักร ตามแนวชายแดนจังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548
[2] Certificate of Origin (C/O) ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร คือ หนังสือรับรองที่ออกให้แก่ผู้ส่งออกในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าว่ามีแหล่งกำเนิดจากประเทศผู้ออกหนังสือรับรองฯ และสามารถใช้เป็นเอกสารรับรองการนำเข้าตามเงื่อนไขของประเทศปลายทางหรือตามเงื่อนไขของผู้นำเข้า แต่ไม่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนทางภาษีได้ และใช้เป็นเอกสารประกอบเพื่อยื่นขอเปิด L/C (Letter of Credit) กับธนาคารได้
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ