กำลังโหลด...

×



Tax การขอรับของไปก่อนการปฏิบัติพิธีการศุลกากร

magazine image
Tax

การขอรับของไปก่อนการปฏิบัติพิธีการศุลกากร

รติรัตน์ คงเอียด

28 พฤศจิกายน 2566

ผู้นำของเข้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากร คงจะทราบเป็นอย่างดีแล้วว่าการนำของเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรก่อน จึงจะสามารถรับของออกไปจากอารักขาของศุลกากรได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ 

“ก่อนที่จะนำของใดไปจากอารักขาของศุลกากร ผู้นำของเข้าต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียอากรจนครบถ้วนหรือวางประกันไว้” 

ด้วยเหตุนี้ ของใด ๆ ก็ตามที่มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้นำของเข้าจะต้องดำเนินการยื่นใบขนสินค้าและเสียอากร หรือวางประกันไว้โดยถูกต้องครบถ้วน และหากมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายนั้น ๆ ให้ถูกต้องครบถ้วนด้วย เพราะหากผู้นำของเข้าฝ่าฝืนจะมีความผิดและต้องรับโทษตามบทบัญญัติของกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรา 51 วรรคหนึ่ง จะกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เช่นนั้น แต่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 51 วรรคสาม ก็ได้กำหนดต่อไปว่า

“เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอและอธิบดีเห็นว่ามีความจำเป็นต้องนำของใดออกไปจากอารักขาของศุลกากร หรือต้องส่งของใดออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเร่งด่วน อธิบดีมีอำนาจอนุญาตให้นำของนั้นไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร โดยยังไม่ต้องยื่นใบขนสินค้าให้สมบูรณ์หรือยังไม่ต้องเสียอากรจนครบถ้วน” 

จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า กรมศุลกากรได้เปิดโอกาสให้แก่ผู้นำของเข้าสามารถรับของไปก่อนการปฏิบัติพิธีการศุลกากรได้ หากมีความจำเป็นรีบด่วนต้องนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร โดยผู้นำของเข้าต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอรับของไปก่อนการปฏิบัติพิธีการศุลกากรนั้น กำหนดไว้ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 108/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับของไปก่อนการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ 3 กรณี ดังนี้

1. กรณีนำเข้าของทั่วไป

กรณีผู้นำของเข้าขออนุญาตนำ “ของ” หรือ “สินค้า” ออกไปจากอารักขาของศุลกากรก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากรครบถ้วนนั้น กฎหมายกำหนดให้ผู้นำของเข้าต้องปฏิบัติดังนี้

(1) การยื่นคำร้องขอรับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากร เมื่อผู้นำของเข้าที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะขอรับของออกไปก่อนการปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วน ผู้นำของเข้าต้องยื่น “คำร้องขอผ่อนผันรับของ/ส่งของออกไปก่อน” (แบบ กศก.103) พร้อมเอกสารประกอบ เช่น ใบตราส่งสินค้า บัญชีราคาสินค้าและ/หรือเอกสารการซื้อขายเท่าที่มี และสัญญาประกัน (แบบ กศก.28) ต่อหน่วยงานปฏิบัติพิธีการ กรมศุลกากร และให้มีสำเนาเอกสารทั้งหมดไว้อีกหนึ่งชุด เพื่อยื่นประกอบคำร้องด้วย

อย่างไรก็ตาม หากว่าของหรือสินค้าซึ่งผู้นำของเข้ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะขอรับของออกไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากร เป็นของหรือเป็นสินค้าที่ต้องได้รับอนุญาตในการนำเข้าหรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ผู้นำของเข้าก็ต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตรงตามเงื่อนไขดังกล่าวเสียก่อน จึงจะขอรับของไปก่อนการปฏิบัติพิธีการศุลกากรได้

(2) การวางหลักประกัน การขอรับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากร ผู้นำของเข้าต้องวางเงินประกันหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้คุ้มกับค่าภาษีอากรที่สามารถวางประกันได้ตามกฎหมาย แต่หากผู้นำของเข้าเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระและอื่น ๆ ที่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือเป็นผู้มีเอกสิทธิ์ทางการทูต ก็สามารถวางหลักประกันอย่างอื่นนอกจากการวางเงินประกันหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารได้

(3) การส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร เมื่อกรมศุลกากรได้อนุมัติคำขอผ่อนผันรับของไปก่อนแล้ว หน่วยงานปฏิบัติพิธีการ กรมศุลกากร จะกำหนดเงินประกันให้คุ้มค่าภาษีอากรที่สามารถวางประกันได้ตามกฎหมายตามรายการในคำขอ โดยบวกเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของค่าภาษีอากรที่สามารถวางประกันได้ตามกฎหมาย หลังจากนั้น ผู้นำของเข้าต้องส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร โดยมีหลักปฏิบัติดังนี้

(3.1) ให้บันทึกประเภทใบขนสินค้า (หลักที่ 5 ของเลขที่ใบขนสินค้า) เป็นรหัส “3” หมายถึง คำร้องขอรับของไปก่อนเท่านั้น

(3.2) ให้บันทึกเหตุผลการวางประกัน (Deposit Reason Code) ตามกรณีของการวางประกันเพื่อการนำเข้า

(3.3) กรณีใบขนสินค้าขาเข้าได้รับยกเว้นการตรวจ (Green Line) ให้ผู้นำของเข้าติดต่อพนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบทำการปรับสถานะใบขนสินค้า (Status) เป็นใบขนสินค้าที่ขอพบพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบพิกัดและราคาของ

(4) การตรวจปล่อย ให้ผู้นำของเข้าหรือตัวแทนนำต้นฉบับคำขอรับของไปก่อนและชุดเอกสารข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้ายื่นเพื่อขอรับการตรวจปล่อยของต่อส่วนบริการศุลกากรเพื่อสั่งการตรวจต่อไป

(5) การยื่นคำร้องขอปฏิบัติพิธีการศุลกากรเมื่อผู้นำของเข้าได้รับการตรวจปล่อยของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้ว ผู้นำของเข้าต้องยื่นคำร้องขอปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันตรวจปล่อย อย่างไรก็ตาม หากผู้นำของเข้ารายใดไม่สามารถยื่นคำขอปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาหรือก่อนผิดสัญญาประกัน ให้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาการปฏิบัติพิธีการศุลกากรก่อนครบกำหนด หรือก่อนผิดสัญญาประกันไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน

(6) ผลของการผิดสัญญาประกัน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาประกันหรือครบกำหนดระยะเวลาที่ขอขยายเวลาในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร หากผู้นำของเข้าไม่ยื่นคำขอปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วนสมบูรณ์ กฎหมายศุลกากรถือว่าเป็นการผิดสัญญาประกัน ซึ่งกรมศุลกากรโดยหน่วยงานปฏิบัติพิธีการจะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม และคำนวณเงินค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร แล้วบันทึกส่งให้หน่วยงานบัญชีและอากรผลักเงินสดที่วางประกันไว้เป็นค่าภาษีอากร โดยจะผลักเงินส่วนที่เหลือร้อยละ 5 แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เป็นเงินค่าบังคับผิดสัญญาประกันนำส่งเข้าเป็นรายได้ของรัฐโดยทันที ส่วนคำร้องขอผ่อนผันรับของออกไปก่อนรายใดที่ใช้หนังสือธนาคารค้ำประกัน เมื่อมีการปฏิบัติผิดสัญญาประกันก็จะดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยกรมศุลกากรจะมีหนังสือเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันนำเงินมาชำระค่าภาษีอากร พร้อมเงินเพิ่มและค่าบังคับสัญญาประกันตามนัยข้างต้น และหากเงินที่ชำระไม่คุ้มค่าภาษีอากร ผู้นำของเข้ามีหน้าที่ต้องชำระให้ครบถ้วนต่อไป

2. กรณียุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการ

โดยหลักแล้ว ยุทธภัณฑ์ที่นำเข้าต้องเสียอากรขาเข้าตามกฎหมายศุลกากร แต่หากยุทธภัณฑ์ที่นำเข้านั้นเป็น “ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการ” ก็จะมีสิทธิได้รับการยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 13 โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 150/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการยกเว้นอากรของตามประเภท 13 ภาค 4 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ซึ่งประกาศกรมศุลกากรฉบับนี้ได้กำหนดลักษณะของยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการที่มีสิทธิได้รับการยกเว้นอากร และได้กำหนดพิธีการศุลกากรไว้ กล่าวคือ จะต้องมีการยื่นหนังสือขอยกเว้นอากร รวมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้รับการอนุมัติให้ยกเว้นอากรจึงจะสามารถปฏิบัติพิธีการศุลกากรตามปกติและนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรได้

แต่ในบางกรณี หากมีความจำเป็นต้องขอรับยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากร อันเนื่องมาจากมีความจำเป็นต้องนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรโดยรีบด่วน และยังไม่สามารถดำเนินการในเรื่องการยกเว้นอากรได้แล้วเสร็จ กฎหมายก็ได้กำหนดให้ผู้นำของเข้าต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรเช่นเดียวกับกรณีทั่วไป โดยต้องวางเงินสด หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือหนังสือของส่วนราชการ เพื่อเป็นการประกันค่าภาษีอากร ดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 กรณีนำเข้าของทั่วไป และมีรายละเอียดบางส่วนที่แตกต่างกันดังนี้

(1) การขยายระยะเวลาปฏิบัติพิธีการศุลกากร เมื่อผู้นำของเข้าได้รับของไปแล้ว แต่ไม่สามารถมาปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วนได้ภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันตรวจปล่อย ให้ผู้นำของเข้ายื่นคำร้องขอขยายเวลาต่อหน่วยงานพิธีการ กรมศุลกากร ก่อนครบกำหนดระยะเวลา

(2) การผิดสัญญาประกัน เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันตรวจปล่อย หากผู้นำของเข้ายังมิได้นำหนังสือขอยกเว้นอากรมาแสดง หน่วยงานพิธีการ กรมศุลกากร จะงดรับปฏิบัติพิธีการศุลกากรแก่ของที่นำเข้ารายต่อ ๆ ไป เว้นแต่หน่วยราชการผู้ขอรับของไป ได้มีหนังสือแจ้งมายังกรมศุลกากรถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ยังไม่สามารถนำหนังสือขอยกเว้นอากรมาแสดงได้ ส่วนกรณีที่หน่วยงานราชการให้หน่วยงานเอกชนหรือบุคคลใด ๆ นำเข้าตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบให้หน่วยงานราชการ หากไม่ปฏิบัติตามระเบียบของกรมศุลกากรถือเป็นการผิดสัญญาประกัน ซึ่งผู้นำของเข้าจะถูกดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีของทั่วไปดังที่กล่าวมาในกรณีที่ 1

3. กรณีเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงก่อสร้าง ยานพาหนะ ส่วนประกอบ และวัสดุที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม

พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 70 กำหนดให้ผู้รับสัมปทานและผู้รับจ้างซึ่งได้ทำสัญญาจ้างเหมาโดยตรงกับผู้รับสัมปทาน มีสิทธินำ “เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงก่อสร้าง ยานพาหนะ ส่วนประกอบ อุปกรณ์ และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม” เข้ามาในราชอาณาจักรได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการยกเว้นการเสียอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร โดยได้รับการยกเว้นเฉพาะของที่คณะกรรมการปิโตรเลียมเห็นชอบว่าจำเป็นในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ทั้งนี้ เหตุผลที่การนำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงก่อสร้าง ยานพาหนะ ส่วนประกอบ อุปกรณ์ และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมเข้ามาในราชอาณาจักร กฎหมายกำหนดให้เป็นของที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้านั้น เพราะถือว่าเป็นของที่นำเข้ามา “เพื่อใช้ประโยชน์อย่างใดที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ” ตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 

อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน ผู้นำของเข้ามีความประสงค์ที่จะขอรับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากร สำหรับของที่เป็นเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงก่อสร้าง ยานพาหนะ ส่วนประกอบ อุปกรณ์ และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมเข้ามาในราชอาณาจักร ก็สามารถทำได้ โดยผู้นำของเข้าที่ได้รับหนังสืออนุญาตจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้วนั้น จะต้องแจ้งความประสงค์ต่อกรมศุลกากรเพื่อขอวางเงินสด หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือหนังสือของส่วนราชการ เพื่อเป็นการประกันค่าภาษีอากร พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลคำร้องขอรับของไปก่อน โดยขอยกเว้นอากรตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศกรมศุลกากรฯ ดังนี้ 

(1) การวางประกันหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ผู้นำของเข้าซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานและผู้รับจ้างเหมาโดยตรงจากผู้รับสัมปทานที่ได้รับสิทธินำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงก่อสร้าง ยานพาหนะ ส่วนประกอบ อุปกรณ์ และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมเข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการปิโตรเลียมตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 แล้วนั้น ต้องวางประกันหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารเพื่อเป็นการค้ำประกันค่าภาษีอากรที่สามารถวางประกันได้ตามกฎหมายในวงเงินจำนวน 20 ล้านบาทต่อกรมศุลกากร

(2) กรณีวงเงินค้ำประกันลดลง หากปรากฏในภายหลังว่า วงเงินค้ำประกันคงเหลืออยู่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ให้ผู้นำของเข้านำหนังสือยกเว้นอากรจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมายื่นคำร้องเพื่อขอผ่อนผันรับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากรได้ภายในวงเงินค้ำประกันที่ลดลงดังกล่าว

(3) การต่ออายุหนังสือค้ำประกันของธนาคาร หนังสือค้ำประกันของธนาคารให้มีกำหนดเวลาค้ำประกันค่าภาษีอากรที่สามารถวางประกันได้ตามกฎหมายสำหรับของที่นำเข้าภายในระยะเวลา 2 ปี และผู้นำของเข้าต้องนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับใหม่ หรือหนังสือธนาคารที่ต่ออายุหนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับเดิมมาวางไว้กับกรมศุลกากรก่อนระยะเวลาตามหนังสือค้ำประกันฉบับเดิมสิ้นสุดลงทุกครั้ง

(4) การอนุมัติ การได้รับอนุมัติให้วางเงินประกันหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ให้ถือเป็นการค้ำประกันค่าภาษีอากรที่สามารถวางประกันได้ตามกฎหมายสำหรับการนำเข้าทุก ๆ ใบขนสินค้า และครอบคลุมจุดนำเข้าทุกแห่งด้วย

(5) การเพิ่มเติมหรือยกเลิกหน่วยงานศุลกากรนำเข้า ในการเพิ่มเติมหรือยกเลิกหน่วยงานศุลกากรนำเข้านั้น กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้นำของเข้าต้องแจ้งต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทราบ เพื่อที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้แจ้งให้กรมศุลกากรทราบในการขอรับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากรต่อไป

(6) การคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร เมื่อกรมศุลกากรได้ตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้นำของเข้าไม่มีภาระภาษีอากรตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับนั้นค้างชำระต่อกรมศุลกากร กรมศุลกากรจะพิจารณาคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้แก่ผู้นำของเข้า

(7) ระยะเวลาในการวางเงินประกัน ผู้นำของเข้ารายใดได้รับอนุมัติให้วางเงินประกัน หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารไว้ก่อนแล้วในวงเงินจำนวน 20 ล้านบาทต่อกรมศุลกากร ให้ถือว่ายังคงได้รับอนุมัติการวางเงินประกันมีอยู่ต่อไป ทั้งนี้ การวางหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ให้ถือว่าได้รับอนุมัติอยู่ต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาสำหรับของที่นำเข้าภายในระยะเวลา 2 ปี

(8) การผิดสัญญาประกัน หากผู้นำของเข้าซึ่งได้รับอนุมัติให้รับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากรรายใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศกรมศุลกากรว่าด้วยการขอรับของไปก่อนการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ถือว่าผู้นำของเข้าผิดสัญญาประกัน กรมศุลกากรจะบังคับสัญญาประกันทัณฑ์บนโดยพลัน

จากหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าผู้นำของเข้าสามารถขอรับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากรได้ แต่เนื่องจากของที่รับไปนั้นเป็นการนำออกไปโดยที่ยังมิได้มีการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ดังนั้นกฎหมายศุลกากรจึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขไว้ค่อนข้างเคร่งครัดเพื่อป้องกันมิให้มีการหลีกเลี่ยงหรือหนีภาษี ผู้นำของเข้าที่ประสงค์จะดำเนินการในเรื่องนี้จึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการ มิฉะนั้น ก็อาจถูกบังคับหลักประกันที่วางไว้ แม้จะเป็นของที่ได้รับการยกเว้นอากรก็อาจถูกบังคับหลักประกันได้ หากผิดเงื่อนไขก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย

Top 5 Contents