
ภาษีกับการให้ในคู่สมรสไม่จดทะเบียน
28 พฤศจิกายน 2566
สังคมปัจจุบันอาจแตกต่างจากอดีตในการอยู่ร่วมกันของชายและหญิง โดยที่ผ่านมา ชายและหญิงที่ประสงค์จะสร้างครอบครัวด้วยกันมักนิยมจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย หรือเรียกว่า “สามีภริยาตามกฎหมาย” ทำให้ทรัพย์สินที่หาได้ร่วมกันภายหลังจดทะเบียนสมรส รวมทั้งดอกผลของสินส่วนตัวที่ได้รับภายหลังจดทะเบียนสมรส เรียกว่า “สินสมรส” ทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิร่วมกันคนละกึ่งหนึ่ง
แต่ในปัจจุบันด้วยเหตุผลนานาประการทำให้การจดทะเบียนสมรสอาจไม่เป็นที่ต้องการของหลาย ๆ คู่ โดยทั้ง 2 ฝ่ายอาจตกลงอยู่ร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่มีการจัดงานสมรสและสังคมรับทราบถึงการอยู่ร่วมกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ไม่ถือว่าการอยู่ร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย เป็นสามีภริยาหรือคู่สมรสตามกฎหมายแต่อย่างใด
ในการอยู่ร่วมกันของคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ต่างฝ่ายอาจทำงานร่วมกัน เปิดกิจการร่วมกัน หรือได้รับเงินหรือทรัพย์สินทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์จากอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อเกื้อกูลกัน ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการและภาระภาษีมากมาย เช่น แต่ละฝ่ายต้องยื่นแบบฯ ระบุสถานะใด และเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากอีกฝ่ายหนึ่งต้องถือเป็นเงินได้และนำมาคำนวณภาษีหรือไม่
1. สถานะทางกฎหมายของคู่สมรสไม่ได้จดทะเบียน
มาตรา 1457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”
มาตรา 1458 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย”
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติทั้ง 2 มาตราข้างต้น การสมรสจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อชายและหญิงได้จดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนเรียบร้อยแล้ว และทำให้สถานภาพของชายและหญิงเปลี่ยนเป็นสามีและภริยาตามกฎหมาย บุตรที่เกิดมาจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาและมารดา
ดังนั้นหากชายและหญิงใดไม่ได้จดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนตามกฎหมาย สถานภาพของบุคคลทั้งสองยังครองความเป็น “โสด” ถึงแม้ว่าจะได้มีการจัดงานแต่งงานและอยู่ร่วมกันแล้วก็ตาม และบุตรที่เกิดมาถือเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ ซึ่งหากบิดาประสงค์จะให้บุตรของตนเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดาสามารถดำเนินการได้ 3 วิธี คือ
(1) บิดามารดาได้สมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
(2) บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร
(3) ศาลได้พิพากษาว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา
2. สิทธิทางภาษีของคู่สมรสไม่ได้จดทะเบียน
ประมวลรัษฎากรในส่วนของบุคคลธรรมดา ปรากฏคำว่า “สมรส” หลายมาตรา เช่น มาตรา 47 (ค่าลดหย่อน) มาตรา 56 มาตรา 57 ฉ (การยื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการคำนวณภาษีเงินได้ของสามีภริยา) เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของชายและหญิงมีความสำคัญต่อภาษีอากรอย่างยิ่ง โดยในการยื่นรายการ ไม่ว่าจะเป็นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นสามีหรือภริยาตามกฎหมาย ต้องระบุสถานภาพของผู้มีเงินได้ว่า “สมรส” ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนในส่วนของตนเองและคู่สมรสได้เต็มจำนวนตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด (คนละ 60,000 บาท (กรณีแยกยื่นรายการ) หรือ 120,000 บาท (กรณียื่นรายการรวมกันในนามของสามีหรือภริยา) นอกจากนี้ ผู้มีเงินได้ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายของตน (คนละ 30,000 บาท (กรณีแยกยื่นรายการ)[1] หรือ 60,000 บาท (กรณียื่นรายการรวมกัน)[2] เป็นต้น
ดังนั้นหากชายและหญิง (ผู้มีเงินได้) ใด ได้อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่ละฝ่ายยังคงต้องยื่นรายการในสถานภาพ “โสด” และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะส่วนของตน จะนำสิทธิลดหย่อนของอีกฝ่ายหนึ่งมาใช้ไม่ได้ และสำหรับการลดหย่อนบุตร มารดาเท่านั้นมีสิทธิลดหย่อนบุตร บิดาจะใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้เมื่อบิดาได้ดำเนินการตาม 1 (1) (2) หรือ (3) ข้างต้น
3. การอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาในคู่สมรสไม่จดทะเบียนมีหรือไม่
กรณีชายและหญิงใดไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายและได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจให้เงินอีกฝ่ายหนึ่งได้ใช้สอยหรือเกื้อกูลครอบครัว เช่น ชายและหญิงอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย โดยฝ่ายชายทำงานอยู่ในต่างประเทศและมาประเทศไทยเป็นครั้งคราว ได้ให้เงินฝ่ายหญิงซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยใช้จ่ายเป็นประจำทุกเดือน ทำให้มีคำถามว่า เงินที่ฝ่ายหญิงได้รับนั้นจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมายื่นรายการ เนื่องจากเป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือไม่ หรือต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้และยื่นรายการให้กรมสรรพากร
หลายท่านน่าจะเคยได้ยินว่า ไม่มีอะไรฟรีในโลก นั่นหมายความว่า ในทางภาษีอากรทุกสิ่งอย่างที่บุคคลได้รับมา หากไม่มีกฎหมายยกเว้นให้ ย่อมต้องถือเป็นเงินได้พึงประเมินและต้องนำมาคำนวณภาษีทั้งสิ้น ดังนั้นกรณีตามตัวอย่าง ฝ่ายหญิงได้รับเงินจากฝ่ายชายเพื่อใช้สอยในครัวเรือน โดยหลักกฎหมายแล้ว ฝ่ายหญิงย่อมถือเงินที่ได้รับมานั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยฝ่ายหญิงซึ่งเป็นผู้มีเงินได้จะต้องนำเงินที่ได้รับมานั้นไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามแบบ ภ.ง.ด.90 เว้นแต่กรณีดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เช่น การได้รับเงินอันเนื่องจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เป็นต้น ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
3.1 เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หมายความอย่างไร
หากพิจารณาประมวลรัษฎากรในส่วนเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำว่า “อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” ปรากฏให้เห็นในมาตรา 42 (27) และ (28) ซึ่งได้รับการแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558
มาตรา 42 (27) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะจากคู่สมรสเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
มาตรา 42 (28)แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาจากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
มาตรา 42 (27) และ (28) มีความแตกต่างชัดเจน กล่าวคือ มาตรา 42 (27) เป็นการยกเว้นเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาจากคู่สมรสที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเป็นจำนวนไม่เกิน 20 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี และสำหรับกรณีมาตรา 42 (28) เป็นการยกเว้นเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เป็นจำนวนไม่เกิน 10 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี
ดังนั้นหากพิจารณาตามตัวอย่าง กรณีชายหญิงอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เงินที่ฝ่ายหญิงได้รับจากฝ่ายชายอาจเข้าลักษณะเป็นการให้เงินเพื่ออุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในจำนวนไม่เกิน 10 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี ตามมาตรา 42 (28) แห่งประมวลรัษฎากร หากฝ่ายหญิงได้รับเงินเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ให้ฝ่ายหญิงซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ มีสิทธิเลือกคำนวณชำระภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ หรือจะนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นก็ได้ ตามมาตรา 48 (7) แห่งประมวลรัษฎากร
หากมีการตรวจสอบหรือเชิญพบจากเจ้าหน้าที่สรรพากร ผู้มีเงินได้หรือผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่เชื่อได้ว่า เงินที่ได้รับนั้นเข้าลักษณะการให้เพื่ออุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาตามข้อยกเว้นของกฎหมาย และเนื่องจากประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ มิได้กำหนดความหมายของ “การอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” ไว้ ประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 535 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ได้บัญญัติเกี่ยวกับกรณีการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยานั้น ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ ก็มิได้ให้ความหมายของ “การให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา” ไว้โดยเฉพาะแต่อย่างใด
ดังนั้นการตีความกรณีดังกล่าว จึงอาจพิจารณาได้ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งสรุปได้ว่า “การอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” เป็นกิจหรือการประพฤติถูกธรรมที่จะต้องทำเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล หรืออุดหนุน
3.2 หลักในการพิสูจน์ความเป็นคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายมีอย่างไร
การพิจารณาว่า ชายและหญิงอยู่กินร่วมกันจะถือเป็นคู่สมรสไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี ซึ่งอาจถือแนวทางการพิจารณาตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561 เทียบเคียง โดยข้อ 3 ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฯ กำหนดให้บุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรสถือเป็นคู่สรมรสตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561[3] ไว้ดังนี้
(1) ได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประเพณี
(2) เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว
(3) ให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐ และต่อมาได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นสามีหรือภริยากัน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามาตรา 1461 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีภาระหน้าที่ของสามีภริยาซึ่งจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย กำหนดว่า “สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน” ซึ่งหน้าที่ของคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายย่อมมีหน้าที่ช่วยเหลืออุปการะกันตามสมควรเช่นเดียวกับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน
3.3 การอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาในคู่สมรสไม่จดทะเบียนสมรสได้รับยกเว้นภาษีเงินได้หรือไม่
หากพิจารณาตาม 3.1 และ 3.2 เห็นได้ว่า ชายและหญิงอยู่ร่วมกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส สามารถให้เงินเพื่อสนับสนุนหรืออุดหนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการเป็นอยู่ในครอบครัวได้ โดยหากข้อเท็จจริงปรากฎชัดแจ้งว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกัน โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าทั้งสองได้อยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประเพณี หรือมีการแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นสามีภริยา โดยเทียบเคียงแนวทางประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฯ การที่ฝ่ายชายให้เงินฝ่ายหญิงที่อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรืออุปการะเลี้ยงดูกันตามสมควร ย่อมเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนไม่เกิน 10 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 42 (28) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558[4]
4. สรุป
ความเป็นสามีภริยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่าสามีภริยาไม่จดทะเบียน และได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการอุปการะหรือการให้โดยเสน่หามากถึง 20 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี ขณะที่คู่สมรสไม่จดทะเบียนจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาจำนวน 10 ล้านบาทในแต่ละปีภาษีเท่านั้น และต้องมีหน้าที่พิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่เชื่อถึงการรับเงินนั้นว่าเป็นการสนับสนุนหรืออุดหนุนการใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายและขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่สรรพากรแต่ละท่าน
อย่างไรก็ตาม การเลือกจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละท่านเป็นสำคัญ อาจไม่ใช่แค่ภาษีเท่านั้น
[1] สำหรับบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาทต่อบุตร 1 คน ทั้งนี้ ตามมาตรา 47 (1) (ค) (1) แห่งประมวลรัษฎากร
[2] สำหรับบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 120,000 บาทต่อบุตร 1 คน ทั้งนี้ ตามมาตรา 47 (1) (ค) (1) แห่งประมวลรัษฎากร
[3] มาตรา 102 วรรคสอง และมาตรา 126 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
[4] กค 0702/530 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ