
กลยุทธ์บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
26 ธันวาคม 2566
หนึ่งในข่าวที่ได้รับความสนใจในแวดวงธุรกิจอย่างมากต่อเนื่องในช่วงปี พ.ศ. 2566 คงหนีไม่พ้น ข่าวเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและชื่อการค้าของร้านชาไทยยอดฮิตที่สร้างผลกระทบกันในวงกว้าง สร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้ประกอบการน้อยใหญ่จำนวนมาก ในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่ 2567 นี้ ผู้เขียนจึงอยากพาทุกคนเริ่มต้นใหม่ในการทำความเข้าใจ และเริ่มวางแผนการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับผู้ประกอบการเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจที่ดีในปีใหม่นี้ไปด้วยกัน
“ทรัพย์สินทางปัญญา” เป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่สำคัญมากของผู้ประกอบการในปัจจุบัน นอกเหนือไปจากทรัพย์สินคงที่ ตึกอาคาร เครื่องจักรแล้ว และถือเป็นทรัพย์สินที่สร้างมูลค่าให้แก่บริษัทต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี (Tech Startup) ที่เราจะเห็นได้ว่า บริษัทเหล่านี้สร้างมูลค่าของบริษัทต่าง ๆ สูงขึ้นเป็น 100 เท่าได้ด้วยพลังแห่งทรัพย์สินทางปัญญาแม้จะไม่ได้มีอาคารสถานที่หรือทรัพย์สินคงที่มากมาย หรือกรณีของผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ลงทุนสร้าง Branding ให้แก่บริษัทอย่างจริงจังจนเป็นที่ติดตลาด ขายได้ด้วยชื่อของสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตนเอง และทำมูลค่าจาก Branding ผ่านกลไกต่าง ๆ หลากหลาย โดยเฉพาะการทำ Franchise หากผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าใจทรัพย์สินทางปัญญา และมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ย่อมทำให้บริษัทและธุรกิจดังกล่าวเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงมากขึ้น
ลักษณะทั่วไปของทรัพย์สินทางปัญญา
“ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะ 4 ข้อ คือ (1) สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นรางวัลตอบแทน (Reward) การสร้างสรรค์ให้แก่ผู้สร้างสรรค์ เมื่อมีผู้สร้างทรัพย์สินทางปัญญาใดขึ้น กฎหมายต้องการให้ความคุ้มครองจึงให้สิทธิในการปกป้องและใช้ประโยชน์ในสิ่งที่ตนสร้างสรรค์นั้นแก่ผู้สร้างสรรค์ (2) สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิขาดแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Rights) ที่กฎหมายให้แก่ผู้สร้างสรรค์ ในการใช้ประโยชน์และการหวงกันไม่ให้บุคคลอื่นละเมิดสิทธิดังกล่าว (3) สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิที่ให้การคุ้มครองเป็นการเฉพาะเพียงในประเทศที่ได้มีการสร้างสรรค์ จดทะเบียน หรือจดแจ้งเท่านั้น (Territorial) ยกเว้นบางกรณีที่มีสนธิสัญญาระหว่างกัน แต่โดยหลักการบังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะทำได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์เฉพาะในประเทศที่รับจดแจ้งหรือจดทะเบียนเป็นหลักเท่านั้น (4) สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญามีระยะเวลาในการคุ้มครองที่จำกัด (Time Limitation) ด้วยกฎหมายเล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อสังคงโดยรวมที่จะเกิดจากการต่อยอดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง กฎหมายจึงกำหนดจำกัดระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาไว้ ซึ่งเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครองแล้ว บุคคลอื่นก็จะสามารถที่จะนำทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่อได้
ทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายประเทศไทย
“ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ดังนี้
(1) ลิขสิทธิ์ (Copyright) ซึ่งจะคุ้มครอง “งานสร้างสรรค์” (Creative Work) ไม่ว่าจะได้รับการบันทึกในรูปแบบกระดาษ Physical หรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์
(2) สิทธิบัตร (Patent) ซึ่งจะคุ้มครอง “การประดิษฐ์” (Invention) หรือการออกแบบที่จับต้องได้ (Physical Thing)
(3) เครื่องหมายการค้า (Trademark) ซึ่งจะคุ้มครอง “เครื่องหมายแสดงความโดดเด่น” ที่แสดงความแตกต่างของสินค้าหรือบริการ กล่าวคือ Branding ยี่ห้อของสินค้าและบริการ
(4) ความลับทางการค้า (Trade Secret) ซึ่งคุ้มครอง “ข้อมูลความลับที่มีมูลค่าทางการค้า”
ความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ประกอบการแต่ละประเภทมีความสำคัญมากต่อการบริหารจัดการสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการดังกล่าวอย่างมาก เพราะสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทมีรูปแบบและข้อกำหนดในการคุ้มครองที่แตกต่างกันไป เช่น สิทธิบัตรต้องจดทะเบียนจึงจะได้รับการคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์ เครื่องหมายการค้าต้องจดทะเบียนก่อนแต่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดเงื่อนไขการจดทะเบียนบางส่วน เป็นต้น หากผู้ประกอบการไม่ได้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวให้ตรงกับประเภททรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกต้อง ย่อมจะทำให้เกิดความผิดพลาดในการเรียกบังคับสิทธิ รวมถึงการใช้ประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวได้ ดังเช่นในข่าวสารที่มีข้อพิพาทกันอย่างมาก โดยเฉพาะความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบังคับสิทธิระหว่าง “เครื่องหมายการค้า” “สิทธิบัตร” และ “ลิขสิทธิ์”
ลิขสิทธิ์ (Copyright) : “ลิขสิทธิ์” คุ้มครอง “งานสร้างสรรค์” ซึ่งมีการบันทึกการสร้างสรรค์ดังกล่าวแล้วไม่ว่าในสื่อ (Media) ประเภทใด เช่น ภาพวาด คลิปวิดีโอ เพลง นิยาย บทประพันธ์ และสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการเทคโนโลยีในปัจจุบัน ลิขสิทธิ์ คือ ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีบทบาทสำคัญคุ้มครอง Software/Applicationด้วยการคุ้มครอง Source Code ในลักษณะของ “งานประพันธ์” แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ หาก Software/Application มี Function/Features เหมือนกัน แต่ Function/Features ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการ Copy-paste ตัว Source Code มาโดยตรง โดยหลักผู้ประกอบการจะไม่สามารถเรียกร้องบังคับสิทธิการละเมิดลิขสิทธิ์จากการทำ Software/Application ที่แม้จะมี Function/Feature ที่เหมือนกันดังกล่าวได้โดยตรง “ลิขสิทธิ์” ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้สร้างสรรค์ต้องจัดทำขึ้นเพื่อการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ของตนคือการทำ Portfolio เพื่อบันทึกวันที่เริ่มต้นสร้างสรรค์งานดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานในการปกป้องเรียกร้องสิทธิของตนเหนืองานสร้างสรรค์ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่กฎหมายคุ้มครองว่า “ผู้สร้างสรรค์ก่อนเป็นผู้มีสิทธิก่อน” นอกเหนือจากการจัดทำบันทึกของตนเอง ผู้สร้างสรรค์อาจเลือกที่จะ “จดแจ้ง” การสร้างสรรค์ดังกล่าวกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเติมได้ เพื่อสร้างหลักฐานรองรับจากหน่วยราชการเพิ่มเติมในส่วนของวันที่สร้างสรรค์หรือวันเผยแพร่ได้ แต่การจดแจ้งดังกล่าวไม่ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญของการได้รับสิทธิของผู้จดแจ้ง กรณีของลิขสิทธิ์ ผู้สร้างสรรค์ได้รับการคุ้มครองสิทธิเป็นระยะเวลา 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือ 50 ปี นับแต่วันที่สร้างสรรค์ผลงาน กรณีเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นนิติบุคคล
สิทธิบัตร (Patent) : “สิทธิบัตร” คุ้มครอง “งานประดิษฐ์และออกแบบ” ที่ต้องไม่เคยมีหรือเกิดขึ้นมาก่อน แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อย ได้แก่ (1) สิทธิบัตรการประดิษฐ์ ซึ่งเป็นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับการจดทะเบียนยากมากที่สุด เพราะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ และต้องมีกระบวนการที่พิสูจน์ได้ว่ามีการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างมีสาระสำคัญ เช่น สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์เครื่องมือ หรือสิทธิบัตรกระบวนการผลิตเฉพาะ เป็นต้น (2) สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งคุ้มครองรูปร่างและลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น การคุ้มครองสิทธิบัตรทรง Smartphone หรือสิทธิบัตรการออกแบบลายผ้า เป็นต้น (3) อนุสิทธิบัตร คือ สิทธิบัตรประเภทที่คุ้มครองสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่อาจไม่ได้รับการพัฒนาที่สูงกว่าเดิมเท่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่ด้วยความเป็นอนุสิทธิบัตร สิทธิดังกล่าวจะได้รับการคุ้มครองที่สั้นกว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีทั้งหมดต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันคือ Software/Application ไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้สิทธิบัตร
“สิทธิบัตร” จะได้รับการคุ้มครองก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น โดยต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความ “ใหม่” และ “การพัฒนาที่มากขึ้น” แล้วแต่ความยากในการตรวจสอบ โดยได้รับการคุ้มครองสูงสุด 20 ปีสำหรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ 10 ปีสำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ 6 ปีสำหรับอนุสิทธิบัตร สิ่งที่ผู้ประกอบการที่ต้องการจดทะเบียนสิทธิบัตรเพื่อรับการคุ้มครองต้องวางแผนและบริหารจัดการ คือ ระยะเวลาในการจดทะเบียนคุ้มครองซึ่งใช้เวลานานตั้งแต่ 1 - 5 ปี ซึ่งในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวผู้ประกอบการจะยังไม่สามารถนำเสนอสินค้าดังกล่าวสู่สาธารณะหรือลูกค้าได้ เพราะจะทำให้สูญเสียความ “ใหม่” ของสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวในทันที ดังนั้นผู้ประกอบการควรประเมินว่า ในระหว่างระยะเวลาการรอคอยการจดทะเบียนดังกล่าว เทคโนโลยีในสิ่งประดิษฐ์นั้นจะยังเป็นที่ต้องการในตลาดหรือไม่ จะมีเทคโนโลยีอื่นมาทดแทนหรือไม่ โดยอาจวางแผนและประเมินว่าจะจดทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นอนุสิทธิบัตรแทนการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือจะดำเนินการคุ้มครองแนวคิดการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวด้วยทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น เช่น ความลับทางการค้า หรือลิขสิทธิ์ เป็นต้น ก่อนหรือไม่ เพื่อให้ยังสามารถรักษามูลค่าของสิ่งประดิษฐ์ได้อยู่ โดยที่ไม่ปิดโอกาสในการทดลองนำเสนอสินค้าดังกล่าวในตลาด
เครื่องหมายการค้า (Trademark) : เป็นหนึ่งในทรัพย์สินทางปัญญาเจ้าปัญหาที่ผู้ประกอบการส่วนมากยังไม่เข้าใจ และเป็นหนึ่งในหัวข้อข้อพิพาทด้านสิทธิของผู้ประกอบการจำนวนมากจากความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ กฎหมายเครื่องหมายทางการค้านั้น คุ้มครองความ “โดดเด่นและแตกต่าง” ของ Branding ที่ใช้เพื่อการแยกสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการออกจากเจ้าอื่น แม้กฎหมายจะใช้ความว่า “เครื่องหมาย” แต่ความจริงแล้ว กฎหมายคุ้มครองทั้งรูปภาพ คำพูด โลโก้ สัญลักษณ์ เพียงแต่ว่าต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้ (1) ต้องเป็นคำที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวที่จะทำให้ผู้ใช้สินค้าหรือบริการนั้นเข้าใจความแตกต่างของสินค้าหรือบริการนั้น แยกต่างหากจากสินค้าหรือบริการอื่นได้ทันที (2) ต้องไม่เป็นคำหรือสิ่งที่ใช้กันเป็นสามัญ และต้องไม่เหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น (3) ต้องไม่บ่งบอกคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการ ดังนั้นห้ามใช้ชื่อที่บอกโดยตรงว่าสินค้าดังกล่าวนั้นคืออะไร และมีคุณสมบัติอย่างไร เช่น น้ำดื่ม Clean Water จะไม่สามารถขอความคุ้มครองภายใต้กฎหมายเครื่องหมายการค้าได้ เว้นแต่ได้ดำเนินการสละสิทธิบางส่วนภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด (4) ต้องไม่เข้าลักษณะต้องห้ามอื่นที่กำหนดไว้
จากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นข่าวสารข้อพิพาทเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าล่าสุด เครื่องหมายการค้าหรือชื่อ Brand ที่มีข้อพิพาทกันนั้น การใช้ข้อความชื่อเครื่องหมายการค้าที่สื่อความหมายถึงผลิตภัณฑ์โดยตรง โดยบอกสินค้าที่ขายที่ร้านอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนถือว่าชื่อที่รวมในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ ดังนั้นผู้ประกอบการไม่สามารถฟ้องร้องบังคับสิทธิของตนต่อบุคคลอื่นโดยกล่าวอ้างว่าบุคคลอื่นที่ใช้ชื่อใกล้เคียงกับชื่อสินค้าของตนละเมิดเครื่องหมายการค้าภายใต้กฎหมายเครื่องหมายการค้าได้ และเมื่อมาพิจารณาต่อเนื่องที่ Logo ซึ่งเป็นรูปภาพ รูปดังกล่าวโดยหลักสามารถคุ้มครองได้ด้วยลิขสิทธิ์อยู่แล้ว หากเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยไม่ได้เกิดจากการลอกเลียนแบบผู้อื่น และเมื่อผู้ประกอบการใช้รูปภาพดังกล่าวเพื่อแสดงความแตกต่างให้แก่สินค้าของตน ผู้ประกอบการจึงดำเนินการขอคุ้มครองโลโก้รูปภาพดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าด้วยเช่นกัน กรณีของภาพที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้านั้น โดยหลักเมื่อเข้าเกณฑ์ย่อมสามารถจดทะเบียนคุ้มครองได้ แต่ด้วยองค์ประกอบภาพมีข้อความชื่อที่ไม่สามารถคุ้มครองได้ตามลักษณะของเครื่องหมายการค้าอยู่ เจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่ต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปภาพดังกล่าวโดยสละสิทธิการคุ้มครองบางส่วนไว้ด้วย โดยเฉพาะการสละสิทธิในการสงวนห้ามผู้อื่นใช้ชื่อที่คล้ายกับชื่อทางการค้าของตนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กรอบกฎหมายเครื่องหมายการค้า ซึ่งการสละสิทธิดังกล่าว หมายถึง เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้ข้อความที่สละสิทธินั้นในลักษณะอื่นได้ แต่ถ้าบุคคลอื่นนำข้อความรูปภาพดังกล่าวมาจัดวางคู่กับชื่อทางการค้าในรูปแบบที่เหมือนคล้ายหรือตรงกันกับรูปภาพโลโก้ทั้งหมดที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ และใช้เครื่องหมายดังกล่าวกับสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกัน ผู้ประกอบการจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายเครื่องหมายการค้าและยังสามารถห้ามการใช้รูปภาพที่จัดวางในลักษณะคล้ายคลึงดังกล่าวได้อยู่
“เครื่องหมายการค้า” มีลักษณะพิเศษต่างจากสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่น คือ หากจดทะเบียนจะได้รับการคุ้มครองเต็มตามกฎหมาย โดยเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องระบุชัดเจนว่า จะมีการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าหรือบริการจำพวกใดบ้าง และจะได้รับการคุ้มครองตามประเภทที่จดทะเบียนดังกล่าว เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนจะมีสิทธิในการบังคับมาตรการลงโทษทั้งที่เป็นแพ่งและอาญาต่อผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ โดยมีระยะเวลาการคุ้มครอง 10 ปี นับจากวันที่จดทะเบียนสามารถต่ออายุได้ แต่หากเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่สามารถจดทะเบียนได้ เจ้าของเครื่องหมายการค้าก็ยังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นกัน แต่สามารถฟ้องเอาความเสียหายทางแพ่งจากผู้ละเมิดที่ดำเนินการในลักษณะการ “ลวงขาย” คือ การที่บุคคลอื่นเอาสินค้าหรือบริการของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าหรือบริการของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ทำให้สาธารณชนคิดว่า สินค้าหรือบริการของบุคคลนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับของเจ้าของเครื่องหมายการค้าจริงเท่านั้น หรืออาจฟ้องร้องการทำซ้ำรูปภาพเครื่องหมายการค้าในรูปแบบการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปภาพที่ได้สร้างสรรค์ดังกล่าวก็ได้
ความลับทางการค้า (Trade Secret) : เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทพิเศษที่สามารถได้รับการคุ้มครองได้ทั้งใน (1) รูปแบบการปก ป้องตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า ซึ่งหากเป็นการใช้สิทธิคุ้มครองตามพระราชบัญญัติจะทำให้เจ้าของข้อมูลความลับทางการค้าที่เลือกใช้วิธีการปกป้องสิทธิดังกล่าวสามารถฟ้องบังคับคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาได้ โดยสามารถบังคับต่อผู้ละเมิดเป็นคดีโทษอาญาได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการฟ้องร้องค่าเสียหาย หรือ (2) รูปแบบการปกป้องตามสัญญาผ่านสัญญารักษาความลับ (Confidentiality Agreement หรือ Non-Disclosure Agreement) ซึ่งหากเกิดการละเมิดความลับทางการค้ากรณีดังกล่าว ผู้ประกอบการเจ้าของข้อมูลสามารถฟ้องร้องคดีแพ่งต่อผู้ละเมิดได้ ทั้งในแง่ของการฟ้องผิดสัญญาหรือการฟ้องละเมิดว่า บุคคลดังกล่าวเปิดเผยข้อมูลความลับและทำให้เกิดความเสียหาย แต่หลักการสำคัญของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทพิเศษนี้ คือ เจ้าของข้อมูลความลับต้องมีมาตรการในการรักษาความลับของข้อมูลดังกล่าว ด้วยเหตุที่ความลับทางการค้าไม่มีข้อกำหนดการจดทะเบียน และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขของข้อมูลที่จะถือเป็นข้อมูลความลับไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นเจ้าของข้อมูลความลับทางการค้าสามารถคุ้มครองแนวคิด การประดิษฐ์คิดค้นออกแบบทั้งหมดของตนได้ภายใต้กรอบของ “ความลับทางการค้า” ได้ทั้งหมด จึงถือว่าความลับทางการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีขอบเขตการคุ้มครองกว้างขวางที่สุด และเป็นพื้นฐานที่เจ้าของข้อมูลความลับดังกล่าวควรต้องรักษาไว้
3 กลยุทธ์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
จากกรอบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้กฎหมายประเทศไทยที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้กฎหมายประเภทต่าง ๆ ของผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อให้สินค้าบริการที่ผู้ประกอบการได้ลงทุนและลงแรงสร้างสรรค์ขึ้นได้รับการคุ้มครองสูงสุดภายใต้กรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อการบริหารจัดการสิทธิดังกล่าว จึงขอนำเสนอ 3 กลยุทธ์ที่สำคัญที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาดำเนินการดังนี้
(1) ผู้ประกอบการควรประเมินสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตนให้ชัดเจนก่อนว่า สินค้าหรือบริการของตนจะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใดบ้าง และเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว ผู้ประกอบการต้องดำเนินการอย่างไร เช่น ต้องจดทะเบียนหรือไม่ การจดทะเบียนนั้นมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดอย่างไร เพื่อรับประกันว่า เมื่อนำเสนอสินค้าและบริการดังกล่าวไปสู่ตลาดแล้วจะไม่ถูกบุคคลอื่นมาละเมิด ทั้งนี้ สินค้าหรือบริการหนึ่งอาจได้รับการคุ้มครองภายใต้ทรัพย์สินทางปัญญามากกว่า 1 ประเภทก็ได้ ดังนั้นต้องพิจารณาแยกส่วนการคุ้มครองดังกล่าวให้ได้เพื่อการคุ้มครองสูงสุด
(2) ผู้ประกอบการควรวางแผนกลยุทธ์การจดทะเบียนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้คุ้มค่า ด้วยลักษณะเฉพาะของทรัพย์สินทางปัญญาที่จะให้ความคุ้มครองเฉพาะประเทศที่มีการจดทะเบียนเป็นหลัก (Territorial) เท่านั้น หากจะมีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการนอกประเทศหรือจะมีการจ้างต่างประเทศผลิตสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบการควรวางแผนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้ครอบคลุมในทุกประเทศที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าหรือบริการดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องศึกษากฎหมายเฉพาะของแต่ละประเทศและสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เพื่อการวางแผนกลยุทธ์การจดทะเบียนที่คุ้มกับค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการดำเนินการสูงสุด
(3) วางแผนการใช้ประโยชน์สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Commercialization) ให้ได้หลากหลายเต็มประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้ ด้วยคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของทรัพย์สินทางปัญญา คือ การที่ทรัพย์สินทางปัญญานั้นสามารถแยกสิทธิในการใช้ประโยชน์ได้ โดยอาจแยกเป็นสิทธิการทำซ้ำ การทำสำเนา การเผยแพร่ จากกัน และสามารถให้สิทธิแก่บุคคลมากกว่า 1 คน เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมในทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นได้ ผู้ประกอบการจึงสามารถเลือกวางแผนใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาได้ในหลายรูปแบบ โดยอาจแบ่งเป็นการโอนสิทธิโดยสมบูรณ์ (Assignment) หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) โดยเฉพาะสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิ เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญายังสามารถกำหนดเงื่อนไขการอนุญาต กรอบระยะเวลา พื้นที่ และประเภทการใช้งานสิทธิดังกล่าวเป็นการเฉพาะได้หลากหลายอีกด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการที่วางแผนการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาได้หลากหลายที่สุด ย่อมสร้างแหล่งรายได้และมูลค่าจากทรัพย์สินทางปัญญาได้สูงสุดเช่นกัน
ท้ายนี้หวังว่า บทความนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ ทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้กฎหมายประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงสิทธิที่ตนมีและวิธีการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวให้สมบูรณ์ โดยเฉพาะเพื่อการบังคับสิทธิในการป้องกันไม่ให้มีบุคคลใดมาละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ พร้อมกับให้ To Do List ในแง่กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการควรปฏิบัติตามในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าและบริการของตนเองให้ได้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างมูลค่าในสินค้า บริการ และธุรกิจของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ