
อัปเดตหลักเกณฑ์ “เงินอุดหนุน” ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่
27 ธันวาคม 2566
“ยานยนต์ไฟฟ้า” (Electric Vehicle) เป็นยานยนต์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อให้ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ น้ำมัน หรือพลังงานอื่น ๆ ถือเป็น “นวัตกรรมใหม่แห่งยุคสมัย” ที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดปัญหาโลกร้อนและผลกระทบจากยานยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) ซึ่งเกิดกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดมลภาวะทางอากาศทั้งควันพิษ ฝุ่น PM 2.5 และอีกมากมาย ที่ล้วนส่งผลต่อกระทบกับสุขภาพ ปัจจุบันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก
ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “BEV” เป็นยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะเป็นนวัตกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อน ถือเป็นยานยนต์พลังงานไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ 100% ที่ไม่มีการปล่อยไอเสีย เรียกว่าเป็น “Zero Emission” จึงไม่สร้างมลภาวะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้จึงเป็นเป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย แต่โดยเหตุที่ยังคงมีราคาที่สูงเกินกว่าคนทั่วไปจะเอื้อมถึง จึงยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้มากขึ้น รัฐจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพื่อให้มีราคาลดลงในอันที่จะทำให้เกิดความต้องการซื้อและสามารถสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น โดยการให้ “เงินอุดหนุน”
เงินอุดหนุนที่มีสิทธิได้รับตามมาตรการนี้ มีดังนี้
1. “รถยนต์นั่ง” หรือ “รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน” จะจำกัดเฉพาะที่ผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 หรือนำเข้ามาในปี พ.ศ. 2565 - 2566 โดยให้สิทธิเฉพาะที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาทเท่านั้น โดยแบ่งเป็น
- หากมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน “70,000 บาทต่อคัน”
- หากมีขนาดความจุตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน “150,000 บาทต่อคัน”
2. “รถยนต์กระบะ” ที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม จะจำกัดเฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 เท่านั้น (รถยนต์กระบะที่นำเข้าไม่ได้รับสิทธิ)[1] โดยหากมีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ก็จะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน “150,000 บาทต่อคัน”
3. “รถจักรยานยนต์” จะจำกัดเฉพาะที่ผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 หรือนำเข้ามาในปี พ.ศ. 2565 - 2566 มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน “18,000 บาทต่อคัน”
การให้เงินอุดหนุนตามมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์และเพิ่มอุปทานในธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมิได้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ใหม่โดยตรงดังเช่นโครงการรถยนต์คันแรก แต่เป็นการให้สิทธิแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้ายานยนต์ที่มีคุณสมบัติและมีลักษณะตามที่กำหนด เพื่อให้สามารถนำไปตั้งราคาขายปลีกในราคาที่ลดลงตามจำนวนที่หักเงินอุดหนุนแล้ว เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคต้องการซื้อมากขึ้น ผู้บริโภคจึงได้รับประโยชน์โดยอ้อมในเรื่องราคาที่ลดลง ส่วนผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าก็จะได้รับประโยชน์สำคัญในเรื่องการเพิ่มกำลังซื้อ ข้อสำคัญคือมาตรการนี้มิได้ให้เปล่าแก่เอกชนเพียงฝ่ายเดียวแต่ยังหวังผลในระยะยาว โดยได้กำหนดข้อผูกพันบางประการให้ผู้ได้รับสิทธิที่นำเข้าจะต้องผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้ายานยนต์ตามสัดส่วนที่กำหนด ทั้งยังมีข้อกำหนดผูกพันว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ผู้ได้รับสิทธิจะต้องใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเป็นส่วนประกอบในการผลิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ทุกคัน เพื่อส่งผลในระยะยาวให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในระดับโลกต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในประเด็นยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่แบบใดบ้างที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนที่มีสิทธิได้รับมีจำนวนเท่าไร บุคคลใดบ้างที่มีสิทธิขอรับเงินอุดหนุน ขั้นตอนการขอรับสิทธิต้องดำเนินการอย่างไร ขั้นตอนการขอรับเงินอุดหนุนต้องดำเนินการอย่างไร รวมถึงข้อผูกพันที่จะต้องผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า และข้อผูกพันที่จะต้องใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเป็นส่วนประกอบในการผลิตยานยนต์นั้น กำหนดไว้ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565[2]
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้มีมติกำหนดหลักการและนโยบายในหลายกรณี ดังนั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2566 อธิบดีกรมสรรพสามิตจึงได้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตฯ (ฉบับที่ 2) และประกาศกรมสรรพสามิตฯ (ฉบับที่ 3) เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมสรรพสามิตฯ ดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ 3 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1 เพิ่มช่องทางในการยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ประการที่ 2 เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า
ประการที่ 3 แก้ไขหลักเกณฑ์การจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า
ประการที่ 1 เพิ่มช่องทางในการยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
เนื่องจากที่ผ่านมา การดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ยังใช้ระบบการยื่นเอกสารหลักฐานและการแจ้งข้อมูลโดยยื่น ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ ยังไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถรองรับการบริหารจัดการตามมาตรการดังกล่าว ประกอบกับในปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมมาตรการและมียานยนต์ไฟฟ้าที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจำนวนมาก ในอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการจะมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณในหลักหมื่นล้านบาท จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่การบริหารจัดการตามมาตรการดังกล่าวจะต้องมีระบบงานอิเล็กทรอนิกส์มาสนับสนุนเพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทั้งในส่วนของผู้ยื่นขอใช้สิทธิและในส่วนของกรมสรรพสามิตมีความโปร่งใส ถูกต้อง และสามารถตรวจสอบได้จากหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อป้องกันการทุจริตโดยผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำเข้าข้อมูลในระบบ
ด้วยเหตุนี้ กรมสรรพสามิตจึงได้ดำเนินการจัดทำ “ระบบการบริหารจัดการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์” โดยมีการออกแบบและพัฒนาระบบจัดซื้อซอฟต์แวร์ (Software) และฮาร์ดแวร์ (Hardware) เพื่อรองรับการลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการฯ รวมไปถึงการขอใช้สิทธิประโยชน์ การบริหารจัดการข้อมูลทั้งในส่วนของการรวบรวมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบดิจิทัลเพื่อลดสำเนาและการส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ขอรับสิทธิ (Paperless) ตามกฎหมายว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล การตรวจสอบเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ การพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุน การสื่อสารเพื่อนำส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและการติดตามตรวจสอบเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้นโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
ดังนั้นจึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมสรรพสามิตฯ เพื่อให้รองรับช่องทางการดำเนินการผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยปัจจุบันผู้เข้าร่วมมาตรการฯ สามารถยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิฯ (แบบ ยฟ.01-01) แบบคำขอหนังสือรับรองการได้รับสิทธิฯ (แบบ ยฟ.01-02) แบบคำขอรับเงินอุดหนุนฯ (แบบ ยฟ.01-03) บัญชีประจำวัน (แบบ ยฟ.01-04) และงบเดือนฯ (แบบ ยฟ.01-05) รวมทั้งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบคำขอผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์กรมสรรพสามิต http://www.excise.go.th ทั้งนี้ เพื่อให้วิธีการขอรับสิทธิเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามความในมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ. 2549
ประการที่ 2 เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า
2.1 กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งประกาศกรมสรรพสามิตฯ กำหนดให้ต้องผลิตชดเชยจนครบตามจำนวนการนำเข้ามาในประเทศในแบบสำเร็จรูปทั้งคัน ในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการผลิตชดเชยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ต้องผลิตชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด ทั้งนี้ เดิมสามารถผลิตชดเชยได้เฉพาะรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้เท่านั้น กล่าวคือ นำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารฯ การผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าก็สามารถผลิตได้เฉพาะรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารฯ เท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมสรรพสามิตฯ ทำให้สามารถผลิต “รถยนต์กระบะ” แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
.เพื่อชดเชยการนำเข้ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารฯ ดังกล่าวได้
สำหรับเหตุผลที่กำหนดให้สามารถผลิต “รถยนต์กระบะ” แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพื่อชดเชยการนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไปได้นั้น เนื่องจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมบางรายมีความประสงค์จะผลิตรถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพื่อชดเชยการนำเข้า ประกอบกับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รถยนต์กระบะถือเป็น Product Champion อันเกิดจากการที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะและอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์กระบะในระดับโลก นอกจากนี้ ในบริบทแห่งสถานการณ์ปัจจุบันมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องสร้าง Product Champion ที่สามารถตอบโจทย์กระแสของยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ เพื่อรักษาฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตในอันที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศต่อไป ด้วยเหตุนี้ หากกำหนดให้สามารถผลิตรถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพื่อชดเชยการนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ก็ย่อมจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันเป็นปัจจัยผลักดันในด้านอุปทาน (Supply) ตามเป้าประสงค์อันเป็นนโยบายของรัฐดังกล่าวได้
2.2 กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งประกาศกรมสรรพสามิตฯ กำหนดให้ต้องผลิตชดเชยจนครบตามจำนวนการนำเข้ามาในประเทศในแบบสำเร็จรูปทั้งคัน ในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการผลิตชดเชยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ต้องผลิตชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด ทั้งนี้ เดิมสามารถผลิตชดเชยรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้ “เฉพาะรุ่น” ที่มีการนำเข้าเท่านั้น กล่าวคือ หากนำเข้ารถยนต์รุ่นใดเป็นจำนวนเท่าใดก็ต้องผลิตรถยนต์รุ่นนั้นเป็นจำนวนเท่านั้น ไม่สามารถเลือกผลิตรถยนต์รุ่นอื่น ๆ ที่มีการนำเข้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดสูงกว่าเพื่อชดเชยรถยนต์รุ่นที่นำเข้าและความต้องการของตลาดน้อยกว่าได้ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดขีดความสามารถในการแข่งขันที่อาจไม่สอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานในตลาดรถยนต์ เพราะภาคธุรกิจต้องผลิต “เฉพาะรุ่น” ที่มีการนำเข้าเท่านั้น กรณีเช่นนี้ย่อมไม่สอดคล้องกับอุปทานในการวางแผนทางธุรกิจและอาจไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นจึงได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตามประกาศกรมสรรพสามิตฯ โดยให้มีการผลิต “รุ่นใดรุ่นหนึ่ง” ที่ได้มีการนำเข้าเพื่อให้ตอบโจทย์ในทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดไว้เป็นการเฉพาะเจาะจงว่า “กรณีที่ผู้ขอรับสิทธิได้นำเข้ารถยนต์รุ่นที่ได้รับสิทธิและผลิตชดเชยรุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้นำเข้าและได้รับสิทธิ แม้จะมีเลขซีรีส์ที่ต่างกันก็ถือเป็นการผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ” เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า หากผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกันกับที่มีการนำเข้า แม้จะมีเลขซีรีส์ที่ต่างกันก็จะเป็นการผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ และสามารถนำมานับเป็นจำนวนที่ผลิตชดเชยได้ ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้มีการผลิตชดเชย “รุ่นใดรุ่นหนึ่ง” แทนที่หลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้ผลิตชดเชย “เฉพาะรุ่น” ที่มีการนำเข้า ย่อมมีผลเป็นการผ่อนคลายความเคร่งครัดของหลักเกณฑ์อันเป็นเงื่อนไขตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อีกด้วย
ประการที่ 3 แก้ไขหลักเกณฑ์การจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า
เมื่อผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าได้ผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ในปี พ.ศ. 2565 - 2568 หรือนำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2566 และได้มีการขายให้กับผู้ซื้อแล้ว การที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าจะได้รับเงินอุดหนุนหรือไม่นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการจดทะเบียนรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เพื่อให้ได้ “ใบคู่มือจดทะเบียน” ของกรมการขนส่งทางบกด้วย โดยจะต้องจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาตามประกาศกรมสรรพสามิตฯ คือ หากเป็นกรณีที่นำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2566 ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และหากเป็นกรณีที่ผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2568
อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่สิทธิสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการนี้ กรณีนำเข้าจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แต่เนื่องจากโดยปกติแล้วในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี เป็นช่วงเวลาที่ความต้องการซื้อขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงาน Motor Expo ซึ่งจัดในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี ประชาชนส่วนมากรอพิจารณาโปรแกรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ในช่วงปลายปีก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งจากข้อมูลปรากฏว่ายอดขายยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม คือ 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 ที่ผ่านมา มียอดขายเป็นจำนวนประมาณถึง 11,000 คัน ด้วยเหตุนี้ การที่ประกาศกรมสรรพสามิตฯ กำหนดให้ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจึงอาจไม่เอื้อให้เกิดการซื้อขายยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงปลายปี 2566
ดังนั้นอธิบดีกรมสรรพสามิตจึงได้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมสรรพสามิตฯ ขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิฯ จากเดิม “จดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566” เป็น “จำหน่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และจดทะเบียนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567” กล่าวคือ ต้องปรากฏว่ามีการซื้อขายรถยนต์กันอย่างช้าสุดในวันสุดท้าย คือ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 และสามารถจดทะเบียนได้ภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 จึงจะได้รับเงินอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล
[1] เนื่องจากนโยบายของรัฐที่ถือว่ารถยนต์กระบะเป็น Product Champion ต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตของโลก จึงไม่ให้เงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์กระบะที่นำเข้า
[2] ศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารภาษีอากร ฉบับเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม 2565 “เงินอุดหนุนสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่” (จำนวน 3 ตอน)
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ