
เทรนด์ภาษีระหว่างประเทศปี 2567
27 ธันวาคม 2566
ในปีภาษี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลก อันรวมไปถึงองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ได้มีความเคลื่อนไหวในทางภาษีอากรระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้เสียภาษี โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ หลายประการ ในบทความนี้จะสรุปเกี่ยวกับภาษีระหว่างประเทศที่ผู้เสียภาษีจะต้องปรับตัว และเตรียมพร้อมเพื่อเดินหน้ากันต่อไปในปีใหม่ 2567 นี้
Pillar One : การแบ่งสัดส่วนสิทธิในการจัดเก็บภาษีระหว่างรัฐ
ในปี 2559 OECD ได้จัดตั้งภาคี Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (BEPS)[1]ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่จัดตั้งขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตาม BEPS Package ที่ OECD และกลุ่มประเทศ G20 ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น[2] กลุ่มประเทศสมาชิกของ Inclusive Framework ได้มีมติร่วมกันที่จะหาข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลให้แล้วเสร็จภายใต้โครงการ Programme of Work for Addressing the Tax Challenges of the Digitalisation of the Economy ซึ่งแบ่งหัวข้อการศึกษาออกเป็น 2 หัวข้อหลัก ได้แก่
1. การแบ่งสัดส่วนสิทธิในการจัดเก็บภาษีระหว่างรัฐ (Pillar One) และ
2. การพัฒนาเครื่องมือในการแก้ปัญหาการถ่ายโอนกำไรระหว่างประเทศของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ (Pillar Two หรือเรียกอีกอย่างว่า “Global Anti-Base Erosion : GloBE proposal”) หรือที่เรียกรวม ๆ ว่า “The Two - Pillar Solution”
เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา OECD ได้เผยแพร่ความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการจัดเก็บภาษีสำหรับ Amount A ตามหลัก Pillar One (MLC) ฉบับใหม่ ซึ่งสะท้อนถึงฉันทมติที่กลุ่มประเทศสมาชิก Inclusive Framework ได้ตกลงร่วมกันในการจัดเก็บภาษีจาก Amount A ตามหลัก Pillar One อันเป็นการแบ่งสรรสิทธิในการจัดเก็บภาษีให้กับประเทศ Market Jurisdiction สำหรับส่วนแบ่งผลกำไร (Share of Profits) ของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ (MNE) ที่มีขนาดใหญ่และมีผลกำไรสูงสุด ที่มาดำเนินงานในตลาดของประเทศนั้น ๆ โดยไม่คำนึงว่าบริษัทข้ามชาตินั้นจะมีสถานะทางกายภาพ (Physical Presence) ในประเทศ Market Jurisdiction หรือไม่
บริษัทข้ามชาติที่เข้าข่ายเสียภาษีตาม Pillar One จะจำกัดได้แก่ บริษัทข้ามชาติที่มีรายรับทั่วโลก (Global Revenue) สูงกว่า 20,000 ล้านยูโร และมีกำไรทั้งหมดเกินกว่า 10% ของรายรับทั่วโลก โดย 25% ของกำไรส่วนเกิน 10% นั้นจะถูกปันส่วนไปยังประเทศ Market Jurisdiction เพื่อให้ประเทศ Market Jurisdiction มีสิทธิจัดเก็บภาษีสำหรับกำไรจากบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่และมีกำไรสูง ซึ่งได้มีการประกอบกิจการในตลาดของประเทศนั้น ๆ แม้บริษัทข้ามชาติจะไม่มีตัวตน (Physical Presence) ก็ตาม
ปัจจุบัน OECD ยังไม่ได้เปิดให้ประเทศต่าง ๆ ลงนามใน MLC โดย MLC นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อมีคู่สัญญาอย่างน้อย 30 ประเทศให้สัตยาบัน และเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ในประเทศเหล่านั้นมีสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย Amount A ตั้งอยู่อย่างน้อย 60% ของบริษัทข้ามชาติที่คาดว่าจะอยู่ภายในขอบเขตของ Amount A ทั้งหมด
เมื่อเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อแล้ว ประเทศคู่สัญญาตาม MLC ที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงจะสามารถกำหนดวันที่จะเริ่มบังคับใช้ MLC ในประเทศของตนได้
อย่างไรก็ดี การเผยแพร่ MLC นี้ เป็นสัญญาณว่าการเริ่มบังคับใช้ Pillar One เพื่อจัดการกับการจัดเก็บภาษีในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลและโลกาภิวัตน์ใกล้จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยประเทศที่สนใจเข้าร่วมจัดเก็บภาษีตามหลัก Pillar One สามารถเข้าร่วมลงนามและให้สัตยาบัน เพื่อบังคับใช้ MLC ต่อไป
สำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกของ Inclusive Framework ก็ได้มีการเข้าร่วมประชุมและมีส่วนร่วมในเรื่องของการจัดเก็บภาษีตาม Pillar One อย่างต่อเนื่อง โดยกรมสรรพากรได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2564 จากการประชุมกรอบความร่วมมือ Inclusive Framework on BEPS ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จาก Pillar One ด้วยเหตุที่ว่า ประเทศไทยมีข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีจากบริษัทต่างชาติที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการจากประเทศไทยว่าจะเสียภาษีในประเทศไทยก็ต่อเมื่อมี Physical Presence ในประเทศไทยเท่านั้น[3] ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ที่มีลูกค้าและรายได้ในไทยได้ ด้วยเหตุนี้ Pillar One จะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสได้รับการปันกำไรในส่วนนี้ หากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หรือบริษัทดิจิทัลต่าง ๆ มีการให้บริการและมีรายได้จากลูกค้าในประเทศไทยตามเกณฑ์ที่กำหนด แม้ไม่ได้มาประกอบกิจการในประเทศไทยก็ตาม[4]
ทั้งนี้ กรมสรรพากรก็ยังคงติดตามความคืบหน้าของการจัดเก็บภาษีตาม Pillar One โดยเมื่อวันที่ 10 - 12 กรกฎาคม 2566 ผู้แทนกรมสรรพากรก็ได้เข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือ Inclusive Framework on BEPS ครั้งที่ 15 ณ OECD Conference Centre กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อรับทราบพัฒนาการ และรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เกิดจากความท้าทายของเศรษฐกิจดิจิทัล (The Two - Pillar Solution)
ดังนั้นในปี 2567 นี้ ผู้ประกอบการคงต้องคอยจับตาดูต่อไปว่า OECD จะเปิดให้ประเทศต่าง ๆ ลงนามใน MLC ได้เมื่อใด และมีประเทศใดบ้างที่มีเจตจำนงจะลงนามใน MLC เพื่อที่จะคาดการณ์ได้ว่า MLC จะสามารถมีผลบังคับใช้ได้หรือไม่ และถ้าใช้ จะมีแนวโน้มที่จะบังคับใช้เมื่อใด ประกอบกับประเทศไทยจะตกลงเข้าร่วมลงนามใน MLC หรือไม่ และเมื่อใด
Pillar Two : การพัฒนาเครื่องมือในการแก้ปัญหาการถ่ายโอนกำไรระหว่างประเทศของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ
ในปี 2564 OECD ได้เผยแพร่โมเดลกฎหมายสำหรับ Pillar Two หรือที่เรียกกันว่า Anti Global Base Erosion หรือ “GloBE Rules”[5] เพื่อให้ประเทศสมาชิกของกรอบความร่วมมือ Inclusive Framework สามารถนำไปปรับกับกฎหมายภายในของตนและบังคับใช้ GloBE Rules ไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกไม่จำเป็นต้องนำ GloBE Rules ไปบังคับใช้กับกฎหมายภายในของตนก็ได้ แต่จะต้องยอมรับการใช้ GloBE Rules ของประเทศสมาชิกอื่น GloBE Rules นี้ ได้ผ่านการตกลงร่วมกันระหว่างกว่า 135 ประเทศสมาชิก Inclusive Framework และรับรองโดยกลุ่มประเทศ G20
วัตถุประสงค์ของ GloBE Rules คือ การกำหนดให้กิจการข้ามชาติ (Multinational Enterprise : MNE) ขนาดใหญ่ทั้งหลายต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Minimum Tax) ในแต่ละประเทศที่ประกอบกิจการ โดยบังคับใช้การจัดเก็บภาษีในรูปแบบของ Top-up Tax (Income Inclusion Rule (IIR) และการจัดเก็บแบบ Undertaxed Payment Rule (UTPR)) เพื่อให้กิจการข้ามชาติเสียภาษีสำหรับกำไรส่วนเกินของกิจการ (Excess Profit) ให้ถึงอัตราภาษีขั้นต่ำที่ GloBE Rules กำหนดไว้ ซึ่งก็คือ 15% เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว GloBE Rules จึงได้มีการกำหนดขอบเขตของกิจการข้ามชาติที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีขั้นต่ำ กระบวนการในการคำนวณว่าภาษีที่ต้องเสียเพิ่มเติมเพื่อให้เท่ากับอัตราภาษีขั้นต่ำเป็นจำนวนเท่าใด และจะต้องเสียให้แก่ประเทศใด
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติของสรรพากรแต่ละประเทศในการกำกับการเสียภาษีตาม GloBE Rules ด้วยเพื่อให้แต่ละประเทศจัดเก็บภาษีตาม GloBE Rules สอดคล้องกัน และป้องกันการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนหรือมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ GloBE Rules จะใช้บังคับกับกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลข้ามชาติ (MNE Groups) ที่มีรายได้จากงบการเงินรวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป
ปัจจุบันนานาประเทศต่างตื่นตัวและมีแผนในการออกกฎหมายเพื่ออนุวัติการ Pillar Two ดังนี้[6]
กลุ่มที่ 1
ได้มีการออกกฎหมายอนุวัติการ Pillar Two ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 ได้แก่
- เกาหลีใต้
- ญี่ปุ่น
- อังกฤษ
กลุ่มที่ 2
ได้มีการยกร่างกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เช่น
- ออสเตรีย
- ออสเตรเลีย
- บัลแกเรีย
- แคนาดา
- สาธารณรัฐเช็ก
- ไซปรัส
- เดนมาร์ค
- เอสโตเนีย
- ฟินแลนด์
- ฝรั่งเศส
- เยอรมนี
- ฮังการี
- ไอร์แลนด์
- อิตาลี
- ลิธัวเนีย
- ลักเซมเบิร์ก
- เนเธอร์แลนด์
- นอร์เวย์
- โรเมเนีย
- สโลวาเกีย
- สโลเวเนีย
- สวีเดน
- สวิตเซอร์แลนด์
- เวียดนาม
กลุ่มประเทศดังกล่าวคาดว่ากฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2567 เว้นแต่เอสโทเนีย ลิธัวเนีย และสโลวาเกีย ที่เลื่อนการบังคับใช้ออกไป
กลุ่มที่ 3
ได้มีการแสดงเจตจำนงว่าจะบังคับใช้ Pillar Two ได้แก่
- ฮ่องกง (คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2568)
- อินโดนีเซีย (ไม่มีกำหนด)
- มาเลเซีย (คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2568)
- มอลตา (ไม่มีกำหนด)
- มอริเชียส (ไม่มีกำหนด)
- ไนจีเรีย (ไม่มีกำหนด)
- โปแลนด์ (ไม่มีกำหนด)
- โปรตุเกส (ไม่มีกำหนด)
- สิงคโปร์ (คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2568)
- สเปน (คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2567)
- ไทย (คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2568)
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ไม่มีกำหนด)
กลุ่มที่ 4
ยังไม่มีการแสดงเจตจำนงว่าจะบังคับใช้ Pillar Two เช่น
- สหรัฐอเมริกา
- อุรุกวัย
- ฟิลิปปินส์
- บราซิล
ในส่วนของประเทศไทยนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 เห็นชอบในหลักการมาตรการรองรับการเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ของ OECD และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายสำหรับการจัดเก็บ Top-Up Tax โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568[7]
ด้วยเหตุนี้ สำหรับบริษัทที่เข้าข่ายเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มกิจการที่อยู่ในขอบข่ายการบังคับของ Pillar Two คงต้อง
- เริ่มเตรียมพิจารณาโครงสร้างของกลุ่มกิจการว่าบริษัทในเครือ (Constituent Entity) ของกิจการตามหลัก GloBE Rules มีบริษัทใดบ้าง
- ในบรรดาบริษัทในเครือนี้มีบริษัทใดที่เข้าลักษณะได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับของ GloBE Rules บ้าง มีบริษัทใดที่อยู่ในขอบข่ายการบังคับของ GloBE Rules บ้าง
- จากนั้นต้องพิจารณาต่อไปว่า บริษัทในเครือนั้นอยู่ในสถานะใด เป็นบริษัทแม่ (บริษัทแม่ลำดับสูงสุด (Ultimate Parent Entity) หรือบริษัทแม่ลำดับรอง (Intermediate Parent Entity) หรือบริษัทแม่ที่มีบุคคลภายนอกกลุ่มกิจการมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของเกินกว่า 20% (Partially-Owned Parent Entity) และมีบริษัทใดที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ 15% พร้อมทั้งดูว่าบริษัทเหล่านี้ตั้งอยู่ในประเทศที่บังคับใช้หลัก GloBE Rules หรือไม่ (หลัก Income Inclusion Rule (IIR) และหลัก Undertaxed Payment (UTPR)) เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศต่าง ๆ เริ่มบังคับใช้ GloBE Rules ในอนาคตอันใกล้นี้
การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ
ในปี 2560 ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum)[8]เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยตามกรอบความร่วมมือของ OECD และเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับ OECD ในการป้องกันการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษี และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศ
ในการนี้ กรมสรรพากรได้ออกพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 กำหนดให้สถาบันการเงินในไทยมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลบัญชีทางการเงินของลูกค้าที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศคู่สัญญาตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ (ความตกลง MCAA CRS) ประกอบกับหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานการรายงานทั่วไป (Common Reporting Standard : CRS) ทั้งนี้ สถาบันการเงินได้นำส่งข้อมูลไปแล้วครั้งแรกในเดือนกันยายน 2566 สำหรับบัญชีทางการเงินมูลค่าสูงของลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา[9]
ในปี 2567 นี้ จะเป็นครั้งแรกที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องส่งให้กรมสรรพากรข้อมูลบัญชีทางการเงินสำหรับทุกประเภทบัญชีของลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงานไปยังกรมสรรพากรภายในมิถุนายน 2567 โดยกรมสรรพากรจะนำข้อมูลดังกล่าวไปแลกเปลี่ยนกับคู่สัญญาต่อไปภายในเดือนกันยายน 2567 ในทำนองเดียวกัน กรมสรรพากรก็จะได้รับข้อมูลบัญชีทางการเงินของผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศไทยที่ไปเปิดบัญชีอยู่กับสถาบันการเงินต่างประเทศที่เป็นภาคีคู่สัญญาด้วย
นอกจากความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้กรอบของ Global Forum ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกกว่า 169 ประเทศแล้วนั้น Global Forum ยังได้ริเริ่มโครงการ Asia Initiative เพื่อส่งเสริมประเทศในภูมิภาคเอเชียในการดำเนินการตามมาตรฐานสากลด้านความโปร่งใสและการแลกเปลี่ยนของข้อมูลภายใต้กรอบของ Global Forum ประกอบกับเสริมสร้างขีดความสามารถในการนำข้อมูลที่ประเทศต่าง ๆ ได้รับจากการแลกเปลี่ยนนั้นไปใช้ประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกภายใต้โครงการ Asia Initiative จำนวน 17 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามใน Bali Declaration ซึ่งเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันยกระดับความโปร่งใสทางภาษีเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรภายในภูมิภาคอย่างยั่งยืน[10]
เราจะเห็นว่าทิศทางของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะในเวทีโลกหรือในภูมิภาคเอเชีย ต่างมีแนวโน้มที่ให้ความสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ และการนำข้อมูลที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงการตีความการเสียภาษีตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้สูงสุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 กรมสรรพากรจึงได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566 กำหนดแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้จากแหล่งต่างประเทศตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
กล่าวคือ เดิมทางกรมสรรพากรมีแนวทางในการจัดเก็บภาษีสำหรับเงินได้จากแหล่งต่างประเทศ คือ ผู้มีเงินได้นั้น จะต้องเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ในปีภาษีนั้น และต้องนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกัน เช่น ในปี 2566 นาย ก. มีเงินได้จากเงินปันผลที่ได้รับในต่างประเทศ นาย ก. จะต้องเสียภาษีสำหรับเงินได้ดังกล่าว หาก (1) นาย ก. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ในปี 2566 และ (2) นาย ก. ได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปี 2566 เช่นนี้ นาย ก. จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้นั้น แต่หากว่า นาย ก. นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปี 2567 นาย ก. จะไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้นั้นแต่อย่างใด
จะเห็นว่า หากกรมสรรพากรยังคงจัดเก็บภาษีตามแนวทางเดิม แม้กรมสรรพากรจะได้รับข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลว่า นาย ก. ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ได้รับเงินปันผลสำหรับหุ้นที่เปิดบัญชีอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์ A ในต่างประเทศ แต่หากนาย ก. ไม่ได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในปี 2566 กรมสรรพากรก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากเงินปันผลก้อนนั้นได้อยู่ดี
ดังนั้นเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษีของผู้ที่มีเงินได้จากแหล่งในประเทศและแหล่งนอกประเทศ และเป็นการขจัดข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว กรมสรรพากรจึงได้เปลี่ยนแนวทางในการตีความการเสียภาษีตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยการออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.162/2566 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 กำหนดว่า สำหรับผู้ที่มีเงินได้จากแหล่งต่างประเทศ หากผู้มีเงินได้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ในปีภาษีนั้น ผู้มีเงินได้ดังกล่าวจะต้องเสียภาษีสำหรับเงินได้นั้นในปีภาษีที่นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย เช่น ในปี 2568 นาย ก. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน และมีเงินได้จากเงินปันผลที่ได้รับในต่างประเทศในปีนั้น นาย ก. นำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยในปี 2569 เช่นนี้ นาย ก. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้นั้นในปีภาษี 2569 ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีเงินได้ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเงินได้จากการทำงาน การประกอบธุรกิจ หรือการลงทุนต่าง ๆ หากเป็นเงินได้ที่ได้รับในปี 2567 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้จะต้องพิจารณาว่าในปีที่ได้รับเงินได้ในต่างประเทศนั้นตนเองเป็นผู้อยู่ในประเทศถึง 180 วัน หรือไม่ ถ้าใช่ ผู้มีเงินได้ต้องเก็บข้อมูลให้ดีว่าตนได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีใด เพราะผู้มีเงินได้จะต้องนำเงินได้ที่นำเข้ามาไปเสียภาษีในปีที่นำเงินได้เข้ามานั้นนั่นเอง
อนึ่ง สำหรับเงินได้จากแหล่งในต่างประเทศที่ได้เสียภาษีในต่างประเทศไปแล้ว ผู้มีเงินได้สามารถนำภาษีที่เสียไปมาใช้เป็นเครดิตภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อน[11] ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
บทส่งท้าย
อาจสรุปได้ว่า มาตรการทางภาษีระหว่างประเทศที่ผู้เสียภาษีจะต้องจับตามองและปรับตัวกันต่อไปในปีใหม่นี้ ได้แก่ มาตรการในการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ตามหลัก Pillar One และ Pillar Two
สำหรับ Pillar One พวกเราคงต้องติดตามว่า กรมสรรพากรจะลงนามในความตกลง MLC เมื่อใด และมีนโยบายที่จะเริ่มบังคับใช้หลักการจัดเก็บตาม Pillar One เมื่อใด
ส่วนการจัดเก็บภาษีตาม Pillar Two ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพากรกำลังยกร่างกฎหมายและจะมีผลใช้บังคับในปี 2568 นั้น พวกเราคงต้องติดตามว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีสาระสำคัญอย่างไร และส่งผลกระทบต่อกิจการของตนอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้จากแหล่งต่างประเทศ ก็ต้องเริ่มปรับตัวกับหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้จากแหล่งต่างประเทศรูปแบบใหม่ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปีใหม่นี้เป็นต้นไป
[1] https://cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99324207
[2] คำว่า “ประเทศ” ในบทความนี้ หมายความถึง Jurisdiction
[3] ข้อจำกัดตามอนุสัญญาภาษีซ้อนว่าด้วยกำไรธุรกิจและการมีสถานประกอบการถาวร
[4] https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/47357
[5] OECD (2021), Tax Challenges Arising from the Digitalisation of the Economy – Global Anti-Base Erosion Model Rules (Pillar Two): Inclusive Framework on BEPS, OECD, Paris, https://www.oecd.org/tax/beps/tax-challenges-arising-from-the-digitalisation-of-theeconomy-global-anti-base-erosion-model-rules-pillar-two.htm.
[6] ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566
[7] https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/65840
[8] ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559
[9] บัญชีทางการเงินของบุคคลธรรมดาที่มียอดรวมหรือมูลค่ารวมเกิน 30,000,000 บาท
[10] https://www.oecd.org/tax/transparency/what-we-do/technical-assistance/asia-initiative.htm
[11] แถลงข่าวกรมสรรพากรที่ ปชส.34/2566 ลงวันที่ 18 กันยายน 2566
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ