กำลังโหลด...

×



Tax มาตรการภาษี EASY E-Receipt

magazine image
Tax

มาตรการภาษี EASY E-Receipt

EASY E-Receipt เป็นมาตรการภาษีใหม่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 และกรมสรรพากรได้ออกกฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 391) พ.ศ. 2566 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 443) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566 มาตรการภาษีดังกล่าว รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “EASY E-Receipt” จะ EASY หรือง่ายในการนำมาใช้หรือไม่นั้น คงต้องมาศึกษากฎหมายอย่างละเอียดและรอบคอบ เนื่องจากกฎหมายกำหนดสิทธิในการใช้อย่างจำกัดภายใต้วงเงินที่มากกว่ามาตรการภาษีอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันในปีผ่าน ๆ มา

 

1. รู้จัก EASY E-Receipt

มาตรการ Easy E-Receipt คือ โครงการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการในประเทศระหว่างวันที่ 1 มกราคม - วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการ ต้องได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปหรือใบรับในรูปอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น โดยผู้มีเงินได้สามารถนำเงินเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามที่กฎหมายกำหนดไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยมาตรการภาษีดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีออกใบกำกับภาษีหรือใบรับในรูปอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีและการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

 

2. สินค้าหรือบริการที่ใช้ EASY E-Receipt

หลายท่านที่เคยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่ผ่าน ๆ มา และเคยใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามมาตรการภาษีเกี่ยวกับการใช้จ่ายสินค้าหรือบริการในประเทศ ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดจากมาตรการภาษีต่าง ๆ เช่น ช้อปดีมีคืน ชิมช้อปใช้ เป็นต้น อาจมีความคุ้นเคยและเข้าใจมาตรการ EASY E-Receipt ได้โดยไม่ยาก เนื่องจากหลักการการซื้อสินค้าหรือบริการตามมาตรการ EASY E-Receipt มีลักษณะไม่แตกต่างจากมาตรการต่าง ๆ ในปีผ่าน ๆ มา ดังนี้

2.1 ผู้มีเงินได้ต้องซื้อสินค้าหรือบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสีย VAT จากผู้ประกอบการหรือร้านค้าจด VAT กับกรมสรรพากร เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 

2.2 ผู้มีเงินได้สามารถซื้อสินค้าหรือบริการที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย VAT จากผู้ประกอบการหรือร้านค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ได้จด VAT กับกรมสรรพากร เช่น กรณีร้านค้ามีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาท และไม่ได้ขอเข้าระบบ VAT ทั้งนี้ เฉพาะสินค้าหรือบริการบางรายการ ดังนี้

2.2.1 ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร

2.2.2 ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

ข้อ 2 (1) และ (2) ของกฎกระทรวง (ฉบับที่ 391) พ.ศ. 2566ฯ ให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับรายการค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสารในรูปกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรายการดังกล่าวมีความแตกต่างจากมาตรการชิมช้อปใช้ที่ใช้ในปี 2565[1]เช่น ข้อ 4 (3) และ (4) ของกฎกระทรวง (ฉบับที่ 386)ฯ พ.ศ. 2565 ไม่อนุญาตให้ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษี สำหรับการจ่ายเงินค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสารในรูปกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสารในรูปกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรการ EASY E-Receipt นี้ ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิได้ตามจำนวนเงินจ่ายจริงตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เช่น นาย ก. จ่ายค่าบริการหนังสือพิมพ์ออนไลน์สำหรับปี 2567 เป็นรายปี จำนวน 12,000 บาท (เดือนละ 1,000 บาท) และได้รับใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากผู้ประกอบการ นาย ก. สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการ EASY E-Receipt ได้ จำนวน 1,500 บาทเท่านั้น เป็นต้น

2.2.3 ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนที่ https://www.otoptoday.com โดยผู้ประกอบการขายสินค้าต้องจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ซื้อสินค้า หากผู้ขายสินค้า OTOP ไม่ได้จด VAT กับกรมสรรพากร ผู้ขายสินค้ามีหน้าที่ต้องจัดทำใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receiptโดยผู้ขายต้องดำเนินการ ดังนี้

(1) จัดทำใบรับอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีรายการตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และต้องระบุชื่อและนามสกุลของผู้มีเงินได้ในใบรับดังกล่าวด้วย

(2) ระบุข้อความที่แสดงว่า สินค้าที่ขายนั้นเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในแต่ละรายการสินค้า หรือจัดทำเครื่องหมายแสดงในแต่ละรายการสินค้าที่เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และมีข้อความที่แสดงว่าเครื่องหมายนั้น หมายถึง สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไว้ในใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ เช่น “OTOP” “โอทอป” “One Tambon One Product” หรือข้อความอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน

 

3. ระยะเวลาการใช้สิทธิ EASY E-Receipt 

ผู้มีเงินได้ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าตาม 2. ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยสามารถนำเงินตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย ไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2567 ที่จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ในเดือนมีนาคม 2568 กรณียื่นแบบฯ ในรูปกระดาษ หรือวันที่ 8 เมษายน 2568 กรณียื่นแบบฯ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร

 

4. ข้อจำกัดของ EASY E-Receipt 

4.1 ต้องได้รับใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์

EASY E-Receipt มีข้อจำกัดด้านเอกสารหลักฐานในการใช้สิทธิที่แตกต่างจากมาตรการภาษีในปีที่ผ่าน ๆ มาประการเดียว คือ มาตรการภาษีในปีที่ผ่าน ๆ มา ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจด VAT สามารถใช้ใบกำกับภาษีในรูปอิเล็กทรอนิกส์หรือกระดาษอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรือจะใช้ใบกำกับภาษีทั้ง 2 แบบรวมกัน โดยมีมูลค่าไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด แต่มาตรการ EASY E-Receipt นี้ มีข้อจำกัด โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

4.1.1 กรณีซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจด VAT ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการต้องได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากผู้ประกอบการจด VAT เท่านั้น 

4.1.2 กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการตาม 2.2.1 - 2.2.3 จากผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ได้จด VAT ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการต้องได้รับใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากผู้ขายสินค้าหรือบริการ

4.2 สินค้าหรือบริการใช้สิทธิได้อย่างจำกัด

สินค้าหรือบริการที่จะใช้สิทธิตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 391)ฯ พ.ศ. 2566 มีทั้งสินค้าหรือบริการที่อยู่ในบังคับและไม่อยู่ในบังคับ VAT ซึ่งข้อ 3 ของกฎกระทรวง (ฉบับที่ 391)ฯ พ.ศ. 2566 กำหนดข้อยกเว้นการใช้สิทธิทางภาษีสำหรับสินค้าหรือบริการบางประการ เช่น ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ ค่าน้ำมันและก๊าซเติมยานพาหนะ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น

ซึ่งหากพิจารณาข้อยกเว้นดังกล่าวเห็นว่า ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก หรือโรงแรม แต่อย่างใด ดังนั้นผู้มีเงินได้จึงสามารถนำค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก โรงแรม ในประเทศตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดมาใช้สิทธิทางภาษีนี้ได้ ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิแทนมาตการภาษีเที่ยวทั่วไทยในปีที่ผ่าน ๆ มา

4.3 กรณีมีสิทธิตามใบกำกับภาษีได้หลายสิทธิ ต้องใช้สิทธิเดียวเท่านั้น

กรณีผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และประสงค์จะใช้สิทธิ EASY E-Receipt พึงทราบว่า หากท่านได้นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ได้รับตามมาตรการดังกล่าวไปคำนวณออกจากภาษีขายในแบบ ภ.พ.30 แล้ว ท่านไม่มีสิทธินำค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามมาตรการภาษีนี้ไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้อีก

4.4 ผู้ใช้สิทธิต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น

ผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิทางภาษี EASY E-Receipt ที่เป็นบุคคลธรรมดา ต้องมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซื้อสินค้าหรือบริการตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และได้รับเอกสารใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ เช่น ระบุว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญ ก.” หรือ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ข.” เป็นต้น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนั้น ไม่มีสิทธินำมูลค่าสินค้าหรือบริการตามใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับนั้นไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้แต่อย่างใด

 

5. การขอเปลี่ยนใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูป

ปกติผู้ประกอบการจด VAT ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไปแล้ว จะขอให้ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการเปลี่ยนเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูปในวันเดียวกันกับวันที่ผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ซึ่งเป็นวันที่มีความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point)

อย่างไรก็ดี หากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะขอให้ผู้ประกอบการจด VAT ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูป ภายหลังจากวันที่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อย่างย่อ อาจกระทำได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการควรมีเอกสารแสดงเหตุผลและความจำเป็นในการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูปและส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการด้วย โดยในการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูปนี้ ผู้ประกอบการจด VAT ต้องยกเลิกใบกำกับภาษีอย่างย่อฉบับเดิม โดยไม่จำต้องเรียกคืนใบกำกับภาษีอย่างย่อดังกล่าว และต้องให้เลขที่ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่เป็นเลขที่ใหม่ โดยระบุวัน เดือน ปี ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ที่ได้จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่ นอกจากนี้ ต้องระบุข้อความในใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่ว่า เช่น เป็นการยกเลิกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อย่างย่อเลขที่ ... วัน เดือน ปีที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ... และออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ใหม่แทน และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่ด้วย[2]

การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่แทนใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยระบุวัน เดือน ปี ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ที่ได้จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่ ไม่ทำให้ความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มเปลี่ยนแปลงไปจากวัน เดือน ปี ที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีอย่างย่อแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ประกอบการต้องระบุข้อความวัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ... ในใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูปด้วย

การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่ในลักษณะดังกล่าวอาจมีความยุ่งยากสำหรับผู้ประกอบการ VAT ดังนั้น ผู้ประกอบการ VAT จึงควรพิจารณาว่าจะเลือกใช้แนวทางใดระหว่างการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่วันเดียวกันหรือต่างวันกับใบกำกับภาษีอย่างย่อ

 

สรุป

มาตรการภาษี EASY E-Receipt เป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายในประเทศ และยังเป็นมาตรการส่งเสริมการใช้ใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูป ประกอบกับการใช้สิทธิดังกล่าวมีข้อจำกัดทางกฎหมายมีหลายประการ ผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนจึงต้องศึกษากฎหมายให้ถ่องแท้ก่อนใช้สิทธิดังกล่าว โดยเฉพาะรายการสินค้าหรือบริการ และด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาอย่างมาก กรมสรรพากรจึงได้อำนวยความสะดวกให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรการดังกล่าว โดยการเชื่อมข้อมูลค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการใน My Tax Account ของกรมสรรพากร ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้สามารถใช้จำนวนเงินที่ปรากฏดังกล่าวในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยผู้มีเงินได้สามารถปรับปรุงตัวเลขได้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงและไม่เกินสิทธิที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้ควรมีใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์เพื่อพิสูจน์แก่เจ้าหน้าที่สรรพากรด้วย

 


[1] ข้อ 4 (3) และ (4) ของกฎกระทรวง (ฉบับที่ 386)ฯ พ.ศ. 2565 

[2] ข้อ 4 วรรคสอง และข้อ 6 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีหรือใบรับ โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในการลงลายมือชื่อ ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566

Top 5 Contents