
รับมือกรมสรรพากร “ปรับแนวตีความ” เงินได้จากต่างประเทศ
29 มกราคม 2567
บทความฉบับเดือนธันวาคม 2566 ผู้เขียนได้กล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 ที่เพิ่งออกมาในขณะที่เขียนต้นฉบับ ซึ่งยังมีคำถามข้อสังสัยหลายประการจากผลที่มีการเปลี่ยนแนวตีความจากเดิม และผู้เขียนได้ให้ความเห็นว่า กรมสรรพากรน่าจะรับฟังความเห็นและมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้นออกมาในไม่ช้า
บัดนี้ กรมสรรพากรได้มีแนวปฏิบัติที่ให้ความชัดเจนเพิ่มเติม จึงขอนำสรุปประเด็นสำคัญมา Update ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบในบทความนี้
ก่อนอื่นมาทบทวนกันก่อนว่า คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 กล่าวว่าอย่างไร
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 กล่าวไว้โดยสรุปว่า
บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยรวมเวลาถึง 180 วัน ในปีภาษีใดที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีนั้น เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะนำเข้ามาในปีใด และให้เริ่มใช้บังคับกับเงินได้ที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
เดิมทีกรมสรรพากรตีความการนำเงินได้พึงประเมินจะเสียภาษีเงินได้ เมื่อนำเงินได้นั้นเข้ามาในปีภาษีเดียวกับที่เกิดเงินได้ แต่จากคำสั่งดังกล่าวเกิดคำถามมากมาย (ไม่รวมที่นักกฎหมายมีแนวคิดว่า คำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายที่มาเปลี่ยนแนวการตีความในอดีต) ดังนั้นกรมสรรพากรจึงได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.162/2566 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ประกอบกับมีการสรุปคำถาม – คำตอบให้ชัดเจนขึ้น ในประเด็นที่สำคัญดังนี้
1. เงินได้ที่เกิดในต่างประเทศก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 จะไม่ใช้บังคับ ดังนั้นจึงใช้หลักการเดิมคือ หากนำเงินได้นั้นเข้ามาในปีภาษีอื่นที่ไม่ใช่ปีภาษีที่เกิดเงินได้ ก็จะไม่ต้องนำเงินได้นั้นมาเสียภาษี เช่น เงินได้ที่เกิดในต่างประเทศในปี 2566 และผู้มีเงินได้อยู่ในประเทศไทยในปี 2566 รวมถึง 180 วัน หากนำเงินได้นี้เข้ามาในไทยในปี 2566 ก็จะต้องนำมาเสียภาษีในไทย แต่หากนำเงินได้นั้นเข้ามาในไทยในปี 2567 ก็จะไม่ต้องนำมาเสียภาษี
2. เงินได้ที่เกิดในต่างประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม 2567
2.1 กรณีมีเงินได้ที่เกิดในต่างประเทศและในปีเดียวกันผู้มีเงินได้อยู่ในประเทศไทยรวมไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณภาษี ไม่ว่าจะนำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในในปีไหน
2.2 กรณีมีเงินได้ที่เกิดในต่างประเทศและในปีเดียวกันผู้มีเงินได้อยู่ในประเทศไทยรวมถึง 180 วัน จะต้องนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณภาษีเมื่อนำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะนำเข้ามาในปีไหน และมีประเด็นดังนี้
2.2.1 การนำเงินได้เข้ามาหากเป็นเงินต้นหรือเงินลงทุนรวมดอกเบี้ยหรือปันผลรวมกัน ก็ให้นำมาเสียภาษีเฉพาะดอกเบี้ยหรือเงินปันผลที่นำเข้ามาเท่านั้น
ความเห็นผู้เขียน
กรมสรรพากรให้หลักการแนวดังกล่าวไว้เท่านั้น ในทางปฏิบัติ การนำเงินไปฝากต่างประเทศหรือการนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือปันผล หากมีรายการเดียวก็สามารถพิสูจน์ได้ง่ายถึงเงินต้นและดอกเบี้ยหรือปันผล หากมิได้มีเพียงรายการเดียว ผู้เสียภาษีควรจะได้บริหารจัดการแยกส่วนของเงินต้นเงินลงทุนและผลตอบแทนที่ได้ อาจทำในรูปการแยกบัญชีในต่างประเทศ เช่น บัญชีเงินลงทุนแต่ละครั้ง หรือบัญชีเงินฝากธนาคารส่วนที่เป็นเงินต้นและส่วนที่เป็นดอกเบี้ย เมื่อโอนเงินนั้นกลับมาประเทศไทยจะพิสูจน์ให้สรรพากรได้ชัดเจนที่สุดว่าเงินที่นำกลับมาเป็นเงินต้นหรือผลตอบแทนเท่าใด หรือจัดทำบัญชีคุมของตนเอง ซึ่งสรรพากรจะยอมรับได้แค่ไหน ถ้าทั้งเงินต้น เงินลงทุน และดอกเบี้ยเงินปันผลอยู่ปะปนกัน ผู้มีเงินได้ต้องบริหารจัดการส่วนนี้ให้ดี เพื่อไม่ให้มีข้อโต้แย้งหากถูกกรมสรรพากรตรวจสอบ
2.2.2 กรณีนำเงินไปซื้อหุ้นที่ต่างประเทศ ไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นอย่างไร ถ้ายังไม่มีการขายก็ยังไม่ถือว่าเกิดเงินได้ หากขายเมื่อใดแล้วมีกำไร ก็จะถือปีที่ขายเป็นปีที่เกิดเงินได้ ถ้าผู้มีเงินได้ปีนั้นอยู่ในไทยรวมถึง 180 วัน ก็จะต้องนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณภาษีในปีที่นำกำไรนี้เข้ามาในประเทศไทย (ไม่ว่าจะนำเข้าในปีใด)
ความเห็นผู้เขียน
กรมสรรพากรได้ให้เป็นหลักการนี้ไว้เท่านั้น ในทางปฏิบัติ การนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นในต่างประเทศหากมีรายการเดียวก็สามารถพิสูจน์ได้ง่ายถึงเงินลงทุนและกำไรจากการขายหุ้น ส่วนใหญ่นักลงทุนต่างประเทศจะมีรายการลงทุนในหลักทรัพย์หลายรายการ ต้นทุนการได้มาแต่ละครั้งอาจไม่เท่ากัน ผู้เสียภาษีจำเป็นต้องบริหารจัดการแยกส่วนของเงินลงทุน ต้นทุน และผลตอบแทนที่ได้จาการขาย บางหลักทรัพย์ขายอาจขาดทุน บางหลักทรัพย์ขายอาจกำไร รายการใดที่ขายขาดทุนไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีและไม่สามารถนำมาหักกลบกับกำไรของการขายหลักทรัพย์ตัวอื่นได้ เนื่องจากเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ช)
เงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ช) ได้แก่ ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน โอนหน่วยลงทุน หรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงินฯ
ความหมายของเงินได้นี้คือ ผลประโยชน์ที่ได้จากการขายหลักทรัพย์หรือกำไรนั่นเอง หากขาดทุนก็ไม่ถือเป็นเงินได้
ดังนั้นหลักทรัพย์ตัวใดที่ขายแล้วกำไรก็ต้องนำกำไรนั้นมารวมคำนวณภาษี เมื่อนำกำไรนั้นเข้ามาในประเทศไทย กรณีนี้ผู้เสียภาษีควรต้องจัดทำบัญชีคุมเงินลงทุนและการขายเงินลงทุนแต่ละครั้ง รวมถึงกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง รวมทั้งการนำเงินกลับมาจะเลือกว่าเป็นเงินลงทุนหรือกำไรขาดทุนจากการขายหลักทรัพย์ส่วนใด และต้นทุนคำนวณอย่างไร หากหลักทรัพย์ซื้อมาหลายครั้งด้วยต้นทุนที่ต่างกัน จะใช้หลักการเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือต้นทุนถัวเฉลี่ย (Moving Average Cost) ประเด็นนี้กรมสรรพากรยังไม่มีแนวปฏิบัติให้
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรเคยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนกรณีเงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล อาทิ ให้เลือกใช้การคำนวณต้นทุนวิธีเข้าก่อนออกก่อนหรือต้นทุนถั่วเฉลี่ย อีกทั้งให้สามารถหักกลบกำไรขาดทุนจากการขายได้ด้วย
จากประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนชื่นชมกรมสรรพากรที่สามารถให้ความชัดเจนบางกรณีได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม หวังว่ากรมสรรพากรจะได้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและลดภาระการพิสูจน์รายได้ที่นำกลับประเทศไทย เพื่อลดการโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี และเอื้ออำนวยให้ผู้เสียภาษีที่ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศให้เหมาะสม
ทั้งนี้ หากมีแนวทางปฏิบัติใดเพิ่มเติม ผู้เขียนจะนำเสนอให้ทราบในโอกาสต่อไป
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ