
ผลกระทบเมื่ออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต้องมีบัญชีพิเศษ
27 กุมภาพันธ์ 2567
ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวสั้น ๆ ว่า กรมสรรพากรให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มส่งข้อมูลรายได้ผู้ค้าออนไลน์ เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จึงขอสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า เงื่อนไขในคำสั่งกรมสรรพากรฉบับนี้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายใด และมีผลกระทบต่อผู้ค้าออนไลน์อย่างไร รวมทั้งแนวทางและข้อควรปฏิบัติของผู้ค้าทุกราย
ข้อกฎหมายใดที่กรมสรรพากรใช้กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ
ในประมวลรัษฎากร มาตรา 17 (1) อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งบุคคลเป็นการทั่วไปให้มีบัญชีพิเศษ และให้กรอกข้อความที่ต้องการลงในบัญชีนั้น
อธิบดีกรมสรรพากรจึงได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ เรื่อง กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2566 โดยให้มีผลใช้บังคับสำหรับการส่งข้อมูลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนั้น ยังมีข้อกฎหมายในประมวลรัษฎากร มาตรา 3 โสฬส ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 384 พ.ศ. 2565 ระบุถึงการจัดทำและการยื่นเอกสารดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรได้ ดังนั้นกรมสรรพากรจึงระบุให้เมื่ออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจัดทำบัญชีพิเศษขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานที่กรมสรรพากรกำหนดแล้ว ให้นำส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อกรมสรรพากร
อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มใดที่ต้องจัดทำบัญชีพิเศษ
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่มีลักษณะดังนี้ ต้องจัดทำบัญชีพิเศษ
1. “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” ที่เป็นผู้ให้บริการผ่านสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคเพื่อให้เกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่รวมถึงกิจการของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
2. อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย
3. อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเกิน 1,000ล้านบาท ถ้าต่อมามีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชี 1 รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ยังคงมีหน้าที่จัดทำบัญชีพิเศษ
จากลักษณะดังกล่าว จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งในไทย ก็ไม่เข้าข่าย หรือหากจัดตั้งในไทย แต่ไม่มีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ก็ไม่เข้าข่ายเช่นกัน ซึ่งที่ทราบกันดีจะมีอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มรายใหญ่ในไทยที่น่าจะเข้าเกณฑ์ อาทิ Shopee, Lazada
บัญชีพิเศษที่อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต้องจัดทำคืออะไร
ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรระบุไว้ว่า “บัญชีพิเศษ” หมายถึง บัญชีที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการ (ผู้ประกอบการ คือ ผู้ที่ขายสินค้าหรือบริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม) ซึ่งการจัดทำต้องทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามรูปแบบที่กรมสรรพากรกำหนดและส่งให้กรมสรรพากรทางระบบอิเล็กทรอนิกส์
ประเด็นที่น่าสนใจคือ กรมสรรพากรจะได้ข้อมูลรายได้ของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการ เช่น ค่าธรรมเนียมการขายผ่านแพลตฟอร์มจากผู้ขายสินค้าหรือบริการ หรือค่าโฆษณา ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะสามารถเชื่อมโยงกับการขายสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบการได้ผ่านแพลตฟอร์มนั้น ๆ ซึ่งกรมสรรพากรสามารถนำไปประมวลผลเพื่อการบริหารตรวจสอบการเสียภาษีของผู้ประกอบการที่ใช้แพลตฟอร์มนั้นได้
ข้อควรปฏิบัติของผู้ประกอบการค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม
เป็นเรื่องดีที่ควรได้รับทราบว่า มิใช่เพียงบัญชีพิเศษของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่จะสามารถติดตามจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการได้ แต่ปัจจุบันกรมสรรพากรมีเครื่องมือจำนวนมากในการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาบริหารตรวจสอบการเสียภาษีและขยายฐานจัดเก็บภาษีไปยังผู้ประกอบการที่มีรายได้ แต่ไม่เข้ามาอยู่ในระบบภาษี ฐานข้อมูลของกรมสรรพากร อาทิ
- ข้อมูลจากการยื่นแบบผ่านระบบกรมสรรพากร (e-Filing, e-Withholding Tax, e-Tax Invoice)
- ข้อมูลจากสถาบันการเงิน (บัญชีที่รับเงิน 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือฝาก 400 ครั้งขึ้นไปและรวมมากกว่า 2 ล้านบาทต่อปี)
- ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ เช่น กรมศุลกากร, BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน), กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ
- การเชื่อมโยงประเด็นจากข้อมูลต่าง ๆ ภายในกรมสรรพากร เช่น การกระทบยอด ภ.ง.ด.50 กับ ภ.พ.30, ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53 , ภ.พ.36, ภ.ง.ด.54
- ข้อมูลจากระบบการให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการเลี่ยงภาษีทางระบบอิเล็กทรอนิกส์
- ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ
ผู้ประกอบการควรจะได้แสดงรายได้ที่ถูกต้องในการยื่นคำนวณภาษี รวมถึงควรได้ศึกษาวิธีการหักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือเป็นการเหมา การหักค่าลดหย่อนกรณีเป็นบุคคลธรรมดาและวิธีการคำนวณภาษีที่ถูกต้อง หากการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึงอัตราภาษีเกินกว่า 15% ขึ้นไป ก็ควรได้ศึกษาถึงการประกอบการในรูปแบบบริษัทที่อาจได้ประโยชน์ทางภาษีมากกว่า ซึ่งการประกอบการในรูปแบบบริษัทจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชีและหักค่าใช้จ่ายจริง ทว่าหากมีผลขาดทุนก็สามารถยกไปหักในปีถัดไปได้ ทั้งนี้ มีแหล่งข้อมูลที่จะให้เรียนรู้อยู่มากมาย
ท้ายนี้ผู้เขียนขอเน้น ไม่ว่าท่านจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล การแสดงรายได้ที่ถูกต้องเพื่อมายื่นภาษีเป็นสิ่งที่ต้องจัดทำ สำหรับการบริหารจัดการภาษีให้เสียอย่างถูกต้องและประหยัด ผู้เขียนจะนำเสนอในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ