
มาตรการลดภาษี “สถานบันเทิง”
29 เมษายน 2567
บทความในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาโดยเน้นไปที่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับ “สินค้า” (Goods) เป็นหลัก จนอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปได้ว่าภาษีสรรพสามิตจัดเก็บจากสินค้าเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วย นั่นคือ “บริการ” (Services)
หนึ่งในบริการสำคัญที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีคือ “กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ” โดยสถานบันเทิงประเภทไนต์คลับ ดิสโกเทก ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ ถือเป็นกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจประเภทหนึ่ง ที่ในปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ดำเนินนโยบายโดยการปรับลดอัตราภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะอธิบายเกี่ยวกับรายละเอียดของการลดอัตราภาษีสถานบันเทิงเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายนั้น ในเบื้องต้นจะต้องทำความเข้าใจเหตุผลและขอบเขตของ “กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ” ที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
1. เหตุผลและวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษี
การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจมีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ
(1) เนื่องจากกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยเฉพาะไนต์คลับ ดิสโกเทก ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ มีการให้บริการด้านความบันเทิงในยามราตรี ไม่ว่าจะเป็นการกิน การดื่ม ดนตรี แสง สี เสียง ตลอดจนการเต้นหรือเต้นรำ จึงเป็นการให้บริการที่อยู่ภายใต้ความฟุ่มเฟือย โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้ที่มีฐานะร่ำรวยหรือมีฐานะปานกลาง รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถที่จะใช้จ่ายเกินความจำเป็นต่อการดำรงชีพของบุคคลโดยทั่วไปได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ดี ดังนั้นรายรับซึ่งจะต้องนำมาใช้คำนวณเป็นฐานภาษีย่อมจะมีจำนวนมาก มีฐานภาษีที่กว้าง สามารถที่จะอำนวยรายได้ให้แก่รัฐได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มอัตราภาษีให้สูง
(2) เนื่องจากกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจเป็นการประกอบกิจการที่ใช้ทรัพยากรเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ใช้บริการ ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองเกินกว่าสัดส่วนการบริโภคในระดับปกติของบุคคลในสังคมโดยทั่วไป ทั้งยังเป็นสถานบริการที่มีผลกระทบต่อศีลธรรม รวมถึงวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม จนอาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมที่ก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคมอันสามารถจะสร้างความเสียหายให้แก่รัฐได้ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อการเลือกใช้บริการอยู่ภายใต้ความสมัครใจ ผู้ที่ใช้บริการในสถานบริการมากก็ย่อมถือว่าเป็นผู้ที่มีความฟุ่มเฟือยมากกว่าผู้อื่นก็สมควรที่จะต้องเสียภาษีมาก ดังนั้นรัฐจึงใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือเพื่อลดผลกระทบภายนอกทางลบ (Negative Externalities) ที่อาจเกิดขึ้น
2. พิกัดใหญ่กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ
“กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ” เป็นชื่อ “พิกัดใหญ่” ที่กำหนดไว้ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ท้ายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ตอนที่ 17 ซึ่งได้กำหนดความหมายให้หมายความว่า
“การประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ เช่น สถานมหรสพ สถานที่ฉายภาพยนตร์ ไนต์คลับ คาบาเรต์ ดิสโกเทก คาราโอเกะ ค็อกเทลเลาจน์ สถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด เป็นต้น”
จากความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า “กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ” ตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
(1) “เป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ”
ในตอนที่ 17 ได้ยกตัวอย่างการประกอบกิจการที่เป็นกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจ เช่น สถานมหรสพ สถานที่ฉายภาพยนต์ ไนต์คลับ คาบาเรต์ ดิสโกเทก คาราโอเกะ ค็อกเทลเลาจน์ สถานอาบน้ำหรืออบตัวและนวด เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจดังกล่าว อาจมีเพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย
(2) “ในสถานบริการ”
ตามมาตรา 4 กำหนดความหมายของ “สถานบริการ” หมายความว่า สถานที่สำหรับประกอบกิจการในด้านบริการ และให้หมายความรวมถึงสำนักงานใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นในการประกอบกิจการในกรณีที่ไม่อาจกำหนดสถานที่ให้บริการได้แน่นอน โดยจากความหมายของ “สถานบริการ” การให้บริการในสถานบริการจึงอาจเกิดขึ้นในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง หรือเป็นการให้บริการในสถานบริการที่มิอาจกำหนดได้แน่นอนก็ได้ โดยถือเอาสำนักงานใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นในการประกอบกิจการเป็นสถานบริการ
(3) “เพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ”
การประกอบกิจการในด้านสถานบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ต้องเกิดขึ้นเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ หากเป็นเพียงการจัดงานบันเทิงอันเป็นงานประเพณี หรืองานสาธารณกุศลต่าง ๆ ย่อมไม่เข้าลักษณะของการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ
3. พิกัดย่อยสถานบันเทิง
ที่กล่าวมาคือความหมายของพิกัดใหญ่สำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ซึ่งมีความหมายค่อนข้างกว้าง และมีความหลากหลาย เพราะตัวอย่างที่ยกมาตามความหมายดังกล่าวเป็นแค่เพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม หากได้ติดตามวารสารเอกสารภาษีอากรเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตมาอย่างต่อเนื่อง ผู้อ่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า คำนิยามในพิกัดใหญ่สำหรับสินค้าและบริการตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต กลไกในทางกฎหมายประสงค์ที่จะให้เป็นถ้อยคำกว้าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถเพิ่มชนิดหรือประเภทของสินค้าและบริการที่จัดเก็บภาษีเข้าไปได้ตามนโยบายที่รัฐบาลต้องการ การหาคำตอบว่ากิจการบันเทิงหรือหย่อนใจประเภทใดบ้างที่ต้องเสียภาษีในปัจจุบัน จึงไม่อาจพิจารณาแต่เพียงคำนิยามในพิกัดใหญ่เท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาจาก “พิกัดย่อย” ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้กำหนดประเภทของกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจที่มีลักษณะเป็น “สถานบันเทิง” ไว้ตามพิกัดประเภทที่ 17.01 ได้แก่
“ไนต์คลับ ดิสโกเทก ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยให้หมายรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา”
ซึ่งกรมสรรพสามิตได้มีแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาลักษณะของสถานบริการแต่ละประเภทไว้ดังต่อไปนี้
(1) “ไนต์คลับ ดิสโกเทก”
กรมสรรพสามิตจะพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น มีการแสดงดนตรี จัดให้มีอุปกรณ์แสง สี เสียง ผู้เข้าใช้บริการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสถานบริการ ไม่ว่าจะเป็นการเต้น มีดีเจเปิดแผ่น หรือมีการแสดง Live Concert มีการจำหน่ายอาหาร รวมทั้งมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(2) “ผับ”
พิจารณาจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่ เป็นสถานที่ที่มุ่งเน้นการสังสรรค์ ไปกับกลุ่มเพื่อน มีอาหารจานหลัก มีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเน้นการสั่งเป็นขวด และมีการแสวงหาความบันเทิงร่วมกัน เช่น ฟังเพลง ร้องคาราโอเกะ ดูถ่ายทอดสดกีฬา เป็นต้น
(3) “บาร์”
พิจารณาจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่ เป็นสถานที่แสวงหาคนรู้จักใหม่ ผู้ใช้บริการมักไปคนเดียว มีผู้ผสมเครื่องดื่มบริการ มีอาหารกินเล่น และมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเน้นการสั่งเป็นแก้ว เช่น ค็อกเทล
(4) “ค็อกเทลเลาจน์”
พิจารณาจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่ เป็นสถานที่ที่มีการแสดงโชว์ มีผู้ให้บริการ มีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเน้นการสั่งเป็นขวด มีอาหารกินเล่น
สถานบริการดังกล่าวตาม 1 - 4 กรณีใดจะเป็นไนต์คลับ ดิสโกเทก ดิสโกเทก ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ ย่อมมีลักษณะเป็นสถานบริการโดยสภาพและข้อเท็จจริงของการให้บริการประเภทนั้น โดยไม่ต้องพิจารณาถึงเวลาในการให้บริการหรือเวลาปิดทำการ
(5) “สถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา”
บัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 17 ใช้ถ้อยคำว่า “ให้หมายความรวมถึง” ย่อมแสดงให้เห็นว่าสถานบริการในกรณีนี้มิได้มีลักษณะเป็นสถานบริการโดยสภาพตามประเภทที่ 1 - 4 แต่กฎหมายกำหนดให้หมายความรวมถึงเพื่อให้ถือว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานบริการตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต โดยกรมสรรพสามิตมีแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาลักษณะของสถานที่ดังกล่าวดังนี้
(ก) เป็นสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรืออาจจะขายตลอดเวลาที่เปิดจนถึงเวลาที่ปิดก็ตาม
(ข) เป็นสถานที่ที่จัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งเป็นการแสดงต่อหน้าคนดู เช่น การแสดงของนักดนตรีคนเดียว วงดนตรี มายากล กายกรรม ละครเวที การแสดงของคนและสัตว์ เป็นต้น เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้มาใช้บริการในสถานที่นั้น ไม่ว่าจะแสดงก่อนหรือหลังเวลา 24.00 น. หรือแสดงเพียงบางวันของเดือนหรือสัปดาห์ก็ตาม
(ค) เป็นสถานที่ที่เปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา ซึ่งการปิดทำการ หมายถึง การปิดสถานที่โดยไม่มีผู้รับบริการอยู่ในสถานที่นั้น หากเป็นเพียงแค่การปิดรับผู้มาใช้บริการรายใหม่ ปิดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม หรือปิดการแสดงดนตรี แต่ยังมีผู้ใช้บริการนั่งรับประทานอาหาร นั่งดื่ม หรืออยู่ในสถานที่นั้น ลักษณะเช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา ทั้งนี้ แม้จะเป็นร้านอาหาร ร้านข้าวต้มรอบดึก หากจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา ก็อาจมีลักษณะเป็นสถานบันเทิงที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตได้เช่นกัน
เนื่องจากสถานบริการนั้น มีกฎหมายที่เข้ามาควบคุมอีกฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 เคยมีประเด็นหารือมาที่กรมสรรพสามิตว่า ผู้ประกอบกิจการสถานบริการที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 จะสามารถจดทะเบียนสรรพสามิตได้หรือไม่
กรมสรรพสามิตได้ตอบข้อหารือ[1] ในประเด็นนี้ โดยเห็นว่า มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้กำหนดนิยามคำว่า
“บริการ” ไว้หมายความว่า “การให้บริการในทางธุรกิจในสถานบริการตามที่ระบุไว้ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัตินี้”
“สถานบริการ” ไว้หมายความว่า “สถานที่สำหรับประกอบกิจการในด้านบริการ และให้หมายความรวมถึงสำนักงานใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นในการประกอบกิจการในกรณีที่ไม่อาจกำหนดสถานที่ให้บริการได้แน่นอน”
“ผู้ประกอบกิจการสถานบริการ” หมายความว่า “เจ้าของสถานบริการ และให้หมายความรวมถึงผู้จัดการหรือบุคคลอื่นซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของสถานบริการด้วย”
ซึ่งมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ก็ได้กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการสถานบริการมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนสรรพสามิตตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายใน 30 วัน ก่อนเริ่มให้บริการ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในการยกเว้นหรือผ่อนผันการจดทะเบียนในกรณีดังกล่าวไว้แต่อย่างใด
ดังนั้นการที่ผู้ประกอบกิจการสถานบริการได้ประกอบกิจการสถานบริการตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสรรพสามิต แม้ว่าผู้ประกอบกิจการสถานบริการดังกล่าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ประกอบกิจการสถานบริการนั้นก็มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนสรรพสามิตและเสียภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เพื่อให้รัฐไม่สูญเสียประโยชน์ในทางภาษีจากการฝ่าฝืนดังกล่าว เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
4. การลดอัตราภาษีสถานบันเทิง
อัตราภาษีสถานบันเทิงนั้น เดิมกำหนดให้ “รายรับ” ของสถานที่สำหรับดื่มกินและจัดให้มีดนตรีโดยใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงในไนต์คลับ ดิสโกเทก ผับ บาร์ หรือค็อกเทลเลาจน์ รวมทั้ง “รายรับ” ของสถานที่สำหรับดื่มกินและจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง เสียภาษีตามมูลค่าในอัตราร้อยละ 10 ของรายรับ เช่น สถานบันเทิงมีรายรับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ 10 ล้านบาท ก็จะต้องเสียภาษีสรรพสามิต 1 ล้านบาท และภาษีเพื่อราชการส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต จำนวน 100,000 บาท รวมเป็น 1,100,000 บาท
แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นฟูจึงมีอัตราการขยายที่ต่ำ กระทรวงการคลังจึงได้นำเสนอมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย หลายมาตรการมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศและภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว (Tourist Destination) นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายบริโภคต่อหัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยทุกระดับ
ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิต คือ การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากการประกอบกิจการสถานบันเทิง โดยกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2567 ลดอัตราภาษีสถานบันเทิงที่กำหนดให้เสียภาษีจากเดิมอัตราร้อยละ 10 ลดลงเป็นอัตราร้อยละ 5 ของรายรับ
อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เท่านั้น ที่ผู้ประกอบการจะมีสิทธิเสียภาษีได้ในอัตราร้อยละ 5 เมื่อพ้นกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป อัตราภาษีสำหรับสถานบันเทิงข้างต้นจะปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 10 เช่นเดิม
ทั้งนี้ หากรัฐบาลประสงค์จะกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในส่วนนี้ต่อไปอีก ก็อาจมีการพิจารณาขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีดังกล่าวตามความเหมาะสมต่อไป
[1] หนังสือสำนักกฎหมายที่ กค 0603/19276 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2561
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ