
ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี
29 เมษายน 2567
Cryptocurrency หรือคริปโทเคอร์เรนซี ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ปัจจุบันการลงทุนไปกับคริปโทเคอร์เรนซีมีรูปร่างที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะมีกฎหมายมารองรับ จึงทำให้เกิดชัดเจนกว่าเดิม และมีแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ถูกจัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายของไทย ถือเป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ที่ต้องมาทำความรู้จักและความเข้าใจให้มากขึ้น
คริปโทเคอร์เรนซีกับโลกการเงินดิจิทัล
สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ประเภทหนึ่งที่มีการรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัส ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) เพียงแต่ไม่สามารถจับต้องได้
แม้ว่าในปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซีจะยังไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายดังเช่นสกุลเงินทั่วไป (ยกเว้นประเทศเอลซัลวาดอร์ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติให้บิตคอยน์สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้) แต่ก็มีธุรกิจหลายแห่งเริ่มมีการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้เพื่อปรับตัวรับโลกการเงินที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น การรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ
ประโยชน์ของคริปโทเคอร์เรนซี
- ทำธุรกรรมได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นแบบดิจิทัลทั้งหมด จึงมีความสะดวกและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมภายในประเทศหรือระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีเหนือกว่าธนาคารแบบดั้งเดิม
- ต้นทุนในการทำธุรกรรมต่ำ ใครที่เคยโอนเงินระหว่างประเทศจะทราบกันดีว่าค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมค่อนข้างสูง แต่หากทำธุรกรรมผ่านคริปโทเคอร์เรนซีจะช่วยลดต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมไปได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับบริการทางการเงินอื่น ๆ
- มีความปลอดภัยและเป็นส่วนตัว เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซีทำงานอยู่บนเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “Blockchain” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยากต่อการถอดรหัสทางคณิตศาสตร์ ทำให้สกุลเงินดิจิทัลปลอดภัยกว่าธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป
- ความโปร่งใสที่เหนือกว่า ธุรกรรมแต่ละรายการของคริปโทเคอร์เรนซีจะถูกบันทึกในบัญชีแยกประเภท โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งไม่สามารถแก้ไข ย้อนกลับ หรือทำลายข้อมูลได้
- ป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ ปัจจุบันเริ่มเห็นข่าวมหาเศรษฐีชาติต่าง ๆ เก็บบิตคอยน์เข้าพอร์ตเพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ เนื่องจากเชื่อว่าเหรียญที่มีอุปทานจำกัด อย่างเช่น Bitcoin สามารถนำมาเป็นเครื่องมือป้องกันเงินเฟ้อได้
- เปิดซื้อขายแลกเปลี่ยน 24 ชั่วโมง เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับตลาดหุ้นที่มีวันหยุดและเวลาเปิดปิดอย่างชัดเจน แต่สำหรับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีสภาพคล่องสูง เพราะเปิดให้ซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซี
พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
สรุปสาระสำคัญของพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินทรัพย์ดิจิทัลฯ กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการระดมทุนต่อประชาชนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้
ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล
สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชกำหนดนี้ ได้แก่ คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ (มาตรา 3)
(1) “คริปโทเคอร์เรนซี” คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และหมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนดเพิ่มเติม
(2) “โทเคนดิจิทัล” คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และหมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนดเพิ่มเติม
ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ออกประกาศกำหนดให้คริปโทเคอร์เรนซีที่ผู้ออกมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนจากประชาชนและมีการกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการ หรือกิจการใด ๆ หรือมีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใด ๆ ถือเป็นโทเคนดิจิทัลด้วย
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษีคริปโทเคอร์เรนซี
- มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร (4) (ช) เงินส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือครอบครองโทเคนดิจิทัล
- มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร (4) (ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
- มาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร (2) (ฉ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช) และ (ฌ) ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้
รายได้จากคริปโทเคอร์เรนซีรูปแบบใดบ้างที่จะต้องนำมาเสียภาษี
1. การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล
การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนถือเป็นเงินได้ มาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร การคำนวณต้นทุนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลประเภทเดียวกันให้ใช้วิธีที่มาตรฐานการบัญชีรับรอง เช่น วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) และให้คำนวณต้นทุนแยกตามประเภทของเหรียญ ผู้มีเงินได้สามารถเลือกวิธีคำนวณต้นทุนใดก็ได้ เมื่อเลือกวิธีการคำนวณต้นทุนวิธีใดแล้วต้องใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี
2. การขุดคริปโทเคอร์เรนซี
ณ วันที่ได้รับคริปโทเคอร์เรนซีจากการขุดยังไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน แต่เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีที่ขุดมาได้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นและสมควร แต่ผู้ขุดต้องเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและจัดทำบัญชีต้นทุน เช่น ค่าซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างพนักงาน ค่านายหน้า ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นจริงในปีภาษี เป็นต้น รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน เช่น คอมพิวเตอร์ โดยทยอยหักค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ทวิ (สามารถดูตัวอย่างการพิจารณาตามข้อหารือภาษีอากร เลขที่หนังสือ กค 0706/47 ลงวันที่ 3 มกราคม 2551)
การคำนวณต้นทุนคริปโทเคอร์เรนซีประเภทเดียวกันให้ใช้วิธีที่มาตรฐานการบัญชีรับรอง เช่น วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) และให้คำนวณต้นทุนแยกตามประเภทของเหรียญ ผู้มีเงินได้สามารถเลือกวิธีคำนวณต้นทุนใดก็ได้ เมื่อเลือกวิธีการคำนวณต้นทุนวิธีใดแล้วต้องใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี
3. ได้รับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง
พนักงานได้รับเงินเดือนเป็นคริปโทเคอร์เรนซีถือเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภท 40 (1)
ผู้รับจ้างได้รับค่าจ้างเป็นคริปโทเคอร์เรนซีถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ผู้มีเงินได้กรณีนี้ถือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภท 40 (2)
หากได้รับเงินเดือนซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และได้รับค่าจ้างซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) จากนายจ้างรายเดียวกันด้วยแล้ว ผู้มีเงินได้จะต้องรวมแสดงเป็นเงินได้ประเภท 40 (1)
การวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มาหรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี
กรณีได้รับเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง เมื่อนำมูลค่าที่ได้รับไปเสียภาษีแล้วจะสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปจริงได้
4. ได้รับคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้หรือได้รับเป็นรางวัล
ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว ตัวอย่างเช่น ได้รับแจกเมื่อเข้าร่วมกิจกรรม ได้รับเป็นรางวัลส่งเสริมการขาย เป็นต้น
การวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี
กรณีได้รับเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลมา เมื่อนำมูลค่าที่ได้รับไปเสียภาษีแล้วจะสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปจริงได้
5. ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครอง
5.1 โทเคนดิจิทัล ตัวอย่างเช่น Yield Farming หรือ Staking เป็นต้น
ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร เงินส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะ เดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล
การวัดมูลค่าโทเคนดิจิทัลทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มาหรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี
กรณีได้รับโทเคนดิจิทัลและนำมูลค่าโทเคนดิจิทัลที่ได้รับไปเสียภาษีแล้ว จะสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปได้
5.2 คริปโทเคอร์เรนซี ตัวอย่างเช่น Yield Farming หรือ Staking เป็นต้น
ผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองคริปโทเคอร์เรนซี ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว
การวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มาหรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี
กรณีได้รับคริปโทเคอร์เรนซีและนำมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้รับไปเสียภาษีแล้ว จะสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปได้
โดยกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้ตระหนักถึงความเท่าเทียมกันในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 779) พ.ศ. 2566 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกรณีดังต่อไปนี้
1 การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ใน Exchange ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
2. การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ผ่าน Broker ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
3. การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ให้แก่ Dealer ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
4. การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โดย Dealer ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอน Investment Token ทั้งในตลาดแรกและในตลาดรองมีผลตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนในประเทศไทย ซึ่งลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี และประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามมา
และล่าสุดกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. … (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token)) ต่อคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ตามมาตรา 40 (4) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินได้ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้แล้วตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 15 สามารถเลือกไม่นำเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดนั้นมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ