
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กับ e-Withholding Tax
29 เมษายน 2567
เมื่อใช้การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านธนาคาร (e - Withholding Tax) หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะมีแนวทางการปฏิบัติที่เปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร มาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้บุคคลซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งภาษีที่ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยกำหนดไว้ว่า
“มาตรา 52
บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ซึ่งมีหน้าที่หักภาษีตามมาตรา 50 (1) (2) (3) และ (4) ต้องนำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงิน ไม่ว่าตนจะได้หักภาษีไว้แล้วหรือไม่
ภาษีที่คำนวณหักไว้ตามมาตรา 50 (5) และ (6) ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน และห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ลงนามรับรู้ ยอมให้ทำ หรือบันทึกไว้ จนกว่าจะได้รับเงินภาษีที่นำส่งไว้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว และในกรณีที่ไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ให้นำส่งตามวรรคหนึ่ง
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามวรรคสอง ให้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด”
สำหรับแบบแสดงรายภาษีที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดไว้ว่า
“มาตรา 59
พร้อมกับการนำเงินภาษีส่งตามมาตรา 52 ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลอื่น ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนด แสดงการหักภาษีเป็นรายตัวผู้มีเงินได้พึงประเมิน”
จากกฎหมายดังกล่าว สรุปได้ว่าการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการนำส่งภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.2 และ ภ.ง.ด.3 ตามที่กำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 58) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538
อย่างไรก็ตาม การหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งอธิบดีกรมสรรพากร ในกรณีการจ่ายเงินได้ใดยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามที่กำหนดในมาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ก็ได้กำหนดให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีถือปฏิบัติในการนำส่งภาษีตามมาตรา 52 และมาตรา 59 เช่นเดียวกัน โดยผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีจะนำส่งภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.53 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 58)ฯ ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538
ปัจจุบันการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.2 ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.53 ได้มีการขยายระยะเวลาในการนำส่งภาษีจากที่กำหนดไว้ตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร ให้นำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงิน เป็นให้นำส่งและยื่นรายการภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และระยะดังกล่าว ใช้สำหรับการยื่นรายการในระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2570 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2567
ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อได้หักภาษี ณ ที่จ่าย กฎหมายก็กำหนดให้การยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
แต่ถ้าเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ออนไลน์) ขยายเวลาให้ยื่นแบบและนำส่งภาษีออกไปเป็นภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน โดยการยื่นแบบออนไลน์ที่ขยาย
มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ผู้ถูกหัก เพื่อให้ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้เป็นหลักฐานในการนำไปเป็นเครดิตภาษีเมื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีของตนเอง โดยกฎหมายเกี่ยวกับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้กำหนดไว้ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
“มาตรา 50 ทวิ
ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 2 ฉบับมีข้อความตรงกัน ในกรณีและตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีตามมาตรา 3 เตรส ให้ออกในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
(2) ในกรณีตามมาตรา 50 (1) ให้ออกภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของปีถัดจากปีภาษี หรือภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ออกจากงานในระหว่างปีภาษี
(3) ในกรณีตามมาตรา 50 (2) (3) หรือ
(4) ให้ออกในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ใช้ตามแบบที่อธิบดีกำหนด อธิบดีมีอำนาจยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้ในกรณีที่เห็นสมควร”
อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร กำหนดแบบหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 62ฯ ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 ไว้ดังนี้
“ข้อ 2 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 2 ฉบับ มีข้อความตรงกันนั้น อย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบท้ายประกาศนี้
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามวรรคหนึ่ง ต้องมีข้อความด้านบนแต่ละฉบับดังนี้
(1) ฉบับที่ 1 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้แนบพร้อมกับแบบแสดงรายการ”
(2) ฉบับที่ 2 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐาน”
ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำสำเนาคู่ฉบับไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับออกใบแทนในกรณีที่หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แล้วแต่ชำรุด สูญหาย โดยการออกใบแทนให้ใช้วิธีถ่ายเอกสารหรือพิมพ์เอกสารจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และมีข้อความว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านบนของเอกสาร ซึ่งผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องลงลายมือชื่อรับรองด้วย
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องมีหมายเลขลำดับของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และหมายเลขลำดับของเล่ม เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ได้จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเล่ม จะไม่มีหมายเลขลำดับของเล่มก็ได้
การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (Scan) ก็ได้
รายการของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามวรรคหนึ่ง สำหรับรายการประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะระบุเฉพาะประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ซึ่งได้หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจะไม่ระบุประเภทเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้
ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการหักเงินได้ดังกล่าวเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จะระบุจำนวนเงินที่ได้หักจากเงินได้ของผู้มีเงินได้เข้ากองทุนดังกล่าวในแต่ละปีภาษีในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ 3 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 2 ต้องทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่น ต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับ ส่วนตัวเลขให้ใช้เลขไทยหรืออารบิก
ข้อ 4 ผู้ใดประสงค์จะทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นอย่างอื่น นอกจากที่กล่าวในข้อ 2 และข้อ 3 ต้องยื่นคำขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ให้ปฏิบัติตามนั้นได้
ข้อ 5 การจ่ายเงินตามมาตรา 50 (4) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่จดแจ้งการหักภาษีไว้ในฎีกาเบิกเงินตามมาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามระเบียบของทางราชการแล้ว ให้ยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 2
ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เป็นต้นไป เว้นแต่กรณีที่ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามแบบที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปแล้วก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539”
การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินต้องออกให้ผู้รับเงินซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งเมื่อมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เว้นแต่การจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ซึ่งได้แก่เงินได้จากการจ้างแรงงาน และมาตรา 40 (2) ซึ่งได้แก่เงินได้เนื่องจากหน้าที่ ตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่านายหน้า ค่าที่ปรึกษา ที่จ่ายให้บุคคลธรรมดา ซึ่งต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ออกภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของปีถัดจากปีภาษี หรือภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ออกจากงานในระหว่างปีภาษี
แต่ทั้งนี้ หากผู้จ่ายเงินได้จะขอยกเว้นการออกหนังรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน
นอกจากการนำส่งภาษีตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ในปี 2562 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 3 ปัณรส ขึ้นมาซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า
“มาตรา 3 ปัณรส เพื่อประโยชน์ในการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 52 การนำส่งภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 และมาตรา 83/6 ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีอาจเลือกวิธีนำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง แทนวิธีนำส่งตามที่บัญญัติในมาตราที่เกี่ยวข้องก็ได้”
บทบัญญัติมาตราดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีอาจเลือกวิธีนำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงแทนวิธีนำส่งตามที่บัญญัติในมาตราที่เกี่ยวข้องก็ได้ และได้มีการออกกฎกระทรวงให้มีการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผ่านธนาคาร (e - Withholding Tax) ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 364 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการนำส่งภาษี ดังนี้
“ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้ “ธนาคาร” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
ข้อ 2 ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีตามประมวลรัษฎากร อาจเลือกวิธีการนำส่งเงินภาษีต่อกรมสรรพากรผ่านธนาคารตามมาตรา 3 ปัณรส ได้ตามกฎกระทรวงนี้
ธนาคารที่ประสงค์จะรับเงินภาษีจากผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีแทนกรมสรรพากรตามวรรคหนึ่ง ต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ข้อ 3 ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 52 ภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ และภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 และมาตรา 83/6 นำส่งเงินภาษีผ่านธนาคาร พร้อมกับการจ่ายเงินได้พึงประเมินหรือการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไร หรือการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรก็ได้
ข้อ 4 ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีตามข้อ 3 แจ้งรายการที่เกี่ยวข้องต่อธนาคารตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี
(2) ชื่อหรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับเงิน
(3) ในกรณีภาษีเงินได้ให้ระบุประเภทของเงินได้พึงประเมินและจำนวนเงินได้ที่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีได้นำส่ง และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี)
(4) ในกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มให้ระบุมูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ
(5) จำนวนภาษีที่หักหรือนำส่ง
ข้อ 5 เมื่อธนาคารได้รับเงินภาษีจากผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีตามข้อ 3 แล้ว ให้ธนาคารออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงการรับชำระเงินภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษี และผู้รับเงินหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
การออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงการรับเงินภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ข้อ 6 ให้ธนาคารนำส่งเงินภาษีตามข้อ 3 และรายการตามข้อ 4 ต่อกรมสรรพากร ภายในระยะเวลาที่ได้ทำความตกลงกับกรมสรรพากร แต่ไม่เกิน 4 วันทำการ นับถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงินภาษีและรายการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ข้อ 7 เมื่อธนาคารได้นำส่งเงินภาษีให้กรมสรรพากรแล้ว ให้กรมสรรพากรออกใบเสร็จรับเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษี และให้ถือว่าการเสียภาษีอากรเป็นการสมบูรณ์เมื่อได้รับใบเสร็จรับเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์”
e-Withholding Tax ยังต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ ?
มีประเด็นว่า ผู้จ่ายเงินที่นำส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากรผ่านธนาคาร (e-Withholding Tax) ยังมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
ในประเด็นนี้ ได้มีการกำหนดไว้ตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 20 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ในการนำส่งเงินภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นกฎหมายลูกที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่า
“ข้อ 5 ให้ธนาคารซึ่งได้รับเงินภาษีและรายการตามข้อ 4 ออกหลักฐานแสดงการรับชำระเงินภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีและผู้รับเงินหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถระบุได้ว่าหลักฐานดังกล่าวนั้นธนาคารเป็นผู้ออก โดยต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษี
(2) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (สำหรับธุรกรรมในประเทศ)
(3) ประเภทของเงินได้พึงประเมิน
(4) จำนวนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี)
(5) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี)
(6) หมายเลขอ้างอิง (ธนาคารกำหนดเอง)
(7) ชื่อผู้รับเงินภาษาอังกฤษ (สำหรับเฉพาะธุรกรรมระหว่างประเทศ)
(8) นามสกุลผู้รับเงินภาษาอังกฤษ (สำหรับเฉพาะธุรกรรมระหว่างประเทศ)
เพื่อประโยชน์ในการส่งหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีแจ้งช่องทางการติดต่อของตนและผู้รับเงินหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ธนาคาร
ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ธนาคารส่งหลักฐานให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษี และผู้รับเงินหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ผ่าน Short Message Service (SMS) แต่ธนาคารต้องระบุรายการอย่างน้อย ตาม (1) (2) (4) สำหรับธุรกรรมในประเทศ หรือ (1) (4) (7) (8) สำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อเป็นหลักฐานที่ส่งให้ผ่านช่องทางดังกล่าว
ให้หลักฐานแสดงการรับชำระเงินภาษีที่ธนาคารได้ออกให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีและผู้รับเงิน หรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามวรรคหนึ่ง เป็นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย และให้ยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แก่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร”
จะเห็นได้ว่า ในการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผ่านธนาคาร (e - Withholding Tax) กฎหมายได้กำหนดให้ธนาคารต้องออกหลักฐานแสดงการรับชำระเงินภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีและผู้รับเงินหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถระบุได้ว่าหลักฐานดังกล่าวนั้นธนาคารเป็นผู้ออก
หลักฐานนี้คือหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งผู้จ่ายงิน (ผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย) และผู้รับเงิน (ผู้ถูกหัก ณ ที่จ่าย) จะต้องจัดเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย และเป็นเอกสารที่สามารถพิสูจน์การหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ได้ โดยกฎหมายก็ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นว่า ผู้จ่ายเงินได้รับยกเว้นไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การหักภาษี ณ ที่จ่าย e - Withholding Tax นั้น ความรู้ความเข้าใจในตัวบทกฎหมายนั้น จะต้องมีความรู้ความเข้าใจทั้งฝ่ายผู้จ่ายเงินและฝ่ายผู้รับเงิน
ดังนั้นถ้าฝ่ายผู้จ่ายเงินไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ฝ่ายผู้รับเงินยังคงต้องการหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามที่เคยได้รับ
ถ้าผู้จ่ายเงินได้ไม่ออกให้ก็ต้องยกข้อกฎหมายที่กล่าวข้างต้นไปอธิบายให้ผู้รับเข้าใจ โดยแจ้งให้ผู้รับเงินใช้หลักฐานที่ธนาคารออกให้เป็นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้
e-Withholding Tax ผู้จ่ายออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย มีความผิดตามหรือไม่ ?
แต่ก็มีผู้จ่ายเงินบางรายได้ออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ให้ผู้รับเงิน กรณีเช่นนี้ผู้จ่ายที่ออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย จะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ?
ประเด็นดังกล่าว การที่ผู้จ่ายเงินไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นข้อยกเว้นที่อธิบดีกรมสรรพากรได้ยกเว้นให้สำหรับผู้จ่ายงินที่ใช้ระบบ e - Withholding Tax ดังนั้นหากไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่ไปออกให้แก่ผู้รับไปแล้ว ก็ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดว่ามีความรับผิดแต่อย่างใด
แต่ผู้จ่ายควรจะอธิบายให้ผู้รับเงินทราบในข้อกฎหมายที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย น่าจะทำให้การหักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วยระบบ e - Withholding Tax เป็นไปตามวัตถุประสงค์มากกว่า
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ