
สรุปความเสี่ยงสำคัญของระบบงานจัดซื้อ
26 มิถุนายน 2567
สวัสดีครับเพื่อนนักบัญชี สำหรับบทความที่เราจะมาพูดคุยกันในเดือนนี้จะเป็นเรื่อง สรุปความเสี่ยงสำคัญ ของระบบงานจัดซื้อที่ควรระวัง
ก่อนอื่น เราคงต้องมาทำความเข้าใจกับความหมายของ “ความเสี่ยง”
ความเสี่ยง หมายถึง โอกาสความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและมีผลทางด้านลบ (ความเสียหาย) ส่งกระทบต่อการดำเนินงานที่ไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร
จากความหมายดังกล่าวข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า ในการบริหารจัดการงานที่สำคัญคงต้องเสริมแนวคิด การเป็นนักพยากรณ์ (Predict) เหตุการณ์ สถานการณ์ในอนาคต เพื่อเป็นการเสริมสร้างความระมัดมัดระวัง (ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในเชิงลบ) ในการจัดการเพื่อลดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้
ทั้งนี้ “ระบบงานจัดซื้อ” ถือเป็นระบบงานที่สำคัญ มีช่องทางและเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดความเสี่ยง ดังนั้นหากองค์กรไม่กำหนดแนวทางกำกับดูแลที่ดี (ระบบการควบคุมภายในที่ดี) ก็อาจจะพบเจอผลกระทบ ความเสียหายที่รุนแรง เช่น การเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น
หลักการพื้นฐานงานจัดซื้อที่ดี
ก่อนที่เราจะมาสรุปความเสี่ยงสำคัญ เรามาพิจารณาทบทวนหลักการพื้นฐานของงานจัดซื้อ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ความคุ้มค่า คุณภาพตรงตามความต้องการ ราคาเหมาะสม แผนการจัดการที่เหมาะสม
2. ความโปร่งใส เปรียบเทียบอย่างเป็นธรรม เปิดเผยเอกสารหลักฐานชัดเจน
3. ความมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล มีการวางแผน การกำหนดบริหารเวลาที่เหมาะสม และมีการประเมินผล
4. ตรวจสอบได้ จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
สิ่งที่หน่วยงานต้องคำนึงถึง
จากหลักการพื้นฐาน (วัตถุประสงค์) เรามาพิจารณาถึงหลักการจัดซื้อที่ดี หน่วยงานที่รับผิดชอบควรต้องคำนึงถึงเรื่องใดบ้าง
1. ผู้ขาย/แหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ (Right Vender)
- การเลือกผู้ขาย/แหล่งที่มาที่มีความน่าเชื่อถือ ที่ถูกต้องเหมาะสม ก็จะเป็นสร้างโอกาสในการทำการค้าขายที่ดี
2. คุณภาพที่เหมาะสม (Right Quality)
- สินค้าต้องเหมาะสมกับการใช้งาน คุณภาพที่เกินความต้องการก็เป็นการเพิ่มต้นทุน สิ้นเปลือง และในทางกลับกันคุณภาพที่ต่ำ ไม่เหมาะสม ก็อาจจะเป็นปัญหาและการสูญเสียก็จะมีมากขึ้น
3. จำนวน/ปริมาณสินค้าที่เหมาะสม (Right Quantity)
- จำนวน/ปริมาณที่สั่งซื้อมากเกินความจำเป็น เกินความต้องการ ก็จะเป็นการสูญเสียทำให้ต้นทุนจม สินค้าค้างนาน ล้าสมัย และในทางกลับกัน จำนวน/ปริมาณที่สั่งซื้อน้อยเกินไป ไม่พอต่อความต้องการ ก็อาจจะขาดโอกาสทางการค้า ไม่มีสินค้าเพียงพอจัดส่งให้กับลูกค้าได้ทันตามความต้องการ ลูกค้าอาจจะเปลี่ยนใจ สูญเสียรายได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีการจัดทำแผนบริหารการจัดซื้อที่เหมาะสม
4. ราคาที่เหมาะสม (Right Price)
- ราคาที่เหมาะสม ราคายุติธรรม จะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขัน การอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจ แต่หากราคาที่ได้ไม่เหมาะสม ราคาที่สูงเกินไปก็จะเป็นการแบกรับภาระต้นทุน ขายยาก ธุรกิจก็อยู่ยาก ราคาที่ต่ำเกินไปก็อาจจะมีผลต่อคุณภาพ ลูกค้าขาดความเชื่อถือ ยอดขายลด ธุรกิจก็อยู่ยากเช่นเดียวกัน
5. เวลาที่เหมาะสม (Right Time)
- เวลาในการสั่งซื้อต้องไม่เร็วหรือช้าเกินไป การสั่งซื้อเร็วเกินความต้องการ เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดการจัดเก็บสินค้าเกินความจำเป็น สิ้นเปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บ ในทำนองเดียวกัน การสั่งซื้อช้าเกินไป สินค้าเข้ามาไม่ทันต่อเวลา ไม่มีสินค้าส่งมอบให้ลูกค้า ก็อาจจะสูญเสียโอกาสทางการค้าได้
6. สถานที่เหมาะสม (Right Place)
- การวางแผนระบุสถานที่ในการจัดส่งสินค้าที่เหมาะสมจะช่วยทำการจัดการ/ลดการจัดส่งที่ซ้ำซ้อน ลดต้นทุน กรณีที่มีหลายสาขา
ประเด็นสำคัญของการควบคุมภายในที่ดี
ระบบการควบคุมภายในที่ดี ควรพิจารณาในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
1. พิจารณากำหนดบทบาทและแบ่งแยกหน้าที่อย่างเหมาะสม (Check and Balance)
2. พิจารณากำหนดอำนาจในการอนุมัติอย่างเหมาะสมตามบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบ
3. พิจารณากำหนดนโยบายจัดซื้อเป็นลายลักษณ์อักษร
4. พิจารณาการจัดแผนการจัดซื้อ เวลาในการสั่งซื้อ เวลาในการจัดส่ง รวมถึงการวางแผน Safety Stock
5. พิจารณาจัดทำระเบียบการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนอย่างเหมาะสม เป็นลายลักษณ์อักษร โดยครอบคุม
- วิธีการพิจารณาคัดเลือก/ขึ้นทะเบียนผู้ขาย (Approve Vender List)
- การสืบราคา วิธีการคัดเลือกผู้ขาย และขั้นตอนการอนุมัติ
- ขั้นตอนการจัดทำใบขอซื้อ/ใบสั่งซื้อ (รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติการยกเลิก/แก้ไขเอกสาร )
- ขั้นตอนการพิจารณาการจัดทำสัญญา
- ขั้นตอนการติดตามการรับสินค้า
- ขั้นตอนการประเมินผู้ขาย
- ขั้นตอนการควบคุมการจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่สำคัญ
6. พิจารณาการจัดทำรายงานเพื่อการบริหารและเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล/วางแผน
หมายเหตุ : ข้อแนะนำสำหรับระเบียบการปฏิบัติที่กำหนดขึ้น ควรมีแผนภาพ (Flow Chart) ประกอบ จะช่วยทำให้เห็นภาพขั้นตอนการปฏิบัติได้ชัดเจนมากขึ้น
ความเสี่ยงสำคัญของระบบงานจัดซื้อที่ควรระวัง
สุดท้าย มาถึงบทสรุปความเสี่ยงสำคัญของระบบงานจัดซื้อที่ควรระมัดระวังและแนวทางการจัดการ มีดังต่อไปนี้
1. การได้คู่ค้า - Vender ที่ไม่เหมาะสม ได้สินค้า-บริการที่ไม่มีคุณภาพ
แนวทางการจัดการ : กำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นทะเบียน Approve Vender List
2. คุณภาพของสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
แนวทางการจัดการ : กำหนดมาตรฐานสินค้า Product Specification และการกำหนดมาตรฐานในการตรวจสอบ-ตรวจรับสินค้า
3. ราคาสินค้าที่ไม่เหมาะสม
แนวทางการจัดการ : การกำหนดราคากลาง การสืบราคา การเปรียบเทียบราคา การจัดเก็บสถิติในการสั่งซื้อ เพื่อสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรอง/การพัฒนาสินค้าตัวใหม่ - การหาสินค้าทดแทน
4. การจัดส่งสินค้าล่าช้า
แนวทางการจัดการ : การทำความเข้าใจ Lead Time : Delivery Lead Time
5. จำนวน/ปริมาณการสั่งซื้อมากเกินความจำเป็น
แนวทางการจัดการ : การจัดทำแผน Planning/Safety Stock/Reorder Point
6. จัดส่งสถานที่ที่ไม่เหมาะสม
แนวทางการจัดการ : การจัดทำแผนการกระจาย การส่งสินค้าโดยตรงไปยังสาขาที่ต้องการ
ทั้งนี้ งานจัดซื้อในหลายองค์กรยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพราะเห็นว่าเป็นงานประจำตามปกติ เป็นงานส่วนหลังบ้าน ดังนั้นจึงไปให้ความสำคัญกับงานการขายเป็นหลัก
ข้อสังเกตเพิ่มเติม
สัญญานเตือนภัยที่บอกว่าระบบงานจัดซื้อกำลังจะมีปัญหาเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มีการรับคืนสินค้าจำนวนมากผิดปกติ, มีสินค้าจัดเก็บเต็มพื้นที่ เคลื่อนไหวช้า, มีสินค้าล้าสมัย, มีการทำลายสินค้า, มีการปรับปรุงรายการตีราคามูลค่าสินค้าลดลง, มีการปรับปรุง Stock เนื่องจากมีสินค้าสูญหายหาไม่พบ เป็นต้น
ดังนั้นบทบาทของนักบัญชีจึงมีความสำคัญในการส่งสัญญานเตือนภัยให้ผู้บริหารได้ตระหนัก และการให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับปรุงระบบการควบคุมภายในให้มีความรัดกุม เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นเอง
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ