กำลังโหลด...

×



Accounting กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

magazine image
Accounting

กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

“ภาษีธุรกิจเฉพาะ” เป็นภาษีอากรประเมินประเภทหนึ่ง เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 พร้อมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีธุรกิจเฉพาะจะคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ซึ่งภาษีธุรกิจเฉพาะที่กิจการได้จ่ายไปแล้ว นำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจึงเสียจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ (“รายรับ” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ)

กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

(1) การธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายเฉพาะ

(2) การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

(3) การรับประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

(4) การรับจำนำตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ

(5) การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ 

(6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

(7) การขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ 

(8) การประกอบกิจการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา 

ในกรณีที่บุคคลอยู่นอกราชอาณาจักรประกอบกิจการโดยผ่านสถานประกอบการหรือตัวแทนของตนที่อยู่ในราชอาณาจักร ให้ถือว่าประกอบกิจการในราชอาณาจักร

ในกรณีที่มีปัญหาว่ากิจการใดเป็นกิจการตาม (5) หรือไม่ อธิบดีจะเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณากำหนดขอบเขตและเงื่อนไขของการประกอบกิจการที่อยู่ภายใต้บังคับตามมาตรานี้ก็ได้ และเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้วินิจฉัยแล้ว ให้ประกาศคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรในราชกิจจานุเบกษา

กิจการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการดังต่อไปนี้

(1) กิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

(2) กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

(3) กิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์ เฉพาะการให้กู้ยืมแก่สมาชิกหรือแก่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่น

(4) กิจการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(5) กิจการของการเคหะแห่งชาติ เฉพาะการขายหรือให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์

(6) กิจการรับจำนำของกระทรวง ทบวง กรม และราชการส่วนท้องถิ่น

(7) กิจการอื่นตามมาตรา 91/2 ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

ฐานภาษีธุรกิจเฉพาะ

ฐานภาษีสำหรับการประกอบกิจการ ได้แก่ รายรับดังต่อไปนี้ที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้รับหรือพึงได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการ

(1) สำหรับกิจการธนาคาร ตามมาตรา 91/2 (1) รายรับจากการประกอบกิจการ คือ 

(ก) ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากการซื้อหรือขายหรือที่ได้จากตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ และ 

(ข) กำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ หรือการส่งเงินไปต่างประเทศ

(2) สำหรับกิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามมาตรา 91/2 (2) รายรับจากการประกอบกิจการ คือ 

(ก) รายรับตาม (1) (ก) และ

(ข) รายรับตาม (1) (ข) 

(3) สำหรับกิจการรับประกันชีวิตตามมาตรา 91/2 (3) รายรับจากการประกอบกิจการ ได้แก่ ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ 

(4) สำหรับกิจการโรงรับจำนำตามมาตรา 91/2 (4) รายรับจากการประกอบกิจการ คือ 

(ก) ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และ

(ข) เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายของที่จำนำหลุดเป็นสิทธิ 

(5) สำหรับกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) รายรับจากการประกอบกิจการ คือ 

(ก) รายรับตาม (1) (ก) และ

(ข) รายรับตาม (1) (ข) 

(6) สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) รายรับจากการประกอบกิจการ คือ รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

(7) สำหรับกิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 91/2 (7) รายรับจากการประกอบกิจการคือรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

(8) สำหรับกิจการอื่นตามมาตรา 91/2 (8) รายรับจากการประกอบกิจการให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา 

อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ

อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะมีดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับ กิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ (ปัจจุบันได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ อาจมีการแก้ไขในอนาคตอันใกล้นี้ให้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ)

(2) ร้อยละ 2.5 สำหรับรายรับ สำหรับกิจการรับประกันชีวิตและกิจการโรงรับจำนำ

(3) ร้อยละ 3.0 สำหรับรายรับ นอกจากกรณีตาม (1) และ (2) 

ข้อสังเกต : อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวข้างต้น ยังไม่ได้รวมภาษีท้องถิ่นอีก 10% เช่น 3% ต้องบวกอีก 0.3% เป็น 3.3%

การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษีรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในเดือนภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้ โดยการยื่นแบบ ภ.ธ.40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

การคำนวณรายรับให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชี และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ เมื่อได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้วให้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงได้

หลักเกณฑ์ข้างต้นมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร และให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีกรณีดังกล่าวเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษี ในขณะที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษี

สิ่งที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องระมัดระวังในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะก็คือ การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อหรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ และกิจการจะต้องเลือกว่าจะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเกณฑ์สิทธิหรือเกณฑ์เงินสด

Top 5 Contents