
ผู้ซื้อดาวน์โหลด e-Tax Invoice เอง ถือเป็นการส่งมอบหรือไม่
26 มิถุนายน 2567
ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีความเจริญก้าวหน้าและมีการทำธุรกรรมด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างกว้างขวาง กรมสรรพากรนับเป็นหน่วยงานที่มีการนำกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มาให้ผู้เสียภาษีใช้เป็นจำนวนมาก อาทิ การยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์, การออกใบกำกับภาษี/ใบรับทางอิเล็กทรอนิกส์, การหักภาษี ณ ที่จ่าย ทางอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งผู้เสียภาษีหรือผู้ประกอบการแต่ละรายก็จะพิจารณาข้อดี-ข้อด้อยของการนำกระบวนการอิเล็กทรอนิกส์แต่ละแบบมาใช้
ในครั้งนี้ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงประเด็นการส่งมอบใบกำกับภาษี/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยการให้ผู้ซื้อเข้าตรวจดูเอกสารและดาวน์โหลดเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเว็บไซต์ของผู้ประกอบการด้วยตนเอง และประเด็นที่อาจเกิดข้อสงสัยขึ้น
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
- การแก้ไข มาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อปี 2564 กำหนดให้บรรดาหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร แบบใบกำกับภาษี รายงาน เอกสารหลักฐาน หรือหนังสืออื่นใดที่ต้องมี จัดทำ หรือใช้ตามที่บัญญัติในประมวลรัษฎากร และบรรดาเอกสารหลักฐานหรือหนังสือที่กรมสรรพากรต้องใช้ในการติดต่อกับผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใด หรือที่ผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใดต้องใช้ในการติดต่อกับกรมสรรพากร อาจกระทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
- กฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565) ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 15 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565)ฯ กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับยังคงมีหน้าที่ส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำขึ้นให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีกำหนด และให้ผลของการส่งและรับเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2566 เรื่อง กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการส่ง การเก็บรักษา เอกสารหลักฐานหรือหนังสือและความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศสำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 3 กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับยังคงมีหน้าที่ส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำขึ้นให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้ผลของการส่งและรับเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์การจดทะเบียน
จากข้อกฎหมายข้างต้น จะเห็นถึงลำดับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพากรออกมาใช้ ที่เริ่มจากมาตรา 3 โสฬส และจากนั้นจึงมีกฎหมายระดับรองคือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2566 ระบุเรื่องการส่งมอบใบกำกับภาษี/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้จัดทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้ผลของการส่งและรับเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์การจดทะเบียน
การที่ข้อกฎหมายระบุกว้าง ๆ เช่นนี้ จึงมีข้อสงสัยและคำถามจากหลาย ๆ ท่านว่าการให้ผู้ซื้อเข้ามาตรวจดูเอกสารและดาวน์โหลดเอกสารใบกำกับภาษี/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเว็บไซต์ของผู้ประกอบการด้วยตนเองนั้น จะถือเป็นการส่งมอบเอกสารใบกำกับภาษี/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่
ตอบข้อหารือกรมสรรพากร กรณีผู้ซื้อดาวน์โหลดใบกำกับภาษี/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์เอง
ข้อสงสัยดังกล่าว กรมสรรพากรได้มีคำตอบตามแนวทางตอบข้อหารือดังนี้
หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0702/6673 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566
ข้อหารือ
บริษัท M จำกัด (บริษัทฯ) หารือเกี่ยวกับกรณีการส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ และได้มีวิธีการส่งมอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ลูกค้าเข้าตรวจดูเอกสารและดาวน์โหลดเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเว็บไชต์ของบริษัทฯ
จึงขอให้พิจารณาว่ากรณีดังกล่าว เป็นไปตามความหมายของการส่งมอบตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 15) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562 หรือไม่ และบริษัทฯ สามารถปฏิบัติตามแนวทางนี้ได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย
1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 เป็นผลให้ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 15)ฯ ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562 สิ้นผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564
แต่อย่างไรก็ดี ข้อ 15 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565)ฯ กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับยังคงมีหน้าที่ส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำขึ้นให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้ผลของการส่งและรับเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
2. กรณีบริษัทฯ ให้ลูกค้าเข้าตรวจดูเอกสารและดาวน์โหลดเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ PDF ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ โดยใช้ User ID ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ ย่อมสามารถดำเนินการได้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติฯ ประกอบกับข้อ 15 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565)ฯ โดยบริษัทฯ จะต้องทำสัญญากับลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดระบบส่งหรือรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีการดังกล่าว
จากแนวตอบข้อหารือดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่าการออกใบกำกับภาษี/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถทำการส่งมอบใบกำกับภาษีโดยวิธีการให้ผู้ซื้อเข้ามาที่เว็บไซต์ของบริษัท เพื่อตรวจดูและดาวน์โหลดใบกำกับภาษี/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้ แต่บริษัทต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรถึงวิธีการส่งมอบแบบนี้กับผู้ซื้อไว้ด้วย
ความคิดเห็นของผู้เขียน
ผู้เขียนเห็นว่าวิธีการนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประหยัดเวลาในการส่งมอบทาง e-Mail หรือทางอื่นให้แก่ลูกค้าแต่ละราย อีกทั้ง หากลูกค้าสามารถดาวน์โหลดเมื่อวันเวลาใดเพื่อจัดเก็บเอกสารก็ได้ จึงหวังว่าประเด็นนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่จะพิจารณานำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ