กำลังโหลด...

×



Tax มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเท...

magazine image
Tax

มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ

ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกำหนดการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดา บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการท่องเที่ยวและการจัดการอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง และจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองนั้น หลายท่านคงคิดว่า ในเมื่อเดิมมีกฎหมายให้นำค่าอบรมสัมมนามาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าอยู่แล้ว การออกกฎหมายมาใหม่ต่างจากกฎหมายเดิมอย่างไร

ผู้เขียนจึงขอนำกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการอบรมสัมมนามาอธิบายให้เข้าใจว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร

ความแตกต่างของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการอบรมสัมมนา

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2548 

มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังต่อไปนี้ 

(1) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นหรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ซึ่งตรงนี้ถ้าอ่านตามภาษากฎหมายดังกล่าว โดยทั่วไปจะเข้าใจว่าหมายถึง การจะส่งลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการที่ไปอบรมสัมมนากับหน่วยงานเอกชนทั่วไปก็จะไม่สามารถลงเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า !

ขอตอบว่าไม่ใช่ครับ ข้อกฎหมายนี้ต้องอ่านให้ครบประโยค เพราะยังมีอีกประโยคหนึ่งต่อท้าย คือประโยคที่กล่าวว่า หรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ทีนี้ เราก็ตามไปดูประกาศของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กัน

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่รับลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้าศึกษาหรือฝึกอบรม ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

ข้อ 5 หลักสูตรที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้บริการการศึกษาหรือฝึกอบรมลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องมีลักษณะดังนี้ 

(1)....

(2) กรณีสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานต้องจัดการฝึกอบรมให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป (Public Training) หรือให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจเป็นเครือข่ายกัน เช่น ตัวแทนจำหน่ายสินค้า ศูนย์บริการซ่อมสินค้า เป็นต้น

จึงจะเห็นได้ว่าตามประกาศกระทรวงการคลัง ได้กำหนดหลักสูตรที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้บริการการศึกษาหรือฝึกอบรมลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องมีลักษณะจัดการฝึกอบรมให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป (Public Training) เท่านั้น

ดังนั้นสรุปคือ

  • อบรมให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป (Public Training) สามารถลงเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า
  • อบรมเป็นการเฉพาะภายใน (Inhouse Training) จะลงเป็นรายจ่ายได้เท่าเดียว

เพราะฉะนั้นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกำหนดการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดา บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการท่องเที่ยวและการจัดการอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง และจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ จึงเป็นการเพิ่มสิทธิสำหรับการอบรมสัมมนาแบบเป็นการเฉพาะภายใน (Inhouse Training) ให้สามารถลงเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่านั้นเอง !

หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิในมาตรการนี้ มีเรื่องที่ต้องระมัดระวังดังนี้

1. ต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) และ e-Tax Invoice by Time Stamp ของกรมสรรพากร 

2. ในกรณีที่การจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในท้องที่เมืองรองและเมืองหลักต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่เมืองรองหรือเมืองหลัก แล้วแต่กรณี และให้หักรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

3. ต้องเป็นการอบรมสัมมนาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เท่านั้น

มาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

สำหรับมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ออกมามีรายละเอียดดังนี้

ช่วง Low Season ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน โดยทั้ง 2 มาตรการมีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567- 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็น 2 มาตรการที่ช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ

1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) 

ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่ชำระค่าบริการไปตั้งแต่ 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567 โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น ทั้งนี้ สำหรับค่าขนส่งสามารถจ่ายให้ผู้ที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งจะต้องมีใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้แก่

1.1 สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

1.2 สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดฯ (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก)

1.3 ในกรณีที่การจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1.1 หรือข้อ 1.2 แล้วแต่กรณี และให้หักรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

1.4 พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์จังหวัดท่องเที่ยวรอง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด 55 จังหวัด เช่น กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยภูมิ เชียงราย นครพนม พัทลุง สุพรรณบุรี ลำปาง เป็นต้น และพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด เช่น อ.เขาพนม อ.ลำทับ ในจังหวัดกระบี่ อ.บ้านบึง อ.พานทอง ในจังหวัดชลบุรี เป็นต้น (หักรายจ่ายได้ 2 เท่า) พื้นที่อื่น (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) เช่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร (หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า)

2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) 

สำหรับ 4 สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ผู้มีเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักลดหย่อนค่าบริการได้ดังนี้

2.1 ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

2.2 ค่าที่พักในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

2.3 ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย

2.4 ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) 

ทั้งนี้ จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรด้วย โดยพื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์สำหรับจังหวัดท่องเที่ยวรองเท่านั้น

จังหวัดท่องเที่ยวรองมีทั้งหมด 55 จังหวัด ดังนี้ 

1) ภาคเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี และพะเยา 

2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ 

3) ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก 12 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก สระแก้ว ตราด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ปราจีนบุรี ชัยนาท อ่างทอง และสิงห์บุรี 

4) ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา และปัตตานี 

รายชื่อเขตพื้นที่ท่องเที่ยวโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับการจัดอบรมสัมมนาและการเดินทางท่องเที่ยวและที่พัก เพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรองพื้นที่บางอำเภอในจังหวัด 15 จังหวัด 

1. จังหวัดกระบี่ : อำเภอเขาพนม อำเภอปลายพระยา และอำเภอลำทับ 

2. จังหวัดกาญจนบุรี : อำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอบ่อพลอย อำเภอพนมทวน อำเภอเลาขวัญ อำเภอหนองปรือ อำเภอห้วยกระเจา 

3. จังหวัดขอนแก่น : อำเภอกระนวน อำเภอเขาสวนกวาง อำเภอโคกโพธิ์ชัย อำเภอชนบท อำเภอซุมแพ อำเภอซำสูง อำเภอน้ำพอง อำเภอโนนศิลา อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านฝาง อำเภอบ้านแฮด อำเภอเปือยน้อย อำเภอพระยืน อำเภอพล อำเภอภูผาม่าน อำเภอภูเวียง อำเภอมัญจาคีรี อำเภอเวียงเก่า อำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอสีชมพู อำเภอหนองนาคำ อำเภอหนองเรือ อำเภอหนองสองห้อง อำเภออุบลรัตน์ 

4. จังหวัดฉะเชิงเทรา : อำเภอคลองเขื่อน อำเภอท่าตะเกียบ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอแปลงยาว อำเภอราชสาสน์ อำเภอสนามชัยเขต 

5. จังหวัดชลบุรี : อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอบ่อทอง อำเภอบ้านบึง อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง อำเภอหนองใหญ่ 

6. จังหวัดเชียงใหม่ : อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอไชยปราการ อำเภอดอยเต่า อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอดอยหล่อ อำเภอพร้าว อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่แตง อำเภอแม่วาง อำเภอแม่อาย อำเภอเวียงแหง อำเภอสะเมิง อำเภอสันทราย อำเภอสันป่าตอง อำเภอสารภี อำเภออมก๋อย อำเภอฮอด 

7. จังหวัดนครราชสีมา : อำเภอแก้งสนามนาง อำเภอขามทะเลสอ อำเภอขามสะแกแสง อำเภอคง อำเภอครบุรี อำเภอจักราช อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชุมพวง อำเภอโชคชัย อำเภอด่านขุนทด อำเภอเทพารักษ์ อำเภอโนนแดง อำเภอโนนไทย อำเภอโนนสูง อำเภอบัวลาย อำเภอบัวใหญ่ อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอประทาย อำเภอปักธงชัย อำเภอพระทองคำ อำเภอพิมาย อำเภอเมืองยาง อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอสีคิ้ว อำเภอสีดา อำเภอสูงเนิน อำเภอเสิงสาง อำเภอหนองบุญมาก อำเภอห้วยแถลง

8. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ : อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอกุยบุรี อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย 

9. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา : อำเภอท่าเรือ อำเภอนครหลวง อำเภอบางซ้าย อำเภอบางบาล อำเภอบางปะหัน อำเภอบ้านแพรก อำเภอผักไห่ อำเภอภาชี อำเภอมหาราช อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอวังน้อย อำเภอเสนา อำเภออุทัย 

10. จังหวัดพังงา :  อำเภอเมืองพังงา อำเภอเมืองบางปะกง อำเภอคุระบุรี อำเภอทับปุด อำเภอท้ายเหมือง อำเภอเกาะยาว อำเภอตะกั่วทุ่ง 

11. จังหวัดเพชรบุรี : อำเภอบ้านลาด อำเภอหนองหญ้าปล้อง 

12. จังหวัดระยอง : อำเภอเขาชะเมา อำเภอนิคมพัฒนา อำเภอบ้านค่าย อำเภอบ้านฉาง อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ 

13. จังหวัดสงขลา : อำเภอเมืองสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอควนเนียง อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอนาหม่อม อำเภอบางกล่ำ อำเภอระโนด อำเภอรัตภูมิ อำเภอสทิงพระ อำเภอสะเดา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอสิงหนคร 

14. จังหวัดสระบุรี : อำเภอแก่งคอย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอดอนพุด อำเภอบ้านหมอ อำเภอวังม่วง อำเภอวิหารแดง อำเภอหนองแค อำเภอหนองแซง อำเภอหนองโดน 

15. จังหวัดสุราษฎร์ธานี : อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอเคียนซา อำเภอชัยบุรี อำเภอไชยา อำเภอดอนสัก อำเภอท่าฉาง อำเภอท่าชนะ อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอบ้านนาสาร อำเภอพระแสง อำเภอพุนพิน อำเภอวิภาวดี อำเภอเวียงสระ 

โฮมสเตย์ไทยที่เข้าข่ายตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) คือ โฮมสเตย์ตามประกาศกรมการท่องเที่ยว เรื่อง รายชื่อโฮมสเตย์ที่ได้รับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยประจำปี พ.ศ. 2566 และโฮมสเตย์นั้นต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับกรมสรรพากรโดยสามารถตรวจสอบรายชื่อโฮมสเตย์ไทยที่มีสิทธิเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://etax.rd.go.th/ETAXSEARCH/

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวที่สามารถออก e-Tax Invoice & e-Receipt มีทั้งหมด 168 ราย และผู้ประกอบการ e-Tax Invoice by Time Stamp 124 ราย รวม 292 ราย 

อย่างไรก็ดี ควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการดังกล่าวอยู่พื้นที่ที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการได้หรือไม่ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567) โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวที่สามารถออก e-Tax Invoice & e-Receipt ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://etax.rd.go.th/ETAXSEARCH/

คาดว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมานี้จะช่วยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีการอบรมสัมมนาแบบเป็นการเฉพาะภายใน (Inhouse Training) นำมาลงเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ทำให้เสียภาษีน้อยลงและยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตเพิ่มขึ้น

Top 5 Contents