
การประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย ESG และแง่มุมกฎหมายที่ผู้ประกอบการควรรู้
28 สิงหาคม 2567
ผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันคงได้ยินเกี่ยวกับกระแสการส่งเสริมการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่เพิ่มขอบเขตความยั่งยืนออกไปนอกเหนือจากการมีธรรมาภิบาลมาครอบคลุมการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ “ESG” (Environmental, Social, Governance) มากขึ้นเรื่อย ๆ และคงได้รับทราบว่าด้วยกระแสการส่งเสริมการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้หลักการ ESG ดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐเองก็ได้ออกกฎหมายมาเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก Start-up ไปจนกระทั่งถึงบุคคลทั่วไป ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนธุรกิจของประเทศไปในทิศทางที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้นด้วยเช่นกัน
บทความฉบับนี้จะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของ ESG และกฎหมาย นโยบาย มาตรการที่มีการออกมาบังคับใช้ในประเทศไทยที่ควรรู้เกี่ยวกับการส่งเสริม ESG เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง และสามารถใช้ประโยชน์ตามกรอบกฎหมายที่ส่งเสริม ESG ดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
หลักการสำคัญของแนวคิดการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิด ESG
ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบแนวคิดว่า การประกอบธุรกิจที่ยั่งยืนต้องพิจารณาปัจจัยอื่นที่นอกเหนือจากเพียงการสร้างกำไร (Profit) แต่ควรคิดถึงอีก 2Ps คือ P-Planet (โลก) และ P-People (สังคมและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร) ด้วยเช่นกัน โดยต้องรับประกันให้ทุกส่วนที่มีความเกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจนั้นได้รับความใส่ใจ เพื่อป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และสร้างโครงสร้างการบริหารจัดการที่อยู่ภายใต้หลักการจรรยาบรรณ โดยอาจแยกออกเป็น 3 องค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
1. ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental : E) คือ การดำเนินธุรกิจภายใต้เป้าหมายหลักในการลดผลกระทบใดก็ตามที่ธุรกิจของตนอาจสร้างต่อโลก ไม่ว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นจะเป็นธุรกิจประเภทที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง (เช่น โรงงาน ซึ่งต้องกำหนดเป้าหมายในการลดหรือกำจัดผลกระทบด้านลบที่ธุรกิจของตนจะสร้างขึ้น) หรือแม้ธุรกิจนั้นอาจไม่ได้สร้างผลกระทบโดยตรงด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น การดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาซึ่งไม่ได้ปล่อยมลพิษใดโดยตรง) ก็ควรพิจารณาถึงปัจจัยที่ตนจะมีส่วนช่วยให้สิ่งแวดล้อมโดยรวมมีสภาพดีขึ้น ด้วยมุมมองการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการลดขยะของเสียที่ไม่จำเป็นที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ
2. ด้านสังคม (Social : S) คือ การดำเนินธรุกิจภายใต้เป้าหมายหลักในการลดผลกระทบใดก็ตามที่ธุรกิจอาจสร้างต่อคน ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นบุคลากรภายใน ลูกค้า และคนในชุมชนใกล้เคียง โดยผู้ประกอบการต้องตั้งเป้าหมายในการลดผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลดังกล่าว (เช่น การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการทำงานของบุคลากร โดยเฉพาะการปฏิบัติตามหลักการแรงงานที่ถูกกฎหมาย รวมถึงลดผลกระทบที่อาจสร้างต่อชุมชนรอบข้างสถานประกอบการ) ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านสังคมที่ดีให้แก่บุคคลดังกล่าว (เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างเท่าเทียมของบุคลากรในบริษัท การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนใกล้เคียงหรือสังคมโดยรวม)
3. ด้านธรรมาภิบาล (Governance : G) คือ การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ สำหรับหลักการธรรมาภิบาลนี้ได้รับการปฏิบัติและบังคับกันมาภายใต้กรอบกฎหมายและบริบทของสังคมไทยมาอย่างยาวนานแล้วก่อนที่จะมีการกำหนดเป็นหลักการรวมภายใต้กรอบ ESG แต่ภายใต้แนวคิด ESG นี้ คำว่า “ธรรมาภิบาล” จะได้รับการพิจารณาตรวจสอบการปฏิบัติให้ลึกซึ้งและเป็นรูปธรรมในแต่ละองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะหลักการและกรอบการดำเนินการเพื่อเสริมความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ การต่อต้านการทุจริต มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทอย่างเป็นธรรม
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำตาม ESG
ด้วยความที่รัฐบาลเข้าใจว่าการที่จะบังคับหรือจูงใจให้ผู้ประกอบการทั้งหมดดำเนินการตามหลักการ ESG ในทันทีพร้อมกันนั้นอาจเป็นการยาก รัฐบาลจึงกำหนดเป้าหมายการออกกฎหมายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ คือ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Company) เป็นผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่ต้องทำตามหลักการ ESG โดยการขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และขับเคลื่อนด้วยความต้องการของตลาดของนักลงทุน อาจสรุปได้ดังนี้
ทิศทางการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตั้งแต่ปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดจัดทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” (Thailand Sustainability Investment : THSI) ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยอ้างอิงการประเมินตรวจสอบความครบถ้วนในการปฏิบัติตามหลักการ ESG จากนั้นในปี 2561 ได้มีการจัดทำดัชนีความยั่งยืน (SET ESG Index : SETESG) ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งดัชนีดังกล่าวเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ของบริษัทที่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน (SET ESG Rating) และในปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนชื่อ THSI เป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” พร้อมทั้งประกาศผลประเมินในรูปแบบ ESG Ratings เป็นปีแรก แต่ทั้งนี้ การเข้าร่วมประเมินเป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ในปัจจุบันยังคงเป็นไปภายใต้หลักความสมัครใจเข้าร่วม โดยประเมินความยั่งยืนกันปีละ 1 ครั้ง หากบริษัทมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์จะถูกคัดออกจาก SET ESG Ratings ระหว่างปีได้
ทิศทางการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ก.ล.ต. ได้กำหนดปรับเกณฑ์การรายงานประจำปีเป็นแบบรายงานเดียว (แบบ 56-1 One Report) และกำหนดให้ทุกบริษัทจดทะเบียนต้องรายงานเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (ESG) ของบริษัทเพื่อสะท้อนการทำธุรกิจสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งอีกด้วย ดังนั้นภายใต้กรอบกฎหมายของ ก.ล.ต. บริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทมีหน้าที่ต้องประเมินและพิจารณาปัจจัย ESG เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจวางแผนดำเนินธุรกิจ
ทิศทางความต้องการในตลาดของนักลงทุน
ปัจจุบันการลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG Investing/Sustainable Investing) เป็นที่ยอมรับจากนักลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ด้วยมุมมองที่นักลงทุนในปัจจุบันมุ่งเน้นการใส่ใจผลตอบแทนทางการเงินควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ภายใต้ Commitment ในการลดผลกระทบ Net Zero หรือการปฏิบัติตามหลักการ ESG Investing ขณะเดียวกันนักลงทุนทั่วไปรายย่อยก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น ด้วยปัจจัยการขับเคลื่อนของรัฐบาลผ่านนโยบายลดหย่อนภาษีที่ออกมาสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน Thai ESG ซึ่งกองทุนดังกล่าวต้องมีนโยบายลงทุนในประเทศผ่านสินทรัพย์ที่ได้รับการรับรอง SET ESG Rating ไม่น้อยกว่า 80% ของทรัพย์สินสุทธิ โดยผู้ลงทุนสามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินทั้งปี และวงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ต้องถือครอง 8 ปีขึ้นไป นับจากวันที่ลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี และสามารถเลือกซื้อได้เฉพาะปีที่ต้องการลดหย่อนภาษี (ซึ่งเงื่อนไขที่ออกมาในปี 2566 จะได้รับการปรับปรุงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2567 - 2569 โดยจะลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี และลดระยะเวลาการถือครองเป็นไม่ต่ำกว่า 5 ปี) จะเห็นได้ว่า ด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้นักลงทุนรายย่อยที่ต้องการออมเงินมีแนวโน้มลงทุนในกองทุน Thai ESG มากขึ้น และด้วยทิศทางตลาดดังกล่าว แน่นอนย่อมส่งผลส่งเสริมและกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนปรับตัวเข้าสู่เกณฑ์ ESG มากขึ้น เพื่อให้หุ้น หุ้นกู้ของบริษัทตนมีลักษณะตรงตามเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนทั่วไปมากขึ้นเช่นกัน
ESG และปัจจัยการพิจารณาการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินในประเทศไทย
นอกจากที่ ESG จะเข้ามามีบทบาทกับผู้ประกอบการไทยที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านกลไกของตลาดทุนแล้ว ในปัจจุบัน ESG ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดเงินสำหรับผู้ประกอบการทั่วไปที่ต้องการสินเชื่อภายใต้กรอบนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผ่านกลไก Sustainable Banking และ Responsible Lending ซึ่ง ธปท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines - Responsible Lending) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารนานาชาติในปี 2562 และ 2563 ซึ่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินกิจการภายใต้การนำปัจจัยด้าน ESG มาร่วมพิจารณาในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์สำหรับการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนออกมาบังคับให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่อโดยอ้างอิงหลักการ ESG แต่ภายใต้กรอบความร่วมมือที่ได้มีการลงนามร่วมกับ ธปท. และด้วยแนวโน้มตลาดการเงินของโลกที่เน้นการพิจารณา ESG เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มมุ่งเป้าการให้การสนับสนุนสินเชื่อกับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยปรับตัวให้เป็นธุรกิจยั่งยืนภายใต้หลักการ ESG มากขึ้น โดยเฉพาะมีการกำหนดเงื่อนไขดังนี้
(1) การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อเป้าหมาย ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่หลาย ๆ ธนาคารเรียกกันว่า “สินเชื่อสีเขียว”
(2) การกำหนดนำเอา ESG Score มาเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการอนุมัติและการกำหนดให้เงื่อนไขสินเชื่อ
(3) การกำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อกรีนในแต่ละปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของธนาคารรัฐ (ได้แก่ EXIM Bank และธนาคารออมสิน) มีการกำหนดนโยบายการให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชัดเจน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไป
เมื่อพิจารณาทิศทางและเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อสีเขียวที่มีมากขึ้นของทุกธนาคารภายใต้ทิศทางที่ ธปท. กำหนด ย่อมถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่จะคว้าโอกาสในการปรับตัวนำเอา ESG มาเป็นหลักพื้นฐานในการประกอบธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับสินเชื่อ หรือแม้กระทั่งใช้โอกาสขอสินเชื่อสีเขียวนี้มาใช้เพื่อการปรับปรุงองค์กร เครื่องจักร กระบวนการผลิตที่เป็นไปตามหลักการของ ESG มากขึ้น
ESG Bond การออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการ
ESG Bond คือ การออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
(1) Green Bond คือ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ผู้ออกตราสารต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
(2) Social Bond คือ ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคมที่ผู้ออกจะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในโครงการพัฒนาสังคม
(3) Sustainability Bond คือ ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่าง Green Bond และ Social Bond
(4) Sustainability-Linked Bond คือ ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนที่กำหนดเงื่อนไขการให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ว่าจะขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของตัวชี้วัดหรือเป้าหมายโดยรวมของบริษัทผู้ออกที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
การออก ESG Bond นี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่จำกัดอยู่เพียงสำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น เนื่องด้วย ก.ล.ต. ได้กำหนดชัดเจนในการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น รองรับการที่ผู้ประกอบการ SMEs และ Start-up จะใช้ช่องทางการระดมทุนจากตลาดทุนในการทำโครงการเพื่อความยั่งยืนด้าน ESG ได้ภายใต้ประกาศ ก.ล.ต. ที่ผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 แต่ทั้งนี้ การออก ESG Bond ของผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวต้องดำเนินการผ่านกลไกการออกและเสนอขายผ่านช่องทาง Crowdfunding (การระดมทุนจากคนหมู่มาก) หรือการเสนอขายในวงจำกัด (การระดมทุนในวงแคบสำหรับ SME หรือ PP-SME) เท่านั้น และผู้ออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนยังมีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลและการรายงานข้อมูลต่อผู้ลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับด้านความยั่งยืนตลอดระยะเวลาการระดมทุนและการดำเนินโครงการ นอกจากการกำหนดกรอบกฎหมายเพื่อรองรับการออกและเสนอขายหุ้นกู้ ESG Bond แล้ว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและการระดมทุน ESG Bond ก.ล.ต. ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาต และค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้สำหรับ ESG Bond ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568
การระดมทุนผ่านช่องทาง Crowdfunding ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอออกและเสนอขายหุ้นกู้ของตนผ่านตัวกลาง ได้แก่ Crowdfunding Portal ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก ก.ล.ต. และหากคำขอออกและเสนอขายหุ้นกู้ของผู้ประกอบการนั้นผ่านการพิจารณาคัดเลือกประเมินความเสี่ยงจาก Crowdfunding Portal แล้ว ย่อมสามารถระดมทุนจากบุคคลทั่วไปได้โดยไม่มีข้อจำกัด
การระดมทุนแบบ PP-SME ผู้ประกอบการต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนที่จัดทำขึ้นระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (“สสว.”) ผ่านทางเว็บไซต์ของ สสว. และการระดมทุนดังกล่าวต้องเป็นแบบเฉพาะเจาะจงโดยถูกจำกัดกลุ่มนักลงทุน กล่าวคือ หากเป็นวิสาหกิจขนาดย่อมตามนิยามของ สสว. (Small/Start-up) จะระดมทุนได้แต่เฉพาะจากผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งหมายถึง ธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ กองทุน กิจการร่วมลงทุน (PE) นิติบุคคลร่วมลงทุน (VC) และผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Angel Investor) เป็นหลัก แต่หากเป็นกิจการขนาดกลางสามารถระดมทุนจากบุคคลทั่วไปได้ แต่จำกัดวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท และผู้ลงทุนดังกล่าวต้องมีจำนวนไม่เกิน 10 ราย
ด้วยกรอบกฎหมายปัจจุบันที่มีการออกมาสร้างความชัดเจนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และ Start-up ที่ทำธุรกิจโดยอ้างอิงหลักการหรือมีเป้าหมายการบรรลุ ESG ให้มีทางเลือกในการระดมทุนผ่านกลไกตลาดทุนได้โดยอาจมีโอกาสในการระดมทุนจากบุคคลทั่วไปได้ ประกอบกับเทรนด์การลงทุนของผู้ลงทุนในปัจจุบันที่สนใจและใส่ใจเรื่อง ESG มากขึ้น หากผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกของกลไกตลาดทุนดังกล่าว ย่อมสามารถสร้างโอกาสเพิ่มเติมในการระดมทุนเพื่อการประกอบกิจการให้แก่ตนเองได้ ไม่ว่าผู้ประกอบการดังกล่าวจะมีขนาดใดก็ตาม
นโยบายส่งเสริม ESG ในด้านอื่น ๆ ของรัฐบาล
นอกเหนือจากกรอบกฎหมาย นโยบาย และประกาศเฉพาะด้านที่มีผลบังคับและส่งเสริมการเปลี่ยนผู้ประกอบการในประเทศไทยให้เป็นผู้ประกอบการที่เข้าใจ ใส่ใจ และคำนึงถึงหลักการ ESG ในปัจจุบันตามที่สรุปเป็นสาระสำคัญมาข้างต้นแล้ว ด้วยเหตุที่รัฐบาลให้ความสำคัญและกำหนดเป้าหมายการเปลี่ยนประเทศสู่การลงทุนเพื่อความยั่งยืนอย่างชัดเจน ภายใต้กรอบนโยบาย Thailand Green Taxonomy หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ต่างก็ประกาศกำหนดมาตรการส่งเสริมการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะกระทรวงการคลังซึ่งกำหนดกรอบนโยบายการส่งเสริม ESG ผ่านกลไก 3 ระยะ ได้แก่
(1) ระยะสั้น ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะการหักลดหย่อนการซื้อและติดตั้ง Solar Cell บนหลังคาบ้าน และการส่งเสริมการลงทุนวิจัยด้าน Climate Tech
(2) ระยะกลาง ส่งเสริมการปรับตัวไปสู่ Low-Carbon Activities และการสร้าง Ecosystem ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดทำตลาดให้พร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียนซื้อขายคาร์บอนเครดิต
(3) ระยะยาว เน้นการผลักดันภาษีคาร์บอน ซึ่งจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสรรพสามิต
ด้วยกรอบกฎหมายทั้งหมด ทั้งที่ได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการและกรอบกฎหมายที่จะได้รับการประกาศใช้ในอนาคตตามกรอบนโยบาย Thailand Green Taxonomy ของรัฐบาล จะเห็นได้ว่า ESG ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับผู้ประกอบการอีกต่อไป หากผู้ประกอบการมีความเข้าใจและมีความพร้อม กระแสการมาของ ESG และกรอบการส่งเสริมของภาครัฐย่อมถือเป็นโอกาสอันดีที่สำคัญที่ผู้ประกอบการทั้งหมดไม่ควรพลาด กล่าวคือ หากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ ตั้งเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนภายใต้หลักการ ESG ได้ ย่อมมีโอกาสทางเลือกในการระดมทุนไม่ว่าจะผ่านกลไกตลาดเงินผ่านสถาบันการเงินหรือตลาดทุนด้วยการออก ESG Bond และมีโอกาสการเข้าถึงมาตรการส่งเสริมของภาครัฐต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการสามารถคิดผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการอื่นสามารถดำเนินการตามหลักการ ESG ได้ง่ายขึ้น ผู้ประกอบการดังกล่าวอาจมีโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นถึง 2 ต่อ นอกจากที่ตนเองจะได้รับประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมโดยตรงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับตนเองในการขายสินค้าบริการ และทำกำไรอีกด้วย
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ