
การใช้กฎหมายศุลกากรเพื่อจัดเก็บ VAT และภาษีสรรพสามิตสินค้านำเข้าไม่เกิน 1,500 บาท
28 สิงหาคม 2567
มาตรการทางกฎหมายศุลกากรตามกฎหมายลำดับรองในระดับ “ประกาศกระทรวงการคลัง” และ “ประกาศกรมศุลกากร” เกี่ยวกับสินค้าที่นำเข้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ในช่วงที่ผ่านมา มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับภาษีการบริโภค (Consumption Tax) ทั้ง 3 ประเภท คือ อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่ออ่านกฎหมายแล้วอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยได้ว่า สินค้านำเข้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ตามมาตรการที่ออกมานั้นจะส่งผลให้ได้รับการยกเว้นภาษีอากรหรือส่งผลให้ต้องเสียภาษีอากรประเภทใดบ้าง บางท่านเข้าใจว่าจะได้รับการยกเว้นภาษีอากรทุกประเภท ในขณะที่บางท่านอาจเข้าใจว่าจะต้องเสียภาษีอากรทุกประเภท หรือต้องเสียภาษีอากรบางประเภท ซึ่งก็เป็นปกติธรรมดาที่จะเกิดความสับสนหรือเข้าใจเช่นนั้นได้ เพราะหากอ่านเนื้อหาในกฎหมายแล้วจะพบว่ามีเนื้อหาเป็นกฎหมายศุลกากร แต่กลับมีความสัมพันธ์หรือส่งผลไปยังกฎหมายภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายแม่บทและกฎหมายลำดับรองหลายฉบับ ในครั้งนี้ผู้เขียนจึงขอนำผู้อ่านไปทำความเข้าใจหลักการ ความเป็นมา สภาพปัญหา และกลไกอันเป็นเครื่องมือตามกฎหมายศุลกากรที่นำมาใช้กับเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน
1. หลักเกณฑ์เดิม
การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร แน่นอนว่าสินค้าที่นำเข้ามาจะมีความเกี่ยวข้องกับภาษีอากร โดยเฉพาะภาษีศุลกากรที่เกี่ยวกับการนำเข้าหรือ “อากรขาเข้า” นั้น สินค้าที่ต้องเสียอากรขาเข้าจะกำหนดไว้ในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 (พิกัดอัตราอากรขาเข้า) แต่ก็มิได้หมายความว่าสินค้าที่กำหนดไว้ในภาค 2 จะต้องเสียอากรขาเข้าในทุกกรณี เพราะหากสินค้าที่นำเข้านั้นมีลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 (ของที่ได้รับยกเว้นอากร) ประเภทใดประเภทหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 19 ประเภท สินค้านั้นก็ย่อมได้รับสิทธิตามกฎหมายในการยกเว้นอากร โดยหนึ่งในนั้นคือ สินค้าที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกิน 1,500 บาท
การยกเว้นภาษีอากรสำหรับสินค้านำเข้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท เกิดขึ้นเนื่องจากพันธกรณีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกัน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “อนุสัญญาเกียวโต” ที่องค์การศุลกากรโลก หรือ “WCO” (World Customs Organization) ได้จัดทำขึ้นตาม “The Revised Kyoto Convention” โดยข้อบทที่ 4.1.3 ใน Chapter 4 Duties and Taxes[1]ได้กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิก WCO ต้องกำหนด “Minimum Value” หรือ “มูลค่าขั้นต่ำ” ของสินค้านำเข้าที่ต้องเสียภาษีอากร เนื่องด้วยองค์การศุลกากรโลกไม่ประสงค์ที่จะให้ประเทศภาคีสมาชิกจัดเก็บภาษีอากรจากสินค้าที่มีมูลค่าเล็กน้อย เพราะอาจจะเกิดภาระงานด้านเอกสารและกระบวนการปฏิบัติพิธีการศุลกากรแก่หน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรของประเทศนั้น ๆ รวมทั้งอาจสร้างข้อจำกัดหรือเป็นอุปสรรคและเกิดต้นทุนต่อผู้ประกอบการนำเข้าสินค้า ดังนั้น WCO จึงกำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกกำหนดมูลค่าขั้นต่ำตามความเหมาะสมตามบริบทของประเทศนั้น ๆ
ในการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำนั้น WCO มิได้บังคับว่าภาคีสมาชิกแต่ละประเทศจะต้องกำหนดราคาขั้นต่ำที่เท่าใด แต่เป็นเรื่องที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องกำหนดเองโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกัน เช่น สัดส่วนปริมาณสินค้าที่มีมูลค่าเล็กน้อยที่ได้นำเข้าในแต่ละปี เป้าหมายผลการจัดเก็บภาษี รวมทั้งต้นทุนในการบริหารจัดเก็บและการควบคุมในทางภาษีของหน่วยงาน เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ถือเป็นข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ประเทศภาคีสมาชิก WCO ต้องปฏิบัติตาม กรณีของประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิก WCO ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2515 เลือกที่จะกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของสินค้านำเข้าที่ต้องเสียภาษีอากรอยู่ที่ราคา “1,500 บาท”
ราคาสินค้าไม่เกิน 1,500 บาท ที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าตามหลักการดังกล่าว กำหนดไว้ตามบทบัญญัติภาค 4 ประเภทที่ 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ที่กำหนดให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับ “ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกินที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” โดยกรมศุลกากรได้ออกกฎหมายลำดับรองคือ “ประกาศกรมศุลกากรที่ 191/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ของนำเข้าที่ได้รับยกเว้นอากรตามประเภท 12 ของภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561” ซึ่งความในข้อ 1 ของประกาศกรมศุลกากรฯ ฉบับนี้ กำหนดให้ “ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นอากร”
ในส่วนของราคาที่ไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นอากรดังที่กล่าวมานั้น มีประเด็นที่น่าสนใจว่า คำว่า “ราคา” ในที่นี้มีความหมายหรือขอบเขตเพียงใด เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อการพิจารณาว่าสินค้านั้นมีมูลค่าเกินกว่า 1,500 บาทหรือไม่ เนื่องจากองค์ประกอบของราคาส่งผลโดยตรงต่อการเกินหรือไม่เกิน 1,500 บาท ในประเด็นนี้ประกาศกรมศุลกากรที่ 191/2561ฯ ข้อ 3 กำหนดไว้แต่เพียงว่า “ราคา หมายถึง ราคาศุลกากร” จึงต้องย้อนกลับไปพิจารณาพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ว่าบัญญัติไว้อย่างไร ปรากฏว่าความในมาตรา 16 วรรคหนึ่ง (1) ได้กำหนดให้ ราคาศุลกากรสำหรับการนำของเข้า หมายถึง ราคาแห่งของเพื่อความมุ่งหมายในการจัดเก็บอากรตามราคาอย่างใดอย่างหนึ่งใน 6 ราคา ซึ่งได้แก่ (ก) ราคาซื้อขายของที่นําเข้า (ข) ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน (ค) ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน (ง) ราคาหักทอน (จ) ราคาคํานวณ และ (ฉ) ราคาย้อนกลับ
อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวเป็นราคาสินค้าของประเทศผู้ส่งออกยังมิใช่ราคาศุลกากรที่เป็นราคาสุดท้าย เพราะความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ยังได้กำหนดว่า “การกําหนดราคาศุลกากรในกรณีนําของเข้าจะต้องรวมค่าประกันภัย ค่าขนส่งของ ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น และค่าจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของที่นําเข้ามายังด่านศุลกากร” ด้วยเหตุนี้ จึงต้องนำราคาศุลกากรราคาใดราคาหนึ่งใน 6 ราคาตาม (ก) - (ฉ) ดังกล่าว ไปรวมกับค่าต่าง ๆ ตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ข้างต้นด้วย ด้วยเหตุนี้ ราคาที่ใช้เป็นฐานในการพิจารณาเกี่ยวกับศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าในเรื่องนี้จึงหมายถึงราคา “CIF” ซึ่งประกอบด้วย C = ราคาสินค้า , I = ค่าประกันภัย และ F = ค่าขนส่ง นั่นเอง
ดังนั้นมูลค่าของสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท ที่จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า จึงต้องพิจารณาจากราคา CIF คือ ผลรวมของราคาสินค้า ค่าประกันภัย และค่าขนส่ง หากมีผลรวมกันไม่เกิน 1,500 บาท ก็มีสิทธิได้รับการยกเว้นอากรขาเข้านั่นเอง
ผลของการที่สินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 12 นั้น มิได้ส่งผลให้สินค้านำเข้าดังกล่าวได้รับการยกเว้นเฉพาะอากรศุลกากรเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงภาษีสรรพสามิต (เฉพาะสินค้าบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษีสรรพสามิต) และภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เนื่องจากกรณีของ “สินค้านำเข้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคที่ว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร” ซึ่งหมายถึง พิกัดอัตราศุลกากรภาค 4 นั้น พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 102 วรรคหนึ่ง และประมวลรัษฎากร มาตรา 81 วรรคหนึ่ง (2) (ค) ได้กำหนดไว้ในลักษณะทำนองเดียวกันว่าสินค้าดังกล่าว “ให้ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม” ดังนั้นจึงอาจสรุปหลักเกณฑ์ที่เป็นอยู่เดิมได้ว่า สินค้านำเข้าที่มีราคา CIF ไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นภาษีการบริโภค (Consumption Tax) ทั้งอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น
การที่สินค้านำเข้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีการบริโภคทั้งอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม แน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดผลดีที่ทำให้สินค้าดังกล่าวซึ่งมีราคาไม่สูงและอยู่ในช่วงราคาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ สามารถนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้โดยปราศจากกำแพงภาษี แต่หากพิจารณาในทางกลับกัน การให้สิทธิยกเว้นภาษีอากรจากการนำเข้าดังกล่าวกลับส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ผลิตและขายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
เหตุผลที่ผู้เขียนเห็นว่าส่งผลกระทบนั้น เกิดขึ้นเพราะเมื่อพิจารณาสินค้าเดียวกันที่ผลิตและขายในประเทศ ผู้ประกอบการต้องอยู่ในบังคับของภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่กลับไม่มีการกำหนดเกณฑ์ราคาขั้นต่ำสำหรับมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปใช้เป็นฐานในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ก็ไม่มีการกำหนดเกณฑ์ราคาขั้นต่ำสำหรับราคาขายปลีกแนะนำที่จะนำไปใช้เป็นฐานในการเสียภาษีสรรพสามิตไว้ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้สินค้าเดียวกันนี้เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้านำเข้าแล้ว สินค้าที่ผลิตและขายในประเทศกลับต้องแบกรับภาระหรือต้นทุนสำหรับภาษีการบริโภคที่สูงกว่าสินค้านำเข้า ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมในการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ระหว่างผู้ขายในต่างประเทศซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ขายในประเทศไทยที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
อีกทั้งในปัจจุบันการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ในประเทศไทย มีความสะดวกรวดเร็ว ง่ายดาย และเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะการสั่งซื้อและการชำระเงินสามารถทำได้เพียงแค่การสไลด์ด้วยปลายนิ้ว ซึ่งเมื่อสืบค้นถึงแหล่งกำเนิดของสินค้าดังกล่าวกลับพบว่าปัจจุบันสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศมีสัดส่วนและพื้นที่ในการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัจจัยเรื่องราคาสินค้าที่ถูกกว่าในประเทศ ในขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันจะใช้วิธีการเปรียบเทียบราคาจากร้านค้าต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ แล้วเลือกที่จะซื้อสินค้าที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันหรือทดแทนกันได้จากร้านที่เสนอขายในราคาต่ำสุดโดยไม่สนใจถึงแหล่งกำเนิด ถึงแม้จะใช้เวลาในการจัดส่งจากต่างประเทศเป็นเวลานานก็ตาม เพราะผู้บริโภคมุ่งเน้นความคุ้มค่าเป็นหลัก ต่อให้ต้องรอนานขนาดไหน แต่เมื่อราคาถูกและคุ้มค่าอย่างไรก็รอได้ ปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพาณิชย์และการค้าขายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยหรือรายย่อยที่จะนอกจากจะต้องต่อสู้กับทุนใหญ่ในประเทศแล้ว ยังจะต้องต่อสู้กับกลุ่มทุนหรือกลุ่มธุรกิจจากต่างประเทศที่มุ่งหมายเข้ามารุกตลาด เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาหรือมีขีดจำกัดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลต่อเนื่องให้มีการชะลอการผลิตสินค้าในประเทศ การซื้อขายในตลาดเข้าสู่ภาวะซบเซา กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
3. หลักเกณฑ์ใหม่
จากสภาพปัญหาข้างต้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงมีประเด็นปัญหาทางภาษีอากรที่จะต้องขบคิดว่า “จะใช้กลไกทางกฎหมายภาษีอากรเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร”
แนวทางที่หนึ่ง (ที่น่าจะดำเนินการได้ง่ายที่สุด) คือ การยกเลิกประกาศกรมศุลกากรที่ 191/2561ฯ เพื่อไม่ให้มีกฎหมายที่กำหนดราคาสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากร หรือการแก้ไขประกาศกรมศุลกากรฯ โดยการลดมูลค่าราคาสินค้า 1,500 บาทลงมา เช่น จาก 1,500 บาท ลดเป็น 500 บาท เพื่อทำให้เพดานของราคาสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรมีราคาน้อยลง สินค้าที่มีราคาเกินกว่าราคาที่ลดลงมาแล้วนั้นก็จะต้องเสียอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่การดำเนินการตามแนวทางนี้ มีผลเสียคืออาจจะเป็นการฝ่าฝืนพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีต่อ WCO โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกการกำหนดราคาขั้นต่ำนั้น จะมีผลเป็นการขัดแย้งกับพันธกรณีดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง แนวทางนี้จึงมีข้อจำกัดในการดำเนินการ
แนวทางที่สอง คือ การกำหนดให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 12 อยู่เช่นเดิม แต่กำหนดให้สินค้านั้นไม่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เพื่อให้สินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท เสียภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติ แต่เนื่องจากผลของการยกเว้นอากรขาเข้าที่ส่งผลทำให้ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนั้น ถือเป็นผลทางกฎหมายที่กำหนดไว้ตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ คือ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 102 วรรคหนึ่ง และประมวลรัษฎากร มาตรา 81 วรรคหนึ่ง (2) (ค) หากจะดำเนินการตามแนวนี้ก็จะต้องแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติและประมวลกฎหมายดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากในการดำเนินการ เพราะต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา การแก้ปัญหาตามแนวทางนี้แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็มีความล่าช้าและไม่ทันต่อสถานการณ์แห่งสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อแนวทางทั้งสองไม่อาจดำเนินการได้ จึงต้องกลับมาคิดหาวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้กลไกในทางกฎหมายที่เป็นกฎหมายลำดับรองซึ่งฝ่ายบริหารสามารถออกได้เองโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ในท้ายที่สุดก็พบว่าสามารถใช้กลไกทางกฎหมายศุลกากรเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ โดยกรมศุลกากรและกระทรวงการคลังได้มีการออกกฎหมาย 2 ฉบับ
กฎหมายฉบับแรกคือ “ประกาศกรมศุลกากรที่ 116/2567 เรื่อง กำหนดราคาของที่นำเข้าซึ่งได้รับยกเว้นอากรตามประเภทที่ 12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567” ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในบทบัญญัติภาค 4 ประเภทที่ 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 เช่นเดียวกับประกาศกรมศุลกากร ที่ 191/2561ฯ (ที่กำหนดราคาสินค้าไม่เกิน 1,500 บาท) ดังที่นำเสนอมาข้างต้น โดยอธิบดีกรมศุลกากรด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถออกได้เองโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
หลักการสำคัญของประกาศกรมศุลกากรที่ 116/2567ฯ ที่ออกมาใหม่นี้ คือการกำหนดให้ “สินค้าที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567[2]ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกิน 1 บาท จะได้รับการยกเว้นอากร” (จากเดิมที่กำหนดราคาไว้ที่ 1,500 บาท) โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวมิได้เป็นการยกเลิกประกาศกรมศุลกากรที่ 191/2561ฯ เดิมที่กำหนดราคาไว้ที่ 1,500 บาท เพราะประกาศกรมศุลกากรที่ 116/2567ฯ ข้อ 4 ได้กำหนดไว้ว่าในช่วงตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 มิให้นำประกาศกรมศุลกากรที่ 191/2561ฯ มาใช้บังคับ นั่นหมายความว่าในช่วงตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 สินค้านำเข้าที่จะได้รับการยกเว้นอากรในบทบัญญัติภาค 4 ประเภทที่ 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนั้น คือสินค้านำเข้าที่มีราคาไม่เกิน 1 บาท และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ราคาดังกล่าวจะขยับกลับไปอยู่ที่เพดาน 1,500 บาทเช่นเดิม การออกประกาศกรมศุลกากรฯ เช่นนี้ส่งผลให้ สินค้านำเข้าที่นำเข้ามาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ที่จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม จะจำกัดเฉพาะสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1 บาทเท่านั้น หากมีราคาเกิน 1 บาท ก็จะต้องเสียภาษีการบริโภคทั้ง 3 ประเภท
การออกกฎหมายเพียงแค่ประกาศกรมศุลกากรที่ 116/2567ฯ เพียงฉบับเดียวดังที่กล่าวมา ย่อมส่งผลให้สินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าจำกัดเฉพาะสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1 บาทเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสินค้าที่มีราคา CIF ไม่เกิน 1 บาท แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในทางการค้าระหว่างประเทศ การกำหนดราคาขั้นต่ำที่ 1 บาท จึงไม่ต่างอะไรกับการไม่กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ หากเป็นเช่นนั้นก็อาจสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการขัดหรือแย้งกับพันธกรณีระหว่างประเทศตามอนุสัญญาเกียวโตดังที่กล่าวมาตามแนวทางที่หนึ่ง ดังนั้นเพื่อไม่ให้ขัดหรือแย้งกับพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว จึงมีการตั้งโจทย์ในระดับนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่า รัฐจะจัดเก็บภาษีการบริโภคในกรณีนี้เฉพาะภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น แต่อากรขาเข้ายังคงได้รับการยกเว้นอยู่เช่นเดิม จึงทำให้เกิดประเด็นที่ต้องขบคิดต่อไปว่าจะใช้กลไกทางกฎหมายศุลกากรเพื่อตอบโจทย์ในทางนโยบายนี้อย่างไร เพราะกลไกการยกเว้นอากรขาเข้าตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 12 ก็ได้ถูกใช้ไปแล้ว
เมื่อพิจารณากฎหมายศุลกากรทั้งระบบจะพบว่ามีเครื่องมือทางกฎหมายอีกกลไกหนึ่ง คือ พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บทบัญญัติมาตรานี้ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งของกฎหมายศุลกากรในการลดอัตราหรือยกเว้นอากร ผ่านการออกกฎหมายลำดับรองในระดับ “ประกาศกระทรวงการคลัง” โดยมีเหตุผลเพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศหรือเพื่อความผาสุกของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567 จนในที่สุดได้มีการออกฎหมายลำดับรองอีกฉบับหนึ่ง คือ “ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2567”
หลักการสำคัญของประกาศกระทรวงการคลังฯ ที่ออกตามความในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว คือ “ยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้า ซึ่งแต่ละรายผู้รับในประเทศมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัย (CIF) ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 บาท แต่ไม่เกิน 1,500 บาท” ประกาศกระทรวงการคลังฯ ฉบับนี้ จึงส่งผลให้สินค้านำเข้าตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567[3]ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ยังคงได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอยู่เช่นเดิม โดยไม่ส่งผลให้ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เพราะพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และประมวลรัษฎากร กำหนดเชื่อมโยงไปยังการยกเว้นอากรขาเข้าตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 12 เท่านั้น มิได้เชื่อมโยงกับการยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ที่ออกตามความในมาตรา 12 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวด้วยแต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุป “ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 สินค้าที่นำเข้าที่มีราคา CIF ไม่เกิน 1,500 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีการบริโภคเฉพาะอากรขาเข้า ส่วนภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะสินค้าที่มีราคา CIF ไม่เกิน 1 บาท แต่หากมีราคา CIF เกิน 1 บาท จะต้องเสียภาษีสรรพสามิต (ถ้ามี) และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานและอัตราตามที่กฎหมายกำหนด”
ทั้งนี้ สำหรับสินค้านำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไปนั้น ต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลจะดำเนินมาตรการในเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่
[1] 4.1.3 Transitional Standard National legislation shall specify a minimum value and/or a minimum amount of duties and taxes below which no duties and taxes will be collected
[2] เป็นวันที่ประกาศกรมศุลกากรที่ 116/2567ฯ มีผลใช้บังคับ
[3] เป็นวันที่ประกาศกระทรวงการคลังฯ มีผลใช้บังคับ
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ