กำลังโหลด...

×



Accounting รู้เท่าทันใบกำกับภาษี

magazine image
Accounting

รู้เท่าทันใบกำกับภาษี

ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อหรือลูกค้าทุกครั้งและส่งมอบใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าเมื่อจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

“ใบกำกับภาษี” หมายความรวมถึงใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นตามมาตรา 83/5 และใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ของกรมศุลกากร หรือของกรมสรรพาสามิต ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ใบกำกับภาษีเต็มรูป

ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บรักษาไว้ 

ใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี

(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

(8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

รายการในใบกำกับภาษีให้ทำเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทยและใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิก เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี

ใบกำกับภาษีอาจออกรวมกันสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการหลายอย่างก็ได้ เว้นแต่อธิบดีจะได้กำหนดให้การออกใบกำกับภาษีสำหรับสินค้าหรือบริการบางอย่างหรือหลายอย่างต้องกระทำแยกต่างหาก โดยมิให้รวมไว้ในใบกำกับภาษีเดียวกันกับรายการอื่น

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก อธิบดีมีอำนาจกำหนดลักษณะและหรือเงื่อนไขของการประกอบกิจการดังกล่าว ให้เป็นกิจการค้าปลีกและในกิจการค้าปลีกการแสดงราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการจะต้องเป็นการแสดงราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีกมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ แต่ตัวแทนของผู้ประกอบการจดทะเบียนจะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อไม่ได้

ใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อหรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี

(3) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี

(4) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

(5) ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

(6) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

(7) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

ชื่อ ชนิด หรือประเภทของสินค้าจะออกเป็นรหัสก็ได้ โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องแจ้งรหัสให้อธิบดีทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ก่อนวันใช้รหัสนั้น

รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ทำเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิก เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นที่มิใช่เป็นภาษาอังกฤษ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี

ใบเพิ่มหนี้

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว แต่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 82/9 ออกใบเพิ่มหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ให้ออกใบเพิ่มหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

ใบเพิ่มหนี้ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า “ใบเพิ่มหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

(4) วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้

(5) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสอง และจำนวนภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มสำหรับส่วนต่างนั้น

(6) คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้

(7) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

ให้นำมาตรา 86/4 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้ถือว่าใบเพิ่มหนี้ตามมาตรานี้เป็นใบกำกับภาษี

ใบลดหนี้

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว แต่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงเพราะเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 82/10 ออกใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกใบลดหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ให้ออกใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

ใบลดหนี้ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า “ใบลดหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบลดหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบลดหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

(4) วัน เดือน ปี ที่ออกใบลดหนี้

(5) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสอง และจำนวนภาษีที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่างนั้น

(6) คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบลดหนี้

(7) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

ให้นำมาตรา 86/4 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้ถือว่าใบลดหนี้ตามมาตรานี้เป็นใบกำกับภาษี

ใบเสร็จรับเงินของส่วนราชการ

ใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้สำหรับการรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 หรือตามมาตรา 83/7 และใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรหรือกรมสรรพสามิตออกให้ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกรมสรรพากรตามมาตรา 83/10 (1) หรือ (2) ให้ถือเป็นใบกำกับภาษี

ใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์

กรมสรรพากรได้ออกระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่การจัดทำใบกำกับภาษีและใบรับตามประมวลรัษฎากรที่มีข้อความอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐประเภทหนึ่ง

“ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ใบกำกับภาษีที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง และได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)

“ใบรับอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ใบรับที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง และได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)

จะเห็นได้ว่า นอกจากใบกำกับภาษีจะเป็นรูปแบบของกระดาษแล้ว ยังมีรูปแบบใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย ซึ่งผู้ประกอบจะต้องเริ่มปรับตัวให้กิจการสามารถออกใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้ก็จะช่วยให้เกิดความรวดเร็จในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น

Top 5 Contents