กำลังโหลด...

×



Tax หลักการปรับปรุงและปิดบัญชีประจำปีให้ถูกต้อง

magazine image
Tax

หลักการปรับปรุงและปิดบัญชีประจำปีให้ถูกต้อง

การปฏิบัติหน้าที่ของนักบัญชีที่รับผิดชอบทุกกิจการต้องสอบทานรายการบัญชีที่เกิดขึ้นระหว่างงวดบัญชีเพื่อทำการปิดงวดบัญชีประจำปี ซึ่งมักจะต้องมีรายการปรับปรุงบัญชีเพื่อให้งบการเงินแสดงรายการที่ถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน แม้จะเป็นรายการที่ได้ปฏิบัติเป็นประจำปีที่นักบัญชีต้องดำเนินการ แต่ก็มักจะพบความกังวลและความบกพร่องเสมอ ยิ่งมาตรฐานการรายงานทางการเงินมีการเปลี่ยนแปลงแล้วขาดการติดตามก็จะทำให้เกิดรายการปรับปรุงจากการตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีเสมอ

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา จึงควรทำความเข้าใจในหลักการและแนวคิดที่จะช่วยให้งานปิดบัญชีประจำปีกระทำได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาทำความเข้าใจเพื่อให้การปฏิบัติงานสัมฤทธิผลดังนี้

1. ความหมายของการปิดบัญชีและการปรับปรุงรายการบัญชีเพื่อการปิดบัญชีประจำปี

2. เกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงิน

3. หลักการพื้นฐานที่ต้องเข้าใจ

4. ความสัมพันธ์ของรายการในงบการเงิน

5. รายการบัญชีที่ต้องพิจารณาปรับปรุงรายการก่อนการปิดบัญชี

1. ความหมายของการปิดบัญชีและการปรับปรุงรายการบัญชีเพื่อการปิดบัญชีประจำปี

ความหมายของการปิดบัญชี

การปิดบัญชี (Closing Entries) หมายถึง การบันทึกเพื่อปิดรายการบัญชีที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งปกติรอบบัญชีจะมีระยะเวลา 12 เดือน การปิดบัญชีจะทำให้ยอดคงเหลือในบัญชีแยกประเภทเป็นศูนย์ โดยการโอนปิดบัญชีชั่วคราวไปยังบัญชีถาวร การดำเนินการปิดบัญชีมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกิจการ

ดังนั้นก่อนจะทำการปิดบัญชี นักบัญชีที่รับผิดชอบจึงต้องสอบทานรายการบัญชีต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่นั้นว่ามีความครบถ้วน ถูกต้อง ตรงตามงวดบัญชีนั้นแล้ว การสอบทานรายการจึงมักจะมีรายการบัญชีที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้รายการยอดคงเหลือของแต่ละบัญชีมีความถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน

ในปัจจุบันกิจการมักใช้โปรแกรมบัญชีในการบันทึกและประมวลผลทางบัญชี ซึ่งเมื่อปรับปรุงรายการบัญชีได้ถูกต้องจะประมวลผลเป็นงบทดลองหลังปรับปรุงและให้โปรแกรมบัญชีดำเนินการปิดบัญชีให้ ทั้งนี้ หากจะจำแนกการปิดบัญชีจะจำแนกได้ 2 ประเภท คือ 

1. การปิดบัญชีชั่วคราว (Temporary Accounts) เป็นการปิดบัญชีที่จะไปแสดงผลการดำเนินงานของกิจการ คือ บัญชีรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสะสมในรอบระยะเวลาบัญชีที่ทำการปิดบัญชีนั่นเอง ยอดคงเหลือของบัญชีชั่วคราวจะเท่ากับศูนย์เมื่อทำการปิดบัญชี จะไม่มียอดสะสมยกไปในงวดบัญชีถัดไป บัญชีรายได้และค่าใช้จ่ายจึงจัดเป็นประเภทบัญชีชั่วคราว รายการบัญชีสุทธิของบัญชีชั่วคราวจะถูกปิดโอนเข้าส่วนของเจ้าของในบัญชีกำไรสะสม

2. การปิดบัญชีถาวร (Permanent Accounts) เป็นการปิดบัญชีที่แสดงยอดคงเหลือสะสมตั้งแต่เริ่มดำเนินงานของกิจการจนกว่ากิจการจะเลิกประกอบธุรกิจ บัญชีถาวรคือรายการยอดคงเหลือ ณ วันปิดบัญชีของบัญชีหมวดสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ 

ยอดปิดบัญชี คือ ยอดคงเหลือ ณ วันปิดบัญชีที่จะนำไปแสดงฐานะการเงินในงบฐานะการเงิน เป็นยอดคงเหลือยกไปที่จะแสดงเป็นยอดคงเหลือยกมาในงวดบัญชีถัดไป

การใช้คำสั่งในโปรแกรมบัญชีเพื่อจัดการปิดบัญชีทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในกระบวนการทำงาน ซึ่งนักบัญชีอาจจะลืมไปว่าการใช้คำสั่งของโปรแกรมบัญชีทำการปิดบัญชีนั้นควรให้จัดพิมพ์ใบสำคัญทั่วไปเพื่อแสดงรายการปิดบัญชีนั้นมาแนบเก็บไว้ในแฟ้มงานด้วย หรือกรณีที่โปรแกรมบัญชีไม่มีคำสั่งในการพิมพ์ใบสำคัญทั่วไปในการปิดบัญชี นักบัญชีที่รับหน้าที่ในการปิดบัญชีก็ควรจัดทำใบสำคัญทั่วไปในการปิดบัญชีนั้นให้เรียบร้อยเพื่อเป็นหลักฐานการปิดบัญชีประจำปี

ความหมายของรายการปรับปรุงทางบัญชีประจำปี

รายการปรับปรุงบัญชี (Adjusting Entries) หมายถึง การบันทึกรายการปรับปรุงทางบัญชีเพื่อให้ยอดคงเหลือของแต่ละบัญชีมีความถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน สำหรับงวดบัญชีที่กิจการจะทำการปิดบัญชีและจัดทำรายงานทางการเงิน จึงต้องพิจารณาปรับปรุงรายการก่อนปิดบัญชี ซึ่งการปรับปรุงบัญชีในวันสิ้นงวดจึงมีผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนและงบฐานะการเงินเสมอ

2. เกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงิน

ธุรกิจในประเทศไทยจะมีเกณฑ์ในการจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินอยู่ 2 เกณฑ์ดังนี้

1. มาตรฐานการรายงานทางการเงิน 

เป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่บังคับให้กิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะต้องจัดทำตามมาตรฐานชุดนี้ และเป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะสามารถเลือกใช้ได้

2. มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ 

เป็นมาตรฐานทางเลือกให้แก่กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะสามารถนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งมาตรฐานชุดนี้เป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับประเทศไทยที่กิจการไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะส่วนใหญ่ใช้ เนื่องจากไม่ซับซ้อน ทั้งนี้ เมื่อกิจการเลือกเกณฑ์ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินใดแล้วต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

ในการปรับปรุงรายการบัญชีจึงต้องมีความเข้าใจในมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กิจการกำหนดเป็นนโยบายในการใช้ เพื่อจะได้รับรู้รายการได้ถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน

3. หลักการพื้นฐานที่ต้องเข้าใจ

ในการทำหน้าที่ของนักบัญชีจะต้องเข้าใจและปฏิบัติได้ในหลักการพื้นฐานที่จะนำมาใช้ในการพิจารณารายการปรับปรุงทางบัญชีเพื่อการปิดบัญชีประจำงวดบัญชี ดังต่อไปนี้

1. เกณฑ์คงค้าง 

ในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ได้กำหนดเกณฑ์คงค้างในบทที่ 3 กรอบแนวคิด โดยกำหนดให้กิจการต้องรับรู้รายการค้าในรอบระยะเวลารายงานที่เกิดรายการนั้น ซึ่งอาจเป็นรอบระยะเวลารายงานเดียวกันหรือต่างกันกับรอบระยะเวลารายงานที่กิจการได้รับหรือจ่ายชำระเงินสดโดยใช้เกณฑ์คงค้าง

ส่วนในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ เกณฑ์คงค้างได้ถูกระบุไว้ในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน กำหนดให้กิจการต้องจัดทำงบการเงินตามเกณฑ์คงค้าง เว้นแต่เป็นข้อมูลกระแสเงินสด เมื่อกิจการใช้เกณฑ์คงค้างในการจัดทำงบการเงิน กิจการจะรับรู้รายการเป็นสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ รายได้และค่าใช้จ่าย เมื่อรายการเหล่านั้นเป็นไปตามคำนิยามและเกณฑ์การรับรู้รายการตามที่กำหนดไว้ในกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน เกณฑ์คงค้างจึงเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณารายการที่เกิดขึ้นเสมอ ณ วันสิ้นงวดที่จะปิดบัญชี จึงต้องพิจารณาว่ามีรายการคงค้างใดที่ยังไม่ได้บันทึกรายการจะต้องทำการปรับปรุงรายการนั้นให้ถูกต้อง

2 การประมาณการ

ในการปฏิบัติงานทางบัญชีของกิจการนั้น มีรายการบางประเภทที่ต้องใช้หลักประมาณการ การประมาณการทางบัญชีจึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจเพื่อประมาณการ โดยมีข้อสมมติฐานเกี่ยวกับเรื่องที่มีความไม่แน่นอนที่มีผลกระทบต่อจำนวนเงินที่แสดงในงบการเงิน การประมาณการทางบัญชีจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

การประมาณการทางบัญชีที่ต้องรับรู้รายการต้องอยู่ในปัจจัยว่ารายการนั้นต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จำนวนเงินที่จะเกิดขึ้นไม่อาจวัดค่าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงต้องกำหนดเกณฑ์ในการวัดมูลค่าที่ดีที่สุดในขณะนั้นเพื่อให้เป็นมูลค่าที่เหมาะสมที่เชื่อถือได้ใกล้เคียงกับความจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากที่สุด นักบัญชีจึงต้องทบทวนรายการที่มีกำหนดหลักเกณฑ์ประมาณการไว้ว่ายังมีความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ หรือมีข้อมูลและเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการประมาณการจนไม่เหมาะสมจะต้องพิจารณาหลักประมาณการใหม่

การประมาณการจึงทำให้เกิดการปรับปรุงมูลค่าของรายการ ซึ่งหลักประมาณการที่จะเกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่จะมีรายการดังนี้

  • ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหรือค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
  • ประมาณการค่าเผื่อการลดลงของมูลค่าสินค้าคงเหลือ
  • ประมาณการอายุการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ถาวร อัตราค่าเสื่อมราคา และมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ถาวร
  • ประมาณการอายุการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน อัตราค่าตัดจำหน่าย
  • ประมาณการหนี้สิน

3. การวัดมูลค่า ณ วันสิ้นงวด 

การปิดบัญชีประจำงวดบัญชีต้องเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สินที่ต้องมีการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้เริ่มแรก จึงต้องพิจารณาว่า ณ วันสิ้นงวดจะต้องวัดมูลค่าอย่างไรให้ถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เช่น ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เงินลงทุนเพื่อค้า เงินลงทุนเผื่อขาย สินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งการวัดมูลค่า ณ วันสิ้นงวดดังกล่าวจะเป็นที่มาของรายการปรับปรุงบัญชีของรายการวัดมูลค่านั้น ๆ

4. ความมีสาระสำคัญ 

การจัดทำบัญชีมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการพิจารณาความมีสาระสำคัญของแต่ละกิจการที่ให้ใช้ดุลพินิจของรายการทางบัญชีที่เกิดขึ้น ซึ่งความมีสาระสำคัญมีความหมายตามคำนิยามในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 การนำเสนองบการเงิน ดังนี้

ความมีสาระสำคัญ หมายถึง ข้อมูลที่มีสาระสำคัญ หากกิจการละเว้นการแสดงข้อมูล การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริง หรือการแสดงข้อมูลแบบไม่ชัดเจน ซึ่งคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลว่าข้อมูลที่ละเว้นจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงินของกิจการเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป

ความมีสาระสำคัญนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะหรือขนาดของข้อมูลหรือทั้ง 2 อย่าง ในการประเมินว่าข้อมูลนั้นมีสาระสำคัญหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นตัวของข้อมูลนั้นเองหรือร่วมกับข้อมูลอื่น ให้พิจารณารายการในบริบทของงบการเงินในภาพโดยรวม สภาพแวดล้อมที่อาจทำให้ข้อมูลมีความไม่ชัดเจนอย่างมีสาระสำคัญ เช่น 

1) ข้อมูลเกี่ยวกับรายการ รายการค้า หรือเหตุการณ์อื่นที่มีสาระสำคัญซึ่งแสดงเพียงรายการอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน ซึ่งการเปิดเผยต้องใช้ภาษาที่คลุมเครือหรือไม่ชัดเจน

2) ข้อมูลเกี่ยวกับรายการ รายการค้า หรือเหตุการณ์อื่นที่มีสาระสำคัญ แสดงรายการอย่างกระจัดกระจายในงบการเงิน

3) การรวมแสดงรายการ รายการค้า หรือเหตุการณ์อื่นที่ไม่คล้ายคลึงกันเข้าด้วยกันอย่างไม่เหมาะสม

4) การแยกแสดงรายการ รายการค้า หรือเหตุการณ์อื่นที่คล้ายคลึงกันออกจากกันอย่างไม่เหมาะสม และ

5) ความเข้าใจได้ของงบการเงินลดลงซึ่งเป็นผลจากข้อมูลที่มีสาระสำคัญถูกปิดบังโดยข้อมูลที่ไม่มีสาระสำคัญ จนทำให้ผู้ใช้หลักไม่สามารถพิจารณาได้ว่าข้อมูลอะไรที่มีสาระสำคัญ

การที่นักบัญชีมีความเข้าใจในเรื่องความมีสาระสำคัญ จะทำให้มีความระมัดระวังในการแสดงรายการ การจัดประเภทรายการให้เหมาะสม รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลให้เพียงพอ

5. วิธีปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน

ทุกกิจการที่ปฏิบัติงานบัญชีตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กิจการใช้ ต้องมีความเข้าใจในวิธีการปฏิบัติตามมาตรฐานนั้น ๆ และกำหนดเป็นนโยบายทางบัญชีของกิจการ ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจและปฏิบัติได้ตามวิธีการที่เป็นนโยบายบัญชีของกิจการ เช่น

  • วิธีการคำนวณค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหรือค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
  • วิธีการตีราคาสินค้าคงเหลือเปรียบเทียบมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ
  • การวัดมูลค่าภายหลังโดยวิธีที่ตีราคาใหม่ของสินทรัพย์ในหมวดที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
  • วิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
  • วิธีการวัดมูลค่าเงินลงทุน
  • วิธีการใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันสิ้นงวด สำหรับสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
  • วิธีการคำนวณหาสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีและหนี้สิน ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี เป็นต้น

ดังนั้นจึงต้องเข้าใจวิธีการทางบัญชีที่กิจการกำหนดเป็นนโยบายนั้นได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดทำงบการเงินหรือไม่ การวัดมูลค่าของรายการบัญชี ณ วันสิ้นรอบบัญชีได้แสดงไว้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน หากไม่ถูกต้องและมีสาระสำคัญก็ดำเนินการปรับปรุงรายการดังกล่าวให้ถูกต้องก่อนทำการปิดบัญชี

4. ความสัมพันธ์ของรายการในงบการเงิน

การสอบทานความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับงบการเงินที่นักบัญชีต้องพิจารณาก่อนนำส่งงบการเงิน ดังต่อไปนี้ คือ 

1. งบฐานะการเงิน

2. งบกำไรขาดทุน (เบ็ดเสร็จ)

งบฐานะการเงิน

คือรายงานทางการเงินที่สำคัญในการบอกฐานะการเงินขององค์กรหรือธุรกิจ ณ วันใดวันหนึ่ง ซึ่งดำเนินการโดยนักบัญชีของกิจการที่ต้องทำหน้าที่ปิดงบการเงิน งบฐานะการเงินจะช่วยให้ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องประเมินสภาพฐานะการเงินขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์ของรายการในงบฐานะการเงินจะทำให้นักบัญชีพิจารณายอดคงเหลือของรายการบัญชี ในงบฐานะการเงินแสดงมูลค่าสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังนี้

สินทรัพย์ หมายถึง ทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการซึ่งเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต โดยที่ทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจก็คือ สิทธิที่มีศักยภาพในการสร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ เช่น ลูกหนี้ สินค้า ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เป็นต้น ทั้งนี้ กิจการจะถือว่ากิจการควบคุมทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจนั้นได้ก็ต่อเมื่อกิจการมีความสามารถในปัจจุบันที่จะกำกับการใช้ทรัพยากรและเป็นผู้ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากการใช้ทรัพยากรนั้น รวมถึงกิจการต้องมีความสามารถในปัจจุบันที่จะห้ามหรือป้องกันไม่ให้ผู้อื่นสามารถกำกับการใช้ทรัพยากรนั้นด้วย (กรอบแนวคิดสำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน) ซึ่งกรอบแนวคิดเป็นหลักการพื้นฐานที่ทุกกิจการต้องยึดถือในการปฏิบัติทางการบัญชี จากความหมายดังกล่าวทำให้รายการบัญชีของกิจการที่เป็นสินทรัพย์นั้นต้องพิจารณา ณ วันสิ้นงวดบัญชีว่ามีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อกิจการในอนาคตตามมูลค่าที่มีอยู่หรือไม่ โดยสินทรัพย์จะจัดเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนและไม่หมุนเวียน 

  • สินทรัพย์หมุนเวียน จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงใน 12 เดือนข้างหน้า การไม่เปลี่ยนแปลงจะเป็นเหตุให้สงสัยว่ามูลค่าดังกล่าวต้องทำการพิจารณาเพื่อปรับปรุงหรือไม่ ความเชื่อมโยงของบัญชีสินทรัพย์จึงต้องพิจารณามูลค่าว่ายอดคงเหลือ ณ วันสิ้นงวดต้องดำเนินการอย่างไร เช่น
  • เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด รายการนี้ต้องพิจารณาว่าเงินสดมีอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเงินสดในมือมักจะสร้างระบบให้มีการนำฝากธนาคารตามยอดที่ปรากฏจะได้ตรวจสอบได้ง่าย ส่วนกรณีเงินสดย่อยเพื่อให้ครบวงเงินสดย่อยจึงต้องทำการเบิกชดเชยเงินสดย่อย ณ วันสิ้นงวด จะได้ไม่ต้องมีรายการปรับปรุงค่าใช้จ่ายเนื่องจากไม่มียอดค้างเบิก ส่วนรายการเทียบเท่าเงินสดมักเป็นรายการเงินฝากธนาคาร ซึ่งจะมีการจัดทำงบกระทบยอดเงินฝากธนาคารเพื่อพิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคารตามบัญชีกับยอดตามใบแจ้งยอดธนาคาร จะพิจารณารายการกระทบยอดที่ไม่ตรงกันระหว่างบัญชีกับธนาคารว่าจะเป็นรายการที่กระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์อย่างเป็นสาระสำคัญหรือไม่ หากมีสาระสำคัญจะดำเนินการปรับปรุงรายการหรือจัดประเภทบัญชีใหม่ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • ลูกหนี้การค้า รายการบัญชีนี้ตามธรรมชาติจะคู่กับรายได้ ซึ่งต้องทำการพิจารณาการบันทึกรายได้ตรงตามงวดบัญชีที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนตามมาตรฐานหรือไม่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาการตรวจตัดยอดขายเพื่อการบันทึกลูกหนี้การค้าได้ตรงตามงวด การตรวจเหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงานว่ามีเหตุการณ์ที่กระทบต่อลูกหนี้การค้าหรือไม่ เช่น มีการรับคืนสินค้า การให้ส่วนลด เป็นต้น พิจารณาการวิเคราะห์อายุหนี้ซึ่งจะเป็นที่มาของการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหรือค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงการพิจารณาการตัดหนี้สูญหากเกิดรายการนี้ขึ้น
  • สินค้าคงเหลือ รายการนี้เป็นหนึ่งในรายการที่มีความสำคัญ จึงต้องมั่นใจว่ามีการบันทึกรายการอย่างครบถ้วนโดยการพิจารณาจากการตรวจตัดยอดซื้อและตรวจตัดยอดสินค้าให้ตรงตามรอบ รวมถึงการตรวจเหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงานมีการส่งคืนสินค้าหรือได้รับใบลดหนี้หรือไม่ การพิจารณาอายุสินค้าหรือรายการเคลื่อนไหวสินค้า หากมีรายการไม่เคลื่อนไหวหรือมีสินค้าเคลื่อนไหวช้าจะเป็นที่มาของการพิจารณามูลค่าสุทธิที่คาดว่าจะได้รับ รวมถึงกรณีสินค้าขาดเกินจากการตรวจนับจะต้องทำการปรับปรุงรายการบัญชี
  • ลูกหนี้อื่น ยอดคงเหลือของบัญชีลูกหนี้อื่นที่แสดงเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนต้องพิจารณารายการดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ใดหรือมีความเป็นมาอย่างไร ยอดค้างเกิด 1 ปีหรือไม่ หากเป็นรายการค้างนานควรมีการพิจารณาจัดประเภทใหม่ รวมถึงพิจารณารายการดังกล่าวนั้นกิจการได้รับผลตอบแทนอื่นด้วยหรือไม่
  • สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น ต้องพิจารณารายการบัญชีดังกล่าวว่ายังเป็นรายการที่กิจการจะได้รับประโยชน์อยู่หรือไม่ และมีมูลค่าตามที่ปรากฏในบัญชีหรือไม่ หากสงสัยต้องดำเนินการหาข้อมูลและเอกสารประกอบเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง ที่สำคัญหากเป็นรายการลูกหนี้กรรมการหรือกิจการในกลุ่มต้องพิจารณาในเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับและการจัดประเภทใหม่ให้ถูกต้อง หากเป็นสินทรัพย์อื่นที่มีมูลค่าตามบัญชี แต่ไม่หมุนเวียนควรจัดประเภทเป็นไม่หมุนเวียนจะเหมาะสมกว่า
  • สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน สำหรับสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่กิจการส่วนใหญ่มีจะได้แก่ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ขึ้นอยู่กับนโยบายบัญชีของกิจการในการวัดมูลค่าภายหลังกำหนดไว้จะวัดมูลค่าตามราคาทุนหรือตีราคาใหม่ (มูลค่ายุติธรรม) และวิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคา การตัดจำหน่าย กิจการควรทบทวนวิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคา การตัดจำหน่าย อายุการใช้ประโยชน์ของทรัพย์สินและมูลค่าคงเหลือ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงกรณีที่มีข้อบ่งชี้เกี่ยวกับการด้อยค่าสินทรัพย์ต้องพิจารณาค่าเผื่อการด้อยค่าสินทรัพย์ด้วย

หนี้สิน หมายถึง ภาระผูกพันปัจจุบันของกิจการในการโอนทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต โดยที่ภาระผูกพันเป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบที่กิจการไม่มีความสามารถในทางปฏิบัติที่จะหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหน้าที่หรือความรับผิดชอบของกิจการนั้น หมายความรวมถึงภาระผูกพันตามกฎหมายและภาระผูกพันจากการอนุมานด้วย เช่น หากยกเลิกสัญญาจะทำให้กิจการเสียค่าปรับจำนวนมากซึ่งไม่คุ้มค่าที่จะยกเลิกสัญญา เป็นต้น (กรอบแนวคิดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน) ภาระผูกพันที่เกิดขึ้นของกิจการและวัดมูลค่าได้น่าเชื่อถือจะถูกบันทึกเป็นหนี้สิน ต้องพิจารณาการชำระภาระผูกพันใน 1 ปีจะเป็นหนี้สินหมุนเวียน นอกจากนี้จะเป็นหนี้สินไม่หมุนเวียน อย่างไรก็ดี จะต้องพิจารณาว่าหนี้สินไม่หมุนเวียนนั้นมีส่วนที่ถึงกำหนดชำระใน 1 ปีด้วยหรือไม่ จะได้จัดส่วนนี้เป็นหมุนเวียน รวมถึงภาระผูกพันบางบัญชีที่ต้องใช้หลักประมาณการต้องพิจารณาความเหมาะสมของหลักประมาณการดังกล่าวและอาจต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการให้

ดังนั้นความสัมพันธ์ของรายการหนี้สินจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาการวัดมูลค่า ณ วันสิ้นงวดของรายการเหล่านี้ให้เป็นภาระผูกพันที่กิจการต้องโอนทรัพยากรไปชำระอย่างแท้จริงและจัดประเภทได้ถูกต้อง

ส่วนของเจ้าของ หมายถึง ส่วนได้เสียคงเหลือในสินทรัพย์ของกิจการหลังจากหักหนี้สินทั้งหมดของกิจการแล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าส่วนของเจ้าของเป็นสิทธิเรียกร้องต่อกิจการที่ไม่เป็นไปตามคำนิยามของหนี้สิน (กรอบแนวคิดสำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน) รายการส่วนของเจ้าของจะมีรายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะต้องพิจารณา คือ กำไรสะสมที่จัดสรรตามรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ได้แก่ เงินปันผลและสำรองตามกฎหมายได้ดำเนินบันทึกไว้อย่างถูกต้องแล้ว อีกส่วนคือรายการปิดบัญชีกำไรขาดทุนซึ่งเป็นบัญชีชั่วคราวประจำปีที่ต้องทำการปิดบัญชีทุกปี สำหรับรายการทุนของผู้ถือหุ้นถ้าไม่มีการเพิ่มทุนหรือลดทุนก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

งบกำไรขาดทุน (เบ็ดเสร็จ) 

เป็นรายงานทางการเงินที่จะแสดงผลการดำเนินงานของกิจการประจำปี ประกอบด้วยรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในรอบบัญชี รายการที่เกิดขึ้นจึงสัมพันธ์กับรายการในงบฐานะการเงินเสมอ การพิจารณาความถูกต้องครบถ้วนของรายได้และค่าใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก

  • รายได้ หมายถึง การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์หรือการลดลงของหนี้สินที่ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของส่วนของเจ้าของ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเงินทุนที่ได้รับจากผู้ถือสิทธิเรียกร้องส่วนของเจ้าของ (กรอบแนวคิดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน) ในเรื่องนี้ต้องพิจารณารายได้หลัก รายได้รอง และรายได้อื่นของกิจการ เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายสินค้าหรือบริการ และรายได้อื่นเกิดจากเหตุการณ์ใด จึงต้องพิจารณาความครบถ้วนของรายได้ว่าได้บันทึกอย่างครบถ้วนถูกต้องตามมาตรฐานการรับรู้รายได้ จึงต้องทำการตรวจตัดยอดขายหากเป็นการขายสินค้าเสมอ สำหรับรายได้บริการจะต้องทำการปรับปรุงรายได้จากอัตราส่วนของงานบริการที่ทำเสร็จ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายการรับรู้รายได้ของกิจการต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน สำหรับรายได้อื่นจะต้องรับรู้ว่ารายได้อื่นของกิจการได้บันทึกครบถ้วนถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยรับ กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน รายได้จากการส่งเสริมการขาย รายได้เงินปันผล เงินชดเชยจากการประกันภัย พิจารณาหลักฐานเพื่อทำการปรับปรุงให้ตรงตามงวดบัญชี ควรทำการกระทบยอดรายได้ทางบัญชีกับรายได้ตามแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีที่ยอดไม่ตรงกันจะได้รับทราบว่าเกิดจากกรณีใด ซึ่งอาจทำให้พบรายการปรับปรุงบัญชี
  • ค่าใช้จ่าย หมายถึง การลดลงของสินทรัพย์หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สินที่ส่งผลให้เกิดการลดลงของส่วนของเจ้าของ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการจัดสรรคืนให้ผู้ถือสิทธิเรียกร้องส่วนของเจ้าของ (กรอบแนวคิดสำหรับรายงานทางการเงิน) ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่กิจการแสดงจะจำแนกตามหน้าที่ มีส่วนน้อยที่จะจำแนกตามธรรมชาติในงบกำไรขาดทุนหรืองบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ซึ่งหากจำแนกตามหน้าที่จะมีค่าใช้จ่าย คือ ต้นทุนขายหรือบริการ ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ต้นทุนขายพิจารณาตามต้นทุนสินค้าที่ขายการปรับปรุงมักเกิดจากการตรวจตัดยอดซื้อและการตรวจนับสินค้าคงเหลือ ต้นทุนบริการต้องให้ความระมัดระวังรอบคอบเนื่องจากต้องมาคำนวณหาอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จตามนโยบายบัญชีของกิจการจะใช้วิธีปัจจัยนำเข้าหรือวิธีผลลัพธ์ แล้วทำการปรับปรุงบัญชีต้นทุนบริการ ค่าใช้จ่ายการขายจะต้องพิจารณาการบันทึกค่าส่งเสริมการขายเป็นไปตามระเบียบหรือข้อกำหนดของกิจการที่คำนวณได้อย่างถูกต้องและมีการอนุมัติแล้ว ค่าใช้จ่ายบริหารที่ต้องพิจารณาตอนสิ้นงวดเพื่อการปรับปรุงรายการ เช่น รายการจ่ายล่วงหน้า ค้างจ่าย การประมาณการหนี้สิน ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น มีการปรับปรุงอย่างถูกต้องตรงตามงวดบัญชี

5. รายการบัญชีที่ต้องพิจารณาปรับปรุงรายการก่อนการปิดบัญชี

จากเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะทำให้เกิดรายการปรับปรุงบัญชีก่อนทำการปิดบัญชีเสมอ ซึ่งรายการปรับปรุงที่เกิดขึ้นประจำที่เป็นที่ของนักบัญชีที่รับผิดชอบต้องทำการปรับปรุงรายการมีดังนี้

  • เงินสดย่อยที่ค้างเบิกชดเชยที่มีจำนวนเป็นสาระสำคัญ
  • รายการกระทบยอดเงินฝากธนาคารที่มีสาระสำคัญในการปรับปรุงเพื่อความถูกต้องตรงตามงวดบัญชี
  • ลูกหนี้การค้าวัดมูลค่าให้ตรงตามงวดจากการตรวจตัดยอดขาย และการปรับปรุงบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหรือค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
  • ลูกหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจะปรับปรุงกับกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
  • สินค้าคงเหลือ การตีราคาและวัดมูลค่า การตรวจนับสินค้า ตรวจตัดยอดซื้อและสินค้า รวมถึงรายการเปรียบเทียบกับมูลค่าสุทธิที่คาดว่าจะได้รับที่ต่ำกว่าค่าเผื่อการลดลงของมูลค่าสินค้า
  • กระดาษทำการเพื่อปรับปรุงรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีและหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี
  • การวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้
Top 5 Contents