กำลังโหลด...

×



Tax โดนภาษีย้อนหลัง หาทางออกแบบเจ็บน้อยสุด

magazine image
Tax

โดนภาษีย้อนหลัง หาทางออกแบบเจ็บน้อยสุด

ตามที่มีข่าวตามสื่อออนไลน์ว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์โดนสรรพากรตรวจสอบ แล้วให้เสียภาษีย้อนหลัง 7 ปี แทบล้มละลาย ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมมีการแชร์โพสต์ไปจำนวนหลายพัน เพื่อเตือนสติพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ให้ระวังตัว อย่าคิดว่าสรรพากรไม่รู้ ควรยื่นรายได้เสียภาษีให้ถูกต้องจะดีกว่า

จากประเด็นนี้เราจึงมาดูรายละเอียดของข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจการเรียกเก็บภาษีของสรรพากรกัน ว่ามีอำนาจขนาดไหน และโทษเป็นเช่นไร ดังนี้

อำนาจในการออกหมายเรียก 

มาตรา 19 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน นับแต่วันส่งหมาย ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าวจะต้องกระทำภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ไม่ว่าการยื่นรายการนั้นจะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรหรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่า 2 ปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร”

“มาตรา 23 ผู้ใดไม่ยื่นรายการ ให้อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินแล้วแต่กรณี มีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้นั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยาน กับสั่งให้ผู้ที่ไม่ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน นับแต่วันส่งหมาย”

ประเด็นที่ต้องพิจารณา

จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้ 

1. มาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องใด 

1.1 มาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติว่าด้วยวิธีการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร โดยกำหนดให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมิน ในอันที่จะทำการออกหมายเรียกไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร หรือผู้นำส่งภาษีอากรที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี 

1.2 มาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติตามส่วน 1 การยื่นรายการและการเสียภาษี หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน ในลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดวิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมินหรือวิธีการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรไว้ดังนี้

(1) การยื่นรายการประเมินตนเองตามมาตรา 17 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร 

(2) เจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 ประกอบมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมิน 

(3) อำนาจเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 18 ถึงมาตรา 27 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร ยกเว้นมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่

(ก) อำนาจการประเมินเรียกเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 18 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร 

(ข) อำนาจประเมินความถูกต้องของแบบแสดงรายการเพื่อเรียกเก็บภาษีอากรตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร 

(ค) อำนาจแจ้งการประเมินตามมาตรา 18 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

(ง) อำนาจออกหมายเรียกฯ กรณีผู้ต้องเสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้วตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ยื่นแบบแสดงรายการตาม มาตรา 23 แห่งประมวลรัษฏากร

(จ) อำนาจการประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียกตามมาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร

(ฉ) อำนาจการประเมินเบี้ยปรับตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียกตามมาตรา 19 มาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร 

(ช) อำนาจออกหมายเรียกฯ กรณีผู้ต้องเสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร 

(ซ) อำนาจประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียกตามมาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งประมวลรัษฎากร

(ฌ) อำนาจประเมินเบี้ยปรับตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียกตามมาตรา 23 มาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร

(ญ) อำนาจประเมินเงินเพิ่มภาษีตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

(ฎ) อำนาจลดหรืองดเบี้ยปรับ เงินเพิ่มตามมาตรา 27 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ดู คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2541ฯ ประกอบ)

(ฏ) อำนาจส่งหนังสือแจ้งความแก่ผู้มีสิทธิขอคืนหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาการคืนภาษีตามมาตรา 27 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร

(4) การขอคืนภาษีอากรประเมินตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

(5) หน้าที่อื่นของผู้ต้องเสียภาษีหรือผู้นำส่งภาษีอากรประเมินตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร 

(6) การอุทธรณ์การประเมินตามส่วน 2 หมวด 2 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 28 ถึงมาตรา 34 แห่งประมวลรัษฎากร 

(7) บทกำหนดโทษ (ทางอาญา) ตามส่วน 3 หมวด 2 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 35 ถึงมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร 

2. อำนาจในการออกหมายเรียก ตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร ปรับใช้กับภาษีอากรประเภทใด เพราะเหตุใด 

2.1 อำนาจในการออกหมายเรีตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร ปรับใช้ได้กับเฉพาะภาษีเงินได้ตามหมวด 3 แห่งประมวลรัษฎากร คือ เฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น

2.2 ทั้งนี้ เนื่องจากกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดไว้เป็นพิเศษต่างหากแล้ว จึงไม่ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการออกหมายเรียกไปใช้บังคับอีก 

3. มูลเหตุในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร 

3.1 เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้มีเงินได้แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ 

3.2 ผู้ต้องเสียภาษีขอคืนภาษีเงินได้ และเมื่อมีการขอคืนภาษีเงินได้ เจ้าหน้าที่สรรพากรต้องมีการตรวจสอบก่อนคืนภาษี และเมื่อมีการตรวจสอบแล้ว อาจพบความผิดปกติของรายได้หรือรายจ่ายเป็นเหตุให้ต้องมีการออกหมายเรียก 

3.3 เจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร

3.4 ผู้มีเงินได้ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี

4. กำหนดเวลาในการออกหมายเรียก

4.1 โดยทั่วไปให้เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้มีเงินได้ได้แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ และได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาให้ออกหมายเรียก ต้องกระทำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะได้ยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าวภายในกำหนดเวลาหรือภายหลังพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 17 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร ก็ตาม 

4.2 กรณีขอคืนภาษีเงินได้ ซึ่งตามมาตรา 27 ตรี หรือมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ รวมทั้งกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาการยื่นรายการตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ รวมทั้งกำหนดเวลาที่ได้รับให้ขยายเวลาการยื่นรายการ แล้วแต่กรณี

4.3 กรณีเจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร ให้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ รวมทั้งกำหนดเวลาที่ได้รับให้ขยายเวลาการยื่นรายการ แล้วแต่กรณี 

4.4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนด 10 ปี

4.5 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ส่วนสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาหนี้อย่างอื่นให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้

5. อำนาจตามหมายเรียก

5.1 อำนาจในการเรียกให้ผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานไปพบเพื่อให้ถ้อยคำชี้แจงเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของตน

5.2 อำนาจสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ 

6. กำหนดเวลาที่ต้องปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร

เจ้าพนักงานประมินต้องให้เวลาในการปฏิบัติตามหมายเรียกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน นับแต่วันส่งหมาย โดยต้องพิจารณาในการดำเนินการดังกล่าวภายในกำหนดเวลาตามข้อ 4 ด้วย 

การนับกำหนดเวลาสิ้นสุดการออกหมายเรียก คือ วันที่กำหนดนัดหมายให้ผู้เสียภาษีไปปฏิบัติตามหมายเรียก เพราะกำหนดเวลาการปฏิบัติตามหมายเรียก ตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นสาระสำคัญของหมายเรียกด้วยเช่นกัน จึงต้องนับระยะเวลาในการปฏิบัติตามหมายเรียกให้เป็นส่วนหนี่งของกำหนดเวลาตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย จะนับแต่เพียงกำหนดเวลาตามวันที่ได้ออกหมายเรียกหรือวันที่ระบุในหมายเรียกฯ หรือวันที่ได้รับหมายเรียกฯ ไม่ได้ 

7. การปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร

7.1 เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้จัดการตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร และทำการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนภาษีอากรตามแบบแสดงรายการที่ยื่นและทราบข้อความแล้ว เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจที่จะแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิม โดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏและแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระอีกไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้ผู้ต้องเสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์การประเมิน

7.2 ผู้ต้องเสียภาษีอากรมีสิทธิยื่นคำร้องขอลดหรือของดเบี้ยปรับตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากรตามมาตรา 27 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542ฯ

8. การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร

8.1 ถ้าผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 19 และมาตรา 23 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรตามที่รู้เห็นว่าถูกต้อง และแจ้งจำนวนเงินซึ่งต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร

8.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด ไม่นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ถ้ายอดรายรับก่อนหักรายจ่ายหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายดังกล่าวไม่ปรากฏ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินโดยอาศัยเทียบเคียงกับยอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไป ถ้ายอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนไม่ปรากฏให้ประเมินได้ตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร 

8.3 ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 36 แห่งประมวลรัษฎากร 

9. การออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีเงินได้ครึ่งปีหรือครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

9.1 การเสียภาษีเงินได้กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น แนวคิดทั่วไปคือมุ่งจัดเก็บเป็นรายปีภาษีหรือรายรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 40 ประกอบมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี

9.2 ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2527 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปีภาษี 2528 เป็นต้นไป บัญญัติว่า 

มาตรา 56 ทวิ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 56 ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการตามมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 57 ทวิ และมาตรา 57 ตรี ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดแสดงรายการเงินได้เฉพาะตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี 

เงินได้ตามมาตรา 40 (5) ตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงเงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง เงินค่าซ่อมแซม ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์

การยื่นรายการตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณภาษีตามมาตรา 48 โดยหักลดหย่อนตามมาตรา 47 ให้กึ่งหนึ่ง และชำระภาษีถ้ามี พร้อมกับการยื่นรายการนั้นต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 56

ภาษีที่ชำระตามวรรคสาม ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 57 จัตวา”

บทสรุป

  • การออกหมายเรียกตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องกระทำภายในกำหนดเวลาและมีความผิดชัดเจน
  • การเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก ไม่เป็นผลดี ยิ่งช้า ยิ่งทำให้เสียภาษีมากขึ้นจากเงินเพิ่มภาษี
  • เมื่อมีเงินได้ควรยื่นแบบแสดงรายการภาษี เพราะจะทำให้เสียภาษีน้อยที่สุด เนื่องจากไม่มีเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
  • หากรู้ว่าตนเองมีรายได้ แต่ไม่เคยยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี จะมีความเสี่ยงหรือเข้าข่ายถูกประเมินภาษีย้อนหลัง
  • กรณีที่อดีตไม่ยื่นแบบเพื่อเสียภาษี แนะนำให้รวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีให้ครบถ้วน ถูกต้อง เพราะการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเองจะมีเงินเพิ่มในจำนวนที่น้อย
  • กรณีไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลในอดีต แต่ไม่ครบถ้วน ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สรรพากรเพื่อขอดูข้อมูลเงินได้ของตนเอง แล้วยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สรรพากร
  • กรณีถูกสรรพากรตรวจพบว่าไม่ยื่นภาษีหรือยื่นไว้ไม่ครบถ้วน ควรรีบเข้าไปพบเพื่อขอคำแนะนำและความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่ อาจมีคำแนะนำให้เสียภาษีน้อยลงกว่าการเพิกเฉยหรือไม่ไปพบ
  • การขอลดหย่อนภาษีให้เหลือน้อยลงและการผ่อนผันอาจจะทำได้ หากสามารถหาเอกสารหลักฐานการลดหย่อนภาษี หรือเอกสารใบสำคัญจ่าย ใบเสร็จรับเงิน ที่มีการจ่ายไปจริงเกี่ยวเนื่องกับรายได้ จะเป็นเหตุบรรเทาโทษ ทำให้จ่ายภาษีน้อยลง
  • หากไม่มีเงินชำระภาษีย้อนหลังด้วยมีจำนวนเงินที่สูงมาก อาจทำเรื่องขอผ่อนการชำระภาษีกับเจ้าหน้าที่สรรพากรได้
Top 5 Contents