กำลังโหลด...

×



Accounting คดี STARK มีความคืบหน้าอย่างไร ? (ตอนที่ 2)

magazine image
Accounting

คดี STARK มีความคืบหน้าอย่างไร ? (ตอนที่ 2)

บทสรุปคดี STARK (ตอนที่ 2) ในส่วนของข้อสังเกตของคณะอนุกรรมาธิการ

1. ข้อสังเกตกรณีการดำเนินคดีตามกฎหมายฟอกเงินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1.1 ผู้แทนสำนักงาน ก.ล.ต. และกรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งว่ายังไม่ทราบว่ามีการปั่นหุ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากเกิดเหตุในคดีนี้นานแล้ว แต่หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบยังไม่อาจทราบได้ว่ามีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง เช่น มีการปั่นหุ้นหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดแล้วดำเนินการให้สิ้นกระแสความ

1.2 ในการสอบสวนดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงาน ปปง. เน้นแต่เส้นทางการเงินที่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้กระทำความผิดกับผู้เกี่ยวข้อง หากไม่มีเส้นทางการเงินถึงกันก็จะพิจารณาว่าบุคคลเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดซึ่งไม่น่าจะใช่วิธีการตรวจสอบทรัพย์สินในคดีฟอกเงิน ซึ่งข้อเท็จจริงในการดำเนินคดีไม่ควรเน้นเรื่องไม่มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกันแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่าง ๆ ในคดีนี้ด้วย

1.3 หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐ เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. ควรเสริมสร้างศักยภาพในการประสานงานในการดำเนินคดีอาญา เพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดหรือติดตามเอาทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในต่างประเทศมาดำเนินการในประเทศไทย

1.4 สำนักงาน ปปง. และกรมบังคับคดีควรมีการบูรณาการในการดำเนินการกับทรัพย์สินที่แต่ละหน่วยงานมีการยึดและอายัดไว้ หรือในกระบวนงานดำเนินการกับทรัพย์สินที่แต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกันในหน้าที่และอำนาจ เช่น การอายัดสิทธิเรียกร้องกรณีการฟื้นฟูกิจการของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นต้น

1.5 พฤติกรรมของการกระทำความผิดได้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาเนิ่นนานก่อนที่จะเกิดผลกระทบทำให้ประชาชน ผู้เสียหาย หรือผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเสียหายในวงกว้าง แต่เหตุใดหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงาน ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่อาจทราบหรือล่วงรู้ได้เลยว่าความเสียหายกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประจักษ์ได้ว่าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจรับผิดชอบ ไม่ได้ตระหนักรู้หรือควรล่วงรู้ล่วงหน้าในความเสียหายที่น่าจะเกิดขึ้นและทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน

1.6 หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมีความล่าช้าในการดำเนินคดี ไม่ทันต่อเหตุการณ์ ไม่สามารถติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิด และยึด/อายัดทรัพย์สินได้ทันท่วงที

1.7 สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่มีมาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุ ไม่ได้มีการเฝ้าระวัง หรือติดตามพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด

1.8 การดำเนินการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ส่วนหนึ่งพบร่องรอยที่น่าเชื่อว่าอาจจะมีการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ไม่ได้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาของเงินหรือทรัพย์สินใด ๆ มาสนับสนุนคำกล่าวอ้าง กล่าวคือ การเชื่อและรับฟังในคำกล่าวอ้างของสำนักงาน ปปง. ว่านายขันเงิน เนื้อนวล (อาชีพศิลปินนักร้อง) ได้ใช้เงินส่วนตัว และเงินกู้จากประเทศสิงคโปร์ จำนวนเงิน 650 ล้านบาท มาซื้อหุ้นของบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ที่นายชินวัตร อัศวโภคี (อดีตกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) ถือหุ้นไว้ โดยไม่มีการตรวจสอบที่มาหรือพยานหลักฐานแต่อย่างใด รวมทั้งการเสียภาษีของรายได้ของนายขันเงิน เนื้อนวล และการกู้เงินเป็นจำนวนมากจากประเทศสิงคโปร์ว่าเป็นไปได้อย่างไร สถาบันการเงินหรือองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชนรายใดเป็นผู้ให้กู้เงิน ใช้ทรัพย์สินใด ของผู้ใดเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. แจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบ แต่ไม่ได้แจ้งให้ทราบว่าได้ดำเนินการไปแล้วหรือไม่ประการใด

1.9 สำนักงาน ปปง. แจ้งว่าพบข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานธุรกรรมทางการเงินของผู้เกี่ยวข้องจากสถาบันการเงิน (ธนาคาร) ไม่มากนัก ทั้ง ๆ ที่คดีนี้มีการทำธุรกรรมทางการเงินจำนวนหลายพันล้านบาท จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะไม่มีรายงานการทำธุรกรรมมายังสำนักงาน ปปง. เลย จึงมีข้อสังเกตว่าสำนักงาน ปปง. ควรที่จะนำรายการเดินบัญชีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มาตรวจสอบเส้นทางการเงินอีกทางหนึ่ง และนำมาวิเคราะห์การทำธุรกรรมทางการเงินโดยตรง เพราะไม่สามารถนำรายงานธุรกรรมที่ได้รับมาจากสถาบันการเงินหรือธนาคารวิเคราะห์การทำธุรกรรมได้ ด้วยเหตุที่มีรายงานธุรกรรมที่ได้รับมาเป็นจำนวนไม่มากเพียงพอที่จะทำการวิเคราะห์เส้นทางการเงินได้ ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะดำเนินคดีกับสถาบันการเงินหรือธนาคารที่ไม่รายงานธุรกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงินด้วย

Top 5 Contents