
การแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ใช้เมื่อไร ใช้อย่างไร
28 ตุลาคม 2567
เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้มีธุรกรรมเกิดขึ้นจากการดำเนินงานแล้วมีผลที่จะต้องแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย เพี่อประโยชน์ในการบันทึกรายการบัญชีหรือเสียภาษีอากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจ่ายเงินตราต่างประเทศที่ต้องแปลงค่าเป็นเงินตราไทยแล้วจึงจะหักภาษี ณ ที่จ่าย
การใช้อัตราแลกเปลี่ยน
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในการปฏิบัติการเพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การหักภาษีตามมาตรา 50 มาตรา 3 เตรส มาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี มาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร การออกใบกำกับภาษีและการลงรายการในรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ตามประมวลรัษฎากรการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 9 ได้กำหนดบทบัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา 9 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าจำเป็นต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยเพื่อปฏิบัติตามลักษณะนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งกระทรวงการคลังประกาศเป็นคราว ๆ”
ในกรณีที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยจะต้องพิจารณาว่าต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนในประมวลรัษฎากรมาตราใด สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนตามประมวลรัษฎากรจะมีดังนี้
1. มาตรา 9 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าจำเป็นต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยเพื่อปฏิบัติตามลักษณะนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งกระทรวงการคลังประกาศเป็นคราว ๆ”
2. มาตรา 65 ทวิ (5) “เงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สิน ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(ก) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจาก (ข) ให้เลือกใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรือวิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตราหรือทรัพย์สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และคำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรือวิธีการอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ เมื่อใช้วิธีการใดในการคำนวณค่าหรือราคาดังกล่าวแล้ว ให้ใช้วิธีการนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
(ข) กรณีธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้
เงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น”
3. มาตรา 79/4 “ในกรณีที่มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าการให้บริการ หรือการนำเข้าเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศนั้นเป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีได้รับเงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ และได้มีการขายเงินตราต่างประเทศที่ได้รับชำระนั้นเป็นเงินตราไทยในเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้ถือเงินตราไทยจากการขายนั้นเป็นมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการแล้วแต่กรณี เว้นแต่มิได้มีการขายเงินตราต่างประเทศในเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้ถือตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้ายของเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
(2) ในกรณีนำเข้าสินค้าให้คำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้านำเข้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่กรมศุลกากรใช้คำนวณเพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ควรจะพิจารณาว่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นนั้นสามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 65 ทวิ (5) หรือมาตรา 79/4 ได้หรือไม่
หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ของมาตรา 65 ทวิ (5) หรือมาตรา 79/4 ก็จะนำอัตราแลกเปลี่ยนมาตรา 9 มาใช้ เนื่องจากตามมาตรา 9 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนมาตราใด ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนมาตรา 9 เป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย จะเห็นได้ว่ามาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้กำหนดว่าหากมีความจำเป็นต้องแปลงค่าเงินตราต่างประเทศจะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนอัตราใด ซึ่งจะต้องไปดูที่ประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 โดยยกเลิกประกาศฉบับเดิมและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป สรุปสาระสำคัญไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
แต่เดิมอัตราแลกเปลี่ยนมาตรา 9 จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไป เช่น ธุรกรรมที่ต้องแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยเกิดรายการขึ้น ณ วันที่ 3 กันยายน 2567 จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 2 กันยายน 2567 โดยถอยหลังไปหนึ่งวัน ซึ่งการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 นั้น ได้ยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์ใหม่ดังนี้
ข้อ 2 ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการดังต่อไปนี้ เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย
(1) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน
(2) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน
การใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการหนึ่งวิธีการใดแล้วต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรจึงจะเปลี่ยนแปลงวิธีการได้
เมื่อผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนมาตรา 9 ตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยน กรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน
(2) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน
ในกรณี (1) หากผู้ประกอบการเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนของ “ธนาคารพาณิชย์” ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่ผู้ประกอบการใช้บริการ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งได้มีการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวันตั้งแต่เวลา 08.30 น. ดังนั้นธุรกรรมที่เกิดขึ้นหากเกิดวันอังคารที่ 6 กันยายน 2565 หากจำเป็นต้องแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยและใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ประกาศอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 6 กันยายน 2565 โดยยึดหลักว่าธุรกรรมเกิดขึ้น ณ วันใด ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศ ณ วันเดียวกันนั้น
ในกรณี (2) หากผู้ประกอบการเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ที่ประกาศไว้ในแต่ละวัน ก็ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว ณ วันนั้น เช่น ธุรกรรมเกิดขึ้น ณ วันที่ 6 กันยายน 2565 หากต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศ ณ วันที่ 6 กันยายน 2565 โดยยึดหลักว่า ธุรกรรมเกิดขึ้น ณ วันใดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ณ วันเดียวกันนั้น
การใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศวิธีการใดวิธีการหนึ่งใน (1) หรือ (2) เมื่อได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการหนึ่งวิธีการใดแล้ว ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรจึงจะเปลี่ยนแปลงวิธีการได้
ข้อ 3 ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามข้อ 2 ในการปฏิบัติการตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
(2) การหักภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
(3) การหักภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
(4) การออกใบกำกับภาษี (Tax Invoice) สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ไม่สามารถคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร
(5) การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
(6) กรณีอื่นที่มิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายไว้โดยเฉพาะ
ในกรณีที่ธุรกรรมที่เป็นเงินตราต่างประเทศต้องแปลงค่าเป็นเงินตราไทย จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 9 หรือตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2548 เป็นต้นไปนั้น จะประกอบไปด้วยการทำธุรกรรมตามข้อ 3. แห่งประกาศดังกล่าว
การพิจารณาในการใช้อัตราแลกเปลี่ยนใดตามประมวลรัษฎากร ยังต้องคำนึงถึงอัตราแลกเปลี่ยนทางบัญชี เนื่องจากการบันทึกบัญชีจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามหลักการบัญชีหรือมาตรฐานการบัญชี แต่เมื่อคำนวณเพื่อการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรจะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ มักจะพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนตามหลักการบัญชีอาจจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนคนละอัตรากันกับอัตราแลกเปลี่ยนทางภาษีอากร จึงมีผลทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างหลักการบัญชีกับภาษีอากร อันมีผลให้กิจการจะต้องมีการปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษีอากรในแบบ ภ.ง.ด.50 เมื่อสิ้นรอบบัญชี
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ