
ภาษีกับภัยธรรมชาติ
28 ตุลาคม 2567
จากข่าวภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากมีพายุเข้ามาทำให้เกิดฝนตกหนักหลายวัน ดินสไลด์ น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนและไร่นา สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ รวมถึงทรัพย์สินและสินค้าเสียหาย จึงมีหลายท่านสอบถามว่า กรมสรรพากรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติหรือลดหย่อนภาษีอย่างไรบ้าง ฉบับนี้จึงขอกล่าวถึงมาตรการทางภาษีที่ช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ โดยขอแยกเป็นแต่ละกรณีดังนี้
1. กรณีทรัพย์สินที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติมีประกันและได้รับเงินประกันในรอบบัญชีเดียวกัน
1.1 ตามมาตรฐานการบัญชี บันทึกค่าซ่อมแซมได้ทั้งจำนวน ส่วนต่างจากเคลมประกันภัย บันทึกเป็นผลกำไร(ขาดทุน) ทางบัญชีในรอบบัญชีนั้น
1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล “บันทึกเป็นรายจ่ายทางภาษีในปี ผลเสียหายมากกว่าค่าชดใช้ ผลต่างถือเป็นผลเสียหายที่มีสิทธิหักเป็นรายจ่ายได้ แต่ถ้าค่าชดใช้สูงกว่าค่าเสียหาย ผลต่างถือเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้น เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554”
1.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม “สำหรับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัทประกันภัย ไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 77/1 (8) และมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด”
อ้างอิง : ข้อหารือภาษีอากร เลขที่หนังสือ กค 0702/5858 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2556
2. กรณีทรัพย์สินที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีประกัน แต่ยังไม่ได้รับเงินประกันในรอบบัญชีเดียวกัน
NPAEs กรณีสามารถรับรู้ได้ ให้ตั้งค่าเผื่อหรือประมาณการหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นได้ ค่าใช้จ่ายบันทึกตามรอบบัญชีหรือเปิดเผยในหมายเหตุงบการเงินกรณีวัดค่าที่แน่นอนยังไม่ได้
ตัวอย่าง บริษัทฯ สามารถนำค่าซ่อมแซมอันเนื่องมาจากความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมกรณีแน่ชัด ระหว่างรอผลข้อตกลงเกี่ยวกับจำนวนเงินชดเชยที่แน่นอนที่จะได้รับจากบริษัทประกันภัย มารับรู้เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางบัญชีได้ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
2.1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล “ค่าซ่อมแซมต่าง ๆ ที่บันทึกไว้สำหรับสินทรัพย์มีประกันหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตาม 65 ตรี (12) บริษัทฯ จะต้องรอจนกว่าจะได้รับค่าชดใช้แล้วเสร็จ เพราะถือเป็นผลเสียหายอันอาจได้รับกลับคืนเนื่องจากการประกันภัย ดังนั้นเมื่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายและกำลังรอการชดใช้จากบริษัทประกันภัย หากได้สิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีไป บริษัทฯ จะตัดผลเสียหายดังกล่าวเป็นรายจ่ายทันทีไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าสินไหมที่ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเสียก่อน ผลเสียหายมากกว่าค่าชดใช้ ผลต่างถือเป็นผลเสียหายที่มีสิทธิหักเป็นรายจ่ายได้ ถ้าค่าชดใช้สูงกว่าค่าเสียหาย ผลต่างถือเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้น บริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้โดยใช้วิธีการทางเกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เมื่อบริษัทประกันภัยแจ้งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่บริษัทฯ หากบริษัทฯ ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2554 จากบริษัทประกันภัย ณ วันที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว มากกว่าค่าความเสียหายของทรัพย์สินที่ทำประกันภัยไว้ เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554”
2.2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม “ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัทประกันภัย ไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 77/1 (8) และมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด”
3. ทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ มีประกันภัย หากถูกน้ำท่วมหรือประสบภัยพิบัติต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่
3.1 มาตรฐานการบัญชี บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในรอบบัญชีที่ประสบภัย
3.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล “บันทึกเป็นรายจ่ายทางภาษีในปีที่ได้รับค่าชดใช้ ผลเสียหายมากกว่าค่าชดใช้ ผลต่างถือเป็นผลเสียหายที่มีสิทธิหักเป็นรายจ่ายได้ แต่ถ้าค่าชดใช้สูงกว่าค่าเสียหาย ผลต่างถือเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้น เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554”
3.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม “มาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ความหมายคำว่า “ขาย” ว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ (จ) มีสินค้าขาดรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง แต่การที่ทรัพย์สิน สินค้า วัตถุดิบสูญหายเพราะถูกน้ำท่วมนั้นเป็นการสูญหายเพราะภัยธรรมชาติ ไม่สามารถป้องกันได้ เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย จ่าย โอน ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าและไม่ใช่การขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม”
4. ภาษีซื้อของสินค้าที่สูญหายจากการถูกน้ำท่วมจะนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
4.1 มาตรฐานการบัญชี บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในรอบบัญชีที่ประสบภัย
4.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม “ภาษีซื้ออันเกิดจากสินค้าที่สูญหายเนื่องจากน้ำท่วมนั้น เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ หากไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้”
อ้างอิง : ข้อหารือภาษีอากร เลขที่หนังสือ กค 0706/34060 ลงวันที่ 5 เมษายน 2549
5. สินค้าที่ถูกน้ำท่วมหรือประสบภัยพิบัติที่ได้ทำประกันไว้กับบริษัทประกันภัย เมื่อบริษัทได้รับค่าสินไหมทดแทน รวมถึงสินค้าที่ไม่มีประกัน ขาดทุนหรือกำไรต้องเสียภาษีหรือไม่
5.1 มาตรฐานการบัญชี บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในรอบบัญชีที่ประสบภัย
5.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล “กรณีไม่มีประกัน บริษัทย่อมสามารถนำมูลค่าต้นทุนของสินค้าทั้งจำนวนในรอบบัญชี ไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล สิ่งที่บริษัทควรต้องพิจารณาประกอบจัดให้มีขึ้นคือ หลักฐานแสดงว่าสินค้านั้นเกิดความเสียหายจริง เช่น บันทึกการแจ้งความหรือบันทึกว่าน้ำท่วมขังสูงเท่าไร และเป็นระยะเวลานานเพียงใด มีสิ่งใดเสียหายบ้าง ภาพถ่ายทรัพย์สินที่เสียหาย เป็นต้น ซึ่งหากบริษัทมีสินค้าสูญหายจากการถูกโจรกรรมในช่วงน้ำท่วมหรือถูกน้ำพัดพาไป ก็สามารถใช้หลักเกณฑ์ในการลงรายจ่ายได้เช่นเดียวกับกรณีสินค้าเสียหายข้างต้น
กรณีมีประกัน **สินค้า** ไม่สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 4 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 ใช้ได้เฉพาะสินทรัพย์ สังเกตจากการที่กฎหมายใช้คำว่า “เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอค่าเสื่อมราคาแล้ว”
เมื่อบริษัทได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากการที่สินค้าเสียหาย ผลทางภาษีอากรก็จะแตกต่างกัน กล่าวคือ หากทำประกันไว้เกินกว่ามูลค่าต้นทุนสินค้า เช่น ทำประกันไว้เท่ากับราคาที่คาดว่าจะขายได้ คือ 1.5 ล้านบาท แต่ต้นทุนจริงคือ 1 ล้านบาท ส่วนเกิน 500,000 บาทดังกล่าว ยังถือเป็นเงินได้ที่จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อการเสียภาษีตามมาตรา 65 ตรี (12) ทั้งนี้ ขาดทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นยังคงถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) เพราะถือเป็นผลเสียหายอันอาจได้รับกลับคืนเนื่องจากการประกันภัย
ดังนั้นเมื่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายและกำลังรอการชดใช้จากบริษัทประกันภัย หากได้สิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีไป บริษัทฯ จะตัดผลเสียหายดังกล่าวเป็นรายจ่ายทันทีไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จะต้องรอจนกว่าจะได้รับค่าสินไหมที่ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเสียก่อน”
5.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม “มาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ความหมายคำว่า “ขาย” ว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ (จ) มีสินค้าขาดรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง แต่การที่ทรัพย์สิน สินค้า วัตถุดิบสูญหายเพราะถูกน้ำท่วมนั้นเป็นการสูญหายเพราะภัยธรรมชาติ ไม่สามารถป้องกันได้ เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย จ่าย โอน ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าและไม่ใช่การขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบจึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม”
6. กรณีสินค้าที่ได้รับภัยพิบัติเสียหายทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับในส่วนที่ซ่อมแซมไม่ได้ จะต้องทำลายอย่างไรให้ได้สิทธิทางภาษี
6.1 “คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/2541 แนวทางปฏิบัติกรณีการทำลายของเสีย สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิสินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก โดยสรุปดังนี้
1. ต้องมีการตรวจสอบสภาพสินค้าดังกล่าวว่าเสียหายตามเงื่อนไขที่แต่ละกิจการได้กำหนดไว้หรือไม่ และต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าเสียหายตามเงื่อนไขที่กำหนดดังกล่าว
2. เมื่อได้รับอนุมัติให้ทำลายของเสียหรือสินค้าหรือเศษซากจากผู้มีอำนาจอนุมัติให้ทำลายแล้ว ให้มีบุคคลอย่างน้อยประกอบด้วยฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย หรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) ร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลายเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี พร้อมทั้งให้เชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย
ทั้งนี้ ในกรณีที่สินค้านั้นไม่สามารถเก็บไว้รอทำลายได้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้ แต่หากสามารถรอทำลายเมื่อมีปริมาณมาก ๆ ได้ ก็ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายด้วย”
6.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล “ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ทำลายนั้น”
6.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม “ไม่ถือเป็นการขาย ไม่ต้องเสียภาษีขาย ภาษีซื้อของสินค้าดังกล่าวสามารถใช้เคลมได้ ไม่ต้องห้าม”
อ้างอิง : คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/2541
7. กรณีทรัพย์สินที่ได้รับภัยพิบัติเสียหายทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับในส่วนที่ซ่อมแซมไม่ได้ ทำลายอย่างไรให้ได้สิทธิทางภาษี
7.1 “คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.58/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ โดยสรุป
1. กรณีที่ทรัพย์สินชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะนำมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น ตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ แต่หากได้ทำลายหรือขายไปซึ่งทรัพย์สินนั้น ก็มีสิทธิ์ตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้ ในกรณีที่ขายทรัพย์สินนั้นไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำราคาขายทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย
2. กรณีที่ทรัพย์สินสูญหาย ซึ่งถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประสงค์จะตัดต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้นเป็นรายจ่ายทั้งจำนวน
ก. กรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ ไว้ กรณีดังกล่าวถือเป็นผลเสียหายอันอาจได้รับกลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ ดังนั้นเมื่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายและกำลังรอการชดใช้จากบริษัทประกันภัย แต่ได้สิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีไปก่อน เช่นนี้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะตัดผลเสียหายดังกล่าวเป็นรายจ่ายทันทีไม่ได้
ข. กรณีทรัพย์สินที่สูญหายนั้น ไม่มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ มูลค่าของต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้นจะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินนั้นได้สูญหายจริง”
7.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล “กรณีมีประกัน ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ในรอบบัญชีดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องรอจนกว่าจะได้รับค่าสินไหมที่ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเสียก่อน ถ้าผลเสียหายมากกว่าค่าชดใช้ ผลต่างถือเป็นผลเสียหายที่มีสิทธิ์หักเป็นรายจ่ายได้ แต่ถ้าค่าชดใช้สูงกว่าความเสียหาย ผลต่างถือเป็นรายได้ได้รับการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 527) กรณีไม่มีประกัน ถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิ์ตัดเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวน ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินนั้นได้สูญหายจริง”
7.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม “ไม่ถือเป็นการขาย ไม่ต้องเสียภาษีขาย ภาษีซื้อของสินค้าดังกล่าวสามารถใช้เคลมได้ไม่ต้องห้าม”
อ้างอิง : คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.58/2538
8. รถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อถูกน้ำท่วม บริษัทประกันประเมินให้เคลมสินไหมหมดพร้อมโอนรถให้บริษัทประกัน
8.1 “คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.36/2536 เรื่อง การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบตามมาตรา 78 (2) แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติกรณีมีการทำประกันภัยสินค้าและทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไว้ที่ (3) ในกรณีเลิกสัญญาเนื่องจากสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อถูกทำลายหรือเสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้ และได้มีการทำสัญญาประกันภัยสินค้าที่ให้เช่าซื้อไว้ด้วย ผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องนำค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับตามสัญญาประกันภัยมารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในกรณีผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ต้องคืนซากสินค้าให้แก่ผู้รับประกันภัยด้วย ถือว่าผู้ให้เช่าซื้อได้ขายสินค้าให้แก่ผู้รับประกันภัยตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องนำมูลค่าซากสินค้ามารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
การคำนวณมูลค่าซากของสินค้าตามวรรคสอง ให้คำนวณมูลค่าตามสภาพ ณ วันโอนซากสินค้าให้แก่ผู้รับประกันภัย”
8.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล “ค่าเสื่อมราคาเมื่อรถยนต์ของบริษัทฯ เสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้ ให้บริษัทฯ บันทึกมูลค่ารถยนต์ตามจำนวนที่เหลืออยู่หลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจนถึงวันก่อนวันที่เกิดเหตุ เป็นค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดเหตุนั้น ถือเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ผลกำไร (ขาดทุน) จากการตัดจำหน่ายรถยนต์ที่น้ำท่วม พิจารณาตามเกณฑ์มาตรา 65 ตรี (12) + พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 527)”
8.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม “1. บริษัทฯ ต้องแยกค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย ออกเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับค่าสินไหมทดแทน บริษัทฯ ไม่ต้องนำค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับตามสัญญาประกันภัยมารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากไม่ใช่กิจกรรมการขายสินค้าหรือการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of VAT Scope) สำหรับซาก ให้บริษัทฯ คำนวณมูลค่าซากตามสภาพ ณ วันที่โอนซากให้แก่บริษัทประกันภัย ซึ่งบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทประกันภัย โดยไม่ต้องคืนเงินใด ๆ ให้แก่บริษัทประกันภัย**”
9. จ่ายเงินช่วยเหลือพนักงานที่ประสบภัย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีสวัสดิการพนักงาน
9.1 มาตรฐานการบัญชี บันทึกค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน
9.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล “กรณีบริษัทฯ จ่ายสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่พนักงาน หากบริษัทฯ มีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการให้สวัสดิการดังกล่าวที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป บริษัทฯ มีสิทธินำเงินที่จ่ายไปนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร”
อ้างอิง : ข้อหารือภาษีอากร เลขที่หนังสือ 0702/2065 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2561
10. นิติบุคคลบริจาคค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10%
10.1 มาตรฐานการบัญชี รับรู้ค่าใช้จ่ายในรอบบัญชีที่เกิดเหตุการณ์
10.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล “เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้พิเศษ โดยสามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ เงินบริจาคพิเศษ (1) เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา (2) เงินบริจาคสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐ ทั้งนี้ ผู้ที่บริจาคสนับสนุนการศึกษาเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า จะต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เท่านั้น”
จะเห็นว่า กรมสรรพากรได้มีมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้เสียภาษีน้อยลง เพื่อบรรเทาภาระทางภาษีที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยธรรมชาติ
Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ