กำลังโหลด...

×



Tax ยกเลิกใบกำกับภาษี เรื่องง่าย ๆ ที่ทำได้

magazine image
Tax

ยกเลิกใบกำกับภาษี เรื่องง่าย ๆ ที่ทำได้

ชุมพร เสนไสย

28 ตุลาคม 2567

“ใบกำกับภาษี” เป็นเอกสารสำคัญในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันจะต้องใช้หลักฐานที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค้าหรือให้บริการจะต้องออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เพื่อใช้เป็นหลักฐานที่แสดงว่ามีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เพื่อที่ผู้ขายจะได้นำเอาภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งให้แก่รัฐต่อไป

โดยฝ่ายผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการหากเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกผู้ขายเรียกเก็บก็ย่อมถือเป็น “ภาษีซื้อ” อันจะมีผลให้มีสิทธินำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของตนเอง (ภาษีขาย - ภาษีซื้อ)

เอกสารใบกำกับภาษี

ใบกำกับภาษีจึงมีบทบาทสำคัญในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อเจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจะตรวจสอบเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มักจะเรียกตรวจ “เอกสารใบกำกับภาษี” เสมอ โดยใบกำกับภาษีที่มักจะถูกตรวจสอบได้แก่ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเฉพาะในฝ่ายของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นฝ่ายที่ได้รับใบกำกับภาษีซื้อ ควรจะตรวจสอบใบกำกับภาษีที่ได้รับว่านั้นว่าจะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหักออกจากภาษีขายได้หรือไม่ เพราะเงื่อนไขของการใช้ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ได้รับดังกล่าว ภาษีซื้อนั้นจะต้องไม่ใช่ภาษีซื้อต้องห้ามที่กฎหมายกำหนดห้ามนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อต้องห้าม) โดยมาตรา 82/5 ตามประมวลรัษฎากร ได้กำหนดเรื่องภาษีซื้อต้องห้ามไว้ดังนี้

มาตรา 82/5 ภาษีซื้อในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3

(1) กรณีไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เว้นแต่เป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

(2) กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

(3) ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

(4) ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

(5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีตามส่วน 1

(6) ภาษีซื้อตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”

ทั้งนี้ ได้มีการออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ภาษีซื้อต้องห้ามที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 82/5 (1) (2) (4) (6) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ โดยกฎหมายเกี่ยวกับภาษีซื้อต้องห้ามดังกล่าว หากจะแยกออกมาพิจารณาจะแยกได้เป็น 2 ส่วน คือ 

ส่วนแรก : เป็นการกำหนดเกี่ยวกับเงื่อนไขของใบกำกับภาษี

ส่วนที่สอง : เป็นการกำหนดภาษีซื้อต้องห้ามที่ไม่เกี่ยวกับใบกำกับภาษี

สำหรับภาษีซื้อต้องห้ามที่เกี่ยวกับเงื่อนไขของใบกำกับภาษี มีข้อพิจารณาตามกฎหมายซึ่งกำหนดว่า ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังต่อไปนี้ เป็นภาษีซื้อต้องห้ามมิให้นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้

1. กรณีไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เว้นแต่เป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (มาตรา 82/5 (1))

อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร กำหนดไว้ว่า “กรณีมีใบกำกับภาษี แต่ไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อตามมาตรา 82/5 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้ประกอบการมีสิทธินำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ใบกำกับภาษีถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย เช่น อัคคีภัย อุทกภัย หรือวาตภัย ซึ่งต้องมีหลักฐานทางราชการหรือหลักฐานอื่นที่เชื่อถือได้ว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจริง และ

(ข) ผู้ประกอบการไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการได้ตามมาตรา 86/12 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่สามารถออกใบแทนใบกำกับภาษีได้เพราะเหตุสุดวิสัย (ข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534)

2. กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อต้องห้ามกรณีนี้ ไว้ว่า “กรณีมีใบกำกับภาษีและสามารถแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อไปจริงตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ใบกำกับภาษีดังกล่าวต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร” (ข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534)

ภาษีซื้อต้องห้ามในกรณีนี้ เป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับใบกำกับภาษีที่จะนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีได้ กรณีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ถ้ารายการของใบกำกับภาษีดังกล่าวไม่ครบถ้วน ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวจะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามมิให้นำมาหักภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยรายการของใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร มีดังต่อไปนี้

(1) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

(3) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี

(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

(7) วัน เดือน ปีที่ออกใบกำกับภาษี

(8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39)ฯ) มีการกำหนดรายการของใบกำกับภาษีเพิ่มเติมบางกรณี เช่น รายการคำว่า “สำนักงานใหญ่” สาขาที่...” ตามใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ออกใบกำกับภาษี/กรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และคำว่า “สำนักงานใหญ่” หรือสาขาที่...” ตามใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้น

3. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 และมาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ

4. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 (1) แห่งประมวลรัษฎากร (รายการคำว่า “ใบกำกับภาษี”) มิได้ตีพิมพ์ขึ้นหรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ (มาตรา 82/5 (6) ประกอบกับข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ)

5. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากร (รายการตามที่กำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39)ฯ) มิได้จัดทำขึ้นตามวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 82/5 (6) ประกอบกับข้อ 6 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ)

6. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (Copy) แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่นซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ปรากฏอยู่ด้วย (มาตรา 82/5 (6) ประกอบกับข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ)

7. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (มาตรา 82/5 (6) ประกอบกับข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ) (มาตรา 82/5 (6) ประกอบกับข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ)

8. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ (มาตรา 82/5 (6) ประกอบกับข้อ 12 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ)

………..”

จากกฎหมายเกี่ยวกับภาษีซื้อต้องห้ามที่ไม่ให้นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขเกี่ยวกับใบกำกับภาษีเป็นเงื่อนไขสำคัญในการนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นจึงควรพิจารณาเงื่อนไขของใบกำกับภาษีที่ได้รับ ก่อนที่จะนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้

1. ใบกำกับภาษีที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร 

2. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และรายการของใบกำกับภาษีต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ มูลค่าสินค้าหรือบริการต้องเป็นหน่วยเงินตราเป็นเงินบาท (ถ้ารายการสินค้าหรือบริการที่ปรากฏในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมีราคาสินค้าหรือค่าบริการเป็นหน่วนยเงินตราต่างประเทศ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นภาษีซื้อต้องห้าม)

3. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปต้องจัดทำตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดดังนี้

(1) รายการคำว่า “ใบกำกับภาษี” และรายการ “ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี” ต้องเป็นรายการที่ตีพิมพ์มาจากโรงพิมพ์ ส่วนรายการอื่นจะทำโดยจะจัดทำโดยคอมพิวเตอร์ เขียนด้วยหมึก ประทับด้วยตรายาง พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีการใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ หรือ

(2) รายการคำว่า “ใบกำกับภาษี” ตีพิมพ์มาจากโรงพิมพ์ ส่วนรายการอื่นจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (เว้นแต่รายการสถานประกอบการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี รายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการสถานประกอบการของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายการสถานประกอบการ (คำว่า “สำนักงานใหญ่” และ “สาขาที่... “ ตามใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะจัดทำโดยคอมพิวเตอร์ เขียนด้วยหมึก ประทับด้วยตรายาง พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีการใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้) หรือ

(3) รายการ “ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี” ตีพิมพ์มาจากโรงพิมพ์ ส่วนรายการอื่นจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (เว้นแต่รายการสถานประกอบการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี รายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการสถานประกอบการของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายการสถานประกอบการ (คำว่า “สำนักงานใหญ่” และ “สาขาที่...” ตามใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะจัดทำโดยคอมพิวเตอร์ เขียนด้วยหมึก ประทับด้วยตรายาง พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีการใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้) หรือ

(4) รายการทุกรายการของใบกำกับภาษีจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (เว้นแต่รายการสถานประกอบการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี รายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการสถานประกอบการของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายการสถานประกอบการ (คำว่า “สำนักงานใหญ่” และ “สาขาที่...”  ตามใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะจัดทำโดยคอมพิวเตอร์ เขียนด้วยหมึก ประทับด้วยตรายาง พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีการใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้)

อย่างไรก็ดี สำหรับใบกำกับภาษีที่เป็นสำเนา ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่เป็นสำเนานั้นไม่มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อต้องห้าม เว้นแต่จะมีรายการคำว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีที่เป็นสำเนานั้นรวมอยู่กับเอกสารอื่นในลักษณะเอกสารออกเป็นชุด และคำว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ต้องเป็นรายการที่ตีพิมพ์มาจากโรงพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ในกรณีเป็นใบกำกับภาษีจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

ทั้งนี้ สำหรับใบกำกับภาษีที่จัดทำขึ้นในรูปแบบของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีได้มีชื่อที่ประกาศบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้ว รายการทุกรายการของใบกำกับภาษีต้องจัดทำด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

4. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปไม่ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการของใบกำกับภาษี

การยกเลิกใบกำกับภาษี

จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขของใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับมาแล้วจะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม มีข้อกำหนดตามกฎหมายไว้ค่อนข้างเคร่งครัด แต่ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีที่ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเป็นภาษีซื้อต้องห้าม เนื่องจากเงื่อนไขของใบกำกับภาษี วิธีการที่จะทำให้ภาษีซื้อดังกล่าวเป็นภาษีซื้อที่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้มีวิธีการเดียว คือ ต้องยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและออกฉบับใหม่แทนตามแนวทาง หลักเกณฑ์ และตามที่กฎหมายกำหนด โดยการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมแล้วออกฉบับใหม่แทนแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ 

1. กรณีการจัดทำใบกำกับภาษีที่เป็นกระดาษ (ต้องส่งมอบใบกำกับภาษีที่เป็นกระดาษให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ) 

2. กรณีใบกำกับภาษีที่เป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) 

ซึ่งการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมแล้วออกฉบับใหม่แทน สำหรับใบกำกับภาษีดังกล่าวจะมีวิธีการที่แตกต่างกันดังนี้

การยกเลิกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่เป็นกระดาษแล้วออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทน

การยกเลิกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่เป็นกระดาษแล้วออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการไว้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542 รื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ข้อ 25 ดังนี้ 

“ข้อ 25 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 เมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า “ยกเลิก” หรือขีดฆ่า แล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม

(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ

(3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ ... เล่มที่ ...” และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้ด้วย”

การออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมดังกล่าว ในฝ่ายผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีดังกล่าว ก็จะทำให้ใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ออกไปแล้ว แต่มีรายการไม่ถูกต้องครบถ้วน เมื่อออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนก็จะทำให้รายการขายสินค้าหรือให้บริการนั้นมีการออกใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง จึงไม่มีความรับผิดใด ๆ เพราะตามกฎหมายถ้ามีการออกใบกำกับภาษีที่มีรายการที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนจะมีความรับผิดทางอาญาระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 90 (12) แห่งประมวลรัษฎากร 

ส่วนฝ่ายผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการเมื่อได้รับใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิม ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการตามใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามมิให้นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อนำมาประกอบกับใบกำกับภาษีฉบับใหม่แล้ว ภาษีซื้อดังกล่าวก็สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (โดยในการเก็บรักษาใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวต้องเก็บสำเนาของใบกำกับภาษีฉบับเดิมตามที่ถ่ายเอกสารไว้ก่อนส่งมอบต้นฉบับคืนผู้ออกใบกำกับภาษี เก็บคู่กับใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ได้รับจากผู้ออกใบกำกับภาษี)

ปัญหา

มีปัญหาในการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมแล้วออกฉบับใหม่แทนสำหรับใบกำกับภาษีที่ต้องส่งมอบเป็นกระดาษให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามวิธีการที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ การจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยรายการของวัน เดือน ปีของใบกำกับภาษีฉบับใหม่ต้องตรงกับวันเดือนปีของใบกำกับภาษีฉบับเดิม

เรื่องนี้ผู้ประกอบการฯ จำนวนมากที่จัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์มักมีปัญหาว่าไม่สามารถจัดทำได้ เนื่องจากระยะเวลาในการออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมอาจจะห่างจากวันที่ออกใบกำกับภาษีฉบับเดิมเป็นเวลาหลายวัน หลายเดือน หรือหลายปี ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถที่จัดทำใบกำกับภาษีให้ลงวันที่ย้อนหลังได้ (เป็นข้อจำกัดของโปรแกรมคอมพิวเตอร์) 

ปัญหาดังกล่าวกรมสรรพากรก็ได้เล็งเห็นว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกแล้ว โดยในแนวทางปฏิบัติในการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมแล้วออกฉบับใหม่นั้นได้วางแนวทางไว้ว่า หากไม่สามารถจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ในระบบได้ ก็ให้แยกมาจัดทำต่างหาก ซึ่งไม่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการออกใบกำกับภาษีที่ไปเชื่อมต่อกับการบันทึกรายการทางบัญชีที่ออกเป็นปกติ โดยการแยกมาจัดทำต่างหากอาจจะทำเป็นเล่มหรือทำด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถพิมพ์รายการเองได้ ตามข้อ 26 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542

“ข้อ 26 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 25 จัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระบบซอฟต์แวร์ในระบบงานจัดทำใบกำกับภาษีบันทึกเข้าระบบบัญชีแยกประเภทโดยอัตโนมัติ ถ้าระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่สามารถระบุวัน เดือน ปี ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยดำเนินการตามข้อ 8 วรรคสามและวรรคสี่ ดังนี้

(1) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยรายการดังต่อไปนี้ได้จัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ ซึ่งทำให้รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

(ก) คำว่า “ใบกำกับภาษี”

(ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี

(ค) คำว่า “เอกสารออกเป็นชุด”

(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยรายการตาม (1) (ก) (ข) และ (ค) ทั้ง 3 รายการ หรือเพียงรายการหนึ่งรายการใดได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องตีพิมพ์หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น”

Top 5 Contents