
เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงิน (ตอนที่ 1)
28 พฤศจิกายน 2567
สวัสดีครับเพื่อนนักบัญชีทุกท่าน อีกไม่นานเวลาก็จะเดินทางมาถึงสิ้นสุดแห่งปี 2567 ดังนั้นสิ่งที่ผ่านมาในปี 2567 ไม่ว่าจะพานพบสุขหรือทุกข์บ้างก็ตาม Mr. Knowing ขออวยพรให้ทุกท่านผ่านปีนี้ไปอย่างดีและเปี่ยมด้วยพลังครับ
สำหรับบทความในเดือนสุดท้ายของปีเราจะมาคุยกันในเรื่อง “เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงิน” ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในบทบาทหน้าที่ของนักบัญชีที่ควรนำเครื่องมือมาใช้ในการวิเคราะห์ แปลความหมาย สรุปผล และนำเสนอข้อมูลจากการวิเคราะห์แก่ผู้บริหาร เพื่อประโยชน์ในการสนับสนุนการตัดสินใจต่อการบริหารธุรกิจ
วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์งบการเงิน
เป็นการศึกษาข้อมูลทางการเงินที่สำคัญเพื่อให้เข้าใจสภาพทางการเงินและผลการดำเนินงานของธุรกิจ รวมถึงช่วยเป็นข้อมูลประกอบที่สำคัญในการตัดสินใจและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
1. ประเมินสภาพทางการเงิน การบริหารหนี้สิน และประสิทธิภาพการดำเนินงาน
การวิเคราะห์งบการเงินช่วยให้ทราบสถานะทางการเงินโดยรวมของธุรกิจ โดยตัวเลขที่ปรากฏในงบการเงินสามารถนำมาวิเคราะห์วัดผลความสำเร็จ เช่น สภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ ความสามารถในการทำกำไร รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น
2. วางแผนทางการเงินและการตัดสินใจในการลงทุน
การวิเคราะห์งบการเงินช่วยให้ผู้บริหารสามารถวางแผนงบประมาณและการลงทุนในอนาคต โดยประเมินผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนในโครงการต่าง ๆ รวมถึงการจัดการกระแสเงินสดเพื่อรองรับการดำเนินงานในระยะยาว
3. การเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันและมาตรฐานอุตสาหกรรม
การวิเคราะห์งบการเงินช่วยให้ธุรกิจสามารถเปรียบเทียบผลประกอบการและประสิทธิภาพการดำเนินงานกับคู่แข่งหรือมาตรฐานในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทำให้ทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และแนวทางการพัฒนาที่ควรได้รับการปรับปรุง
4. วางกลยุทธ์และปรับปรุงการดำเนินงาน
การวิเคราะห์งบการเงินช่วยให้ผู้บริหารสามารถกำหนดกลยุทธ์ การพัฒนาองค์กร และปรับปรุงกระบวนการทำงาน (ระบบการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง การป้องปรามการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นในองค์กร) เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพและความยั่งยืน
ขั้นตอนของการวิเคราะห์งบการเงิน
สำหรับขั้นตอนของการวิเคราะห์งบการเงิน นักบัญชีควรพิจารณาดังนี้
1. ควรกำหนดวัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมายของการวิเคราะห์ที่ชัดเจน
2. การรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ เช่น งบการเงิน หมายเหตุประกอบงบการเงิน แผนธุรกิจ ข้อมูลคู่แข่งที่จะนำมาเปรียบเทียบ
3. การปรับข้อมูลในงบการเงินเพื่อง่ายต่อการนำไปสู่การวิเคราะห์
4. การเลือกเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับข้อที่ 1
5. การแปลความหมายผลที่ได้จากวิเคราะห์
6. จัดทำรายงานสรุปผลสำหรับผู้บริหาร ซึ่งควรประกอบกับข้อสังเกต ข้อแนะนำ แนวทางในการปรับปรุง เพื่อเสริมมุมมองของนักบัญชีอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงิน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงินจะประกอบด้วย
1. การวิเคราะห์อัตราร้อยละ (Percentage Analysis)
2. การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis)
โดยการวิเคราะห์อัตราร้อยละ (Percentage Analysis) จะประกอบด้วย 2 ลักษณะ คือ 1. การวิเคราะห์ตามแนวตั้ง (Vertical Analysis) และ 2. การวิเคราะห์ตามแนวนอน (Horizontal Analysis)
การวิเคราะห์ตามแนวตั้ง (Vertical Analysis)
เป็นการวิเคราะห์งบการเงินในรูปของโครงสร้างทางการเงิน เป็นการเปรียบเทียบตัวเลขของแต่ละรายการกับยอดรวมเพื่อดูถึงสัดส่วนของรายการต่าง ๆ ในงบฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุน วิธีการวิเคราะห์ทำได้โดยกำหนดให้ยอดรวมของงบการเงินมีค่าเท่ากับ 100 แล้วนำรายการต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกับยอดรวม ทำให้ทราบว่าแต่ละรายการมีสัดส่วนเท่าใดเมื่อเทียบกับยอดรวม ช่วยให้ทราบระดับสาระสำคัญของแต่ละรายการ/สัดส่วนตามโครงสร้างว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ควรปรับแก้ไขอย่างไร



Top 5 Contents

- Transformative Accounting เปลี่ยนโฉมการทำงานบัญชีด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ “งานบัญชี” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “Powered by DBD เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
- "การสื่อสาร" ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรม Feedback และ Coaching
- ธรรมาภรณ์แปดบทชีวิต
- ลูกกระรอกกับต้นมะละกอ