กำลังโหลด...

×



Accounting ให้โดยเสน่หา ทำไมถึงเกี่ยวกับเรื่องของภาษี

magazine image
Accounting

ให้โดยเสน่หา ทำไมถึงเกี่ยวกับเรื่องของภาษี

TaxBugnoms

28 พฤศจิกายน 2567

“ให้โดยเสน่หา แบบนี้ไม่ต้องเสียภาษีหรอก” เคยได้ยินคำแบบนี้ไหมครับ ?

ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในเรื่องภาษีที่ผมได้ยินอยู่บ่อย ๆ ในทุกช่วงเวลา ซึ่งคำว่า “ให้โดยเสน่หา” ที่ว่านี้ อาจจะกลายมาเป็นประเด็นเรื่องของภาษีที่เกี่ยวข้องกับอีกหลายคนโดยไม่รู้ตัวครับ

ถ้ามองดูบริบทของสังคมไทย เราจะเห็นว่าการให้ทรัพย์สินแก่กันโดยเสน่หานั้นเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน และสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในครอบครัวและสังคม ไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็ตาม แต่ส่วนที่เห็นได้ชัดเจนมาก ๆ มักจะเป็นการผ่านบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เช่น บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือระหว่างคู่สมรสด้วยกัน 

อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบันที่ระบบกฎหมายและภาษีมีความซับซ้อนมากขึ้น การให้โดยเสน่หาจึงไม่ใช่เพียงการแสดงน้ำใจหรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เท่านั้น แต่ยังมีมิติทางกฎหมายและภาษีที่ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบไปพร้อม ๆ กัน

บทความนี้เลยจะมาชวนพูดคุยถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการให้โดยเสน่หาในระบบกฎหมายไทย โดยพิจารณาทั้งในแง่หลักกฎหมายและประเด็นทางภาษี พร้อมกับความคิดเห็นที่น่าสนใจให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีทุกท่านได้อ่านกันครับ

แนวคิดและกฎหมายเกี่ยวกับการให้โดยเสน่หา

ต้องบอกว่าการให้โดยเสน่หาในระบบกฎหมายไทยมีรากฐานมาจากประเพณีดั้งเดิมของสังคมไทยที่มีการให้ทรัพย์สินแก่กันด้วยความเมตตาและเอื้อเฟื้อ เมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2468 แนวคิดนี้ได้ถูกบัญญัติเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจนเกี่ยวกับการให้โดยเสน่หา ซึ่งในยุคแรกของการบังคับใช้กฎหมายการตีความเกี่ยวกับการให้โดยเสน่หามักเน้นไปที่เจตนาของผู้ให้เป็นสำคัญ แต่เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้นโดยเฉพาะในด้านการจัดเก็บภาษี การพิจารณาเรื่องการให้โดยเสน่หาจึงต้องคำนึงถึงมิติทางภาษีควบคู่ไปด้วย ทำให้เกิดการพัฒนาหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่ละเอียดมากขึ้น

มาตรา 521 อันว่าให้นั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น

จากกฎหมายกำหนดให้การให้โดยเสน่หาต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเพียงแค่การสัญญาว่า “จะให้” ยังไม่ถือเป็นการให้ที่สมบูรณ์ และต้องเป็นการให้โดยเสน่หา ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า ผู้ให้ต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

อย่างไรก็ดี การพิสูจน์เจตนาของการให้โดยเสน่หามักเป็นประเด็นที่ซับซ้อนทางกฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างผู้ให้กับผู้รับหรือทายาทของผู้ให้ ซึ่งทางศาลฎีกาได้วางหลักไว้ในหลายคำพิพากษาว่า การพิจารณาว่าการให้ใดเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่ ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อมทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่ถ้อยคำในเอกสารเท่านั้น

ส่วนอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ รูปแบบของการให้ เพราะถ้าเป็นการให้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิ์ต่าง ๆ จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะอีกด้วยครับ

การให้โดยเสน่หาและประเด็นทางภาษี

ปัจจุบันการให้โดยเสน่หามีความเกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยประมวลรัษฏากรได้ระบุเงื่อนไขภาษีที่เกี่ยวกับการให้โดยเสน่หาไว้ ซึ่งมีการกำหนดวงเงินยกเว้นภาษีสำหรับการให้ระหว่างบุพการีกับผู้สืบสันดาน และระหว่างคู่สมรส รวมถึงการให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอื่น ในมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฏากร ดังนี้

(26) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้จากการโอนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อบุตรหนึ่งคนตลอดปีภาษีนั้น

(27) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

(28) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

(29) เงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

จะเห็นว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทรัพย์สินที่มอบให้ (กรณีโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์อื่น ๆ ) และความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับและผู้ให้ (บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส หรือไม่ใช่กลุ่มดังกล่าว) ซึ่งกรณีดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับภาษีการรับมรดกและภาษีจากการรับให้

โดยในกรณีที่เข้าเงื่อนไขภาษีจากการรับให้ (ส่วนที่ให้กรณีเสน่หาแต่มีมูลค่าเกินในแต่ละปี) ทางเลือกของผู้เสียภาษีเงินได้นั้น สามารถเลือกได้ระหว่าง “การนำมารวมคำนวณภาษี” หรือเลือก “เสียภาษีตามมาตรา 48 (6) และ (7) แห่งประมวลรัษฏากร” ดังนี้ครับ 

(6) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (27)

(7) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (28)

ประเด็นที่น่าสนใจของการให้โดยเสน่หาและความท้าทายของกฎหมาย

จากหลักการข้างต้นมี 2 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ

ประเด็นแรก คือ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทรัพย์สินที่ส่งมอบให้ตรวจสอบและติดตามได้ยากขึ้น โดยเฉพาะทรัพย์สินดิจิทัลและคริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

ประเด็นที่สอง คือ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวในสังคมไทยที่อาจส่งผลต่อรูปแบบและวัตถุประสงค์ของการให้โดยเสน่หา รวมถึงการพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่ว่าจะรูปแบบของคู่สมรส บุตร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมยังเน้นย้ำเสมอในประเด็นของการให้โดยเสน่หาและภาษีที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ หากสิ่งที่ทำไม่ถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเจตนาหรือทรัพย์สิน หากถูกตรวจสอบพบได้ในภายหลังอาจจะมีปัญหากับทางสรรพากรได้เช่นกันครับ 

ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นในการพิจารณา คือ … 

1) การเตรียมการก่อนให้ ไม่ว่าจะมีการศึกษากฎหมายและภาษีที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ประเมินผลกระทบทางภาษีทั้งในระยะสั้นและระยะยาวามีผลกระทบอย่างไร 

2) หากมีการให้โดยเสน่หาเกิดขึ้นจริง ควรจัดทำเอกสารหลักฐานอย่างครบถ้วนและถูกต้อง และเก็บรักษาหลักฐานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ

3) หากต้องเสียภาษีจริง การจัดการภาษีควรคำนวณภาระภาษีอย่างถูกต้องและครบถ้วน ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามกำหนดเวลา และเลือกแนวทางในการเสียภาษีอย่างถูกต้องและได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อรวมคำนวณภาษีหรือแยกคำนวณตามช่องทางที่กฎหมายกำหนด

หวังว่าบทความในฉบับนี้จะมีประโยชน์กับทุกคนนะครับ

Top 5 Contents