กำลังโหลด...

×



Tax ธุรกิจขายตรง - ธุรกิจตลาดแบบตรง ความแตกต่างในแง่กฎ...

magazine image
Tax

ธุรกิจขายตรง - ธุรกิจตลาดแบบตรง ความแตกต่างในแง่กฎหมาย

จากกระแสข่าว “ดิ ไอคอน” ซึ่งสร้างความเสียหายกับประชาชนในวงกว้าง เกิดเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความสนใจของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่าง ๆ ในส่วนของการประกอบธุรกิจที่เรียกว่า “การขายตรง” และ “การตลาดแบบตรง” อย่างกว้างขวางว่าคือการประกอบธุรกิจแบบใด แตกต่างจากแชร์ลูกโซ่หรือไม่ หน่วยงานที่กำกับดูแลและเกี่ยวข้องคือหน่วยงานใด 

บทความฉบับนี้จะสรุปข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการที่อาจประกอบธุรกิจที่ตรงตามนิยามของการขายตรงหรือตลาดแบบตรง จะได้ทราบว่าต้องดำเนินการอย่างไร และเพื่อให้ผู้บริโภครับทราบและระมัดระวังกรณีจะมีการติดต่อประสานงานทำธุรกิจกับผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง

1. กฎหมาย - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง

กฎหมาย : การประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งมีการปรับปรุงเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2550 และฉบับที่ 3 ในปี พ.ศ. 2560

พระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศใช้ขึ้นด้วยเหตุผลที่ภาครัฐมองว่าการประกอบธุรกิจประเภทการขายตรงและการตลาดแบบตรงนั้นมีการทำตลาดในลักษณะที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยการอธิบายหรือสาธิตสินค้าของผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทน หรือผ่านการให้ข้อมูลสื่อสารซึ่งอยู่ห่างในแง่ระยะทาง ซึ่งในการขายสินค้าดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่อาจตัดสินใจตกลงซื้อสินค้าหรือบริการได้อย่างอิสระและรอบคอบ เป็นผลทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่สงบสุข จึงได้กำหนดพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยการกำหนดชัดเจนถึงประเภทธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ รวมถึงกลไกการเยียวยา ร้องเรียน กรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจประเภทดังกล่าว

หน่วยงานกำกับดูแล : ภายใต้กำหนดของพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง (คณะกรรมการฯ) ขึ้นมา โดยคณะกรรมการฯ มีหน้าที่หลักดังนี้ 

(ก) พิจารณาเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ

(ข) กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง รวมทั้งติดตามสอดส่องพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ซึ่งหากมีปัญหาก่อให้เกิดความเสียหาย คณะกรรมการฯ มีอำนาจแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายนั้นได้โดยเฉพาะเจาะจง

(ค) วางระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการฯ และมีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงและการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ โดยเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนภายใต้พระราชบัญญัติ

2. ธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงคืออะไร ต่างกันอย่างไร

ธุรกิจขายตรง : หมายถึง การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ สถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานประกอบการค้าเป็นปกติ โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้น ดังนั้นการประกอบธุรกิจขายตรงต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลักคือ (ก) เป็นการขายนอกสถานที่ร้านค้า (ข) มีตัวแทนขายตรง ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงให้นำสินค้าหรือบริการไปเสนอขาย หรือผู้จำหน่ายอิสระ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือนำเสนอสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ ข้อสังเกตความแตกต่างระหว่างตัวแทนขายตรงและผู้จำหน่ายอิสระก็คือกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือบริการ กรณีผู้จำหน่ายอิสระจะเป็นการดำเนินธุรกิจในลักษณะที่บุคคลดังกล่าวซื้อสินค้าหรือบริการขาดจากผู้ประกอบการมาแล้ว จากนั้นนำไปเสนอขายต่อให้แก่ผู้บริโภค ตัวอย่างของธุรกิจขายตรง ได้แก่ แอมเวย์หรือมิสทีน ซึ่งมีการจำหน่ายสินค้าถึงบ้านโดยผ่านการตัวแทนหรือผู้จำหน่ายอิสระแล้วแต่กรณี 

ธุรกิจการตลาดแบบตรง : หมายถึง การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น ดังนั้นการประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรงจึงเป็นการขายสินค้าโดยตรงจากผู้ประกอบการให้แก่ผู้บริโภคโดยไม่ผ่านตัวแทนหรือผู้จำหน่ายอิสระ แต่รูปแบบในการสื่อสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั้นดำเนินการโดยผ่านสื่อกลางไม่ว่าในรูปแบบใดไปยังผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้าคือห่างโดยระยะทาง ดังนั้นการขายสินค้าผ่านช่องทางการสื่อสารใด ๆ เช่น ไปรษณีย์ โทรทัศน์ ใบปลิวแผ่นพับ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การ Live สด หรือการจำหน่ายผ่าน Marketplace ทั้งหมดอยู่ภายใต้นิยามของการตลาดแบบตรงทั้งสิ้น

แต่อย่างไรก็ตาม นิยามของธุรกิจการตลาดแบบตรงจะไม่ใช่บังคับกับการตลาดแบบตรงโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดกฎกระทรวง กล่าวคือ 

(ก) เป็นการขายสินค้าหรือบริการของบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี 

(ข) เป็นการขายสินค้าหรือบริการของ SMEs ที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

(ค) เป็นการขายสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และ 

(ง) เป็นการขายสินค้าหรือบริการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

ดังนั้นหากเป็นการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการที่อาจมีลักษณะตรงตามนิยามการเป็นธุรกิจตลาดแบบตรง แต่เป็นการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และผู้ประกอบการมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ผู้ประกอบการนั้นได้รับยกเว้นจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติในทันที

ความแตกต่างระหว่างธุรกิจขายตรงและธุรกิจการตลาดแบบตรง : กรณีการประกอบธุรกิจขายตรง การทำธุรกรรมซื้อขายจะต้องมีบุคคลเกี่ยวข้อง 3 คน คือ 1. ผู้ประกอบการ 2. ตัวแทนหรือผู้จำหน่ายอิสระ และ 3. ผู้บริโภค โดยการนำเสนอสินค้าหรือบริการจะไม่ได้ดำเนินการโดยผู้ประกอบการโดยตรง แต่ดำเนินการผ่านตัวแทนหรือผู้จำหน่ายอิสระ ตรงกันข้ามกรณีธุรกิจตลาดแบบตรง การทำธุรกรรมซื้อขายจะมีบุคคลเกี่ยวข้อง 2 คน คือ 1. ผู้ประกอบการ และ 2. ผู้บริโภค โดยการสื่อสารทั้งหมดจะดำเนินการโดยผู้ประกอบการตรงไปยังผู้บริโภค ไม่ผ่านตัวกลางอื่นใด เพียงแต่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคอยู่ห่างไกลโดยระยะทาง 

จะเห็นได้ว่าการประกอบธุรกิจทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ผู้ประกอบการรายหนึ่งอาจดำเนินธุรกิจในทั้ง 2 รูปแบบ คือ ทั้งขายตรงและตลาดแบบตรง ดังเช่นกรณีของ ดิ ไอคอน กรุ๊ป เป็นต้น

3. การประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงกับการดำเนินธุรกิจแชร์ลูกโซ่ แตกต่างกันอย่างไร

มาตรา 19 ของพระราชบัญญัติกำหนดชัดเจนว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 นี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้นพระราชบัญญัติกำหนดชัดเจนว่าการประกอบธุรกิจการขายตรงและตลาดแบบตรงที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นต้องไม่อ้างอิงการให้ผลตอบแทนจากจำนวนสมาชิก แต่ยังต้องเป็นการทำธุรกิจที่อ้างอิงผลการประกอบการหลักจากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการอยู่เช่นเดิม

กรณีหากผู้ประกอบการตั้งธุรกิจขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ในการสร้างเครือข่ายที่ให้ผลตอบแทนโดยตรงจากการหาสมาชิกในเครือข่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นรูปแบบปกติของการทำธุรกิจในแง่ของแชร์ลูกโซ่ แทนผลตอบแทนที่ประเมินให้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ กรณีดังกล่าวเป็นรูปแบบธุรกิจต้องห้ามภายใต้พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง มีระวางโทษภายใต้พระราชบัญญัติ

นอกจากนี้ กรณีการดำเนินธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่เป็นไปในลักษณะของการทำให้เชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ไม่มีอยู่จริงโดยเจตนาแต่แรก การกระทำดังกล่าวอาจอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายอาญามาตรา 341 และมาตรา 343 คือ ฐานความรับผิดฉ้อโกงบุคคลหรือฉ้อโกงประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งผู้ประกอบการต้องระวางโทษสุงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยนับแยกแต่ละกรรมและผู้เสียหายที่โดนฉ้อโกงเป็นรายครั้งและรายบุคคล รวมถึงกรณีเป็นการชักชวนให้ประชาชนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป นำเงินมาลงทุนด้วยการเข้ารับเป็นสมาชิกโดยเสนอให้ผลตอบแทนที่สูง โดยรู้อยู่แล้วว่าตนนั้นจะนำเงินจากผู้ร่วมลงทุนรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนหรือโดยรู้อยู่ว่าตนไม่สามารถประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ผลตอบแทนเพียงพอตามที่ประกาศไว้ได้ ผู้ประกอบการที่ดำเนินการดังกล่าวจะมีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

กล่าวโดยสรุป หากผู้ประกอบธุรกิจมีเจตนาดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการโดยตรงให้แก่ผู้บริโภคอยู่ โดยดำเนินการผ่านตัวแทนหรือผู้จำหน่ายอิสระ หรือมีเจตนามุ่งเป้าการขายสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงอยู่ ไม่ใช่การจงใจชักชวนอันมีลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจประเภทดังกล่าวได้โดยตรงภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติ

4. หน้าที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงต้องดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติ

กรณีผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะเข้านิยามการขายตรง ผู้ประกอบการต้องดำเนินการโดยหลักดังนี้ 

(1) ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงกับนายทะเบียน 

(2) ต้องดำเนินกิจการให้เป็นไปตามแผนการจ่ายผลตอบแทนที่ยื่นไว้กับนายทะเบียน โดยต้องกำหนดจ่ายผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักของผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงจากการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภค ไม่ใช่การรับสมัครบุคคลเข้าเครือข่ายหรือการซื้อเพื่อการใช้หรือบริโภคเอง

(3) ต้องไม่ชักจูงหรือบังคับให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้าในปริมาณมากเกินไปอย่างไม่สมเหตุสมผล

(4) ห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ค่าฝึกอบรม ค่าอุปกรณ์ หรือส่งเสริมการขาย หรือค่าธรรมเนียมอื่นในอัตราสูงกว่าที่คณะกรรมการฯ กำหนด 

(5) ต้องทำหนังสือสัญญาระหว่างผู้จำหน่ายอิสระและผู้ประกอบธุรกิจให้ชัดเจนเป็นหนังสือ มีเนื้อหาตามที่พระราชบัญญัติกำหนด

(6) ต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน 

กรณีผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะเข้านิยามตลาดแบบตรง ผู้ประกอบการต้องดำเนินการโดยหลักดังนี้ 

(1) ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับนายทะเบียน 

(2) ข้อความในการสื่อสารข้อมูลเพื่อการเสนอขายสินค้าหรือบริการต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(3) ข้อความการโฆษณาหรือสื่อสารสำหรับการเสนอขายสินค้าหรือบริการต้องเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณา เช่น ต้องไม่เกินจริง เป็นต้น 

(4) ต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน

ทั้งนี้ การจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจ พระราชบัญญัติกำหนดชัดเจนเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจ โดยการดำเนินธุรกิจขายตรงต้องดำเนินการด้วยรูปแบบห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเท่านั้น บุคคลธรรมดาไม่สามารถขอจดทะเบียนได้ รวมถึงมีการกำหนดคุณสมบัติของหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจด้วย

นอกจากนี้ ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติด้วย ซึ่งหลักประกันอาจเป็นเงินสด หนังสือค้ำประกันธนาคาร หรือพันธบัตร โดยผู้ยื่นคำขอต้องวางหลักประกันวงเงินดังนี้ 

(ก) ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง กรณีเป็นรายใหม่ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท และหากมีการประกอบการแล้วจะอ้างอิงวงเงินประกันตามรายได้สูงสุด 200,000 บาท สำหรับรายได้เกิน 100 ล้านบาทต่อปี และ

(ข) ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง กรณีเป็นรายใหม่ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท สำหรับบุคคลธรรมดา หรือ 25,000 บาท สำหรับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และหากมีการประกอบการแล้วจะอ้างอิงวงเงินประกันตามรายได้เช่นกัน สูงสุด 200,000 บาท สำหรับรายได้เกิน 100 ล้านบาทต่อปี การวางหลักประกันดังกล่าวเป็นการวางต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะต้องมีการปรับวงเงินประกันตามรายได้ที่นำส่งรายงานแก่นายทะเบียนในแต่ละปี

5. การคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง

ด้วยวัตถุประสงค์หลักของการออกพระราชบัญญัติเป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พระราชบัญญัติจึงกำหนดกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคจากการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงไว้ในหลายส่วน โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิในส่วนของการยกเลิกสัญญา กรณีซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง โดยผู้บริโภคมีสิทธิยกเลิกสัญญาด้วยการส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการไปยังผู้ประกอบการ และมีสิทธิที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับคืนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปในการซื้อสินค้านั้น และเมื่อผู้บริโภคยกเลิกสัญญาแล้วผู้ประกอบการต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา ไม่เช่นนั้นต้องมีการชำระเบี้ยปรับให้แก่ผู้บริโภคในอัตรา MRR+10 ตามที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กำหนด โดยคำนวณจากจำนวนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อการซื้อสินค้าหรือบริการ

นอกจากนี้ เมื่อมีผู้ร้องเรียนหรือปรากฏต่อนายทะเบียนว่าผู้บริโภคผู้ใดได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายหรือบริการหรือตามพระราชบัญญัติ นายทะเบียนมีอำนาจสอบหาข้อเท็จจริงและเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อวินิจฉัยลงโทษผู้ประกอบการได้ โดยหากพบว่าผิดจริงให้นายทะเบียนจ่ายเงินหลักประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจรายนั้นวางไว้เพื่อชดเชยความเสียหายก่อน หากไม่พอให้นายทะเบียนสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบธุรกิจวางหลักประกันเพิ่มเติม และหากไม่ดำเนินการตามคำสั่งหรือมีพฤติการณ์ที่จะปฏิบัติผิดพระราชบัญญัติ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจ

ท้ายที่สุด บทกำหนดโทษของพระราชบัญญัติกำหนดโทษอาญาต่อผู้ประกอบการที่ปฏิบัติผิดหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติชัดเจน โดยเฉพาะความผิดที่กระทบต่อผู้บริโภค เช่น การจัดทำเอกสารที่มีข้อความอันเป็นเท็จ นอกจากนี้ กรณีผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว เมื่อพ้นโทษไม่ครบกำหนด 5 ปีกระทำความผิดซ้ำอีก ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น และกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือละเว้นการกระทำการของกรรมการหรือบุคคลผู้รับผิดชอบใด บุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเป็นส่วนตัวด้วย 

ดังนั้นกรณีที่ผู้ประกอบการปฏิบัติผิดหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ระวางโทษค่อนข้างสูงและอาจมีผลกระทบต่อไปยังกรรมการหรือผู้จัดการที่มีอำนาจสั่งการหรือมีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินการด้วยเช่นกัน

จากบทสรุปทั้งหมดภายใต้พระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง หากผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจในลักษณะที่เป็นไปตามนิยามของการทำธุรกิจขายตรง กล่าวคือ มีการแต่งตั้งตัวแทนหรือผู้จำหน่ายอิสระ โดยมีการคำนวณจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงจากรายได้การจำหน่ายสินค้าหรือบริการ หรือดำเนินธุรกิจในลักษณะที่เป็นไปตามนิยามของการทำตลาดแบบตรง ยกเว้นจะอยู่ภายใต้เกณฑ์การยกเว้น ผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจกับนายทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และต้องใช้ความระมัดระวังในแง่การจำหน่ายสินค้าและบริการโดยคำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคให้มาก เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีโทษทางอาญาทั้งในนามนิติบุคคลและกรรมการผู้จัดการโดยตรง

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเองก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าร่วมธุรกิจหรือทำธุรกรรมซื้อขายกับผู้ประกอบการ โดยต้องประเมินให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการดังกล่าวอยู่ภายใต้เกณฑ์เป็นผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงหรือไม่ หรือเป็นการฉ้อโกง หากเป็นการประกอบธุรกิจตามกฎหมายย่อมมั่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองพิเศษภายใต้พระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้

Top 5 Contents